พลัง อว.'สืบสาน-รักษา-ต่อยอด' ภูมิปัญญาสู่ผลิตภัณฑ์ Soft Power ไทยไปทั่วโลก
อีกหนึ่งกิจกรรมที่ถูกพูดถึงกันเป็นอย่างมาก สำหรับการเสวนาเรื่อง 'อว.ช่วยช่างศิลป์ไทยให้ยั่งยืนอย่างไร' ภายในงานนิทรรศการ 'สืบสาน งานช่างศิลป์ สู่ผลิตภัณฑ์ Soft Power'
กิจกรรมดังกล่าว จัดโดยสถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่น ในสังกัดสำนักบริหารวิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือธัชชา ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.)
ในงานนอกจากจะมีการเสวนาแล้วยังจัดแสดงผลงานวิจัยซึ่งมีการบูรณาการข้ามศาสตร์ สร้างความรู้ความเข้าใจในการจัดการวัฒนธรรม การออกแบบผลิตภัณฑ์ การใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อช่วยสืบสาน พัฒนา และต่อยอดผลิตภัณฑ์ช่างศิลป์ท้องถิ่นสู่การสร้างคุณค่าและรายได้ โดยงานนี้จัดขึ้นที่ห้องแถลงข่าว อาคารพระจอมเกล้า กระทรวง อว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
รักษารากแก้วของภูมิปัญญาช่างศิลป์ไทยให้คงอยู่
ดร.สิริกร มณีรินทร์ ผู้อำนวยการสถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่น ในฐานะผู้ดำเนินการเสวนา กล่าวว่าสถาบันฯ มีหน้าที่ศึกษารวบรวม ค้นคว้าภูมิปัญญาเชิงช่างเพื่อการอนุรักษ์ สืบสาน ต่อยอด รวบรวมองค์ความรู้สู่คลังดิจิทัล อนุรักษ์สืบสานงานหัตถศิลป์ที่สุ่มเสี่ยงสูญหายด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และพัฒนาคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ตลอดระยะเวลา 3 ปี ได้รวบรวมข้อมูลเชิงช่าง 34 จังหวัด รักษารากแก้วของภูมิปัญญาช่างศิลป์ไทยให้คงอยู่ ทั้งยังสร้างอาชีพและรายได้
สำหรับนิทรรศการที่จัดในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงการบูรณาการงานวิจัยในสาขาศิลปกรรมศาสตร์ การออกแบบ วิทยาศาสตร์งานจักรสาน ซึ่งเป้าหมายต่อไปยังมีบางจังหวัดที่ยังไม่ได้ทำจึงต้องมีการดำเนินการต่อ รวมทั้งดำเนินการในแขนงอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย เพราะสถาบันฯ มีการแบ่งกรอบของสาขาที่ต้องดำเนินการอย่างชัดเจนเพื่อให้สะดวกต่อการทำงานโดยมองในแง่ของพื้นที่ ที่มีงานศิลปกรรมที่ต้องการสำรวจเป็นคลังข้อมูลไม่ให้สูญหาย
รวมถึงการถอดองค์ความรู้จัดเก็บให้มีมาตรฐาน เพราะอว.เป็นหน่วยงานการศึกษา ที่สามารถจัดทำเป็นหลักสูตรจัดเก็บได้ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อส่งต่อความรู้สู่คนรุ่นใหม่ ทั้งนี้ 3 ปีที่ผ่านมา สถาบันฯ ถือเป็นเวทีทีเปิดให้คนรุ่นเก่าและใหม่เกิดปฏิสัมพันธ์ช่วยเติมเต็มองค์ความรู้ซึ่งกันและกัน
พัฒนาผลิตภัณฑ์จักรสาน ส่งเสริมภูมิปัญญาและอาชีพ
ด้าน ผศ.ดร.วีรวัฒน์ สิริเวสมาศ รองคณบดี ฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ คณะมัณฑณศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์จักรสานฯ กล่าวว่าตนและคณะได้เข้าร่วมโครงการฯตั้งแต่ปี 2564 โดยมุ่งเน้นเข้าไปเรียนรู้ พัฒนาผลิตภัณฑ์จักรสานให้กับชุมชนในจังหวัดยโสธร นราธิวาส น่าน ตราด แม่ฮ่องสอน และอ่างทอง แม้ว่าท้องถิ่นจะมีภูมิปัญญาชาวบ้านเรื่องการจักรสาน แต่เป็นสินค้าที่ใช้ในครัวเรือนหรือจำหน่ายในประเทศ
ดังนั้น ถ้าจะส่งเสริมชาวบ้านได้มีช่องทางมากขึ้น การพัฒนาผลิตภัณฑ์จึงมีความจำเป็น ทำให้มีการรวมทีมเพื่อลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากชาวบ้าน และสร้างโจทย์ใหม่ๆ ในผลิตภัณฑ์ ปรับวิธีคิดให้ชาวบ้านสามารถประยุกต์ต่อยอดให้เกิดรูปแบบการจักสานแบบใหม่ๆ รวมถึงช่วยแก้ไขปัญหาเชื้อรา
