ทำไมเราจึงควรเรียนรู้ "ประวัติศาสตร์"

ทำไมเราจึงควรเรียนรู้ "ประวัติศาสตร์"

ประวัติศาสตร์ คือการศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างกิจกรรมของคนส่วนใหญ่ในสังคม เราอ่าน/ศึกษาประวัติศาสตร์เพื่อการได้ข้อมูลข่าวสารและบทเรียนที่ฉลาดขึ้น

โดยเน้นในแง่ของพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงของสังคมในยุคสมัยต่างๆ ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน ที่มีลักษณะเคลื่อนไหวต่อเนื่องกับสิ่งที่กําลังจะเกิดขึ้นต่อไป (อนาคต)

ประวัติศาสตร์ที่แท้จริงควรจะเป็นประวัติศาสตร์สังคม ซึ่งรวมถึงประวัติศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม ระบบนิเวศ ที่ให้ความสำคัญกับบทบาทประชาชนสามัญ 

การต่อสู้ของภาคประชาชนเช่น เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ทําให้เกิดประชาธิปไตยแบบรัฐสภาและการกระจายอํานาจและความรู้ไปสู่คนชั้นกลางและชนชั้นล่างมากขึ้นกว่ายุค 15 ปีก่อนหน้านั้น

นักวิชาการฝ่ายก้าวหน้าบางส่วนพัฒนาวิชาการสังคมศาสตร์สาขาต่างๆ ไปในแนวเสรีนิยมก้าวหน้าขึ้น ศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ การเมือง สังคม และเรื่องของประชาชนธรรมดาสามัญ เรื่องประวัติศาสตร์สมัยใหม่ แบบวิเคราะห์วิพากษ์วิจารณ์เพิ่มขึ้น แม้โดยรวมแล้ว ยังคงจำกัดอยู่ในหมู่ปัญญาชนที่มีแนวคิดก้าวหน้าส่วนน้อย 

ที่วิชาประวัติศาสตร์ในประเทศไทยมักเน้นแต่เรื่องราวในอดีตโบรํ่าโบราณของคนที่มีอํานาจหรือมีอิทธิพล เนื่องมาจากชนชั้นผู้ปกครองจะผูกขาดทั้งอำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจแล้ว ยังผูกขาดเรื่องการศึกษา วิชาการ ศิลปวัฒนธรรมด้วย

พวกเขาจึงสร้างความรู้และข้อมูลแบบที่ยกย่องพวกเขาเพื่อครอบงำความรู้ ความคิดของประชาชนให้คล้อยตาม 

ในยุโรปตั้งแต่ยุคคริสตศตวรรษที่ 16-17 เมื่อนักวิชาการได้เรียนรู้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ (มีหลักฐานพยานยืนยัน มีการคำนวณได้, พิสูจน์ได้) ว่าโลกเป็นดาวบริวารที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ ไม่ได้เป็นศูนย์กลางของจักรวาลอย่างที่คริสตจักรกล่าวอ้าง

ทั้งโลกและมนุษย์วิวัฒนาการมาโดยระบบธรรมชาติไม่มีหลักฐานว่าพระเจ้าสร้าง ความรู้ใหม่นี้ได้ทําลายการครอบงําทางความเชื่อโดยชนชั้นสูงที่อ้างว่าโลกและมนุษย์เกิดมาจากพระเจ้าหรือเทพเจ้า และส่งคนชั้นสูงให้มาเป็นผู้ปกครองคนส่วนใหญ่นั้น แท้จริงเป็นเพียงเรื่องที่ชนชั้นสูงแต่งขึ้นภายหลัง 

เรื่องจริงคือเรื่องวิวัฒนาการทั้งทางธรรมชาติและทางสังคมวัฒนธรรมของมนุษย์ มนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์สังคม (จำเป็นต้องอยู่ร่วมกันเป็นหมู่เพื่อความอยู่รอด)

ในยุคแรกๆ เมื่อ 5-7 ล้านปีที่แล้วจนถึงเมื่อราว 10,000 ปีที่แล้ว มนุษย์ใช้ชีวิตร่วมกันแบบกลุ่มเล็กๆ ที่ยังชีพด้วยการหาของป่าล่าสัตว์ และอยู่ร่วมกันอย่างพึ่งพาอาศัยกันอย่างเสมอภาคและอย่างภราดรภาพ (รักใคร่กันฉันท์ญาติพี่น้อง)

มนุษย์เพิ่งเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตการผลิตเป็นสังคมเกษตร สังคมเมือง ที่มีชนชั้นและผู้ปกครองรัฐเมื่อราว 10,000 ปีที่แล้วเท่านั้น (ในบางสังคมเปลี่ยนแปลงช้ากว่านั้นด้วยซ้ำ)

การแต่งเรื่องพระเจ้า/เทพเจ้าสร้างโลก และกษัตริย์เป็นเรื่องที่แต่งขึ้นภายหลังจากที่สังคมชุมชนเล็กๆ พัฒนาเป็นสังคมเมือง ที่ต้องมีการจัดองค์กรแบบแบ่งงานกันทำ จึงเกิดชนชั้นต่างๆ รวมทั้งชนชั้นผู้ปกครองและชนชั้นผู้ถูกปกครองขึ้น นี่คือข้อเท็จจริงที่ประชาชนควรรับรู้มากขึ้น

ประวัติศาสตร์ช่วยให้เราเข้าใจปัจจุบันและอนาคต

ถ้าหากเราศึกษาประวัติศาสตร์ทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรมที่ประชาชนส่วนใหญ่ตั้งแต่นักหาของป่าล่าสัตว์ กสิกร ช่างฝีมือ หัตถกรรม ไพร่ ทาส แรงงานทุกประเภท ฯลฯ

มีบทบาทที่สำคัญ ศึกษาเชิงวิเคราะห์ภาพใหญ่และบทเรียนของแต่ละสังคมในแต่ละยุค จะทำให้วิชาประวัติศาสตร์สนุก น่าสนใจที่จะได้เรียนรู้เพิ่มขึ้น

การศึกษา/อ่านประวัติศาสตร์ในแนวใหม่นี้ จะทำให้ผู้เรียนหรือผู้อ่าน มองเห็นวิวัฒนาการความเป็นมาของสังคมได้อย่างกระจ่างชัด ได้เห็นบทเรียนจากประวัติศาสตร์และสามารถเชื่อมโยงเปรียบเทียบเรียนรู้จากสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอยู่ในปัจจุบันได้ดีขึ้น 

การศึกษาประวัติศาสตร์ในแนวที่กว้าง มองทั้งระบบเศรษฐกิจ, การเมือง, สังคม, ระบบนิเวศ ของทั้งโลกและของไทยอย่างเชื่อมโยงเป็นองค์รวม จะช่วยให้เราเข้าใจว่า

จริงๆ แล้ว ปัญหาการพัฒนาทางเศรษฐกิจสังคมของแต่ละประเทศนั้นเป็นเรื่องที่สืบเนื่องมาจากกระบวนการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ในแต่ละทวีป/ประเทศที่มีลักษณะไม่สม่ำเสมอ ไม่เท่าเทียมกัน

การที่ประเทศในยุโรปตะวันตกสามารถพัฒนาการค้า หัตถกรรม เศรษฐกิจ อาวุธ และการเดินเรือ ได้ก่อนได้มากกว่าประเทศอื่นๆ ตั้งแต่ราวคริสตศวรรษที่ 15-16

ทำให้รัฐชาติของพวกเขากลายเป็นรัฐแบบจักรวรรดินิยมที่ไปยึดประเทศอื่นๆ เป็นเมืองขึ้น พัฒนาทุนนิยมอุตสาหกรรมที่เอารัดเอาเปรียบได้รวดเร็วและมากกว่าประเทศอื่นๆ ที่ระบบเศรษฐกิจการเมืองยังคงเป็นสังคมเกษตรเป็นหลัก

