ตึก สตง.ถล่ม 19 วัน กู้ภัยตัดสลิง ค้นหา 50 ผู้สูญหาย เข้าถึงโพรงซาก

เข้าสู่ 19 วัน ตึก สตง.ถล่ม ระดมทีมกู้ภัย ตัดสลิง เพิ่มเครื่องจักร หวังเข้าถึงโพรงซากอาคาร ฝนตกหนักอุปสรรคเพียบ พบยอดล่าสุด เสียชีวิต 44 สูญหาย 50 เพิ่มเงินช่วยเหลือ 1 แสน
เกาะติดสถานการณ์ค้นหาผู้สูญหายเหตุ ตึก สตง.ถล่ม เข้าสู่ 19 วัน ระดมทีมกู้ภัย เจ้าหน้าที่เร่งใช้แก๊สเป่าสลิง ตัดสลิง เพิ่มเครื่องจักร หวังเข้าถึงโพรงซากอาคาร หลังฝนตกหนักอุปสรรคเพียบ
กทม. เผยยอดล่าสุด เสียชีวิต 44 บาดเจ็บ 9 สูญหาย 50 เร่งพิสูจน์อัตลักษณ์ศพ กระทรวงมหาดไทย เพิ่มเงินช่วยเหลือ ศพละ 1 แสนบาท คาดจ่ายล็อตแรก 18 เม.ย. 68
"กรุงเทพธุรกิจ" เกาะติดแผ่นดินไหวล่าสุด ภายหลังเกิดเหตุการณ์ระทึก เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 อาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (ตึก สตง.ถล่ม) แห่งใหม่ ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างบริเวณถนนกำแพงเพชร 2 เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ได้พังถล่มลงมา อาคารสูง 30 ชั้น มูลค่า 2,136 ล้านบาทแห่งนี้ กลายเป็นซากปรักหักพังในพริบตา ซึ่งสาเหตุหลักของโศกนาฏกรรมครั้งนี้ มาจากผลกระทบของแผ่นดินไหวเมียนมาขนาด 8.2 ซึ่งมีจุดศูนย์กลางจากกลุ่มรอยเลื่อนสะกาย
จากข้อมูลล่าสุดเมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ สรุปยอดผู้ประสบเหตุทั้งหมด 103 ราย เสียชีวิต 44 ราย บาดเจ็บและรอดชีวิต 9 ราย และยังคงสูญหาย (ติดค้าง) ใต้ซากอาคารอีก 50 ราย
ล่าสุดวันนี้ 16 เมษายน 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การค้นหาผู้สูญหายจากเหตุตึก สตง.ถล่มเข้าสู่วันพุธที่ 16 เมษายน 2568 ผ่านมาแล้ว 19 วัน โดยเพจเฟซบุ๊ก "NAKON45 อัญวุฒิ โพธิ์อำไพ" หรือ ยอด "นคร45" หัวหน้ารถกู้ภัยและรองหัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ มูลนิธิร่วมกตัญญู ได้รายงานถึงความยากลำบากในการปฏิบัติงานช่วงค่ำคืนที่ผ่านมา (15 เม.ย. 68) เนื่องจากมีฝนตกหนัก ทำให้พื้นที่การค้นหาเต็มไปด้วยน้ำและโคลน อย่างไรก็ตาม ทีมเจ้าหน้าที่ยังคงทำงานกันอย่างต่อเนื่อง
ในช่วงเวลา 03.00 น. ได้มีการวางแผนระดมทีมนักกู้ภัยขึ้นไปใช้แก๊สเป่าสลิง เพื่อตัดสลิงที่กีดขวางการทำงานของรถเจาะและรถตัดเหล็กขนาดใหญ่ ในทุกโซนพื้นที่เกิดเหตุ (A, B, C, D) เพื่อให้การทำงานของเครื่องมือหนักเป็นไปได้ง่ายขึ้นเมื่อกลับมาปฏิบัติงานในช่วงกลางวัน
ด้าน รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมติดตามสถานการณ์ประจำวันว่า เมื่อคืนวันที่ 14 เม.ย. 68 ที่ผ่านมา ได้มีการเคลียร์ความสูงของซากอาคารในทุกโซนเป็นส่วนใหญ่ตามแผนที่วางไว้
แต่ปัญหาสำคัญในขณะนี้คือ เส้นเหล็กบางจุดที่ยังคงขวางทาง ทำให้ทีมกู้ภัยไม่สามารถลงไปสำรวจตามโพรงต่างๆ ได้ วันนี้จึงได้มีการนำเครื่องจักรตัดเหล็กมาเพิ่มอีก 1 คัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการค้นหาและรื้อถอนซากอาคาร โดยปัจจุบันความสูงของซากอาคารลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 19 เมตร
สำหรับการพิสูจน์อัตลักษณ์ผู้เสียชีวิต จากรายชื่อที่ได้รับจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) ทั้งหมด 103 ราย สามารถพิสูจน์อัตลักษณ์ได้แล้ว 91 ราย แต่ยังมีรายชื่อที่ตกหล่น
ซึ่งขณะนี้กำลังประสานงานกับเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานเพื่อตรวจสอบเพิ่มเติม คาดว่าจะสามารถติดตามได้ทั้งหมด นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครจะประสานไปยังสำนักงานการต่างประเทศ เพื่อขอความร่วมมือกับกระทรวงการต่างประเทศในการเก็บข้อมูลอัตลักษณ์เพิ่มเติมจากชายแดนของสถานทูตเมียนมา
เพิ่มวงเงิน 100,000 บาท เงินช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียชีวิต
ในส่วนของการช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียชีวิต กระทรวงมหาดไทย ได้เพิ่มวงเงินในการจัดการศพเป็นศพละ 100,000 บาท โดยไม่คำนึงถึงสถานะของผู้เสียชีวิตว่าเป็นหัวหน้าครอบครัวหรือไม่
คาดว่าจะสามารถจ่ายเงินช่วยเหลือล็อตแรกให้กับผู้ที่ได้รับการรับรองแล้วในวันที่ 18 เมษายน 2568 ที่กระทรวงมหาดไทย โดยขณะนี้ขอให้ทางกรุงเทพมหานครเร่งดำเนินการนำร่างผู้เสียชีวิตไปพิสูจน์อัตลักษณ์ต่อไป
สถานการณ์การค้นหาผู้สูญหายและรื้อถอนซากอาคาร สตง. ยังคงดำเนินต่อไปอย่างเข้มข้น ท่ามกลางความหวังของครอบครัวผู้สูญหายที่จะได้รับข่าวดีในเร็ววัน ทีมข่าวกรุงเทพธุรกิจ จะติดตามและรายงานความคืบหน้าให้ทราบต่อไปอย่างต่อเนื่อง
อ้างอิง-ภาพ : NAKON45 อัญวุฒิ โพธิ์อำไพ ,กรุงเทพมหานคร