ชำแหละงบ ศธ.67 ก้าวไม่พ้นวังวนเดิม | ทัฬหวิชญ์ ฐิติรัตน์สกุล
รัฐบาลไทยมีสัดส่วนการลงทุนให้กับการศึกษาในระดับที่สูงใกล้เคียงกลุ่มประเทศที่มีคุณภาพการศึกษาดี แต่ทว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับนักเรียนไทย ดูยังไม่ไปในทิศทางที่สอดคล้องกับงบประมาณที่ใช้ไปเท่าใดนัก
จากผลการประเมิน PISA 2022 สะท้อนว่าความสามารถเด็กไทยถดถอยลงอย่างต่อเนื่องตลอด 10 ปี และห่างจากคะแนนเฉลี่ยกลุ่มประเทศ OECD มากขึ้นเรื่อยๆ เป็นสัญญาณเตือนต่อการศึกษาไทยว่าจำเป็นต้องเร่งแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน และถูกจุด
ลักษณะและข้อสังเกตต่องบประมาณ ปี 2567
“งบประมาณ” ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นตัวบ่งชี้สำคัญถึงการศึกษาไทยว่าจะมีทิศทางอย่างไรต่อไป โดย ศธ.เป็นกระทรวงที่ได้รับงบประมาณสูงสุดตลอด 10 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าปีนี้จะตกเป็นอันดับสองรองจากกระทรวงมหาดไทย
สำหรับปีงบประมาณ 2567 ที่เพิ่งผ่านวาระแรกไปเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมานั้น ศธ.ได้รับงบฯ 3.28 แสนล้านบาท ใกล้เคียงกับปี 2566 โดยหากจำแนกเป็นหน่วยงานจะพบว่า
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้รับงบประมาณมากที่สุดถึง 2.52 แสนล้านบาท (77%) เพิ่มจากปีก่อน 400 ล้านบาท
สพฐ.มีโรงเรียนใต้สังกัดอยู่มากกว่า 29,000 แห่ง และสำนักงานเขตพื้นที่กว่า 245 เขต มีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากว่า 5 แสนคน ซึ่งงบฯบุคลากรได้รับการจัดสรรมากที่สุด 1.84 แสนล้านบาท (73%)
รองลงคือ งบฯ ในส่วนของเงินอุดหนุน โดยเฉพาะเงินอุดหนุนเรียนฟรี 15 ปี สำหรับนักเรียนอนุบาล 1 จนถึง ม.6 กว่า 6 ล้านคน วงเงิน 3.9 หมื่นล้านบาท (16%)
สัดส่วนที่เหลืออีก 11% ถูกจัดสรรนำไปลงทุนสร้างหรือปรับปรุงอาคาร 1 หมื่นล้านบาท (4%) จ้างบุคลากรสนับสนุน 8 พันล้านบาท งบดำเนินงาน 5.9 พันล้านบาท (ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าตอบแทน ค่าวัสดุ) เงินอุดหนุนเฉพาะกลุ่ม 3 พันล้านบาท และงบโครงการ 900 ล้านบาท (ประมาณ 42 โครงการ)
ผู้เขียนมีข้อสังเกตต่องบฯ ศธ.ในปีนี้ ดังนี้
1.การจัดสรรเงินอุดหนุน มีช่องว่างที่ค่อนข้างกว้างระหว่างเด็กนักเรียนใน ร.ร.สพฐ. ซึ่งได้รับเงินอุดหนุนเฉลี่ยคนละ 6,100 บาท ขณะที่กลุ่มนักเรียนใน ร.ร.ที่เน้นวิทย์-คณิต ได้รับเงินอุดหนุนรวม 770 ล้านบาท สำหรับนักเรียน 4,620 คน คิดเป็นคนละ 166,826 บาท ห่างกันถึง 27 เท่าตัว
2.มีโครงการที่น่าสนใจภายใต้รัฐบาลใหม่ คือ “โครงการส่งเสริมการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานทุกที่ทุกเวลา” วงเงิน 482 ล้านบาท เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการสอนที่เน้นใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นฐานผ่าน National Digital Learning Platform (NDLP)
ผู้เขียนได้สืบค้นจากทีโออาร์ ที่เคยเผยแพร่ช่วงปีงบประมาณ 2563 พบว่าแพลตฟอร์มนี้อาจสนับสนุนการจัดการสอนในห้องเรียนของครูได้ แต่ต้องระมัดระวังไม่ให้ไปซ้ำซ้อนกับระบบเดิม และสร้างภาระให้ครู เช่น ระบบบริหารจัดการการพัฒนาตามสายงาน แผนพัฒนาบุคลากรรายบุคคล ที่คล้ายคลึงกับระบบที่พัฒนาโดย ก.ค.ศ.
