กยศ. บนตลาดแรงงานแห่งความเหลื่อมล้ำ ยุค 4.0 | ว่องวิช ขวัญพัทลุง

กยศ. บนตลาดแรงงานแห่งความเหลื่อมล้ำ ยุค 4.0 | ว่องวิช ขวัญพัทลุง

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ผ่านไป 19 ปี ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาหมดไปจากสังคมไทยหรือไม่ แล้วความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของแรงงานไทยดีขึ้นกว่าที่เป็นมาหรือยัง

“การศึกษา หรือ องค์ความรู้” คือ ต้นทุนสำคัญสำหรับการแข่งขันในตลาดแรงงานที่มีความหลากหลายในสังคมยุคปัจจุบัน ข้อเท็จจริงในประเด็นข้างต้นย่อมเป็นสัจนิรันดร์ที่ไม่มีใครตั้งคำถาม

หากแต่ในทางกลับกันความเป็นจริงที่เกิดขึ้นท่ามกลางสังคมโลกและสังคมไทยกำลังเผชิญก็คือ “วุฒิการศึกษา” ที่ไม่อาจสร้างงานให้กับผู้สำเร็จการศึกษา หรือไม่สามารถสร้างรายได้ที่เพียงพอต่อการชำระหนี้อันเป็นต้นทุนทางการศึกษาดังกล่าว กล่าวคือ วุฒิการศึกษานั้นไม่สามารถนำไปต่อยอดในตลาดแรงงานได้จริง

    แนวนโยบายของนานาอารยประเทศมีแนวคิดอันตกผลึกเช่นเดียวกันว่า “องค์ความรู้จะนำมาซึ่งการลดความเหลื่อมล้ำในฐานะสิทธิอันพึงมีต่อความเป็นมนุษย์ และจะนำมาซึ่งการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจแห่งสังคม”

ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น บังคับใช้กฎหมายผ่านการจัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2538 ให้เริ่มดำเนินการกองทุนในลักษณะเงินทุนหมุนเวียน ตามนัยมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ. 2491

และพัฒนาผลักดันตามความสำคัญที่มีต่อสังคมไทยมากขึ้น ผ่านการประกาศใช้พระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2541 มีผลให้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษามีฐานะเป็นนิติบุคคล ที่อยู่ในการกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง

มีวัตถุประสงค์ให้กู้ยืมเงินแก่นักเรียนหรือนักศึกษา ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์เพื่อเป็นค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา และค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการครองชีพระหว่างศึกษา จนกระทั้ง พ.ศ. 2560 “พระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560” จึงกำเนิดขึ้น เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2560 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2560

กล่าวโดยสรุป คือ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. เป็นหน่วยงานของรัฐที่อยู่ในการกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง จัดตั้งขึ้นเพื่อให้นักเรียน นักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์กู้ยืมเงินเพื่อเป็นค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่าย ระหว่างการศึกษา เพื่อเพิ่มโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ผ่านการสนับสนุนของรัฐนั่นเอง

จากวันนั้น จนถึงวันนี้ ผ่านไป 19 ปี ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาหมดไปจากสังคมไทยหรือไม่ แล้วความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของแรงงานไทยดีขึ้นกว่าที่เป็นมาหรือยัง เราจะกลับมาถกประเด็นนี้อีกครั้งในท้ายคอลัมน์ ว่าด้วยการแก้ปัญหาการไม่สามารถชำระหนี้ กยศ. ของผู้กู้ ภายใต้การปรับโครงสร้างหนี้ใหม่

    ไปสำรวจประเทศที่พัฒนาแล้วกันบ้าง สหรัฐอเมริกา กับ “โครงการสินเชื่อเพื่อการศึกษา” ภายใต้โครงการดังกล่าวทำให้คนในหลากหลายมลรัฐยุคนั้นตระหนักว่าโอกาสทางการศึกษาสำคัญอย่างไร นำมาซึ่งการขวนขวายขอสินเชื่อเพื่อไปใช้ทางการศึกษา

แต่ผลลัพธ์ทางสถิติที่ปรากฏกลับพบว่า ผู้เรียนเป็นหนี้ที่ไม่อาจปลดหนี้ได้มากขึ้นจนต้องเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายล้มละลาย

กล่าวคือ ต่อให้การศึกษาที่ลงทุนไปนั้นจะไร้ค่า (เรียนไม่จบ หรือไม่สามารถหางานได้) ผู้เรียน (หรือลูกหนี้) ก็ยังคงเป็นหนี้อยู่ดี ส่งผลต่อแรงจูงใจในการศึกษาของผู้เรียน ที่ร้อยละ 80 ที่เข้าศึกษาในสถาบันการศึกษาของเอกชนไม่จบการศึกษา

ทำให้ตลอดระยะเวลา 25 ปีของโครงการ มลรัฐต่าง ๆ จึงถอนการสนับสนุนในระดับอุดมศึกษามากขึ้นเรื่อย ๆ กลายเป็นขอเท็จจริงที่ว่า “รัฐได้สร้างระบบที่การขวนขวายหาการศึกษาอาจส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงกว่าเดิม” นำมาซึ่งนโยบายประกาศล้างหนี้การศึกษาแก่ชาวอเมริกันผู้มีรายได้น้อย ของประธานาธิบดี โจ ไบเดน เมื่อปี 2022

