‘วันไหว้ครู 2567’ ต่างกันกับ ‘วันครู’ รวมประวัติ บทสวด ความหมายดอกไม้ไหว้ครู
‘วันไหว้ครู 2567’ ปีนี้ตรงกับวันที่ 13 มิถุนายน 2567 ซึ่งหลายคนมีความสับสนกันกับ “วันครู” ที่ตรงกับวันที่ 16 มกราคมของทุกปี มาร่วมหาความหมายว่าทำไม 2 วันนี้ ต้องจัดกันคนละวัน และอ่านประวัติวันไหว้ครู บทสวด ความหมายดอกไม้ไหว้ครู
‘วันไหว้ครู 2567’ ปีนี้ตรงกับ วันที่ 13 มิถุนายน 2567 ซึ่งหลายคนมีความสับสนกันกับ “วันครู” ที่ตรงกับวันที่ 16 มกราคมของทุกปี มาร่วมหาความหมายว่าทำไม 2 วันนี้ ต้องจัดกันคนละวัน
วันไหว้ครู กับ วันครู ต่างกันอย่างไร
วันครู
ตรงกับทุกวันที่ 16 มกราคมของทุกปี เป็นวันที่ระลึกถึงพระคุณของบูรพาจารย์ ยกย่องเชิดชูเกียรติผู้ประกอบวิชาชีพครู โดยวันครูนี้ ถูกกำหนดให้จัดขึ้นจาก “จอมพล ป.พิบูลสงคราม” นายกรัฐมนตรี ในช่วงเวลนั้น ประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติมศักดิ์ ที่ได้นำเสนอในที่ประชุมผู้แทนคณะครูทั่วประเทศในคราวประชุมวิสามัญของคุรุสภา เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2499 ให้มีวันครูขึ้น เพื่อรำลึกถึงความสำคัญของครู
จากนั้น ในวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2499 คณะกรรมการอำนวยการคุรุสภา ได้ประกาศอย่างเป็นทางการให้วันที่ 16 มกราคม ของทุกปี เป็น “วันครู” เนื่องจากเป็นวันประกาศพระราชบัญญัติครู พุทธศักราช 2488 ในราชกิจจานุเบกษา
วันไหว้ครู
จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ให้นักเรียนทำพิธีไหว้ครูหรือบูชาครู เพื่อระลึกถึงพระคุณของครูผู้ให้การอบรมสั่งสอนก่อนเริ่มการเรียนการสอนในปีการศึกษานั้นๆ โดยมักจัดในช่วงหลังเปิดภาคการศึกษาใหม่ หรือ วันพฤหัสบดีที่สองของเดือนมิถุนายน โดยในปีนี้จะตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 13 มิถุนายน 2567
พานไหว้ครู
มักจะประกอบไปด้วย ธูป เทียน และดอกไม้ คือ ดอกมะเขือ หญ้าแพรก ข้าวตอก และดอกเข็ม ที่ล้วนแล้วแต่มีความหมายที่ดี
- ดอกมะเขือ เป็นดอกที่โน้มต่ำลงมาเสมอ ไม่ได้เป็นดอกที่ชูขึ้น คนโบราณจึงกำหนดให้เป็นดอกไม้สำหรับไหว้ครู เพื่อศิษย์จะได้อ่อนน้อมถ่อมตนพร้อมที่จะเรียนวิชาความรู้ต่างๆ นอกจากนี้มะเขือยังมีเมล็ดมาก ไปงอกงามได้ง่ายในทุกที่ เช่นเดียวกับหญ้าแพรก
- หญ้าแพรก เป็นหญ้าที่เจริญงอกงาม แพร่กระจายพันธ์ ไปได้อย่างรวดเร็วมาก คนโบราณจึงถือเอาเป็นเคล็ดว่า ถ้าใช้หญ้าแพรกดอกมะเขือไหว้ครูแล้ว สติปัญญาของเด็กจะเจริญงอกงามเหมือนหญ้าแพรกและ ดอกมะเขือนั่นเอง
- ดอกเข็ม เพราะดอกเข็มนั้นมีปลายแหลม เปรียบดั่งสติปัญญาที่แหลมคมเหมือนดอกเข็ม
บทสวดวันไหว้ครู
นมัสการอาจริยคุณ
(นำ) ปาเจราจะริยา โหนติ
(รับพร้อมกัน) คุณุตตะรานุสาสะกา
ปัญญาวุฑฒิกะเร เต เต ทินโนวาเท นะมามิหัง.
(นำ) อนึ่งข้าคำนับน้อม
(รับพร้อมกัน) ต่อพระครูผู้การุญ
โอบเอื้อและเจือจุน อนุศาสน์ทุกสิ่งสรรพ์
ยัง บ ทราบ ก็ได้ทราบ ทั้งบุญบาปทุกสิ่งอัน
ชี้แจงและแบ่งปัน ขยายอรรถให้ชัดเจน
จิตมากด้วยเมตตา และกรุณา บ เอียงเอน
เหมือนท่านมาแกล้งเกณฑ์ ให้ฉลาดและแหลมคม
ขจัดเขลาบรรเทาโม- หะจิตมืดที่งุนงม
กังขา ณ อารมณ์ ก็สว่างกระจ่างใจ
คุณส่วนนี้ควรนับ ถือว่าเลิศ ณ แดนไตร
ควรนึกและตรึกใน จิตน้อมนิยมชมฯ
(กราบ 1 ครั้ง)
คำกว่าวไหว้ครู ปาเจราทำนองสรภัญญะ
ปาเจราจริยาโหนติ คุณุตตรานุสาสกา
ข้าขอประณตน้อมสักการ (รับพร้อมกัน)
บูรพคณาจารย์ ผู้กอรปประโยชน์ศึกษา
ทั้งท่านผู้ประสาทวิชา อบรมจริยา
แก่ข้าในกาลปัจจุบัน
ข้าขอเคารพอภิวันท์ ระลึกคุณอนันต์
ด้วยใจนิยมบูชา
ขอเดชกตเวทิตา อีกวิริยะพา
ปัญญาให้เกิดแตกฉาน
ศึกษาสำเร็จทุกประการ อายุยืนนาน
อยู่ในศีลธรรมอันดี
ให้ได้เป็นเกียรติเป็นศรี ประโยชน์ทวี
แก่ชาติและประเทศไทยเทอญ ฯ
(นำ) ปัญญาวุฒิกเร เต เต ทินโนวาเท นมามิหัง