ปี67 ค่าใช้จ่ายทางการศึกษาเพิ่ม เช็ก 10 โรงเรียนนานาชาติค่าเทอมแพงสุดในไทย

ปี67 ค่าใช้จ่ายทางการศึกษาเพิ่ม  เช็ก 10 โรงเรียนนานาชาติค่าเทอมแพงสุดในไทย

“ธุรกิจโรงเรียนนานาชาติ” ขยายตัวจากทั้งอุปสงค์การเข้าเรียน และจำนวนโรงเรียน โดยเติบโตจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนคนไทยที่มีความมั่งคั่งสูง และมีความพร้อมในการส่งบุตรหลานเข้าเรียนโรงเรียนนานาชาติมากขึ้น

KEY

POINTS

  • เทรนด์ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลช่วงเปิดเทอมใหญ่ปี 2567 เพิ่มขึ้น 2.3%  หรือมีมูลค่าประมาณ 2.9 หมื่นล้านบาท
  • แนวโน้มการลงทุนด้านการจัดการศึกษาเอกชนขยายจำนวนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโรงเรียนเอกชนในระบบ ประเภทนานาชาติ
  • เช็ก 10 โรงเรียนนานาชาติที่ค่าเทอมแพงที่สุดในประเทศไทยปี 2023-2024 และ โรงเรียนนานาชาติยอดนิยมที่ผู้ปกครองส่งลูกหลานเรียนมากสุด

ธุรกิจโรงเรียนนานาชาติ” ขยายตัวจากทั้งอุปสงค์การเข้าเรียน และจำนวนโรงเรียน โดยเติบโตจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนคนไทยที่มีความมั่งคั่งสูง และมีความพร้อมในการส่งบุตรหลานเข้าเรียนโรงเรียนนานาชาติมากขึ้น ขณะเดียวกัน โครงสร้างประชากรเปลี่ยนไปจากเดิม เด็กเกิดน้อยลง ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองพร้อมลงทุนด้านการศึกษากับลูกหลายมากขึ้น

ประกอบกับการที่มีชาวต่างชาติที่เข้ามาทำธุรกิจ และทำงานระยะยาวในไทย รวมถึงนักเรียนจากประเทศกลุ่ม CLMV ที่เข้ามาเรียนในไทย ซึ่งอุปสงค์ที่เติบโตต่อเนื่องเป็นปัจจัยหนุนให้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จำนวนโรงเรียนนานาชาติมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยราว 5% ต่อปี โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กถึงกลาง ที่เป็นทางเลือกสำหรับผู้ปกครอง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

"โรงเรียนนานาชาติ" โตสวนกระแส 1 แสนล้านบาท เปิด 10 แห่งมาแรง! คนเรียนมากสุด

เหตุใด? เด็กต่างชาติ -เด็กไทย แห่เรียนโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทย

ปี2567 ค่าใช้จ่ายการศึกษาเพิ่ม

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มูลค่าการใช้จ่ายในด้านการศึกษาสำหรับบุตรหลานของผู้ปกครองในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปี 2567 เพิ่มขึ้นเพียงประมาณ 2.3% เทียบกับผลสำรวจในช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือมีมูลค่าประมาณ 2.9 หมื่นล้านบาท

เทรนด์ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษามีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่การศึกษาไทยยังมีประเด็นคุณภาพที่ต้องเร่งจัดการ ภาครัฐควรให้ความสำคัญแก้ไขปัญหาระบบการศึกษาไทยระยะยาว

การใช้จ่ายด้านการศึกษาของบุตรหลานในช่วงการเปิดภาคการศึกษาใหม่ปี 2567 ส่วนใหญ่ผู้ปกครองมีการควบคุมค่าใช้จ่ายที่ประหยัดได้เพื่อจัดสรรให้กับค่าเทอมและค่าธรรมเนียมการศึกษาที่เพิ่มขึ้น

ค่าเทอมและค่าธรรมเนียม (คำนวณในส่วนของโรงเรียนรัฐและเอกชน ไม่รวมโรงเรียนนานาชาติ)

  • โดยเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้น 2.6% จากผลสำรวจในปีที่ผ่านมา หรือมีมูลค่า 24,430 ล้านบาท
  • โดยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากโรงเรียนเอกชนบางแห่งมีการปรับค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสำหรับนักเรียนเข้าใหม่ เนื่องจากต้นทุนการทำธุรกิจอย่างค่าจ้างบุคลากร หรือค่าสาธารณูปโภคที่เพิ่มขึ้น

ค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษา

  • เช่น ค่าใช้จ่ายในการซื้ออุปกรณ์การเรียน ชุดนักเรียน รองเท้า เป็นต้น เพิ่มขึ้นเพียง 1.9% จากผลสำรวจในปีที่ผ่านมา หรือมีมูลค่า 2,750 ล้านบาท 