กระบวนการพัฒนาทางระบบเศรษฐกิจสังคมที่ไม่เท่าเทียมกันนี้ เกิดมาจากการที่ประเทศยุโรปตะวันตกสามารถพัฒนาจากระบบฟิวดัล (ศักดินาสวามิภักดิ์) เป็นทุนนิยมอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 16-17

พวกเขาใช้เทคโนโลยีการรบและการเดินเรือที่เหนือกว่าเข้าไปครอบครองเอาสังคมอื่นๆ เป็นเมืองขึ้น สกัดทรัพยากร แรงงานจากสังคมอื่นๆ (รวมทั้งขูดรีดแรงงาน ทรัพยากรในประเทศตนเองด้วย) มาสร้างความมั่งคั่งรํ่ารวยให้กับประเทศของพวกตนได้อย่างมหาศาล 

สังคมตะวันออก (จีน อินเดีย ภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันออกกลาง ฯลฯ) ในยุคสมัยก่อนเกิดทุนนิยมโลก เคยเจริญรุ่งเรือง (ในทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม) มาก่อนในหลายยุคหลายสมัย รวมทั้งยุคสมัยที่สังคมตะวันตก (ยุโรป) ช่วงคริสตวรรษที่ 5-15 (เมื่อราว 600-1,600 ปีที่แล้ว)

ในยุคสมัยเดียวกันยังคงป่าเถื่อนและ “ด้อยพัฒนา” กว่าด้วย เพียงแต่ประเทศตะวันออกเหล่านี้มีปัญหาเชิงโครงสร้างทางการเมืองการปกครองและปัญหาอื่นๆ จนพวกเขาไม่ได้พัฒนาอย่างต่อเนื่องเหมือนกับยุโรป

ในขณะที่ยุโรปเองได้เรียนรู้จากโลกอาหรับ จีน อินเดีย ฯลฯ มาใช้ประโยชน์ได้ดีกว่าด้วย พวกยุโรปจึงสามารถพัฒนาทางเศรษฐกิจสังคมไปได้เร็วกว่าเอเชียและทวีปอื่นๆ

การจะเข้าใจปัญหาของสังคมไทยให้ครอบคลุม เราต้องศึกษาถึงปัจจัยภายในสังคมไทยเองด้วย โดยเฉพาะการคลี่คลายขยายตัวของระบบเศรษฐกิจการเมืองและวัฒนธรรมแบบศักดินา

ซึ่งมีผลกระทบมาจนถึงยุคปัจจุบัน สาเหตุที่คนไทยไม่ค่อยมีนิสัยในการค้า ไม่มีนิสัยในการอดออมเพื่อลงทุนขยายกิจการให้ดีขึ้น เมื่อเทียบกับชาวจีนที่อพยพเข้ามาทำมาหากินในเมืองไทยหลายระลอกนั้น

ส่วนหนึ่งมาจากการที่คนไทยถูกรัฐบาลเจ้าขุนมูลนายตั้งแต่ยุคสุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์ตอนต้น เกณฑ์แรงงานไพร่มาใช้งานฟรีโดยที่คนไทยไม่มีอิสรภาพที่จะทำงานของตนเองได้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่คนจีนที่อพยพมาอยู่เมืองไทยจ่ายให้รัฐบาลเป็นตัวเงินแทน

วัฒนธรรมศักดินาไทยที่ยกย่องขุนนางดูถูกพ่อค้าและช่างฝีมือ ตลอดจนปัจจัยอื่นๆ เช่น ระบบอุปถัมภ์ การเล่นพวก ฯลฯ ในยุคราชาธิปไตยของไทยที่ยาวนานมาราว 700-1,000 ปี มีผลต่อการหล่อหลอมพื้นเพทางวัฒนธรรมของคนไทยยุคในปัจจุบันอยู่มากด้วยเช่นกัน (วิทยากร เชียงกูล. ประวัติศาสตร์โลกฉบับย่นย่อ. แสงดาว, 2567).