'บรรจง โกศัลวัฒน์' 81 ปี บิดาแห่งวิชาภาพยนตร์สมัยใหม่ไทย สู่ศิลปินแห่งชาติ

'บรรจง โกศัลวัฒน์' 81 ปี บิดาแห่งวิชาภาพยนตร์สมัยใหม่ไทย สู่ศิลปินแห่งชาติ

บรมครูผู้กำกับภาพยนตร์ 'บรรจง โกศัลวัฒน์' ในวัย 81 ปี เจ้าของฉายา บิดาแห่งวิชาภาพยนตร์สมัยใหม่ไทย สู่ศิลปินแห่งชาติ ปีล่าสุด

คนในวงการภาพยนตร์ นักศึกษาภาพยนตร์ ต่างแสดงความยินดี เมื่อบรมครูผู้กำกับภาพยนตร์ อย่าง บรรจง โกศัลวัฒน์ ในวัย 81 ปี เจ้าของฉายา บิดาแห่งวิชาภาพยนตร์สมัยใหม่ไทย สู่ศิลปินแห่งชาติ ปีล่าสุด

ภายหลังการประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.) โดย นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม รองประธานกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้แถลงผลการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2566 ซึ่งมีบุคคลที่ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ จำนวน 12 ราย 

หนึ่งในบุคคลที่ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ คือ รองศาสตราจารย์บรรจง โกศัลวัฒน์ สาขาศิลปะการแสดง (ภาพยนตร์)
 

ชีวิตและการทำงาน บรรจง โกศัลวัฒน์ 

บรรจง โกศัลวัฒน์ เกิดเมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2486 ที่กรุงเทพมหานคร หลังร่ำเรียนจบขั้นพื้นฐานแล้ว อายุประมาณ 17 ปี เลือกสนใจด้านศิลปะ

  • พ.ศ. 2503 เริ่มศึกษาวิชาศิลปะ โรงเรียนเพาะช่าง
  • พ.ศ. 2505 ศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
  • พ.ศ. 2514 ได้รับประกาศนียบัตรวิชาการถ่ายภาพยนตร์ จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา
  • พ.ศ. 2521 สําเร็จการศึกษาได้รับปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิทยุโทรทัศน์ และภาพยนตร์ จากมหาวิทยาลัยเทมเปิล ประเทศสหรัฐอเมริกา
     

การทํางานในมหาวิทยาลัยของบรรจง โกศัลวัฒน์

พ.ศ. 2514 บรรจงเริ่มทํางานในตําแหน่งอาจารย์ แผนกอิสระวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

พ.ศ. 2515 ถึง 2550 ทําหน้าที่สอนวิชาภาพยนตร์ ซึ่งเปิดสอนขึ้นเป็นครั้งแรก ในระดับอุดมศึกษา ก่อนจะเลื่อนตําแหน่งขึ้นเป็นอาจารย์ประจําสาขาวิชาภาพยนตร์และภาพถ่าย คณะวารสารศาสตร์และสื่อมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กว่า 35 ปี ตำแหน่งทางวิชาการคือรองศาสตราจารย์ 

\'บรรจง โกศัลวัฒน์\' 81 ปี บิดาแห่งวิชาภาพยนตร์สมัยใหม่ไทย สู่ศิลปินแห่งชาติ

 

ความรู้ความสามารถด้านภาพยนตร์ของบรรจง โกศัลวัฒน์ 

ในช่วงปี พ.ศ. 2510 รองศาสตราจารย์บรรจงได้รับทุนจากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ไปทัศนศึกษาที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นเวลา 1 ปี

มีโอกาสได้รู้จักและชื่นชมงานศิลปะที่สร้างด้วยสื่อภาพยนตร์เป็นครั้งแรก และเกิดความประทับใจเป็น อย่างยิ่ง จึงตัดสินใจลงเรียนหลักสูตรภาพยนตร์ระยะสั้นที่ Millennium Film Workshop และได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะด้วยฟิล์มภาพยนตร์เป็นครั้งแรกเรื่อง Eye ที่อาจกล่าวได้ว่า เป็นภาพยนตร์ทดลองเรื่องแรกของคนไทย

ระหว่างที่กําลังศึกษาอยู่ที่นครนิวยอร์ก ได้สร้างภาพยนตร์เป็นงานศิลปนิพนธ์เรื่อง The Crossing หรือ ข้ามฟาก ซึ่งเป็นผลงานที่ได้รับหลายรางวัลจากการประกวดในเทศกาลภาพยนตร์ต่าง ๆ จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นสําคัญของรองศาสตราจารย์บรรจง ในฐานะศิลปินสาขาภาพยนตร์

เมื่อกลับมายังประเทศไทย ได้สร้างภาพยนตร์ทดลองควบคู่ไปกับการทําภาพยนตร์สารคดี และยังนําผลงานของศิลปินต่างชาติมาจัดแสดงให้ผู้ชมชาวไทยได้รับชมด้วย

พร้อมทั้งให้ความรู้ไปด้วย นับเป็นการบุกเบิกและเผยแพร่ภาพยนตร์ทดลองอย่างเป็นทางการขึ้น

ในประเทศเมื่อ พ.ศ. 2513 แม้ต้องทําหน้าที่ทางวิชาการในมหาวิทยาลัยอย่างเข้มข้น แต่รองศาสตราจารย์บรรจง ยังคงอุทิศเวลาให้กับการสร้างสรรค์ผลงานภาพยนตร์ ด้วยความรักและความผูกพันที่มีต่อศิลปะด้านนี้อย่างสม่ำเสมอ

