5 “พลิก” ฝ่าวิกฤติมหาวิทยาลัยไทย | พิภพ อุดร
บทความก่อนหน้าได้เกริ่นถึงโจทย์ใหญ่ที่มหาวิทยาลัยกำลังเผชิญอยู่ทั้งเรื่อง "ความรู้อายุสั้น แต่คนอายุยาว” เรื่องความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ที่ทำให้คนมีทางเลือกในการเรียนรู้ และเพิ่มพูนทักษะได้มากมายและง่ายดาย
ทำให้ “ถนนทุกสายไม่ได้มุ่งสู่มหาวิทยาลัย” โดยมี “AI เป็นเพื่อนใหม่ในทุกมิติชีวิต” ทั้งในเรื่องการใช้ชีวิต การเรียน การช้อปปิ้ง และการทำงาน หลายบริษัทได้เริ่มกำหนดให้พนักงานต้องใช้ AI ในการร่วมสร้างสรรค์ผลงาน ไม่ว่าจะเป็นงานเขียน งานออกแบบ หรืออื่น ๆ
ยังไม่รวมเรื่อง “อาชีพใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน” โดยเฉพาะอาชีพที่เกิดขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ล้วนแล้วแต่เป็นตำแหน่งงานที่ไม่เคยได้ยิน หรือแม้ได้ยินก็อาจจะนึกไม่ออกว่าให้ทำงานอะไร หรือต้องใช้ทักษะอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็น Growth Hacker, Data Detective, Cyber City Planner, Haptic Designer และ Algorithm Bias Auditor เป็นต้น
โจทย์ต่อเนื่องจากเรื่องใหญ่ ๆ ที่หยิบยกมาส่งผลให้ “ความหลากหลายกลายเป็นความปกติใหม่” ที่ทุกคนต้องมีทักษะจัดการสิ่งใหม่ที่ไม่เคยพบ ต้องพร้อมเปิดกว้างรับความแตกต่างทั้งวัฒนธรรม ความเชื่อ เพศวิถี หรือไลฟ์สไตล์ของคนกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม
ภายใต้สถานการณ์ข้างต้น มหาวิทยาลัยจึงไม่อาจทำงานแบบเดิม ๆ เพราะแรงขับเคลื่อนที่กำลังพาโลกไปข้างหน้าจะทำให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่มุ่งแต่ทำงานรูทีน และไม่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง
ไม่เพียงแต่จะไม่สามารถรักษาสถานะเดิมของมหาวิทยาลัยไว้ได้เท่านั้น แต่จะนำพามหาวิทยาลัยให้ถอยหลังไปไม่เท่าทันโลกอีกด้วย
ดังนั้น มหาวิทยาลัยในอนาคตจึงมีการบ้านใหญ่ 5 เรื่องที่ต้อง “พลิก”
1. พลิก Learning Model โดยต้องจัดทุกหลักสูตรให้ยืดหยุ่น และร่วมมือกับองค์กรภาคปฏิบัติทุกอุตสาหกรรมเพื่อให้เท่าทันแนวปฏิบัติสมัยใหม่ตลอดเวลา พัฒนาการเรียนการสอน ให้ทั้ง online และ on-site
เชื่อมโยงกันแบบไร้ตะเข็บ เน้นทักษะมากกว่าความรู้ จริยธรรมมากกว่าผลประโยชน์ ส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว ปลูกฝังความคิดอ่าน และความฝันเรื่อง “Better Life, Better Society”
โดยปลูกฝังจิตสำนึกของการเรียนรู้ และการทำงานที่มีเป้าหมายที่สูงกว่า ที่ใหญ่ไปกว่าเพื่อตัวเอง มุ่งสร้างทักษะการดูแลกาย ใจ จิตวิญญาณ และความสามารถการต่อยอดการเรียนรู้ด้วยตนเองให้ติดตัวไปในอนาคต
ส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียนของนักศึกษาผ่านการลงมือปฏิบัติ โดยไม่เก็บเด็กไว้ในมหาวิทยาลัยนานเกินไป แต่ต้องเปิดช่องทางให้กลับเข้ามาเติมความรู้และทักษะที่ต้องการได้ง่าย
ต้องพัฒนาและยกระดับธนาคารเครดิตให้ทุกคนเข้าถึงได้ง่าย รองรับการเรียนรู้นอกห้องเรียน นอกมหาวิทยาลัย และเปิดกว้างให้ทุกคนสะสมหน่วยกิตได้ตั้งแต่ยังไม่เป็นนักศึกษา เพื่อตอบโจทย์ Upskill และ Reskill ของคนทุกเจนเนอเรชั่นซึ่งเป็นโจทย์สำคัญของสังคมผู้สูงวัยของทุกประเทศทั่วโลก
2. พลิก Financial Model มหาวิทยาลัยต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างรายได้ ต้องเพิ่มแหล่งรายได้ใหม่ ๆ ลดการพึ่งพิงรายได้ค่าหน่วยกิต และเงินสนับสนุนจากรัฐซึ่งมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยต้อง “เพิ่มสัดส่วนรายได้จากนวัตกรรมของงานวิจัย สิทธิบัตร อนุสิทธิบัตรต่าง ๆ” โดยเฉพาะด้านการแพทย์ การดูแลสุขภาพกายใจ การใช้ AI การออกแบบ รวมถึงเทคโนโลยีอื่น ๆ
