'ใจป่วย' เรื่องปกติที่รักษาได้ รู้เท่าทัน 'สุขภาพจิต' ในวันที่โลกเปลี่ยน
ปัญหาสุขภาพจิต เป็นปัญหาที่พบเพิ่มขึ้นทั้งในไทยและทั่วโลก โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ซึ่งมีสิ่งกระทบเข้ามาทั้งปัจจัยทางสังคม โรคระบาด อย่างไรก็ตาม การป่วยทางใจ เป็นเรื่องปกติ ที่เกิดขึ้นได้ และรักษาได้
Key Point :
- ปัญหาสุขภาพจิต โดยเฉพาะโรคซึมเศร้า พบว่าเพิ่มขึ้นทั่วโลก ในประเทศไทย ปี 2564 พบผู้ป่วยโรคซึมเศร้ากว่า 1.5 ล้านคน
- เป็นที่มาของ รพ.เวชธานี ขยายบริการ โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านสุขภาพจิต BMHH เพื่อดูแลคนไข้ที่มีปัญหาสุขภาพใจด้วยทีมสหวิชาชีพ
- ทั้งนี้ การมีปัญหาสุขภาพจิตไม่ใช่เรื่องแปลก เราป่วยกายได้ ก็ป่วยใจได้เป็นเรื่องปกติ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรคที่รักษาและอาการดีขึ้น
ปัจจุบัน ผู้คนมีปัญหาสุขภาพจิตมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะช่วงวัย 26 – 45 ปี หนึ่งในโรคที่พบบ่อยและถือเป็นปัญหาของไทยและทั่วโลก คือ โรคซึมเศร้า กรมสุขภาพจิต เผยว่า คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปป่วยเป็นโรคซึมเศร้าถึง 1.5 ล้านคน ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้ามีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จสูงกว่าคนทั่วไปถึง 20 เท่า และ 70% ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
เมื่อดูข้อมูลผู้ป่วยสุขภาพจิตที่เข้าไปรักษาในโรงพยาบาลรัฐจะอยู่ที่ ราว 1.1 แสนครั้ง ไม่รวม รพ.เอกชน มีการศึกษาพบว่าคิวการนัดคนไข้สุขภาพจิตค่อนข้างยาวทั้งภาครัฐและเอกชน โดยภาคเอกชนอย่างต่ำ 1 เดือน เป็นสิ่งที่ชี้ได้ว่ามีความต้องการการรักษาโรคนี้มากขึ้น
พญ.ปวีณา ศรีมโนทิพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านสุขภาพจิต Bangkok Mental Health Hospital หรือ BMHH ให้สัมภาษณ์กับ 'กรุงเทพธุรกิจ' ว่า เทรนด์ทั่วโลกเหมือนกันทั้งหมด คนไข้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นทั้งในประเทศไทย โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ซึ่งมีสิ่งกระทบเข้ามาทั้งปัจจัยทางสังคม โรคระบาด ทำให้มีปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- รู้สึกไม่มีค่า ไม่ดีพอ ? เช็กอาการ เข้าข่าย ‘โรคเกลียดตัวเอง’
- รู้หรือไม่ ในแต่ละปี ทั่วโลกมีคน 'ฆ่าตัวตาย' สำเร็จกว่า 1 ล้านคน
- กลัวแค่ไหน ถึงเข้าข่าย 'โรคกลัว' หรือ Phobia
