เบบี้แล็บ กับการศึกษาพัฒนาการด้านภาษาในทารกและเด็กเล็ก
การเจริญเติบโตของทารกและเด็กเล็กเป็นสิ่งมหัศจรรย์ การเฝ้ามองและสังเกตอย่างใกล้ชิดจึงเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นว่าในแต่ละวันพวกเขาค่อย ๆ เจริญเติบโตขึ้น และมีพัฒนาการด้านภาษา การรู้คิด สติปัญญา อารมณ์ และสังคมอย่างต่อเนื่องอย่างไร
พัฒนาการเหล่านี้ของทารกและเด็กเล็กมักได้รับการอธิบายแบบแยกส่วน แต่ปัจจุบันนักวิชาการมีความเห็นว่าความสามารถและพัฒนาการหลาย ๆ ด้านมีความเชื่อมโยงและสัมพันธ์กัน
ผลการศึกษาจำนวนไม่น้อยหากมีการวิเคราะห์และตีความในบริบทที่กว้างขึ้นจะทำให้เข้าใจธรรมชาติและรูปแบบพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของมนุษย์ที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เช่น ความสามารถในการรู้จำใบหน้า (ด้านการรู้คิด) มีความสัมพันธ์กับพัฒนาการด้านการสื่อสารและสังคม การยืน การเดิน และการเคลื่อนไหวของคอและศีรษะส่งผลต่อการใช้สายตาและการมองเห็น
นอกจากนี้ พัฒนาการบางด้านที่มีผลต่อเนื่องในระยะยาว เช่น การเรียนรู้คำศัพท์ (ด้านภาษา) มีความสัมพันธ์กับระดับการเรียนรู้หลายด้านเมื่อเด็กเข้าสู่วัยเรียน
มนุษย์ต่างจากสัตว์ที่มีเพียงสัญชาตญาณ เพราะทารกเกิดมาพร้อมความสามารถที่จะเรียนรู้ภาษา (หรือแรกรับภาษา) จากสภาพแวดล้อมทางภาษาที่ตนอาศัยอยู่และเติบโตขึ้น รวมทั้งสามารถเรียนรู้ภาษาอื่นนอกจากภาษาของบรรพบุรุษได้
แม้พฤติกรรมและการเรียนรู้เหล่านี้ส่วนหนึ่งเป็นผลจากลักษณะทางพันธุกรรม แต่การเรียนรู้ภาษาจะเริ่มต้นขึ้นเมื่อเกิดการรับรู้เสียงพูด มีข้อมูลวิจัยที่แสดงว่าทารกรับรู้เสียงได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ทารกแรกคลอดจะรับรู้เสียงในภาษาที่คุ้นเคยและแยกแยะระหว่างเสียงพูดของมารดาและผู้หญิงอื่นได้
การรับรู้เสียงพูดนี้จะนำไปสู่พัฒนาการทางระบบภาษาด้านอื่น ๆ ที่ซับซ้อนขึ้น เช่น การเปล่งเสียงในภาษา การเรียนรู้ระบบเสียง คำ ความหมาย ประโยค และทักษะทางการอ่าน
ผศ.ดร.จุฑามณี อ่อนสุวรรณ
ในช่วงสองปีแรกเด็กเล็กที่ไม่ว่าจะมีภาษาใดเป็นภาษาแม่ก็ตาม จะมีลำดับขั้นตอนในการเรียนรู้ภาษาคล้ายคลึงกัน ดังนั้น การใช้ภาษาของเด็กเล็กไม่ได้เป็นการเลียนแบบจากภาษาของคนใกล้ตัวทั้งหมด
บ่อยครั้งมีการใช้รูปแบบภาษาที่ผิดแปลกไปจากผู้ปกครอง ซึ่งสะท้อนให้เห็นพัฒนาการด้านกลไกและกระบวนการการรู้คิดของสมองที่พัฒนาซับซ้อนขึ้นตามวัย
นอกจากนี้ผลการศึกษาจำนวนหนึ่งยืนยันว่า บทบาทของข้อมูลภาษาที่ได้รับและสภาพแวดล้อมทางภาษาเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้การเรียนรู้ภาษาของเด็กเล็กเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์
อย่างไรก็ดี ประมาณร้อยละ 5 ของเด็กวัยเรียนในไทยและร้อยละ 15 ของประชากรโลกมีภาวะเสี่ยงหรือจัดอยู่ในกลุ่มผู้มีความบกพร่องด้านการเรียนรู้ ซึ่งรวมถึงด้านภาษา (learning disability)
ในปี ค.ศ. 2022 องค์การ UNESCO ในส่วนของ Early Childhood Care and Education (ECCE) เสนอให้ประเทศสมาชิกร่วมมือกันเพื่อดูแลสุขภาวะและการศึกษาของเยาวชนอย่างจริงจัง มีการสร้างเครือข่ายระหว่างประเทศเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและตัวชี้วัดความพัฒนาในด้านการดูแลสุขภาวะและการศึกษาในเด็กวัยต่ำกว่า 3 ปี
ในประเทศไทยมีการศึกษาด้านพัฒนาการของเด็กเล็กค่อนข้างจำกัด โดยมากมีวัตถุประสงค์เพื่อการวินิจฉัย การรักษาและบำบัดของนักจิตวิทยาพัฒนาการและกุมารแพทย์เฉพาะทาง
โดยอ้างอิงผลการศึกษาด้านพัฒนาการทางภาษา องค์ความรู้ แบบประเมิน และเกณฑ์มาตรฐานจากข้อมูลของภาษาในกลุ่มประเทศทางตะวันตก จึงเป็นไปได้ยากที่ข้อมูลและเครื่องมือที่อ้างอิงมาดังกล่าวจะสะท้อนความเป็นจริงและเหมาะสมกับบริบทของสังคมและภาษาของประเทศไทย
ภาษาไทยมีลักษณะหลายประการที่ต่างจากภาษาอื่น การศึกษาด้านเสียงและคำพูดของผู้ปกครองชี้ว่า ข้อมูลภาษามีส่วนสำคัญในการกระตุ้นพัฒนาการการเรียนรู้และจดจำคำศัพท์ชุดแรกของเด็กเล็ก
ข้อมูลเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญในการสร้างความเข้าใจ เป็นคลังข้อมูลและเกณฑ์มาตรฐานด้านพัฒนาการทางภาษาของทารกและเด็กเล็กที่ใช้ภาษาไทย ช่วยเปิดประตูการวิจัยในบริบทของภาษาไทยที่ยังไม่มีผู้ศึกษาและเพิ่มพูนองค์ความรู้ใหม่ให้กับทฤษฎีทางภาษาศาสตร์และจิตวิทยาด้านพัฒนาการ รวมไปถึงการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการทางภาษา
ทั้งหมดนี้เป็นที่มาของการเริ่มดำเนินการของคณะวิจัยเพื่อก่อตั้งห้องปฏิบัติการ มารคซ์-ซิลซ์ นกฮูกเบบี้แล็บ ขึ้นในพ.ศ. 2559 ณ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นับเป็นห้องปฏิบัติการภาษาแห่งแรกในประเทศไทยที่ศึกษาพฤติกรรมการแรกรับภาษาของทารกและเด็กเล็กด้วยวิธีการทางภาษาศาสตร์จิตวิทยา
ดำเนินการร่วมและรับทุนสนับสนุนจากเบบี้แล็บในต่างประเทศ ได้แก่ MARCS Institute for Brain, Behaviour and Development ออสเตรเลีย และ Center for Brain Science (RIKEN CBS) ญี่ปุ่น
เบบี้แล็บของไทยมีเป้าหมายหลักในการพัฒนาการศึกษาและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการทางภาษาและพฤติกรรมของทารกและเด็กเล็กที่เรียนรู้ภาษาไทย รวมถึงการศึกษาเปรียบเทียบข้ามภาษา
มีประเด็นการวิจัย ได้แก่ การรับรู้หน่วยเสียงในภาษาไทย การแบ่งส่วนของคำพูดต่อเนื่อง รูปแบบภาษาและการสื่อสารที่ผู้ปกครองใช้กับทารกและเด็กเล็ก และการพัฒนาแบบสำรวจด้านพัฒนาการคำศัพท์และภาษาท่าทางของทารกไทย
เบบี้แล็บของไทยได้รับการสนับสนุนจากเด็กเล็กและผู้ปกครองอย่างต่อเนื่อง มีจำนวนอาสาสมัครตัวน้อยมากกว่า 400 คนที่เข้าร่วมโครงการวิจัย ซึ่งได้รับการรับรองจริยธรรมการวิจัยในคนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้ปกครองที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลวิจัยที่ได้เผยแพร่และเข้าร่วมโครงการวิจัยได้จาก MARCS CILS NokHook BabyLab นกฮูกเบบี้แล็บ และ https://babylabtu.wixsite.com/website