ไบเดน กล่าวไว้ต่อหน้าสาธารณชนว่า “นโยบายนี้จะช่วยให้ชาวอเมริกันที่เป็นชนชั้นแรงงานและครอบครัวชนชั้นกลางให้ "มีช่องว่างให้หายใจ" มากขึ้น” แลกกับการสูญเงินกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ กับการศึกษาที่แทบจะเรียกได้ว่า “ไร้ค่า”

อะไรที่ทำให้โครงการกู้ยืมเรียนดังกล่าวเดินมาถึงจุดนี้ และกรณีศึกษาข้างต้นพอจะเป็นมาตรวัดทางบทเรียนให้ประเทศไทยได้หรือไม่

    กลับมาดูที่ประเทศไทย หลังพบปัญหาผู้กู้ยืมเงินเรียนไม่ชำระหนี้จนส่งผลต่อสภาพคล่องในการกู้ยืมเงินเรียนของนักเรียน นักศึกษาในรุ่นปัจจุบัน นำมาซึ่งการออก พ.ร.บ. กยศ. ฉบับแก้ไข พ.ศ. 2566 โดยมุ่งเน้นไปที่การปรับโครงสร้างหนี้ที่ผู้กู้สามารถชำระหนี้ได้จริง

กล่าวคือ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไม่เกิน 1% ต่อปี กรณีผิดนัดชำระลดอัตราเบี้ยปรับเหลือไม่เกิน 0.5% ต่อปี และไม่ต้องมีผู้ค้ำประกันในทุกกรณี มีผลเป็นคุณต่อผู้กู้ทุกรายประมาณ 3.6 ล้านคน และผู้ค้ำประกัน 2.8 ล้านคน จะหลุดพ้นจากภาระหนี้ พร้อมยุติการบังคับคดีทุกรายจนกว่าจะคำนวณยอดหนี้ใหม่

มากไปกว่านั้นวัตถุประสงค์ที่มีต่อการให้กู้ยืมเรียนนั้นก็เปลี่ยนไปในลักษณะที่มีนัยสำคัญ โดยกองทุนมุ่งเน้นขยายโอกาสให้แก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชนให้เข้าถึงการศึกษาที่หลากหลายในหลักสูตรระยะสั้นเพื่อ Reskill Upskill ครอบคลุมหลักสูตรอาชีพ

เพื่อยกระดับทักษะ สมรรถนะ เสริมทักษะเฉพาะทางสำหรับวิชาชีพต่าง ๆ มากกว่าการศึกษาที่เพิ่มเพียงแค่คุณวุฒิแต่อาจจะไร้ค่าในทางผลลัพธ์ทางตลาดแรงงานและเศรษฐกิจของสังคม

    ถึงบรรทัดนี้ผู้อ่านจะเห็นได้ว่าจุดร่วมกันของวิกฤตในสหรัฐอเมริกาและไทย คือ หลักสูตรของอุดมศึกษาที่แสวงเพียงผลกำไรจากยอดจำนวนผู้เข้าศึกษา และการหากำไรผ่านดอกเบี้ยผิดนัดของสถาบันทางการเงินที่เกี่ยวข้อง ที่เป็นตัวสะท้อนให้เห็นถึงการให้สิทธิทางการศึกษาที่ไม่ตอบโจทย์ตลาดแรงงานมาเป็นระยะเวลากว่า 2 ทศวรรษ

อุตสาหกรรมทางการศึกษาของสหรัฐฯ มีกำไร 30,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี ซึ่งร้อยละ 90 มาจากโครงการสินเชื่อเพื่อการศึกษาของรัฐบาล เฉกเช่นเดียวกับประเทศไทยที่มีอัตราอุดหนุนจากรัฐบาลสูงถึงร้อยละ 72 (สูงที่สุดในอาเซียน) คิดจากจำนวนผู้ลงทะเบียนกู้ แต่กลับมีอัตราการไม่สามารถจ่ายหนี้ได้หลังจบการศึกษาคิดเป็นร้อยละ 30

    ผู้เขียนหวังว่าหลังจากการปรับโครงสร้างหนี้ และวัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ. ฉบับแก้ไข ข้างต้น จะทำให้โครงสร้างทางระบบการศึกษาของไทยนั้นเปลี่ยนแปลงไป และสามารถกระตุ้นค่านิยมทางการศึกษาที่ต้องมีคุณภาพวัดจากอัตราการได้งานที่ “ตรงตามการศึกษาและวุฒิการศึกษา” มากกว่าวัดที่ใบปริญญาแต่กลับไม่มีค่าต่อตลาดแรงงานใดๆ

โดยการันตีความเสี่ยงของตลาดแรงงาน ด้วยการเน้นการมีงานทำหลังจบการศึกษาผ่านการคัดกรองหลักสูตรที่เข้าโครงการกู้ยืมเรียนฉบับแก้ไขใหม่นี้ มากกว่าการทำแบบเดิม ๆ อย่างที่ผ่านมา.