สหกิจศึกษาแบบใช้ปัญญา ไม่ใช่แค่ฝึกงาน
การฝึกงานของนักศึกษาในสถานประกอบการ ตั้งใจให้นักศึกษามีประสบการณ์ก่อนออกไปทำงานจริง แต่นักศึกษาอาจถูกใช้ให้ทำงานซ้ำๆ และไม่มีคุณค่า เช่น งานจัดเรียงเอกสาร พิมพ์เอกสาร หรืออื่นๆ ที่ไม่ทำให้เกิดความงอกงามทางปัญญา
แม้จะมีรายได้จากสถานประกอบการ แต่การเรียนรู้แคบและจำกัด ไม่เกิดการรู้รอบ ขาดการฝึกฝนการคิดวิเคราะห์ปัญหาและหาทางแก้ไข ที่จะนำมาซึ่งประโยชน์ทั้งกับสถานประกอบการและตัวนักศึกษาเอง
ในเวลาต่อมา การฝึกงานถูกปรับปรุงให้เข้มข้นภายใต้ชื่อใหม่ว่า สหกิจศึกษา (Cooperative Education) โดยสถาบันการศึกษากับสถานประกอบการตกลงกันอย่างชัดเจนว่า จะมอบหมายงานที่มีคุณค่าให้นักศึกษา หรือให้ทำงานในลักษณะโครงการ มีการติดตามประเมินผลใกล้ชิด
ที่สำคัญต้องเป็นงานที่มีความหมายและท้าทาย ให้คิดให้ทำแบบผู้ใหญ่เสมือนเป็นพนักงานของสถานประกอบการคนหนึ่ง ไม่ใช่ “เด็กฝึกงาน” เพื่อให้เกิดประสบการณ์และการเรียนรู้อย่างแท้จริง แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีนักศึกษาจำนวนหนึ่งเจอกับสหกิจศึกษาที่เป็นแค่ชื่อ แต่สภาพงานไม่ต่างจากเด็กฝึกงานแบบเดิมๆ
ที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีวิธีให้นักศึกษาใช้เวลาหนึ่งภาคการศึกษาเต็มกับสหกิจศึกษาแบบที่เรียกว่า “ธรรมศาสตร์โมเดล” วิธีการนี้นักศึกษาจะลงพื้นที่จริงเพื่อทำงานร่วมกับผู้ประกอบการในท้องถิ่น ร่วมคิดร่วมทำในฐานะเป็นหุ้นส่วน (partner) ไม่ใช่เด็กฝึกงาน มาติดตามดูกันว่า สหกิจศึกษาแบบ “ธรรมศาสตร์โมเดล” แตกต่างและสร้างประโยชน์ที่ยั่งยืนอย่างไร
วิสาหกิจชุมชนสวนเกษตรผสมผสาน ฐานเรียนรู้สวนคุณย่า ชุมชนหนองแฟบ ตำบลมาบตาพุด เมืองระยอง วิสาหกิจชุมชนด้านการเกษตร ที่เป็นศูนย์เรียนรู้ทางเกษตรกรรมและสร้างอาชีพให้คนในชุมชนด้วย เดิมจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เช่น ชาใบหม่อน น้ำมัลเบอรี่ ไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้ง ฯลฯ
ผลิตภัณฑ์ที่วิสาหกิจนี้อยากจะพัฒนาคือ ดินพร้อมปลูกที่ผลิตจากใบไม้แห้ง เพื่อช่วยลดการเผาเศษไม้เศษใบไม้ในชุมชน แต่ยังติดปัญหาตั้งแต่การไม่ทราบคุณสมบัติดิน การวางแผนการผลิต การตลาด และการเงินการบัญชี
ทีมนักศึกษาได้ใช้องค์ความรู้ด้านการจัดการอย่างเป็นระบบที่เรียนมา ผนวกกับความร่วมมือจากพันธมิตรและบริษัทพี่เลี้ยงในชุมชนที่พร้อมสนับสนุนการดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชน ความร่วมมือสามฝ่ายนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในระยะเวลาเพียง 4 เดือน
ดินที่ชุมชนผลิตขึ้นประกอบด้วยวัตถุดิบ 3 ส่วนคือ ใบไม้แห้งจากสวน โรงเรียน และวัดใกล้เคียง น้ำหมัก และมูลสัตว์ นำมาผสมกันตามอัตราส่วนที่กะกันเอง จากนั้นรดน้ำให้ชุ่มทุกวันและหมักเป็นระยะเวลา 45 วัน จนเป็นดินที่ใช้ปลูกพืชต่าง ๆ ได้ โดยผลลัพธ์ที่วิสาหกิจชุมชนสังเกตเห็นคือ เมื่อใช้แล้วใบของพืชเขียวขึ้น มีการเจริญเติบโตรวดเร็วโดยไม่ได้ใช้สารเคมี
ทีมนักศึกษาหวังสูงไปกว่านั้น คือต้องการประกันคุณภาพของดินอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างจุดขายที่ชัดเจน จึงเกิดไอเดียส่งตัวอย่างดินไปให้ห้องปฏิบัติการตรวจปริมาณแร่ธาตุที่สำคัญ และพบว่าดินที่ผลิตมีปริมาณไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม ในระดับสูงถึงสูงมากตามเกณฑ์กรมพัฒนาที่ดิน เหมาะสมกับการปลูกพืชโดยไม่ต้องเติมปุ๋ยอีก
เมื่อทราบว่าดินมีคุณสมบัติเหมาะสมแล้ว จึงปรับขั้นตอนการผลิตให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพสม่ำเสมอและได้มาตรฐาน โดยกำหนดบล็อคการผลิตให้มีขนาดมาตรฐานและกำหนดปริมาณวัตถุดิบที่ใช้ในแต่ละบล็อค ทำให้ทราบอย่างชัดเจนว่าในการผลิตแต่ละล็อตจะได้ผลผลิตประมาณ 2 ตันภายในเวลา 45 วัน
นอกจากนี้ยังเปลี่ยนวิธีการรดน้ำจากสายยางเป็นหัวฉีดน้ำอัตโนมัติ (Sprinkle) เพื่อลดแรงงานคน ใช้เครื่องร่อนดินเพื่อลดระยะเวลาการผลิต และเพิ่มมูลค่าของสินค้าด้วยการขายเซ็ตต้นไม้พร้อมปลูก เพื่อเจาะตลาดคนรุ่นใหม่ที่อาศัยในพื้นที่จำกัด เช่น หอพักหรือคอนโด
ทีมงานยังช่วยจัดทำระบบบัญชีให้ชุมชนรู้ต้นทุนการผลิตได้ทันที เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตั้งราคาในอนาคตได้
ผลการดำเนินงานโครงการนี้ นอกจากเพิ่มรายได้ให้วิสาหกิจแห่งนี้แล้ว ยังช่วยลดปริมาณการเผาได้ถึง 679 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
ดังนั้น วิสาหกิจจึงจะนำโครงการนี้ไปเป็นต้นแบบให้กับอีก 12 วิสาหกิจชุมชนในจังหวัดระยอง และหากสามารถขยายผลไปได้ทั่วประเทศก็ย่อมลดการสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี
สัปดาห์นี้ได้รับข่าวดีจากวิสาหกิจชุมชนสวนเกษตรผสมผสาน ฐานเรียนรู้สวนคุณย่า จังหวัดระยองว่ากำลังจัดส่งออเดอร์ดินพร้อมปลูก 1.5 ตัน ไปให้ลูกค้าที่พัทยา นำความตื่นเต้นและดีใจมาสู่คนในชุมชนเป็นอย่างยิ่งหลังจากที่กลุ่มนักศึกษาจบโครงการมา 3 เดือนกว่า
สหกิจศึกษาแบบนี้นับเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับทั้งสถานประกอบการ และความยั่งยืนของประสบการณ์และการเรียนรู้ของนักศึกษา ที่จะออกไปเป็นกำลังสำคัญในตลาดแรงงาน เพราะทำให้รู้รอบ รู้ลึก และรู้ในเชิงกลยุทธ์ ซึ่งสำคัญยิ่งต่อการทำงานในอนาคต มิใช่เพียงการฝึกงานอย่างขอไปที
สหกิจศึกษาที่แท้จริง เป็นเรื่องที่ต้องพัฒนา เพราะนักศึกษามีศักยภาพในตัวเองและพร้อมจะใช้ เพียงแต่ต้องกำหนดแนวทางและรูปแบบให้ชัดเจน สถาบันการศึกษาไทยควรจะต้องเลิกสร้างเด็กฝึกงาน หันมาเตรียมคนให้พร้อมจะเป็นมืออาชีพ.