ทั้งนี้ ลักษณะของคนไข้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตมีหลายแบบ คือ คนไข้ที่ไม่ป่วย แต่มีความไม่สบายใจ เครียด มีปัญหาการปรับตัว ย้ายที่ทำงานแล้วปรับตัวไม่ได้ พ่อแม่ลูก สามีภรรยามีปัญหากัน เป็นภาวะเครียดหรือปรับตัวไม่ได้ เป็นกลุ่มที่เรียกว่ายังไม่ป่วยแต่มีปัญหา กลุ่มที่ สอง คือ กลุ่มที่ป่วยแล้ว เช่น โรคซึมเศร้า วิตกกังวล ไบโพลาร์ เป็นโรคแล้วต้องได้รับการรักษา
ทั้งนี้ ในกลุ่มที่เป็นโรคด้านสุขภาพจิตมีแยกกลุ่ม เช่น กลุ่มคนไข้ที่มีปัญหาโรคจิต หูแว่ว ภาพหลอน กลุ่มที่มีปัญหาด้านการจัดการอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคอารมณ์สองขั้วหรือไบโพลาร์ กลุ่มที่มีบุคลิกภาพผิดปกติ กลุ่มที่มีเรื่องของการปรับตัวผิดปกติ
“จริงๆ แล้วความผิดปกติของสุขภาพจิต มีแยกเป็นกลุ่มย่อยอีกหลายแบบ เพียงแต่คนส่วนใหญ่อาจจะยังไม่เข้าใจ เพราะอาจจะเป็นเรื่องใหม่ แตกต่างจากสุขภาพกายที่เรารู้ว่าเจ็บหน้าอกก็ไปหาแพทย์ด้านหัวใจ ปวดท้องต้องไปหาแพทย์ทางเดินอาหาร ปวดขาก็ไปหาแพทย์ด้านกระดูก เป็นต้น”
รพ.เฉพาะทางสุขภาพจิต
เนื่องจากโรคทางด้านสุขภาพจิต มีความละเอียดอ่อน เป็นที่มาของ รพ.เวชธานี ในการขยายบริการ โดยก่อตั้ง โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านสุขภาพจิต Bangkok Mental Health Hospital หรือ BMHH เพื่อดูแลคนไข้ที่มีปัญหาสุขภาพใจ ซึ่งมีความต้องการในการดูแลแตกต่างจากคนไข้ที่มีปัญหาสุขภาพกาย โดยมองว่าลักษณะของการออกแบบโรงพยาบาล บุคลากร สิ่งแวดล้อมต่างๆ ต้องเอื้อต่อคนที่มีปัญหาสุขภาพใจให้รู้สึกสบายใจที่เข้ามาใช้บริการ
ทั้งนี้ ระยะเวลา 2 เดือนที่เปิดให้บริการ พบว่า ผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษา อันดับ 1 คือ โรคซึมเศร้า อันดับ 2 คือ โรควิตกกังวล อันดับ 3 กลุ่มที่ไม่ได้ป่วย แต่เครียด ปรึกษาเรื่องครอบครัว ปัญหาคู่ครอง รับมือกับการย้ายงาน และ อันดับ 4 แพนิก ไบโพลาร์ ตามลำดับ
“ส่วนใหญ่คนไข้จะอยู่ในช่วงอายุ 26 – 45 ปี ซึ่งเป็นช่วงชีวิตที่มีความเสี่ยงต่อการมีปัญหาสุขภาพจิตมากที่สุด เนื่องจากเป็นช่วงอายุที่เริ่มใช้ชีวิตจริง เรียนจบ ทำงาน มีครอบครัว มีลูก ปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย การเปลี่ยนแปลงในชีวิตค่อนข้างเยอะ และสิ่งแวดล้อมที่เข้ามากระทบ จึงอาจจะมีความเสี่ยงที่จะมีปัญหาด้านสุขภาพจิตสูง”
ดูแลด้วยสหวิชาชีพ
พญ.ปวีณา กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันทราบแล้วว่าอาการป่วยของโรคเหล่านี้มาจากสารเคมีในสมองผิดปกติ ไม่บาลานซ์ ทำให้คนไข้อารมณ์เปลี่ยนแปลง ปัจจุบัน จะรักษาด้วยยาเพื่อช่วยปรับสารเคมีในสมอง และวงการยาทางจิตเวชมีการพัฒนายาต่อเนื่องเพื่อให้คนไข้อาการดีขึ้น และผลข้างเคียงน้อย หลักๆ รักษาด้วยยา ร่วมกับจิตบำบัด หรือ พฤติกรรมบำบัดแล้วแต่เคส
