'อ.อ๊อด' ยื่น อว.สอบ 'สว.หญิง' ใช้ 'ศาสตราจารย์' นำหน้าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
'อ.อ๊อด' นำทีมศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ยื่นหนังสือถึง อว.ตรวจสอบ 'สว.หญิง' ใช้ตำแหน่งวิชาการ 'ศาสตราจารย์' จากต่างประเทศ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หวั่นสร้างความสับสนให้สังคม
เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2567 รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ หรือ "อ.อ๊อด" เลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ พร้อมด้วย ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ศาตราจารย์ระดับ 11 สถาบันบันฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ "นิด้า" เข้ายื่นหนังสือถึงปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ผ่าน นายวันนี นนท์ศิริ ผู้ช่วยปลัดกระทรวง
สำหรับหนังสือดังกล่าว ระบุว่า ขอให้ตรวจสอบ กรณีมีผู้ใช้ตำแหน่งศาสตราจารย์นำหน้าชื่อ ทำให้สังคมไทยเข้าใจผิดว่า เป็นการได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย โดยได้ใช้ตำแหน่งทางวิชาการ "ศาสตราจารย์" นำหน้าชื่อ เพื่อสมัครเข้ารับการสรรหาในตำแหน่ง สมาชิกวุฒิสภา ทำให้สังคมสับสนว่า เป็นการได้ตำแหน่งมาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์วงกว้าง
เหตุแห่งการได้มาซึ่งตำแหน่ง "ศาสตราจารย์" เป็นการเทียบวุฒิจากสถาบันเทียบวุฒิที่ต่างประเทศ คือ บริษัท California University FCE ซึ่งไม่ใช่สถาบันอุดมศึกษา และ มีการกล่าวอ้างในการแถลงข่าวของกลุ่มคนที่นำตำแหน่ง ศาสตราจารย์ ดังกล่าวมาใช้นำหน้าซื่อ เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2567 ว่า สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) รับรองสถานะ นำมาซึ่งการเข้าใจผิดของสังคมในวงกว้าง ซึ่งอาจขัดต่อกฎหมาย พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561
เหตุสำคัญ อีกประการหนึ่ง คือ ตำแหน่งทางวิชาการระดับ "ศาสตราจารย์" ในประเทศไทย หลังจากผ่านการ ประเมินผลงานวิชาการโดยเข้มงวดแล้ว ก็จะได้รับการพิจารณาเห็นชอบจาก สภามหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจนเสร็จสิ้นลง ก็จะต้องนำความขึ้นกราบบังคบทูล เพื่อขอพระราชทานโปรดเกล้า โปรดกระหม่อม ประกาศแต่งตั้งใน ราชกิจจานุเบกษา ให้บุคคลทั่วไปได้รับทราบสถานะในตำแหน่ง ศาสตราจารย์ และบุคคลนั้นก็สามารถใช้ประกอบคำนำหน้าชื่อได้ถูกต้องตามกฎหมาย
ดังนั้น กรณีที่มีบุคคลแอบอ้างได้ใช้คำในตำแหน่ง "ศาสตราจารย์" เพื่อสื่อต่อสาธารณะให้ประชาชนคนไทย เกิดความเข้าใจ ว่า มีตำแหน่งทางวิชาการระดับ "ศาสตราจารย์" อันเป็นการกระทำที่หมิ่นต่อสถานะตำแหน่งทางวิชาการ ซึ่งองค์พระมหากษัตริย์ จะต้องพระราชทานโปรดเกล้าฯ นั้น หน่วยงานของท่านจะดำเนินเรื่องนี้อย่างไร
ในฐานะที่ข้าพเจ้าเคยดำรงตำแหน่งเป็นองค์ประกอบของสภามหาวิทยาลัยฯ ตามเอกสารแนบ 3 ซึ่งมีหน้าที่ปกป้องพิทักษ์รักษาระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีองค์พระมหากษัตริย์ เป็นพระประมุขของประเทศไทย จึงเห็นว่า ท่านฯ ในฐานะผู้ดูแลรับผิดชอบโดยตรง จะได้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อดำรงไว้ซึ่งความถูกต้อง และรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมไทยในประเด็นนี้ มิได้เกิดการขยายในวงกว้าง ทำให้เกิดความเสียหาย ทั้งต่อความรู้สึกของประชาชน ศักดิ์ศรีของนักวิชาการ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต่อไป
รศ.ดร.วีรชัย กล่าวว่า การมายื่นหนังสือที่สำนักงานปลัด อว. วันนี้ เพราะที่ผ่านมาเเต่เดิมที่ยังเป็น สกว. เคยปราบเรื่องนี้มาโดยตลอด ยังยืนยันว่า California University ไม่ใช่มหาวิทยาลัย เเต่เป็นเพียงบริษัท การใช้ตำเเหน่ง ศาสตราจารย์ หากใช้ที่บ้าน ใช้ในท้องนา ร้านอาหาร สามารถใช้ได้ เเต่หากนำเข้ามาสู่ระบบราชการ โดยเฉพาะกระบวนการสรรหาบุคคลที่จะต้องเข้าไปเป็นหนึ่งในสามเสาหลักของประเทศ ตรงนี้มีปัญหาเเน่นอน
ส่วนกลุ่มคนที่เเถลงข่าวเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เพื่อรับรองในสิ่งที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งอ้างอิงสำนักงาน กพ.ว่ารับรอง โชว์เอกสาร พร้อมประกาศที่จะฟ้องคนนั้นคนนี้ รวมถึงตนจะต้องรับผิดชอบ ในส่วนที่นำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่สาธารณะ ทำให้สังคมเกิดความสับสน ลูกเด็ก เยาวชน ก็ไม่ต้องเรียนกันเเล้ว รอเทียบโอนอย่างเดียว
"คนที่จะมายืนมีตำเเหน่งทางวิชาการตรงนี้ได้ ดำเนินการด้วยความยากลำบาก วันนี้ก็ยังมีอาจารย์อีกหลายคนที่ส่งข้อมูลมาให้ โดยจุดดำเนินการก็จะเริ่มต้นจากที่นี่ หลังจากนี้ก็จะดำเนินการในกระบวนการต่อไป" รศ.ดร.วีรชัย กล่าว
รศ.ดร.วีรชัย กล่าวอีกว่า ในส่วนกระบวนการสรรหา สว. ที่หลายคนกำลังเฝ้ามอง ซึ่งทางตนก็ไม่อยากก้าวล่วง เพราะเป็นการได้มาโดยชอบของ สว.ที่ได้คะเเนนสูงสุด เเต่ก็รับทราบว่ามีกลุ่มคนที่สมัครเป็น สว. ก็ได้ดำเนินการในเรืองนี้ ตามาตรา 71 (4) ก็ว่ากันไป
ส่วนเอกสารที่ทีมทนาย นำมาเเสดงโชว์ในการเเถลงข่าว เอกสารที่ได้เป็นเอกสารเทียบ เป็นเอกสารจริงของบริษัทประเมินมาโชว์ เเต่อ้างว่าเป็นวุฒิการศึกษา ซึ่งตรงนี้ถือว่าเป็นวุฒิปลอม การจะใช้ตำเเหน่งที่ได้มาในราชอาณาจักรไทย จะต้องมีการโปรดเกล้าฯ เเละประกาศในราชกิจจานุเบกษา การนำไปใช้ในหน่วยงานราชการจึงต้องมีการรับผิดชอบด้วย
ส่วน ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ศาตราจารย์ระดับ11 สถาบันบันฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ อยากให้สังคมเกิดความชัดเจน คนจะเป็นศาสตรจารย์ได้ก็จะต้องมีลำดับขั้นขอบการพัฒนาการเป็นขั้นตอน จากอารย์ กระโดด มาเป็น ศาตรจารย์ โดยไม่มีผลงานที่น่าประจักษ์มันเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจ ส่วนตัวใช้เวลา 7 ปี กว่าจะได้มาซึ่งตำเเหน่ง
ขณะที่นายวันนี นนท์ศิริ ผู้ช่วยปลัดกระทรวง เปิดเผยว่า ทางกระทรวงจะรับที่จะไปดำเนินการตามกระบวนการ ส่วนจะต้องเชิญสว. มาชี้เเจงหรือไม่ ต้องดูในรายละเอียดก่อน การให้ตำเเหน่งทางวิชาการหากเป็นในต่างประเทศจะมีกระบวนการที่เเตกต่างกัน ซึ่งจะมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยหากได้รับตำเเหน่งมา ก็จะนำมาเทียบโอนกับตำเเหน่งในกระทรวง ส่วนเรื่องการใช้ตำเเหน่งทางวิชาการ หากได้มาโดยถูกต้องก็มีสิทธิ์ที่จะใช้ได้ หากเป็นตำเเหน่งของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยก็จะมีกระบวนการในการเทียบ