นอกจากนี้ยังต้องให้ความสำคัญกับการลงทุนใหม่ ๆ เพื่อให้มีผลตอบแทนที่ไม่ผันแปรไปตามจำนวนนักศึกษาที่ลดลง ต้องสร้างการบริการวิชาการใหม่ ๆ ที่ทันสมัย ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลก
โดยร่วมมือกับองค์กรระดับชาติ และนานาชาติ สามารถเทียบโอนการฝึกอบรม และประสบการณ์มาสู่ “การต่อยอดเพื่อขอรับปริญญาได้ในอนาคตตามความสนใจ และความพร้อมของแต่ละคน”
3. พลิก Management Model มหาวิทยาลัยต้องจัดการทุกขั้นตอนบริการให้สั้น ง่าย เข้าถึงได้ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เลิกกรอกข้อมูลซ้ำซ้อน ต้องทำให้ทุกส่วนงานสามารถใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลส่วนกลางเพื่อบริการทุกเรื่องแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ
ต้องพัฒนา “Management Dashboard” ให้ผู้บริหารสามารถเรียกดูข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการในรูปแบบที่เข้าใจง่าย เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจ เชื่อมโยงการสื่อสารระหว่างหน่วยงานภายในแบบไร้กระดาษ
ปรับรูปแบบการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบ IT เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และนำ AI มาใช้ในการทำงานและให้บริการเพื่อ “ลดภาระงานบุคลากรและเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ”
4. พลิก People Model โดยเพิ่ม “ความยืดหยุ่นในระบบการจ้างบุคลากร” รองรับความหลากหลาย แต่ละระบบมีค่าตอบแทน แรงจูงใจ และการประเมินผลที่เหมาะสมกับแต่ละกลุ่ม ออกแบบเส้นทางความก้าวหน้าของบุคลากรทุกกลุ่มให้เติบโตได้เต็มศักยภาพ
และจัดสรรงบพัฒนาบุคลากรให้เพียงพอต่อการต่อยอดทักษะ และพร้อมรับความเป็นนานาชาติของมหาวิทยาลัย ทบทวนจำนวนพนักงานให้สอดรับกับภาระงานของหน่วยงาน ควบคู่ไปกับการปรับระบบ/ขั้นตอนงานใหม่ให้เรียบง่าย ทันสมัยโดยใช้ประโยชน์เต็มประสิทธิภาพจากเทคโนโลยี
ขยายขอบเขตสวัสดิการให้ดูแลบุคลากรแบบบูรณาการครบถ้วนทั้ง “กาย ใจ จิตวิญญาณ” ตั้งแต่ “เริ่มจ้างจนถึงหลังเกษียณอายุ” สร้างระบบดึงดูดผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการ และการวิจัยระดับชาติ และนานาชาติให้มาร่วมงานกับบุคลากรและเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยโดยไม่ต้องเป็นบุคลากรประจำ
5. พลิก Business Model มหาวิทยาลัยต้องเลิกคิดถึงตัวเองในฐานะ “สถานศึกษา” ที่มุ่งรับนักศึกษาเข้ามาเรียนเป็นรอบ ๆ ตามภาคการศึกษา หากแต่ต้องปรับเปลี่ยนไปเป็น “แพลตฟอร์ม” ที่เชื่อมโยงการเรียนรู้ทุกรูปแบบ จากทุกองค์กรเครือข่ายที่คัดสรร โดยทำให้บริการวิชาการแก่สังคมไม่จำกัดแค่การฝึกอบรม
แต่ต้องสร้างผลิตภัณฑ์ และบริการในด้านต่าง ๆ ที่ต่อยอดจากงานวิจัยโดยร่วมมือกับองค์กรรัฐและเอกชนมาสู่เชิงพาณิชย์จริงเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับมหาวิทยาลัยทั้งในด้านรายได้ และในฐานะคลังความรู้และทักษะที่ใช้ได้จริงในสังคม
ทั้ง “5 พลิก” ข้างต้นคือ ภารกิจใหญ่หลวงที่มหาวิทยาลัยแห่งอนาคตต้องใส่ใจ และเดินหน้าอย่างจริงจังเพื่อให้มหาวิทยาลัยไม่เผชิญวิกฤติ หรือกลายเป็นโบราณสถานทางประวัติศาสตร์ หากแต่ยังมีคุณค่า และมีความหมายในการตอบโจทย์ความหลากหลายในสังคมสำหรับคนทุกเจนเนอเรชั่นได้อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต.