ยกระดับแรงงานไทย ผ่านการสนับสนุนด้านการเรียนรู้
1 พฤษภาคม เป็นวันแรงงานแห่งชาติ เพื่อชวนกันตระหนักถึงความสำคัญของแรงงาน ที่เป็นแรงขับเคลื่อนหลักด้านเศรษฐกิจ แต่ท่านผู้อ่านคงเคยได้ยินเรื่องการขาดแคลนแรงงานคุณภาพ ซึ่งปัญหานี้ นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นเพราะไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยและโลกเปลี่ยนแปลงเร็ว
ในวันนี้ ผู้เขียนจึงขอชวนมองปัญหาทักษะแรงงานไทย ผ่านงานวิจัยของธนาคารโลก พร้อมแนวทางการเพิ่มทักษะแรงงานกรณีต่างประเทศ ว่าทำกันอย่างไร เพื่อที่จะสามารถนำมาปรับใช้ในการพัฒนาทักษะแรงงานไทย เพื่ออนาคตที่เข้มแข็งและยั่งยืน
1.ส่องปัญหาทักษะแรงงานไทย ผ่านงานวิจัยของธนาคารโลก
เมื่อเดือน ก.พ.2567 ธนาคารโลกได้ออกรายงานวิจัยเกี่ยวกับทักษะของคนไทย โดยร่วมมือกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และภาคีที่เกี่ยวข้อง สำรวจทักษะและความพร้อมเยาวชนและประชากรวัยแรงงาน (ASAT) ในไทย ในวัยแรงงานอายุ 15-64 ปี ทั่วประเทศ เพื่อวัดทักษะพื้นฐานในชีวิต (ทักษะทุนชีวิต) 3 ด้าน คือ ทักษะการรู้หนังสือ ทักษะดิจิทัล และทักษะทางอารมณ์และสังคม
ผลการศึกษาพบว่า คนไทยวัยแรงงานมีทักษะต่ำกว่าเกณฑ์ทั้ง 3 ด้าน คือ ทักษะการอ่าน เกือบสองในสาม หรือ 65% ส่วนทักษะการใช้อุปกรณ์ดิจิทัล ราว 74% และทักษะด้านการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม ราว 30% ที่ต่ำกว่าเกณฑ์ นอกจากนี้คนวัยทำงานเกือบ 20% หรือราว 1 ใน 5 ที่ขาดทักษะทั้ง 3 ด้านเลย โดยปัญหารุนแรงมากขึ้นในบางวัย เช่น คนอายุมากกว่า 40 ปี และในบางพื้นที่ เช่น ชนบท
2.ส่องแนวทางการเพิ่มทักษะแรงงานของต่างประเทศ
จากรายงานวิจัยของธนาคารโลก และ web site กสศ. ให้ข้อมูลนโยบายของต่างประเทศในการส่งเสริมการเรียนรู้ พัฒนาทักษะ ที่สะท้อนการผนึกกำลังจากหลายภาคส่วนไว้อย่างน่าสนใจ
- ภาคนโยบาย เช่น ญี่ปุ่น มีการผนวกเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิตเข้ากับนโยบายเศรษฐกิจ โดยญี่ปุ่นเผชิญปัญหาทักษะดิจิทัลมาก จึงทุ่มเทการลงทุน โดยมีระบบการเชื่อมโยงเรื่องทักษะ รายได้ และการจ้างงานไปด้วยกัน
ส่วนกรณีออสเตรเลีย มีการจัดทำกรอบการพัฒนาทักษะระดับชาติ (National Foundation Skills Strategy for Adults) เช่น จัดโปรแกรมส่งเสริมการรู้หนังสือสำหรับการทำงาน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เพื่อการประกอบอาชีพ
- ภาคการศึกษา เช่น ฝรั่งเศส สิงคโปร์ มีการสร้างบัญชีการเรียนรู้รายบุคคล (Individual Learning Accounts : ILAs) เป็นเครื่องมือส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ในลักษณะให้แรงงานสามารถสะสมทักษะ ไว้ในบัญชีการเรียนรู้ เพื่อประโยชน์ต่อการสร้างอาชีพและรายได้
- ฝรั่งเศส จัดให้วัยแรงงาน มีบัญชีการเรียนรู้ส่วนบุคคล ที่เรียกชื่อว่า Compte Personnel de Formation หรือ CPF โดยมีเงินสนับสนุนโอนเข้าบัญชีเป็นรายปี เพื่อใช้ในหลักสูตรฝึกอบรมจำนวนมาก ที่จะช่วยเพิ่มพูนทักษะเดิมที่มีอยู่แล้ว (upskill) และสร้างทักษะใหม่ (reskill)
- สิงคโปร์ มีบัญชีการเรียนรู้ส่วนบุคคล ที่เรียกชื่อว่า Skills Future Credit โดยคนสิงคโปร์ที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไปจะได้รับเครดิตครั้งเดียว มูลค่า 500 ดอลลาร์สิงคโปร์ และต่อมาจะได้รับเครดิตเพิ่มยอดให้เป็นครั้งคราว และมีเครดิตเพิ่มเติมสำหรับกลุ่มเป้าหมายบางกลุ่ม เช่น อายุ 40-60 ปี เพื่อนำไปใช้ฝึกอบรม
ส่วนกรณีสโลวาเกีย มีการแก้ไขกฎหมายการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยเพิ่มเติมประเด็นการลงทุนภาครัฐด้านการศึกษาของแรงงานวัยผู้ใหญ่ ทางด้านประเทศอินเดีย ฝรั่งเศส กรีซ อิสราเอล เม็กซิโก สวีเดน และเบลเยียม เน้นการพัฒนาทักษะเพิ่มเติมแก่ครู
โดยกำหนดให้ครูทุกคนเข้าเรียนหลักสูตรพัฒนาวิชาชีพด้านทักษะดิจิทัล ทักษะสังคมและอารมณ์อย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 50 ชั่วโมง
- ภาคท้องถิ่น เช่น กรุงโซล เกาหลีใต้ ตั้งเป้าหมาย Smart Seoul 2030 Initiative และทำศูนย์ Digital Education Center รณรงค์การพัฒนาทักษะดิจิทัลสำหรับทุกคน (Digital Inclusion) โดยใช้ชุมชนเป็นฐานในการพัฒนา
กรณีประเทศไทย ส่งเสริมทักษะแรงงานด้วยการพัฒนาสมรรถนะการเรียนรู้ตลอดชีวิตอยู่บ้าง ตามที่ผู้เขียนเคยเล่าสู่กันฟังเรื่อง Lifelong learning เมื่อเดือน พ.ย.ปีก่อน โดยสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ มีการสร้างแพลตฟอร์ม EWE (E-Workforce Ecosystem) ซึ่งจะช่วยสร้างโปรไฟล์เพื่อรองรับการเพิ่มทักษะ การมีงานทำ การศึกษาต่อ
โดยมีระบบสนับสนุนและส่งเสริมการรับรองการเรียนรู้ตลอดช่วงวัย ผ่านการสะสมรายวิชาหน่วยย่อย เพื่อรวบรวมออกใบประกาศหรือเทียบวุฒิการศึกษาได้ แต่ไทยจำเป็นต้องมีแนวทางเพิ่มเติมในการพัฒนาทุนมนุษย์ เพื่อรับมือปัญหาทักษะแรงงานที่ทวีความรุนแรงขึ้น ทั้งจากการเข้าสู่สังคมสูงวัยและกระแสการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของโลก
มีมุมมองที่น่าสนใจจาก ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการ กสศ. ในงานประชุมเวทีนโยบายระดับสูง เมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ว่า ไทยควรเร่งสร้างทักษะทั้ง
1.พัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ในทุกระดับการศึกษา และฝึกอบรมพัฒนาวัยแรงงานอย่างเสมอภาค โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง
2.สร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ ให้ทุกภาคส่วนในสังคมไทยร่วมกันสนับสนุนพัฒนาทักษะทุนชีวิตของวัยแรงงานทุกๆ คน และ
3.เร่งลงทุนในทุนมนุษย์ รวมทั้งการลงทุนในมาตรการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนข้ามรุ่น และพาประเทศออกจากกับดักรายได้ปานกลางที่ตรงจุดและคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและสังคมสูงสุด
ทางมูลนิธิ 50 ปี ธปท.เอง ตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างแรงงานทักษะ ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน โดยเฉพาะการให้โอกาสแก่กลุ่มรายได้น้อย จึงร่วมเป็นส่วนหนึ่งของพลังเครือข่าย All for Education กับ กสศ. โดยปีนี้เน้นการให้ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงผ่าน กสศ.ค่ะ
ทั้งหมดนี้สะท้อนว่า การลงทุนพัฒนาคน เป็นสิ่งที่จำเป็นและต้องเร่งทำกรณีประเทศไทย โดยจากตัวอย่างหลายประเทศ พบว่าสามารถดำเนินการได้ในหลายรูปแบบ ที่อาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาคนโยบาย ภาคการศึกษา และภาคท้องถิ่น ตลอดจนภาคเอกชนช่วยกันเพิ่มทักษะแก่แรงงานในทุกช่วงวัย และที่สำคัญคือแรงงานเอง ที่ควรเปิดรับการเรียนรู้ในทุกช่วงวัย
มาร่วมกันสนับสนุนการเพิ่มทักษะแรงงานไทยผ่านการเรียนรู้ รับวันแรงงานแห่งชาติกันค่ะ
*บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด