สร้างห้องเรียนใหญ่ในโลกใบใหม่ | พิภพ อุดร

สร้างห้องเรียนใหญ่ในโลกใบใหม่ | พิภพ อุดร

สำหรับผู้เรียนยุคใหม่ โจทย์ที่สุดหินและเป้าหมายที่สุดเอื้อม กลับกลายเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง กรณีศึกษา : วิสาหกิจชุมชนศูนย์เรียนรู้เพาะเลี้ยงสาหร่ายทะเลวัดพลา อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง ยกระดับรายได้จาก 5,000 ให้เป็น 50,000 บาทต่อเดือน

การนัดพบระหว่างผู้นำชุมชนและสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนศูนย์เรียนรู้เพาะเลี้ยงสาหร่ายทะเลวัดพลา อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง กับทีมอาจารย์และนักศึกษาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เป็นบรรยากาศการร่วมพูดคุยที่มีรสชาติมาก

เป้าหมายคือเพื่อหาทางยกระดับการบริหารจัดการศูนย์เรียนรู้นี้ให้ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและยั่งยืน 

การประชุมร่วมกัน นำไปสู่การบ้านชิ้นสำคัญของนักศึกษา คือต้องช่วยกันยกระดับคุณภาพของการเพาะเลี้ยงและคุณภาพสาหร่าย ซึ่งเป็นสินค้าหลักของวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้ให้สูงขึ้นในทุกมิติ ตั้งแต่กระบวนการเพาะเลี้ยง คุณภาพของสาหร่าย การบริหารจัดการต้นทุน บัญชี และการตลาด

เป้าหมายระยะสั้นคือเพิ่มรายได้จากเดิมราว 5,000 บาทต่อเดือน ให้เป็น 50,000 บาทต่อเดือน ภายในระยะเวลา 4-5 เดือนจากนี้ สมาชิกจำนวนมากยังกังขากับการเพิ่มรายได้ 10 เท่า

 เมื่อโลกการศึกษาเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงด้วยผู้เรียนเจนใหม่ เนื้อหาใหม่ วิธีการและแหล่งการเรียนรู้ใหม่ๆ เท่ากับการสร้างโลกใบใหม่ให้กับผู้เรียน การสร้างห้องเรียนแบบใหม่จึงเป็นภาระที่สำคัญของผู้สอน

หากแต่การเปลี่ยนแปลงทั้งมวลยังคงขยับเขยื้อนไปอย่างล่าช้า ส่วนหนึ่งเพราะตัวครูบาอาจารย์ที่ยังไม่ขยับเร็วเท่าที่ควร ด้วยอาจขาดแรงจูงใจที่จะเปลี่ยน หรือตัวผู้สอนเป็นผลผลิตจากการศึกษายุคเดิม ที่เน้นการเรียนการสอนทฤษฎีเป็นสำคัญ การเรียนรู้แบบทะลายกำแพงห้องเรียนจึงยังไม่ปรากฏมากเท่าที่ควร

ทั้งที่จริงแล้วห้องเรียนที่ดีที่สุดคือ พื้นที่จริง สถานการณ์จริง การแก้ปัญหาจริง บนกระบวนการสร้างการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม เพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์แท้ๆ จะทำให้เกิดการสั่งสมและก่อเกิดทักษะต่างๆ

การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมโดยการลงพื้นที่เพื่อแก้ปัญหาที่แท้จริง จึงเป็นการสร้างการเรียนรู้ที่ดีที่สุด เป็นการขยายห้องเรียนให้ใหญ่เท่าที่ผู้เรียนจะจินตนาการไปถึงได้ 

การตั้งเป้าหมายที่ดูสุดเอื้อม เป็นเรื่องปกติที่ห้องเรียนแบบใหม่นี้ใช้ท้าทายนักศึกษาอยู่เสมอ

การมีเป้าหมายที่ท้าทายนับเป็นกลยุทธ์ที่ช่วยกระตุ้นให้นักศึกษาได้คิดนอกกรอบ เมื่อการดำเนินการแบบเดิมๆ ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้ จึงต้องใช้วิธีการใหม่ๆ ที่ต่างไปจากวิธีการเดิม 

รายวิชา มธ.100 พลเมืองกับการลงมือแก้ปัญหา (Civic Engagement) ทำให้ทีมนักศึกษาชั้นปีที่ 3 ของธรรมศาสตร์จำนวน 10 คนในหลักสูตรควบตรี-โท ทางการบัญชีและบริหารธุรกิจ (ibmp) มีโอกาสลงพื้นที่เพื่อช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงของวิสาหกิจชุมชนรายนี้

ที่ผลิตสาหร่ายผักกาด สาหร่ายพวงองุ่น และสาหร่ายช่อพริกไทย และกำลังประสบปัญหาในเรื่องสาหร่ายโตช้า ไม่สวยงาม มีการกัดกินโดยสัตว์น้ำ ทำให้สาหร่ายมีคุณภาพไม่ตรงตามที่ตลาดต้องการ จนจวนเจียนที่สมาชิกจะถอดใจ

หลายคนอาจคิดไม่ออกว่าจะให้นักศึกษาสายบัญชีและบริหารธุรกิจมายกระดับการเพาะเลี้ยงสาหร่ายทะเลได้อย่างไร

แต่ด้วยที่ธรรมศาสตร์มีอาจารย์ที่เชี่ยวชาญหลากหลายศาสตร์จากหลากหลายคณะ การบูรณาการข้ามศาสตร์จึงเกิดขึ้นในภารกิจที่ท้าทายนี้ และนับเป็นหัวใจของห้องเรียนแบบใหม่

 นักศึกษาเริ่มต้นด้วยการสืบค้นข้อมูลและติดต่ออาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อขอความรู้ เมื่อได้ข้อสรุปว่าปัจจัยใดบ้างที่น่าจะมีผลต่อการเพาะเลี้ยงสาหร่าย ก็กำหนดสมมติฐาน นำไปปรึกษา แนะนำกับวิสาหกิจชุมชน และทดลองซ้ำๆ เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

ซึ่งทั้งหมดต้องใช้ทักษะร่วมกันหลายด้าน ทั้งทักษะด้านเทคโนโลยี เพื่อสืบค้นข้อมูล ทักษะด้านภาษา ทักษะด้านการสื่อสาร เพื่อติดต่อสื่อสารทั้งกับอาจารย์ เพื่อนๆ พี่ๆ ในวิสาหกิจชุมชน ทักษะด้านการแก้ปัญหา ทักษะด้านวิทยาศาสตร์ ทักษะด้านการร่วมมือ ในการทดลองในพื้นที่จริงเพื่อพัฒนาคุณภาพการเพาะเลี้ยงสาหร่าย

รวมไปถึงทักษะด้านการคำนวณ ทักษะด้านเศรษฐศาสตร์ การเงินและภาวะการเป็นผู้ประกอบการ ในการยกระดับรายได้ให้วิสาหกิจชุมชน และสุดท้ายคือ ทักษะด้านสังคมและวัฒนธรรม กับการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือชุมชนอย่างยั่งยืน ห้องเรียนขนาดใหญ่นี้ได้มอบทั้ง Hard Skills และ Soft Skills ให้กับนักศึกษาอันนำไปสู่การพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21

และเพียงแค่ 2 เดือนงานของนักศึกษาเริ่มแตกดอกออกผลอย่างงดงาม เมื่อสาหร่ายของกลุ่มสวยงามขึ้นมาก สิ่งแปลกปลอมที่มากับน้ำลดลง จากเทคนิคง่ายๆ ที่ช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย ขั้นต่อจากนี้ไปคือการตลาดและการขาย

ผลสำเร็จของห้องเรียนใหญ่ที่เรียกว่า “ธรรมศาสตร์โมเดล” นี้ ไม่ใช่เพียงการเติบโตและเข้มแข็งขึ้นของวิสาหกิจชุมชน หากแต่เป็นการเติบโตของความคิดและจิตใจของนักศึกษาที่คิดถึงประโยชน์ที่ใหญ่กว่าตนเอง

เพราะได้ประยุกต์ใช้ความรู้และทักษะในการแก้ปัญหาจริงให้ชุมชน จนประจักษ์ว่าสามารถทำประโยชน์ให้ผู้อื่นได้ตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา ความคิดในการทำเพื่อสิ่งที่ใหญ่กว่าประโยชน์ส่วนตนนี้เองที่จะติดตัวต่อไปในอนาคต และทำให้พวกเขาเป็นกลไกสำคัญในการช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้อย่างทรงประสิทธิภาพที่สุด

นี่คือผลแห่งการสร้างห้องเรียนใหญ่ในโลกใบใหม่ เพื่อการศึกษาไทยจะได้รุดหน้าและแก้ปัญหาอะไรต่ออะไรได้มากกว่าที่เป็นอยู่.

ผู้เขียน

สร้างห้องเรียนใหญ่ในโลกใบใหม่ | พิภพ อุดร

รศ.ดร.พิภพ อุดร

สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU-RAC)