ซึ่งการรักษาในทีมของ BMHH ประกอบไปด้วย พยาบาล จิตแพทย์ นักจิตวิทยาคลินิก ที่ช่วยกันดูแลคนไข้ พยาบาลจะประเมิน ทำแบบทดสอบเบื้องต้น จิตแพทย์วินิจฉัยรักษา ส่วนนักจิตวิทยาคลินิกช่วยในการทำจิตบำบัดหรือพฤติกรรมบำบัด ส่วนทีมเภสัชกรดูแลเรื่องของการใช้ยา ผลข้างเคียงการใช้ยา หรือคนไข้มีโรคประจำตัวมียาที่ทานประจำ ก็จะช่วยดูว่ายาตัวไหนทานกับตัวไหนได้ ห้ามทานกับตัวไหน เป็นต้น
“โรคทางจิตเวชเป็นโรคของความคิด ความรู้สึก พฤติกรรม ไม่ใช่เมื่อวานร้องไห้ วันนี้กินยาแล้วหาย แต่อาจจะต้องดูว่าต้นเหตุของการที่เขาป่วยมีปัจจัยอื่นด้วยหรือไม่ อาจจะไม่ใช่แค่สารเคมีในสมองแต่มีพฤติกรรมบางอย่างที่คนไข้ทำเป็นประจำแต่เป็นพฤติกรรมที่ส่งผลไม่ดีต่อตัวคนไข้เอง นอกจากการทานยา อาจจะต้องปรับความคิด ปรับพฤติกรรมบางอย่างเพื่อลดความเสี่ยง โรคทางจิตเวช รักษาได้ หายขาดได้ แต่ในบางคนบางครั้งก็มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำ เช่น กรณีโรคซึมเศร้า ก็มีที่รักษา 2 ปี ผ่านไประยะหนึ่ง ก็มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำ ดังนั้น เวลาดูแลคนไข้ไม่ใช่แค่มาหาแพทย์ทานยาแล้วจบ เพราะไม่ใช่แค่ดูแลใจ แต่ต้องดูแลชีวิตว่าเขาจะอยู่ต่ออย่างไร จะกลับไปใช้ชีวิตบางอย่างที่ทำลายตัวเองอีกหรือไม่”
ป่วยกายได้ ก็ป่วยใจได้
พญ.ปวีณา กล่าวต่อไปว่า การมีปัญหาสุขภาพจิตไม่ใช่เรื่องแปลก เราป่วยกายได้ ก็ป่วยใจได้เป็นเรื่องปกติ โรคทางจิตเวชส่วนใหญ่เป็นเรื่องของสารเคมีในสมอง ไม่ใช่เรื่องของความคิด ไม่ใช่ว่าคิดมากแล้วเป็นซึมเศร้า และไม่ใช่ว่าหยุดคิดแล้วจะเลิกเป็น ส่วนใหญ่เป็นโรคที่รักษาและอาการดีขึ้น ดังนั้น อยากให้คนไข้รู้สึกว่าแพทย์ก็พร้อมช่วย โดยเป้าหมายของ BMHH อยากให้เป็นหนึ่งทางเลือกสำหรับคนที่มีปัญหาสุขภาพจิต หรือ ผู้ป่วยจิตเวช ความตั้งใจของการทำโรงพยาบาลวัตถุประสงค์แรก คือ อยากจะให้คุณภาพการรักษาพยาบาลที่ดีกับคนไข้ อยากให้คนไข้อาการดีขึ้น สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้เป็นปกติ
“ผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิตเขาไม่ได้ป่วยคนเดียว แต่ผลกระทบต่อคนรอบข้างและต่อชีวิตมีมากกว่าที่เขาป่วย บางครั้งต้องออกจากงาน ไม่มีรายได้ หรือบางคนป่วยแล้วคนในคอรบครัวเป็นทุกข์ไปด้วย เพราะฉะนั้น มองว่าหากเราสามารถเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ที่ช่วยให้ผู้เข้ามารับบริการ ดีขึ้น รวมถึงคนรอบข้าง มีความทุกข์น้อยลง มีความสุขมากขึ้น สามารถกลับไปใช้ชีวิตปกติได้ ถือเป็นความสำเร็จขั้นแรกที่ตั้งใจ” พญ.ปวีณา กล่าวทิ้งท้าย