ค่าเรียนพิเศษ/กวดวิชา และเสริมทักษะลดลง 0.7%

  • จากผลสำรวจในปีที่ผ่านมา หรือมีมูลค่า 1,490 ล้านบาท โดยผู้ปกครองบางกลุ่มมีการปรับลดวิชาเรียน เลือกเรียนเฉพาะวิชาที่จำเป็น เมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจดีขึ้นผู้ปกครองคงจะให้บุตรหลานเรียนกวดวิชาและเสริมทักษะเพิ่มเติม

ค่าใช้จ่ายอื่นๆ

  • เช่น ค่าใช้จ่ายรายวันสำหรับบุตรหลานไปโรงเรียนคงที่หรือไม่เปลี่ยนแปลงจากผลสำรวจในปีที่ผ่านมา

แนวโน้มการลงทุนรร.นานาชาติขยายเพิ่มขึ้น

การจัดตั้งโรงเรียนนานาชาติในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยมีการศึกษา 2564 มีจำนวน 235 โรง ปีการศึกษา 2565 มีจำนวน 240 โรง ปีการศึกษา 2566 มีจำนวน 248 โรง และมีแนวโน้มการแข่งขันของโรงเรียนนานาชาติมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น จากการแข่งขันของโรงเรียนนานาชาติเปิดใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นนอก ฝั่งทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และฝั่งทิศตะวันออก รวมถึงปริมณฑล ตามการขยายธุรกิจที่สอดคล้องไปตามการขยายตัวของตลาดที่อยู่อาศัยระดับบนในพื้นที่ดังกล่าว

รวมทั้งเป็นการพัฒนาโรงเรียนขนาดใหญ่เพื่อสามารถรองรับจำนวนนักเรียนได้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้การแข่งขันในตลาดมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะโรงเรียนนานาชาติขนาดเล็ก ซึ่งมีข้อจำกัดด้านการลงทุนในการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ที่ยังต้องแข่งขันกับกลุ่มทุนรายใหญ่ ที่มีประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจด้านการศึกษา และมีการลงทุนด้านสิ่งอำนวยความสะดวกที่หลากหลายภายหลังการเปิดการค้าเสรีอาเซียนมีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เป็นศูนย์กลางทางการค้า การลงทุน การเงิน การบริการ เป็นโอกาสที่จะช่วยส่งเสริมให้การจัดการศึกษาเอกชนสามารถพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์กลางการศึกษานานาชาติได้

แนวโน้มการลงทุนด้านการจัดการศึกษาเอกชนขยายจำนวนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโรงเรียนเอกชนในระบบ ประเภทนานาชาติ ที่จัดการศึกษาโดยใช้หลักสูตรต่างประเทศและใช้ภาษาต่างประเทศเป็นสื่อในการเรียนการสอนใหกับนักเรียนโดยไม่จำกัดเชื้อชาติ ศาสนา

โดยการจัดการศึกษาของภาคเอกชนนับว่ามีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการจัดการศึกษาของชาติเพราะช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐในการให้บริการด้านการศึกษา เพื่อตอบสนองความต้องการเฉพาะของผู้ปกครองและนักเรียนได้เป็นอย่างดี และปัจจุบันข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนพบว่า มีโรงเรียนนานาชาติทั้งหมด 248โรง ในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 121 โรง ต่างจังหวัด จำนวน 127 โรง

ปัจจัยที่ทำให้รร.นานาชาติ ยอดนิยม

ปัจจัยที่ทำให้โรงเรียนนานาชาติได้รับความนิยมมากขึ้น ซึ่งดูได้จากสถิติการขออนุญาตจัดตั้งโรงเรียน ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น

  • ค่านิยมของผู้ปกครอง
  • ความต้องการของตลาดแรงงาน
  • รูปแบบการจัดการเรียนการสอน
  • ค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าต่างประเทศ
  • การไหลเข้าของชาวต่างชาติที่เข้ามาประกอบอาชีพในประเทศไทยมากขึ้น จึงมีความต้องการให้บุตรหลานของตนได้รับการศึกษาในระบบนานาชาติ

การจัดการศึกษาของโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทย ดำเนินการภายใต้ประกาศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน(สช.) เรื่อง แนวปฏิบัติการพิจารณาการอนุญาตให้ใช้หลักสูตรโรงเรียนในระบบ ประเภทนานาชาติ โดย โรงเรียนต้องขออนุญาตใช้หลักสูตรต่อสช.

โดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ พิจารณารายละเอียดเนื้อหารายวิชา โครงสร้างหลักสูตรเวลาเรียน การวัดและประเมินผล ตลอดจนเกณฑ์การจบการศึกษา ปัจจุบันมีหลักสูตรที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอนอย่างแพร่หลาย เช่น หลักสูตรประเทศอังกฤษ, IB สหรัฐอเมริกา, สิงคโปร์, ฝรั่งเศส เป็นต้น ทั้งนี้ต้องมีการจัดการเรียนการสอนวิชาภาษาไทย วัฒนธรรมไทย และประวัติศาสตร์ไทย ให้กับนักเรียนทุกระดับชั้น ซึ่งเป็นวิชาบังคับสำหรับโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทยทุกโรง

ปี 67 รร.นานาชาติไทย 248 แห่ง

ต่างชาติประเทศที่ส่งลูกหลานมาเรียน โรงเรียนนานาชาติในประเทศไทยนั้น มีความหลากหลายมากเนื่องจากนักเรียนส่วนใหญ่จะติดตามผู้ปกครองเข้ามา ประกอบธุรกิจหรือปฏิบัติหน้าที่ด้านการทูตในประเทศไทยเป็นระยะเวลานานในอดีตจะมีทั้งอเมริกา ยุโรป สแกนดิเนเวีย แต่ปัจจุบันสัญชาติจีน รัสเซีย มีจำนวนเพิ่มขึ้น

ปี 2567 มีโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทย 248 แห่ง เพิ่มขึ้นจากปี 2566 จำนวน 8 แห่ง คิดเป็น 3.33 %

1. กรุงเทพมหานคร 121 แห่ง

2. สมุทรปราการ 10 แห่ง

3. นนทบุรี 11 แห่ง

4. ปทุมธานี 5 แห่ง

5. ลพบุรี 1 แห่ง

6. ชัยนาท 1 แห่ง

7. สระบุรี 4 แห่ง

8. ชลบุรี 14 แห่ง

9. ระยอง 4 แห่ง

10. ปราจีนบุรี 1 แห่ง

11. นครราชสีมา 4 แห่ง

12. อุบลราชธานี 1 แห่ง

13. ขอนแก่น 1 แห่ง

14. อุดรธานี 2 แห่ง

15. ร้อยเอ็ด 1 แห่ง

16. เชียงใหม่ 22 แห่ง

17. ลำปาง 3 แห่ง

18. แพร่ 1 แห่ง

19. พะเยา 1 แห่ง

20. เชียงราย 3 แห่ง

21. กำแพงเพชร 1 แห่ง

22. พิษณุโลก 1 แห่ง

23. นครปฐม 1 แห่ง

24. สมุทรสาคร 1 แห่ง

25. ประจวบคีรีขันธ์ 2 แห่ง

26. กระบี่ 3 แห่ง

27. ภูเก็ต 14 แห่ง

28. สุราษฎร์ธานี 8 แห่ง

29. ชุมพร 2 แห่ง

30. สงขลา 4 แห่ง

10 โรงเรียนนานาชาติค่าเทอมแพงที่สุดในไทย

การกำหนดค่าธรรมเนียมการศึกษาของโรงเรียนนานาชาติ มีความแตกต่างของ แต่ละโรงเรียน ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น หลักสูตร การจัดการเรียนการสอน การบริหารจัดการสถานศึกษา สื่อการเรียนการสอน การให้บริการ ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ แต่อย่างไรก็ตามต้องอยู่ภายใต้การกำกับ ดูแลของสช. ซึ่งดำเนินการภายใต้ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจัดทำประกาศการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่นของโรงเรียนเอกชน ซึ่งกำหนดให้โรงเรียนต้องคำนึงถึงความเหมาะสม จำเป็นมีความเป็นธรรม และการกำหนดค่าธรรมเนียมการเรียนจะต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารโรงเรียนก่อน

ค่าเทอมแต่ละปีของแต่ละโรงเรียนนั้นไม่เท่ากัน โดยค่าเทอมจากปีที่สูงที่สุดของแต่ละโรงเรียนในปีการศึกษา 2023- 2024 นั่นก็คือ Grade 12 และ Year 13 พบว่า 10 โรงเรียนนานาชาติที่มีค่าเทอมแพงที่สุดในไทย มีดังนี้ 

1.โรงเรียนนานาชาติ โชรส์เบอรี กรุงเทพ (Shrewsbury International School Bangkok) ค่าเทอม 1,109,400 บาท/ปี

2.โรงเรียนนานาชาติ ISB (International School Bangkok) ค่าเทอม 1,075,000 บาท/ปี

3.โรงเรียนนานาชาติ นิสท์ (NIST International School Bangkok) ค่าเทอม 1,021,700 บาท/ปี

4.โรงเรียนนานาชาติ คิงส์คอลเลจกรุงเทพ (King’s College School Bangkok) ค่าเทอม 990,000 บาท/ปี

5.โรงเรียนนานาชาติ ฮาร์โรว์กรุงเทพ (Harrow International School Bangkok) ค่าเทอม 982,400 บาท/ปี

6.โรงเรียนนานาชาติ เบซิส กรุงเทพ (BASIS International School Bangkok) ค่าเทอม 975,000 บาท/ปี

7.โรงเรียนนานาชาติ ไบร์ทตัน คอลเลจ กรุงเทพ (Brighton College International School Bangkok) ค่าเทอม 964,700 บาท/ปี

8.โรงเรียนนานาชาติ เวลลิงตันคอลเลจ กรุงเทพ (Wellington College International School Bangkok) ค่าเทอม 940,000 บาท/ปี

9.โรงเรียนนานาชาติ เด่นหล้า บริติช สคูล (DBS Denla British School) ค่าเทอม 926,367 บาท/ปี

10.โรงเรียนนานาชาติ บางกอกพัฒนา (Bangkok Patana School) ค่าเทอม 905,300 บาท/ปี

ยอดนิยมมีผู้เรียนจำนวนมาก

ปัจจุบันนี้มีโรงเรียนขนาดใหญ่และมีนักเรียนจำนวนมากระดับหลักพันคน เปิดให้บริการด้านวิชาการเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ปกครองและนักเรียน เช่น

1. verso international school อำเภอบางพลี สมุทรปราการ

2. International School Bangkok อำเภอปากเกร็ด นนทบุรี

3. King's College International School เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร

4. Harrow International School Bangkok เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร

5. Brighton College International School Bangkok เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร

6. Denla British School อำเภอปากเกร็ด นนทบุรี

7. Shrewbury International School เขตบางคอแหลม กรุงเทพฯ

8. Basis International School เขตขุนเทียน กรุงเทพมหานคร

9. Wellington College International School Bangkok เขตสะพานสูง กรุงเทพมหานคร

10. Ruamrudee International School เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร

11. Grace International School อำเภอหางดง เชียงใหม่

12. Kajonkiet International School อำเภอกระทู้ ภูเก็ต

จัดตั้งรร.นานาชาติ ต้องทำอย่างไร?

สช. มีแนวทางในการกำกับ ดูแลด้านคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของโรงเรียนนานาชาติ โดยดำเนินการภายใต้ พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กฎกระทรวงการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ. 2561 และประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องแนวปฏิบัติในการกำหนดมาตรฐานการศึกษาของโรงเรียนในระบบ ประเภทนานาชาติ ซึ่งกำหนดให้สถานศึกษาแต่ละแห่งจัดให้มีระบบการประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา

 พร้อมทั้งจัดทำแผนพัฒนาการจัดการศึกษา ดำเนินการตามแผนพัฒนา จัดให้มีระบบการประเมินผลและตรวจสอบคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา ติดตามผลการดำเนินการ และจัดส่งรายงานผลการประเมินตนเอง (E – SAR) ให้หน่วยงานต้นสังกัด เพื่อให้คำปรึกษา ช่วยเหลือ และแนะนำแก่สถานศึกษา รวมทั้งวิเคราะห์ สรุปประเด็นสำคัญของรายงานผลการประเมินตนเองของสถานศึกษา (E – SAR) ส่งไปยังสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) เพื่อดำเนินการประเมินคุณภาพภายนอกสถานศึกษาต่อไป

การจัดตั้งโรงเรียนนานาชาติในไทย มีดังต่อไปนี้

1. ผู้ขอรับใบอนุญาต เตรียมความพร้อมก่อนยื่นคำขอรับใบอนุญาตจัดตั้ง ดังนี้

  • ขอใช้ชื่อโรงเรียน
  • ขอใช้หลักสูตรต่างประเทศหรือหลักสูตรที่จัดทำขึ้นเอง
  • อาคารและสถานที่เหมาะสมสำหรับจัดตั้งโรงเรียนนานาชาติ

2. ยื่นคำขอรับใบอนุญาตจัดตั้งโรงเรียนนานาชาติ

3. ผู้ขอรับใบอนุญาตได้รับใบอนุญาตจัดตั้งโรงเรียน และโรงเรียนมีสถานะเป็นนิติบุคคล

4. ผู้รับใบอนุญาตดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินเป็นของโรงเรียน/แต่งตั้งผู้อำนวยการและผู้จัดการ/เปิดบัญชีธนาคารเป็นชื่อโรงเรียน และโอนทรัพย์สิน/จัดให้มีครูครบชั้นเรียนที่เปิดสอน/แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารโรงเรียน

5. แจ้งขอเปิดดำเนินกิจการโรงเรียน

อ้างอิง:สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.)  เพจติดหรู