จากประสบการณ์สู่ปริญญา (จริง) ที่ไม่ใช่ทางลัด
การเปิดกว้างยอมรับความรู้และทักษะ ที่ได้มาจากนอกมหาวิทยาลัย เข้าเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาเพื่อรับปริญญาเป็นสิ่งที่หลายมหาวิทยาลัยในโลกนี้กระทำกันเป็นปกติในวันนี้
แต่การที่จะได้ปริญญาจากความรู้และทักษะจากประสบการณ์นั้น กระทำโดยมีขั้นตอนที่รับประกันได้ว่า ผู้ที่ได้รับปริญญานั้นมีความรู้ มีทักษะ และที่สำคัญคือมีคุณลักษณะบุคคลตรงตามกับที่หลักสูตรเพื่อประสาทปริญญานั้นได้กำหนดไว้
แค่ส่งรายงานแจกแจงประสบการณ์ที่มีอยู่ คงยากที่จะบอกได้ว่ามีความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะครบถ้วนตามที่หลักสูตรที่ให้ปริญญานั้นกำหนดไว้หรือไม่
ในบ้านเรา ใครก็ตามที่อยากได้ปริญญาระดับใด ในสาขาวิชาใด เริ่มต้นด้วยการสมัครคัดเลือกเข้าเป็นนักศึกษาในหลักสูตรนั้น จะเข้าเป็นนักศึกษาได้ก็ต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่หลักสูตรนั้นกำหนดไว้
ถ้าเป็นระดับปริญญาเอกในหลายสาขาวิชาจะกำหนดด้วยว่าต้องมีผลการทดสอบภาษาอังกฤษ หรือภาษาต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชานั้นตามระดับคะแนนที่กำหนด ในทำนองเดียวกับที่เราต้องมีคะแนน TOEFL IELTS เวลาที่สมัครไปเรียนในต่างประเทศ
เมื่อได้เป็นนักศึกษาในหลักสูตรแล้ว นอกจากจะเล่าเรียนวิชาตามที่หลักสูตรกำหนดให้เลือกเรียน บางวิชาที่คิดว่าตนเองมีประสบการณ์เพียงพอที่จะพิสูจน์ได้ว่า มีความรู้ และมีทักษะครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ว่าเป็นผลลัพธ์การเรียนรู้วิชานั้น ก็ยื่นขอเทียบความรู้ที่มาจากประสบการณ์นั้นต่อภาควิชา
ซึ่งจะมีคณะกรรมการที่มีความเชี่ยวชาญในวิชานั้น สามสี่คนมาประเมินว่าผู้นั้นมีความรู้และทักษะครบถ้วนตามวิชานั้นจริงหรือไม่ ความรู้นั้นยังทันสมัยอยู่หรือไม่ โดยมีการทดสอบในหลากหลายรูปแบบ เพื่อให้มั่นใจว่าความรู้และทักษะที่มีอยู่นั้น เทียบเท่ากับการเล่าเรียนวิชานั้นอย่างแท้จริง
วิธีการและหลักการในการเทียบประสบการณ์เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาเพื่อรับปริญญาก็ต้องสอดคล้องกับที่คณะกรรมการระดับมหาวิทยาลัยกำหนด โดยต้องอยู่ภายในของเขตตามที่คณะกรรมการมาตรฐานอุดมศึกษากำหนดไว้
เพดานที่ยอมให้มีการเทียบความรู้ ที่ได้จากประสบการณ์มาเป็นส่วนหนึ่งของการได้ปริญญาในระดับปริญญาโทเอกนั้นสูงสุดมีได้แค่ครึ่งหนึ่งของหน่วยกิตที่จะจบการศึกษา แปลว่ามีประสบการณ์จากการทำงานมา แล้วมาเรียนต่อก็ยังต้องใช้เวลาเล่าเรียนในมหาวิทยาลัยประมาณครึ่งหนึ่งของคนที่จบมาใหม่ ๆ ไม่เคยทำงาน
ซึ่งเปิดกว้างที่สุดแล้วเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ที่ยอมให้เทียบได้ไม่เกินหนึ่งในสามของทั้งหมดที่ต้องเรียน เจตนาสำคัญคือต้องการใช้เวลาเล่าเรียนในการเสริมสร้างคุณลักษณะของบัณฑิตให้เป็นไปตามแบบฉบับของมหาวิทยาลัย จะสร้างให้เป็นมืออาชีพ ก็ต้องมีเวลาในมหาวิทยาลัยเพื่อเสริมสร้างให้เป็นมืออาชีพได้
ถ้าเป็นปริญญาเอก ด่านสำคัญก่อนจบการศึกษาคือการทำดุษฎีนิพนธ์ เพื่อพิสูจน์ว่าสามารถเป็นผู้ที่สร้างสรรค์ความรู้ใหม่ในวงการวิชาการนั้น เป็นคุณสมบัติสำคัญที่บ้านเรากำหนดไว้ในกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาเอก
อาจารย์ที่ปรึกษาดุษฎีนิพนธ์เลยต้องเป็นผู้ที่มีความเข้มแข็งทางวิชาการ มักมีผลงานวิจัยตีพิมพ์เผยแพร่ทั้งระดับชาติ ระดับนานาชาติมากมายหลายเรื่อง ที่สำคัญคือต้องจบปริญญาเอก หรือมีตำแหน่งวิชาการตั้งแต่รองศาสตราจารย์ขึ้นไป ซึ่งส่วนใหญ่ในมหาวิทยาลัย อาจารย์ที่ปรึกษาจะมีทั้งสองอย่างควบคู่กันอยู่แล้ว
ทำดุษฎีนิพนธ์สำเร็จลงเมื่อได้มีการส่งผลงานนั้นไปตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารภายในฐานข้อมูลการวิจัย ตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการมาตรฐานอุดมศึกษากำหนดไว้ แค่ไปเผยแพร่ที่ไหนโดยหาเจอจากกูเกิลยังไม่พอ
ขั้นสุดท้ายคือต้องสอบป้องกันดุษฎีนิพนธ์ ที่มีกรรมการจากภายนอกมหาวิทยาลัยที่เชี่ยวชาญในสาขาวิชานั้นร่วมในการสอบ การสอบยังต้องเปิดให้ผู้คนที่สนใจเข้าสังเกตการณ์ได้อีกด้วย เพื่อความโปร่งใสและความมั่นใจในคุณภาพ
ถ้าทำดุษฎีนิพนธ์ไม่สำเร็จในเวลาที่กำหนด ต้องหมดสภาพนักศึกษาไป ก็เอาวิชาที่เล่าเรียนไปแล้ว ไปฝากไว้ที่คลังหน่วยกิตของมหาวิทยาลัยได้ วันหน้าอยากเรียนใหม่ ก็ไปเบิกมาใช้ได้ตามขอบเขตที่กำหนด แต่ต้องมาทำดุษฎีนิพนธ์กันใหม่
อย่าลืมถามมหาวิทยาลัยไว้หน่อยว่าคลังหน่วยกิตของมหาวิทยาลัย ได้รับการขึ้นทะเบียนกับคณะกรรมการมาตรฐานอุดมศึกษาไว้แล้วหรือไม่
กว่าที่ประสบการณ์จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของการได้ปริญญา กว่าที่ดุษฎีนิพนธ์จะผ่านอาจารย์ที่ปรึกษาที่เชี่ยวชาญ กว่าจะตีพิมพ์ได้ กว่าจะผ่านการสอบป้องกัน ต้องออกแรงกันพอสมควร บางคนจึงหาทางลัดเพื่อให้ได้สิ่งที่ปรารถนา โดยไม่ต้องออกแรง.