4แนวทางพัฒนา “ทุนมนุษย์” สร้างเศรษฐกิจไทยโตยั่งยืน
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “ทุนมนุษย์ ยุค5.0 สร้างไทยยั่งยืน ขจัดความยากจนลดความเหลื่อมล้ำ” ในงาน “Thai Journalists Association 69th Anniversary Talk”
KEY
POINTS
- ทุนมนุษย์ส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านปฏิสัมพันธ์ระหว่างแรงงานทักษะสูง ซึ่งนำไปสู่นวัตกรรมที่เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต การลงทุน
- 6 ความท้าทายที่มีผลต่อการลงทุนพัฒนาทุนมนุษย์ เกิดจากโควิด-19 จำนวนประชากรผู้สูงอายุ ความยากจนในชนบท ความไม่เท่าเทียมกันทางรายได้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภัยธรรมชาติ
- การลงทุนในทุนมนุษย์ ต้องเริ่มจากการลงทุนในเด็กปฐมวัย และลงทุนให้ถูกกลุ่มเป้าหมายด้วยวิธีการที่ชาญฉลาด เสมอภาค และนวัตกรรมทางการเงินการคลัง
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “ทุนมนุษย์ ยุค5.0 สร้างไทยยั่งยืน ขจัดความยากจนลดความเหลื่อมล้ำ” ในงาน “Thai Journalists Association 69th Anniversary Talk” เนื่องในวันนักข่าว 5 มีนาคม และครบรอบ 69 ปีสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ณ โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท
“ทุนมนุษย์” (Human Capital) มีบทบาทสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จของแต่ละปัจเจกบุคคล ทุนมนุษย์ส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านปฏิสัมพันธ์ระหว่างแรงงานทักษะสูง ซึ่งนำไปสู่นวัตกรรมที่เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต การลงทุนเพื่อพัฒนาทุนมนุษย์จึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว
ผลการวิจัยสำรวจทักษะความพร้อมของกลุ่มประชากรวัยแรงงานของประเทศไทย (Adult Skills Assessment in Thailand: ASAT) จัดทำโดยกองทุนความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) ร่วมกับธนาคารโลก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า เยาวชนและประชากรวัยแรงงานอายุระหว่าง 15 – 64 ปี กำลังเผชิญวิกฤตขาดแคลนทักษะทุนชีวิต (Crisis of Foundational Skills) อย่างรุนแรง
กว่า 2 ใน 3 ของวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ไม่สามารถอ่านและเข้าใจข้อความสั้น ๆ เพื่อแก้ปัญหาอย่างง่าย 3 ใน 4 ของเยาวชนและวัยแรงงานมีความยากลำบากในการใช้เว็บไซต์เพื่อทำงานง่าย ๆ และกว่าร้อยละ 30 ขาดทักษะในการคิดริเริ่มเพื่อสังคมและความกระตือรือร้น โดยการขาดทักษะพื้นฐานดังกล่าวก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจกว่า 3.3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 20 ของ GDP ประเทศไทยในปี 2565
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ทักษะทุนชีวิตคนไทยต่ำกว่าเกณฑ์ เพิ่มการลงทุนเยาวชน วัยแรงงาน
ความเหลื่อมล้ำการศึกษาเด็กไทย
ดร.ประสาร กล่าวว่าจากการติดตามข้อมูลเส้นทางการศึกษาของนักเรียนจากครัวเรือนยากจนและยากจนพิเศษตั้งแต่ปี 2562-2566 มีข้อค้นพบว่า ยิ่งการศึกษาระดับสูง โอกาสที่เด็กและเยาวชนกลุ่มนี้จะได้เรียนต่อก็ยิ่งลดลงเรื่อยๆ ในปีการศึกษา 2566 มีนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษเพียง 1 ใน 10 คนเท่านั้นที่สามารถศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาได้สำเร็จ
อีกทั้งช่วงชั้นรอยต่อทางการศึกษา ถือเป็นช่วงเวลาวิกฤตที่เด็กและเยาวชนหลุดออกจากระบบมากที่สุด เพราะผู้ปกครองต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมาก เช่น ค่าธรรมเนียมการสมัครเรียน ค่าเดินทาง หรือค่าเตรียมความพร้อมในการเรียนต่อ
รวมถึง ค่าใช้จ่ายแรกเข้าในการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาเทอมแรกราว 13,200-29,000 บาท หรือคิดเป็นรายได้เฉลี่ยทั้งปีของสมาชิกครัวเรือนนักเรียนยากจนพิเศษ โดยค่าใช้จ่ายเหล่านี้ประกอบด้วยค่าสอบ ค่าสมัครคัดเลือก TCAS ค่าแรกเข้า ค่าหอพัก ค่าเครื่องแบบนักศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษาเทอมแรก เป็นต้น
6 ความท้าทายลงทุนพัฒนาทุนมนุษย์
ดร.ประสาร กล่าวต่อว่าการลงทุนพัฒนาทุนมนุษย์ต้องคำนึงถึงความท้าทาย 6 ด้าน ได้แก่
1.โควิด-19 สร้างแนวโน้มที่ไม่แน่นอนสำหรับตลาดแรงงานและเร่งให้ลักษณะงานเปลี่ยนแปลงไป
2.ประชากรสูงอายุ ปี 2564 ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นอันดับสามของโลก ส่วนแบ่งของประชากรวัยทำงานคาดว่าจะลดลงจากร้อยละ 71 ในปี 2563 เป็นร้อยละ 56 ในปี 2603
3.ความยากจนในชนบท ประเทศไทยมีความยากจนเพิ่มขึ้นในปี 2559, 2561 และ 2563 โดยคนจนร้อยละ 79 ยังคงอยู่ในพื้นที่ชนบทและอยู่ในครัวเรือนเกษตรกรรม อัตราความยากจนในปี 2563 พื้นที่ชนบทสูงกว่าในเขตเมืองถึง ร้อยละ 3 และมีคนจนในชนบทมากกว่าคนจนในเมืองเกือบ 2.3 ล้านคน
4.ความไม่เท่าเทียมกันทางรายได้ แม้ว่าประเทศไทยจะพยายามลดความยากจน แต่ความไม่เท่าเทียมกันของรายได้และความเหลื่อมล้ำยังคงมีอยู่ทั่วประเทศ โดยรายได้เฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือนในชนบทคิดเป็นประมาณร้อยละ 68 ของครัวเรือนในเมือง
5.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) คาดว่าภายในปี 2643 ต้นทุนเฉลี่ยของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสำหรับอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนามอาจเทียบเท่ากับการสูญเสียร้อยละ 6.7 ของ GDP รวมกันในแต่ละปี และอาจเพิ่มความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจที่มีอยู่
6.ภัยทางธรรมชาติ ประเทศไทยมีความเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติหลายประการ ผลกระทบร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นจากภัยพิบัติทางธรรมชาติสามารถมีผลกระทบอย่างลึกซึ้งและหลากหลายต่อตลาดแรงงาน เศรษฐกิจและสังคม
“6 ความท้าทายดังกล่าว กำลังเปลี่ยนแปลงตลาดแรงงานของไทยอย่างมีนัยสำคัญและทิศทางการพัฒนาทุนมนุษย์ของประเทศที่จะต้องปรับตัวให้ทันในบริบทและเงื่อนไขใหม่ ไม่ปล่อยให้เกิดการสูญเสีย หรือเด็กเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษา หรือไม่ได้รับการพัฒนาเต็มศักยภาพแม้แต่คนเดียว เพราะเด็กทุกคนเป็นมนุษย์ทองคำ เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า ซึ่งทุนมนุษย์ที่มีคุณภาพเท่านั้นที่จะช่วยให้ผู้คนก้าวผ่านความท้าทายทางสังคมและเศรษฐกิจต่างๆ”ดร.ประสาร กล่าว
เด็กปฐมวัยขาดแคลนทักษะพื้นฐาน
นอกจากนั้นจากการสำรวจสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัยกลุ่มตัวอย่างจำนวน 43,213 คน ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ ระหว่างปีการศึกษา 2562 – 2565 พบว่า เด็กปฐมวัยไทยมีความพร้อมด้านความเข้าใจในการฟังระดับที่น่ากังวล โดยมีเด็กปฐมวัยทั่วประเทศกว่าร้อยละ 25 ที่มีระดับความพร้อมด้านดังกล่าวในระดับที่ต่ำมาก
อีกทั้ง มีจังหวัดจำนวนมากที่เด็กปฐมวัยมีระดับทักษะความพร้อมในการต่อรูปในใจระดับต่ำมากสูงกว่าร้อยละ 15 และมีเด็กปฐมวัยไทยอีกจำนวนไม่น้อยที่มีระดับความพร้อมด้านความจำใช้งานในระดับต่ำมาก
“เด็กปฐมวัยที่มาจากครัวเรือนยากจนมีแนวโน้มที่จะมีระดับความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาต่ำกว่าเด็กปฐมวัยที่มาจากครัวเรือนที่มีเศรษฐานะสูงกว่า ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษานั้นเริ่มต้นมาตั้งแต่ก่อนเด็กจะเข้าสู่ระบบการศึกษาอย่างเป็นทางการในระดับประถมศึกษาเสียอีก”ดร.ประสาร กล่าว
ร้อยละ53เด็กมัธยมมีทักษะวิทยาศาสตร์ต่ำ
ขณะที่ผลการประเมินนักเรียนในโครงการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (PISA) ปี 2565 ระดับมัธยมศึกษา พบว่ามีนักเรียนไทยที่มีอายุ 15 ปี กว่า 2 ใน 3 ที่มีทักษะการอ่านและทักษะคณิตศาสตร์ไม่ถึงระดับพื้นฐานที่เด็กในช่วงวัยดังกล่าวจะสามารถเข้าใจและมีส่วนร่วมกับสังคมได้อย่างมีความหมาย และร้อยละ 53 ที่มีทักษะวิทยาศาสตร์ไม่ถึงระดับพื้นฐานในการเข้าใจและอธิบาย
ปรากฎการณ์ทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถพบได้โดยทั่วไป ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงกว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอย่างกลุ่มประเทศ OECDกว่า 2 เท่า
ดร.ประสาร กล่าวอีกว่าวิกฤตทักษะของเด็กไทย ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงทักษะ Hard Skills หรือทักษะเชิงความรู้หรือเชิงวิชาการเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงทักษะ Soft Skills หรือทักษะทางอารมณ์สังคมที่จำเป็นต่อการทำงานในโลกยุคปัจจุบัน
จากผลการสำรวจสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ตลาดแรงงาน (Career Readiness Survey) ใน 26 จังหวัดทั่วทุกภูมิภาค พบว่านักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 – 3 มีทักษะทุนจิตวิทยาเชิงบวก (หากล้มแล้วสามารถลุกได้) ทักษะการสื่อสารระหว่างบุคคล ทักษะความร่วมมือกัน อยู่ในระดับปานกลาง ส่วนทักษะการแก้ปัญหา ทักษะความฉลาดทางอารมณ์ ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ และทักษะความคิดสร้างสรรค์อยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์ที่เด็กในวัยดังกล่าวควรมี
นอกจากนี้ผลการประเมินยังบ่งชี้ว่า นักเรียนไทยได้รับผลกระทบจากการโควิด-19 จนทำให้เกิดการถดถอยในทักษะ Soft Skills ลดลงมากถึงร้อยละ 30 – 50 และกลุ่มนักเรียนที่มีผลการประเมินต่ำกว่าเกณฑ์นั้นส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักเรียนที่มาจากครัวเรือนยากจน
ข้อเสนอการลงทุนในทุนมนุษย์
ดร.ประสาร กล่าวด้วยว่ากสศ.มีข้อเสนอเชิงนโยบายสำหรับเป็นแนวทางการลงทุนในทุนมนุษย์ 4 ประการ ได้แก่
1.ลงทุนในเด็กและเยาวชนตั้งแต่ระดับปฐมวัย (Invest Early) โดยเฉพาะเด็กปฐมวัยจากครัวเรือนใต้เส้นความยากจน ซึ่งมีจำนวนเหลือเพียงประมาณปีละ 100,000 คน เพิ่มคุณภาพการอบรมเลี้ยงดูของผู้ปกครอง รวมทั้งสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยควรวางระบบการพัฒนาทุนมนุษย์แบบวงจรปิด มีฐานข้อมูลรายบุคคลและสามารถติดตามเด็กทุกคนตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยแรงานในทุกมิติ
2. ลงทุนให้ถูกกลุ่มเป้าหมายสำคัญของประเทศและด้วยวิธีการที่ชาญฉลาด (Invest Smartly) ประเทศไทยควรลงทุนในการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต(Learning Society) และระบบการศึกษาทางเลือก (Alternative Education) ที่มีความยืดหยุ่น ตอบโจทย์ชีวิตของเด็ก
3. ลงทุนอย่างเสมอภาค (Invest Equitably) ให้ความสำคัญต่อสิทธิทางการศึกษาของเด็กและเยาวชนทั้งในและนอกระบบการศึกษา โดยสูตรจัดสรรงบประมาณให้แก่เด็กเยาวชนในสังกัดต่างๆ ทั้งในและนอกระบบการศึกษาควรใช้หลักความเสมอภาค (Equity-based Budgeting)
4. ลงทุนด้วยนวัตกรรมทางการเงินการคลังเพื่อการพัฒนาทุนมนุษย์ (Invest Innovatively) โดยใช้แรงจูงใจในการลดหย่อนภาษี 2 เท่า มาพัฒนานวัตกรรมความร่วมมือและนวัตกรรมทางสังคม
“วิกฤตทุนมนุษย์ของประเทศ ไม่ใช่หน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่ทุกภาคส่วนร่วมเป็นเจ้าของและมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา ร่วมกันสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต การลงทุนในทุนมนุษย์ คือหนึ่งในกุญแจสำคัญสู่การบรรลุเป้าหมายการเพิ่มรายได้เฉลี่ยต่อคน 40% เพื่อออกจากกับดักรายได้ปานกลาง ภายในปี 2579 ของไทย”ดร.ประสาร กล่าวทิ้งท้าย