3.สพฐ.มีโครงการที่กำหนดให้ ร.ร.เป็นผู้ปฏิบัติกว่า 40 โครงการ วงเงิน 626 ล้านบาท ลดลงจากปีที่ผ่านมาที่ได้รับการจัดสรรที่ 710 ล้านบาท แต่พบว่าจำนวนโครงการกลับไม่แตกต่างมากนัก มี 3-4 โครงการเดิมที่ถูกตัดออกและเพิ่มใหม่อีก 3 โครงการ
โดยโครงการเดิมที่ได้รับงบฯ มากขึ้นเป็นกลุ่มโครงการแก้ไขปัญหายาเสพติด และโครงการนักธุรกิจน้อยคุณธรรม ในขณะที่โครงการอื่นๆ ได้รับงบประมาณลดลงอย่างถ้วนหน้า
นอกจากนี้ สพฐ.ยังจัดสรรเงินอุดหนุนแยกตามประเภทแบบต่างๆ อีกกว่า 20 รายการ ซึ่งเป็นหน้าที่ของ ร.ร.ที่ต้องรายงานผลการจัดสรรเงินอุดหนุนดังกล่าว
ความคาดหวังที่มีต่อการศึกษาไทย
ก่อนหน้านี้ พงศ์ทัศ วนิชานันท์ นักวิจัยจากทีดีอาร์ไอได้เสนอข้อเสนอ 3 ประการที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาคุณภาพการศึกษาไทยตกต่ำที่สะท้อนจากผล PISA ล่าสุด
โดยหากยึดตามข้อเสนอดังกล่าวจะพบว่าการจัดสรรงบฯ ตามร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ยังไม่ได้แสดงถึงความพยายามในการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนดังกล่าวมากนัก กล่าวคือ
1.หลักสูตรแกนกลางประเทศไทย ถูกใช้มานานเป็นเวลา 15 ปีแล้ว ตัวชี้วัดในหลักสูตรไม่ได้เน้นสร้างสมรรถนะมากนัก และให้ความสำคัญกับความรู้มากกว่าสร้างทักษะหรือเจตคติ จึงไม่ส่งเสริมการคิดขั้นสูง
ดังนั้น หลักสูตรแกนกลางฯ จึงจำเป็นต้องได้รับการปรับขนานใหญ่ แต่จากการสำรวจร่างงบประมาณฯ พบว่าไม่มีงบฯ ใดที่บ่งชี้ว่าจะนำไปใช้เพื่อการปรับหลักสูตร หรือการเตรียมความพร้อมเพื่อใช้หลักสูตรใหม่ ซึ่งทำให้การปรับหลักสูตรใหม่อาจต้องรอต่อไปอีกหลายปี
2.การสำรวจโดยทีดีอาร์ไอ พบว่าภาระงานโครงการและการรายงานนโยบายเป็นอุปสรรคต่อการสอนมากที่สุด ดังนั้น เพื่อให้ครูสามารถทุ่มเทเวลาไปกับการสอนได้เต็มที่จำเป็นต้องลดภาระงานอื่น โดยเฉพาะงานโครงการและการรายงานผล
การกำหนดงบประมาณครั้งถัดไป ควรเริ่มพิจารณาลดโครงการ 40 กว่าโครงการ โดยบูรณาการหรือตัดโครงการที่มีตัวชี้วัดคล้ายคลึงกัน มากกว่าการคงโครงการส่วนใหญ่ไว้เช่นเดิม ปรับตัวชี้วัดเป็นการวัดที่ผลลัพธ์ตามระบบปกติของ ร.ร. เช่น คะแนนสอบ การประกันคุณภาพ เพื่อลดภาระการรายงานผล และมีความรับผิดรับชอบต่อผลลัพธ์
3.แม้งบประมาณส่วนใหญ่จะเป็นงบบุคลากรในสัดส่วนที่สูงมาก แต่ ร.ร.จำนวนมากกลับยังขาดแคลนครู โดยเฉพาะ ร.ร.ประถมขนาดเล็กกว่า 94% มีครูไม่ครบชั้น ผลจาก PISA ยังสะท้อนไปในทิศทางเดียวกันว่า ร.ร.ที่ขาดแคลนครูมีผลลัพธ์ที่ต่ำกว่า แต่หากจะเพิ่มครูให้ครบต้องใช้ถึง 5 หมื่นคน
จึงจำเป็นต้องบริหารจัดการ ร.ร.ขนาดเล็กโดยการยุบรวม ร.ร.ขนาดเล็กที่อยู่ใกล้เคียงกัน ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนเหล่านี้ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพพร้อมครูครบชั้น มีทรัพยากรที่เพียบพร้อม
ทั้งนี้ การบริหารจัดการต้องสร้างการมีส่วนร่วมให้ชุมชนผู้เป็นเจ้าของพื้นที่ตัดสินใจการนำพื้นที่ไปใช้ประโยชน์ พร้อมมีหลักประกันว่ารัฐจะดำเนินการตามที่ตกลง
ส่วน ร.ร.ขนาดเล็กในที่ห่างไกลไม่สามารถยุบรวมได้ จำเป็นต้องสนับสนุนทรัพยากรอย่างเพียงพอ พร้อมออกมาตรการสร้างแรงจูงใจเพื่อดึงดูดครูตามความต้องการแต่ละพื้นที่ มากกว่าการกำหนดกฎระเบียบเพียงแบบเดียวและประกาศใช้ทั้งประเทศ
ร่างงบประมาณของ ศธ.ในปีนี้ ทำให้เห็นภาพสะท้อนว่า แม้สามารถบริหารงบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราคงไม่สามารถคาดหวังผลลัพธ์ในการยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างก้าวกระโดดได้
เพราะมีปัญหาที่ควรได้รับการแก้ไขทั้งหลักสูตร ภาระงานและการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ยังไม่มีสัญญาณในการแก้ไขที่ชัดเจน
สิ่งที่พอจะคาดหวังได้บ้างคือการเกิด Platform การเรียนรู้ใหม่ 1 ระบบ และปัญหายาเสพติดในสถานศึกษาลดลง รวมถึงการที่กลุ่มนักเรียนใน ร.ร.ที่เน้นวิทย์-คณิตมีคุณภาพสูงขึ้น ในขณะที่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากต่อนักเรียนในกลุ่มอื่นๆ.