โดยร่วมมือกับศ.ดร.นันทนิตย์ วานิชาชีวะ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ ม.ศิลปากร ทำโครงการวิจัยเชื้อราในวัสดุให้สามารถนำผลิตภัณฑ์ออกขายในตลาดต่างประเทศได้อย่างไม่มีปัญหา หลังจากนี้ เชื่อว่าชาวบ้านจะต่อยอดองค์ความรู้ที่ได้รับ มีช่องทางการตลาดใหม่ๆ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า
แม้ว่าอุตสาหกรรมจักรสานจะไม่ใช่ตลาดใหญ่ แต่การรักษารากฐาน และเพิ่มรายได้อย่างยั่งยืนยังไปได้ เพราะปัจจุบันต่างชาติให้ความสำคัญกับเรื่อง ESG หรือการทำธุรกิจแบบยั่งยืน โดยเฉพาะตลาดในยุโรปสินค้าจักรสานจะมีราคาสูง แต่ต้องปรับดีไซน์ ฟังก์ชันการใช้ให้โดนใจ
ปรับดีไซน์ให้มีรูปลักษณ์ที่ร่วมสมัย ตอบโจทย์ตลาดไทย-ต่างประเทศ
ขณะที่ ดร.กรกต อารมย์ดี ศิลปินศิลปาธร และนักธุรกิจเจ้าของแบรนด์ KORAKOT หนึ่งในทีมวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์จักรสานฯ กล่าวว่าทำผลิตภัณฑ์ไม้ไผ่มากกว่า 18 ปี สิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้จักรสานของไทยไปต่อได้ คือการพัฒนาจักรสานให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของต่างประเทศ เพราะชาวบ้านมีวิชาความรู้ ภูมิปัญญา วัสดุจากหลังบ้าน ทักษะความเป็นช่าง
สิ่งเหล่านี้สามารถพัฒนาออกแบบให้เกิดรายได้ ตนจึงสอนให้รู้จักเทรนด์ของตลาด การจัดการ การทำราคา กลไกตลาดนำพฤติกรรมผู้บริโภคมาสู่ผู้ผลิต เพื่อให้เกิดความต้องการที่ตรงกัน หากมีการเรียนรู้ความต้องการของตลาดโลก จะมีการพัฒนารูปแบบใหม่ ๆ สามารถเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์
ปัจจุบันชาวบ้านเรียนรู้ที่จะปรับดีไซน์ ให้มีรูปลักษณ์ที่ร่วมสมัย เพื่อให้ตรงความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศมากขึ้น เช่น โคมไฟ ฝาผนัง เพดาน เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะทำให้ชาวบ้านทั้ง 6 จังหวัดมีรายได้เพิ่มขึ้น แก้ปัญหาความยากจนได้ นอกจากนี้อยากแนะนำให้ชาวบ้านส่งเสริมให้ลูกหลานเรียนด้านการออกแบบ เพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าในผลิตภัณฑ์
บูรณาการงานวิจัยสร้างเทคนิคการทอผ้าไหม
ปิดท้ายที่ ผศ.ดร.ฉลอง สุขทอง อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ ซึ่งเข้ามามีส่วนสำคัญในการดำเนินโครงการมรดกภูมิปัญญาผ้าไหมยกทองสุรินทร์ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวได้รับการอนุเคราะห์งบประมาณ ตั้งแต่ปี 2565 ต่อเนื่องจนถึงปี 2566 ซึ่งแต่เดิมชุมชนท้องถิ่นในจังหวัดสุรินทร์ทอผ้าไหมและมีรายได้ไม่สูง เนื่องจากใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิม แต่การวิจัยรวบรวมข้อมูลการทอผ้าไหมยกทอง ทำให้ได้เรียนรู้การทอครบทุกขั้นตอน
โดยเฉพาะเทคนิคการทอผ้าไหมยกทอง ซึ่งหลายชุมชนมีโอกาสได้เรียนรู้เป็นครั้งแรก จากเดิมที่มีรายได้หลักพัน ก็เพิ่มเป็นหลักหมื่น นอกจากนี้การดำเนินโครงการวิจัยในครั้งนี้ ยังเกิดการส่งต่อองค์ความรู้จากช่างรุ่นดั่งเดิมสู่ช่างรุ่นใหม่ครั้งใหญ่ในจังหวัด มีการอบรมช่าง 50 คน 17 อำเภอ ยกระดับทักษะการทอผ้าไหมชั้นสูง เพิ่มจำนวนช่างทอผ้าทักษะสูงระดับครูช่างจาก 3 คนเป็น 12 คน เกิดต้นแบบผ้าไหมยกทอง 3 กลุ่มชาติพันธุ์
เป้าหมายต่อไป คือการเรียนรู้การตลาดและการสร้างลายอัตลักษณ์ของแต่ละชุมชน ที่สำคัญขณะนี้ผ้าไหมยกทองได้กลายเป็น Soft Power ที่สร้างรายได้ และเกิดการสืบสาน รักษา และต่อยอด ตามพระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว อีกด้วย
เชื่อว่าการดำเนินงานของ อว.และผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่นจะช่วยต่อยอดและพลิกฟื้นผลิตภัณฑ์ช่างศิลป์ท้องถิ่นให้กลายเป็น Soft Power ไทยที่ดังไกลไปทั่วโลก