ได้ผลิตผลงานที่มีชื่อเสียง เป็นที่ยอมรับหลายเรื่อง ได้แก่

  • นวลฉวี
  • สายน้ำไม่ไหลกลับ
  • คำสิงห์
  • ซีอุย แซ่อึ้ง
  • เร็วกว่าใจไกลเกินฝัน
  • คู่กรรม 2
  • อัศจรรย์แห่งชีวิต หมอแสง

จากความวิริยะอุตสาหะและการทุ่มเทพลังกาย พลังใจ พลังความคิดให้กับวงการนี้มายาวนาน จึงได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติมากมาย อาทิ

  1. รางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี (ตุ๊กตาทอง) ครั้งที่ 4 จากภาพยนตร์เรื่อง "นวล" รวม 3 รางวัล พ.ศ. 2526
  2. รางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี ครั้งที่ 15 ในฐานะนักตัดต่อภาพยนตร์ ยอดเยี่ยม จากภาพยนตร์เรื่อง “วิถีคนกล้า” พ.ศ. 2534
  3. รางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี ครั้งที่ 16 รวม 4 รางวัล จากภาพยนตร์เรื่อง “เร็วกว่าใจ ไกลเกินฝัน” พ.ศ. 2535
  4. รางวัลสุพรรณหงส์ทองคํา จากการประกวดภาพยนตร์แห่งชาติสุพรรณหงส์ ครั้งที่ 1 รวม 3 รางวัล
  5. รางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี ครั้งที่ 20 รวม 1 รางวัล จากภาพยนตร์เรื่อง “คู่กรรม” พ.ศ. 2539
  6. รางวัลอนุสรมงคลการ จากมูลนิธิหนังไทย พ.ศ. 2543
  7. รางวัล Lifetime Achievement จากสมาคมผู้กํากับภาพยนตร์ไทย ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2557

\'บรรจง โกศัลวัฒน์\' 81 ปี บิดาแห่งวิชาภาพยนตร์สมัยใหม่ไทย สู่ศิลปินแห่งชาติ

กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เผยแพร่คำประกาศเกียรติคุณ รองศาสตราจารย์บรรจง โกศัลวัฒน์
ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ภาพยนตร์) พุทธศักราช 2566

ระบุว่า นอกจากความสามารถจนได้รับฉายาว่าเป็น ครูใหญ่ หรือบิดาแห่งวิชาภาพยนตร์สมัยใหม่ของประเทศไทยแล้ว รองศาสตราจารย์บรรจง ยังเป็นผู้มีคุณูปการต่อวงการภาพยนตร์ไทยเป็นอย่างสูง

เพราะเป็นหนึ่งในผู้ผลักดันให้มีการจัดตั้งหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ขึ้นจนเป็นผลสําเร็จ

อีกทั้งยังเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ทําหน้าที่สนับสนุนและผลักดัน การยกร่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์ พ.ศ. 2536 เป็นประโยชน์แก่ผู้ผลิตภาพยนตร์ รวมถึงผลักดันการปฏิรูปการตรวจพิจารณา ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ เพื่อให้อิสระเสรีในการสร้างสรรค์ภาพยนตร์แก่คนในวงการ

จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขา ศิลปะการแสดง (ภาพยนตร์) พุทธศักราช 2566

ขณะที่ หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ขอแสดงความยินดีกับ รองศาสตราจารย์บรรจง โกศัลวัฒน์ ที่ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ภาพยนตร์) พุทธศักราช 2566

อาจารย์บรรจงเป็นทั้งคนทำหนัง อาจารย์ภาพยนตร์ สร้างลูกศิษย์ลูกหาในวงการมากมาย อีกทั้งยังส่งเสริมคนทำหนังรุ่นใหม่ ๆ ให้มีโอกาสเติบโตในเส้นทางภาพยนตร์ตลอดห้าสิบปีที่ผ่านมา

 

(คลิปภาพยนตร์สารคดีขาวดำ เกี่ยวกับวงการม้าแข่ง ซึ่งอาจารย์บรรจง โกศัลวัฒน์ ทำขึ้นในสมัยเรียนปริญญาโท ที่ Temple University สหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2519)

ขณะเดียวกับ สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ได้ประกาศขอแสดงความยินดีกับรองศาสตราจารย์บรรจง โกศัลวัฒน์ ที่ได้รับเลือกให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ภาพยนตร์)

หลังจาก รองศาสตราจารย์บรรจง โกศัลวัฒน์ เกษียณจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันดํารงตําแหน่งผู้อํานวยการหลักสูตรนิเทศศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการภาพยนตร์และสื่อดิจิทัล มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต แม้ในวัย 80 ยังทำงานการสอน งานวิชาการ และงานภาพยนตร์ สร้างคนรุ่นใหม่ที่สนใจภาพยนตร์อย่างต่อเนื่อง

บรรดาลูกศิษย์ทั้งจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ที่จบปริญญาโทออกไปเป็นอาจารย์ด้านภาพยนตร์ในวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น จึงไม่เกินจริงกับคำว่า "บรมครูผู้กำกับภาพยนตร์ไทย" และฉายา "บิดาแห่งวิชาภาพยนตร์สมัยใหม่ของประเทศไทย"

\'บรรจง โกศัลวัฒน์\' 81 ปี บิดาแห่งวิชาภาพยนตร์สมัยใหม่ไทย สู่ศิลปินแห่งชาติ

อ้างอิง - มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิตกระทรวงวัฒนธรรม , หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) และ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม