ข้อเท็จจริงของภาษาศาสตร์ ที่ไม่ใช่การเรียนภาษา
เวลาคนได้ยินคำว่า “ภาษาศาสตร์” มักมีคำถามตามมาว่า “ภาษาอะไร ต่างจากการเรียนภาษาอย่างไร” ในที่นี้จะขอตอบคำถามให้เข้าใจง่ายๆ ดังนี้
การเรียนภาษา (ต่างประเทศ) เช่น ภาษาอังกฤษ จีน หรือแม้แต่การเรียนภาษามือ (sign language) เป็นการเรียนรู้ทักษะและเทคนิคการใช้ภาษา ไม่ว่าจะเป็น การฟัง-พูด การอ่าน-เขียน การเรียนรู้คำศัพท์ในภาษาใหม่ รวมถึงการแปลข้ามภาษา เพื่อให้การสื่อสารด้วยภาษานั้น ๆ เป็นไปอย่างราบรื่นและสัมฤทธิ์ผล
การเรียนภาษาเหมาะกับคนทุกเพศทุกวัย เพราะช่วยกระตุ้นให้สมองประมวลผลสิ่งใหม่ ๆ ได้อย่างคล่องแคล่วและมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการเปิดโลกทัศน์เพื่อเรียนรู้วัฒนธรรมที่แตกต่าง
ในโลกนี้มีภาษามากกว่า 7,000 ภาษา เป็นเวลาหลายพันปีแล้วที่นักปรัชญาและนักนิรุกติศาสตร์ค้นหาที่มาของภาษามนุษย์ การศึกษาภาษาศาสตร์ (สมัยใหม่) (Modern Linguistics) เริ่มต้นขึ้นในศตวรรษที่ 19
เมื่อนักภาษาศาสตร์สนใจศึกษาภาษาตามแนวทางวิทยาศาสตร์อย่างจริงจัง มีการพิสูจน์สมมติฐานด้วยเหตุผลและมีหลักฐานประกอบโดยใช้ “ข้อมูลภาษาเป็นวัตถุดิบเพื่อการวิเคราะห์”
ต่อมาภาษาศาสตร์ได้ผนวกเป็นส่วนหนึ่งของวิทยาการการรู้ (Cognitive Science) ซึ่งเป็นสหวิทยาการร่วมกับจิตวิทยา ปรัชญา มานุษยวิทยา และวิทยาการคอมพิวเตอร์ด้านปัญญาประดิษฐ์
ทฤษฏีภาษาศาสตร์มุ่งเน้นการอธิบายความแตกต่างและความเป็นสากลลักษณ์ (language universal) ที่ภาษาต่าง ๆ มีร่วมกัน มีนักวิชาการกล่าวเปรียบเปรยไว้ว่า
“หากการเรียนภาษาต่างประเทศเปรียบเสมือนการเรียนขับเครื่องบิน (ภาษาต่าง ๆ เป็นเสมือนประเภทของเครื่องบิน) ภาษาศาสตร์ก็เปรียบได้กับการศึกษาเครื่องยนต์และกลไกของการขับเคลื่อนเครื่องบิน” นั่นเอง
ภาษานอกจากเป็นเครื่องมือสื่อความนึกคิดและอารมณ์แล้ว ยังเกี่ยวข้องกับมนุษย์รอบด้าน สาขาย่อยต่าง ๆ ของภาษาศาสตร์จึงเกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์และอธิบายภาษาเชิงลึกในประเด็นที่น่ารู้ดังนี้
ความเป็นระบบของภาษา ภาษาเป็นระบบสัญลักษณ์ แม้ว่านักภาษาศาสตร์จะแบ่งทฤษฎีและการวิเคราะห์ภาษาออกเป็นระดับต่าง ๆ คือ เสียงและระบบเสียง (Phonetics and Phonology) ระบบคำ (Morphology)
ระบบวากยสัมพันธ์ (Syntax) ระบบความหมาย (Semantics) ระบบข้อความ (Discourse) และวัจนปฏิบัติศาสตร์ (Pragmatics) (การตีความความหมายและเจตนาของผู้พูดตามบริบท) แต่แท้จริงแล้วระดับเหล่านี้เชื่อมโยงและสัมพันธ์กัน และเป็นแกนหลักของการศึกษาภาษาศาสตร์
การเปลี่ยนแปลงของภาษา ทุกภาษามีร่องรอยการเปลี่ยนแปลง การติดต่อของผู้คนต่างภาษาและการใช้สื่อเทคโนโลยีส่งผลให้ภาษาเปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดยั้ง ภาษาศาสตร์เชิงประวัติ (Historical Linguistics) และภาษาศาสตร์เชิงสังคม (Sociolinguistics) เป็นการค้นคว้าและอธิบายต้นเหตุและธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลงของภาษา
โดยศึกษาทั้งในช่วงยาวผ่านการเปรียบเทียบเอกสารและบันทึกโบราณ และในช่วงสั้นที่เปรียบเทียบการใช้ภาษาที่เปลี่ยนแปลงไปของคนแต่ละรุ่น (language variation)
ทั้งนี้ยุคโลกาภิวัตน์ส่งผลให้เกิดสังคมหลากหลายภาษา (multilingualism) ในทางกลับกันภาษาถิ่นและภาษาของชนกลุ่มน้อยเสี่ยงต่อการสาบสูญ การวางแผนระยะยาวเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูภาษาเหล่านี้เป็นงานหนักและสำคัญอย่างยิ่ง
เนื่องจากการสูญหายของภาษาหนึ่ง หมายถึงการสูญเสียมรดกวัฒนธรรมและภูมิปัญญา
ภาษากับการรู้คิด ภาษาสะท้อนความซับซ้อนของสมองและระบบการรู้คิด (cognition) ของมนุษย์ที่ไม่มีระบบการสื่อสารของสัตว์โลกชนิดใดเทียบเท่าได้ ภาษาศาสตร์จิตวิทยา (Psycholinguistics) และภาษาศาสตร์ประสาทวิทยา (Neurolinguistics)
ซึ่งวิเคราะห์ภาษาของกลุ่มคนวัยต่าง ๆ คนปกติ คนที่มีความบกพร่องทางภาษาและความพิการทางสมอง เพื่ออธิบายการทำงานของสมองและกลไกการผลิตภาษา การประมวลผลเพื่อทำความเข้าใจภาษา รวมไปถึงการเรียนรู้ภาษาแม่
ภาษากับกลไกทางสังคม ภาษาศาสตร์เชิงสังคมและภาษาศาสตร์เชิงมานุษยวิทยา (Anthropological Linguistics) ศึกษาภาษาจากมุมมองและบทบาทของการมีปฏิสัมพันธ์ของคนในสังคม รวมทั้งความหลากหลายของการใช้ภาษาจากปัจจัยทางสังคมต่าง ๆ เช่น อายุ เพศภาวะ สถานะทางสังคม
เพราะภาษาเชื่อมโยงกับระบบความคิด ความเชื่อ และสีสันในการใช้ภาษาของคนในสังคมนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเล่าเรื่อง การพูดตลกขบขัน การพูดเสียดสี
ในขณะที่สถาบันการศึกษาของไทยตื่นตัวไปกับการสอนภาษาต่างประเทศที่เน้นพัฒนาทักษะต่างภาษา แต่สิ่งที่ไม่ได้รับการขับเคลื่อนเท่าที่ควรเมื่อเทียบกับภาษากลุ่มตะวันตก คือ
งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับภาษาไทยและภาษาถิ่นไทยตามแนวภาษาศาสตร์ ซึ่งมีค่อนข้างจำกัด และเป็นที่ต้องการไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพราะความจำเป็นในการประยุกต์องค์ความรู้ทางภาษาศาสตร์กับด้านอื่นๆ มีเพิ่มมากขึ้น
เช่น การส่งเสริมการสื่อสารข้ามวัฒนธรรม การวินิจฉัยแก้ไขความบกพร่องด้านการเรียนรู้และภาษาของเด็ก การพัฒนาเทคโนโลยีเสียงพูดและการประมวลผลภาษาธรรมชาติ
ภาษาศาสตร์จึงเป็นการศึกษาทั้งในเชิงรากเหง้าและพลวัตของภาษาเพื่อให้เข้าใจที่มา เห็นความเป็นอนิจจัง และพัฒนาการของภาษา รวมไปถึงการบูรณาการข้ามศาสตร์เพื่อแก้ไขปัญหาและความบกพร่องทางภาษาของมนุษย์
อันเป็นเรื่องท้าทายและควรได้รับการส่งเสริมให้มากขึ้น ไม่ต่างจากการเรียนพูดภาษาต่างประเทศ.
จุฑามณี อ่อนสุวรรณ
สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU-RAC)
www.turac.tu.ac.th