'ภาษาทารก' ไม่ยากอีกต่อไป ท่าทางแบบนี้แปลว่าหิว อิ่ม ง่วง ไม่สบาย
ไม่ใช่เรื่องง่าย สำหรับพ่อแม่มือใหม่ ที่จะเข้าใจและตอบสนองความต้องการของลูกวัยแรกเกิดถึง 1 ขวบ ยังไร้คำพูด แต่คณะพยาบาลศาสตร์ ม.มหิดล พัฒนา“นวัตกรรมเรียนรู้สื่อสัญญาณทารก” ช่วยให้ความต้องการพื้นฐานของทารก “หิว อิ่ม เล่น นอน พอใจ ไม่สบาย”ไม่ยากอีกต่อไป
สุดหทัย ศิริเทพมนตรี อาจารย์ประจำภาควิชาการพยาบาลสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้พัฒนานวัตกรรมนี้ เล่าว่า จากประสบการณ์ตรงที่ทำงานในหอพักคุณแม่หลังคลอด รพ.ศิริราช ซึ่งคุณแม่หลังคลอดโดยเฉพาะคุณแม่มือใหม่มีลูกเป็นคนแรก มักจะประสบปัญหา “ไม่เข้าใจพฤติกรรมที่ลูกแสดงออกว่าหมายถึงอะไร” เพราะทารกยังไม่สามารถพูดได้ จึงไม่สามารถตลอดสนองความต้องการของลูกได้ เมื่อออกจากโรงพยาบาลไปแล้ว บ่อยครั้งมีความกังวล ไม่เข้าใจ จึงโทรศัพท์มาปรึกษาอยู่เสมอ บางครั้งช่วงเวลาตี 1 ตี 2ที่จัดการกับความต้องการของลูกไม่ได้
ศึกษาในบริบทคนไทย
เห็นว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาสำคัญของคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ ควรที่จะมีสื่อเครื่องมือที่ช่วยสนับสนุนการเลี้ยงดูลูก โดยสามารถตอบสนองความต้องการพื้นฐานของทารกได้ เช่น หิวได้กิน ง่วงได้นอน
อาจารย์สุดหทัย จึงทำการศึกษาอย่างจริงจังถึงสิ่งที่จะมาช่วยตอบสนองคุณพ่อคุณแม่ ค้นคว้าและเจอเรื่อง“สื่อสัญญาณทารก” เป็นทาทางต่างๆที่ลูกแสดงออก เพื่อบอกแม่ว่าต้องการอะไร โดยในต่างประเทศมีการศึกษามานาน แต่ในประเทศไทยยังไม่เป็นที่นิยม นำมาสู่การทำวิจัยในบริบทของคนไทย
ด้วยการนำ “นวัตกรรมเรียนรู้สื่อสัญญาณทารก”ที่พัฒนาขึ้น มาศึกษาเปรียบเทียบคุณแม่หลังคลอดที่รพ.ศิริราช แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ได้รับชมวิดีทัศน์สื่อสัญญาณทารก และกลุ่มที่ไม่ได้รับชม เป็นเวลา 1 เดือนแล้วประเมินผล พบว่า กลุ่มที่ได้รับชมวิดีทัศน์สามารถเข้าใจสิ่งที่ลูกสื่อและตอบสนองความต้องการของลูกได้มากขึ้น และมีความรักความผูกพันระหว่างแม่ลูกมากกว่าอีกกลุ่ม ถือเป็น 2 เรื่องที่สำคัญ
แต่ในต่างประเทศนั้นมีข้อมูลว่าช่วยส่งเสริมการเติบโตของทารกด้วย โดยการวัดไอคิว อีคิว ส่วนสูง น้ำหนัก เพราะเมื่อทารกได้รับการตอบสนองความต้องการพื้นฐานอย่างถูกต้องทั้งเมื่อหิวได้กิ่น หรืออิ่มก็หยุดกิน จะไม่ได้รับการป้อนมากเกินไป จนอาจเกิดเป็นโรคอ้วนในอนาคตจากที่พ่อแม่ไม่ทราบว่าลูกอิ่มแล้วหรือไม่ จึงพยายามป้อนในปริมาณที่มาก ดังนั้น อนาคตอาจจะทำการศึกษาเพิ่มเติมด้วยการติดตามระยะยาวมากขึ้น เพื่อให้ได้ข้อมูลส่วนนี้ของประเทศไทย
ลักษณะท่าทางพื้นฐานทารก
สำหรับ “สื่อสัญญาณทารก” เป็นวิดีทัศน์ให้คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ดูแลทารกได้เรียนรู้ จะเป็นคิวอาร์โค้ดให้สแกนเพื่อเข้าไปรับชมท่าทางพฤติกรรมของลูกว่าต้องการอะไร และพ่อแม่ควรจะต้องตอบสนองอย่างไร แบ่งตามความต้องการพื้นฐานของทารกในช่วงขวบปีแรกได้ใน 6 ลักษณะ ได้แก่ หิว อิ่ม เล่น นอน พอใจ และไม่สบาย
- เมื่อทารกต้องการสื่อว่าหิว สังเกตุได้จากทั้งการดูดนิ้ว ดูดปาก หันหน้าหาเต้านมแม่
- เมื่อลูกน้อยหิวจนทนไม่ไหวจะแสดงออกโดยการร้องไห้
- เมื่ออิ่มนมแล้ว มักจะหันหน้าหนี ไม่ยอมดูดนมต่อ หรือหลับคาเต้านม
- เมื่อถึงเวลาต้องการเล่น หรือพึงพอใจจะส่งเสียงอ้อแอ้ จ้องมองหน้าตาเบิกกว้าง ขยับแขนขา
- เมื่อลูกต้องการนอนหลับจะเคลื่อนไหวช้าลง หรือดันตัวออกจากคุณแม่และเริ่มหลับตา ครั้น
- เมื่อลูกน้อยไม่สบายจะแสดงออกโดยการกำมือ นิ่วหน้า แอ่นหลัง ส่งเสียงร้องไห้ดิ้นไปมา เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ยังมีสื่อสัญญาณจากลูกน้อยบางประการที่เป็นการแสดงออกแบบไม่ชัดเจน ซึ่งคุณแม่จำเป็นต้องสังเกตุและเรียนรู้ด้วยตัวเอง เช่น เวลาหิวบางครั้งลูกน้อยจะแสดงออกโดยขยับขาตีเบาะ หรือนอนยกขาเหยียด เมื่อเวลาอิ่มจะเหยียดแขนขาตรง ถึงเวลาต้องการอยากพักผ่อนอาจแสดงสีหน้าเฉยเมย หรือย่นหน้าผาก เมื่อพึงพอใจจะวางมือไว้ใกล้ใบหน้า หรือนอนลืมตามองเงียบๆ ภายหลังตื่น และเมื่อรู้สึกไม่สบายอาจกางนิ้วมือ เป็นต้น
ลูกเติบโตตามวัย-ผูกพัน
การที่คุณแม่หรือผู้ดูแลทารกได้รับชมวิดีทัศน์นวัตกรรมสื่อสัญญาณทารกนี้ อาจารย์สุดหทัย บอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นต่อคุณแม่หรือผู้ดูแล คือ สามารถเข้าใจในสิ่งที่ลูกต้องการสื่อ และตอบสนองสิ่งที่เขาต้องการในเรื่องพื้นฐานทั้ง 6 เรื่องได้ถูกต้อง เกิดเป็นความสุขทั้งแม่และลูก นอกจากนี้ ยังช่วยลดความเครียดของคุณแม่ หรือภาวะซึมเศร้าหลังคลอด หรือทุบตีลูก ส่วนตัวลูกจะได้รับการตอบสนองในสิ่งที่ต้องการ จะส่งเสริมพัฒนาการของทารกให้เติบโตตามวัย และส่งเสริมความรักความผูกพัน
หากคุณแม่ใส่ใจเรียนรู้สื่อสัญญาณจากลูกน้อยอยู่เสมอ จะช่วยทำให้เข้าใจในสิ่งที่ลูกต้องการจะสื่อสารแม้ปราศจากคำพูด และทำให้คุณแม่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกน้อยได้อย่างเหมาะสม ช่วยส่งเสริมสายสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแม่กับลูก ทำให้ลูกมีพัฒนาการที่ดีสมวัย และเป็นการเตรียมพร้อมยามลูกไม่สบายได้ทันท่วงที
ปัจจุบัน “นวัตกรรมเรียนรู้สื่อสัญญาณทารก” เป็นผลงานรับรองลิขสิทธิ์ผ่านกรมทรัพย์สินทางปัญญา และมีการใช้ที่หอคุณแม่หลังคลอด รพ.ศิริราช อย่างไรก็ตาม อาจารย์สุดหทัย มีความตั้งใจที่จะขยายผลใช้ในวงกว้างมากขึ้น
เพียงแต่จะต้องพัฒนามากขึ้นกว่านี้ เช่น จากปัจจุบันที่เป็นวิดีทัศน์ คุณแม่อาจจะรับฟังอย่างเดียวแต่ไม่ได้ถามอาจจะไม่เข้าใจมากนัก ต่อไปอาจจะเป็นลักษณะของการฝึกและเปิดอบรมเป็นคอร์ส รวมถึง การนำไปใช้ในหอพักแม่หลังคลอด รพ.อื่นๆด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีแต่ต้องอาศัยหลายภาคส่วนในการที่จะสนับสนุน
“การเลี้ยงเด็กหนึ่งคน ช่วงวัยทารกป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะเด็กในช่วงวัยนี้เป็นพื้นฐานในการเจริญเติบโตของเด็กในอนาคต อยากให้คุณพ่อคุณแม่หรือผู้เลี้ยงดูให้ความสำคัญกับความต้องการพื้นฐานของเด็กตั้งแต่ในระยะขวบปีแรก”อาจารย์สุดหทัยกล่าว
ช่วยให้พ่อแม่มือใหม่มั่นใจขึ้นที่จะมีลูก
อาจารย์สุดหทัย เห็นว่า นวัตกรรมนี้อาจจะมีส่วนช่วยส่งเสริมการมีลูกได้ทางหนึ่ง โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มคู่สมรสที่ไม่มีความมั่นใจในการเลี้ยงลูก กลัวว่าเลี้ยงลูกไม่ได้ เพราะไม่มีประสบการณ์มาก่อน บางคนคิดว่าเลี้ยงไม่ได้ก็ไม่มีดีกว่า แต่เมื่อมีแหล่งสนับสนุนในการเลี้ยงลูกตรงนี้ ก็อาจจะเป็นช่วยให้มีความมั่นใจ อุ่นใจมากขึ้น และมีความคิดว่ามีลูกได้ในอนาคต
อย่างไรก็ตาม อาจารย์สุดหทัย บอกด้วยว่า การที่คนรุ่นใหม่ไม่มีลูก เกิดขึ้นจากหลายปัจจัย จะต้องพิจารณาเรื่องการมีลูกเมื่อพร้อม ซึ่งความพร้อมแต่ละคนแตกต่างกัน บางคู่อาจจะพิจารณาเรื่องสังคม สิ่งแวดล้อมที่ลูกจะเติบโต บางคู่พิจารณาเรื่องเศรษฐกิจครอบครัว และบางคู่พิจารณาเรื่องแหล่งสนับสนุนการเลี้ยงลูก โดยเฉพาะคู่สมรสที่ทำงานเต็มเวลาในแต่ละวัน ไม่มีใครช่วยเลี้ยงลูก เป็นต้น
รัฐควรเพิ่มเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด
ในมุมมองส่วนตัวของ อาจารย์สุดหทัย มีข้อเสนอเกี่ยวกับการส่งเสริมการมีลูกว่า อาจจะเริ่มจากสิ่งใกล้ตัว เช่น จากปัจจุบันที่มีการให้เงินอุดหนุนทารกแรกเกิด อาจจะเพิ่มจำนวนมากขึ้น เพราะจำนวนที่ให้ในตอนนี้นั้น มีเสียงจากคุณแม่หลังคลอดหลายๆคนว่าไม่เพียงพอ รัฐควรพิจารณาเพิ่มเติมเรื่องการสนับสนุนค่าครองชีพทารก
และจัดให้มีแหล่งสนับสนุนสำหรับพ่อแม่ด้วยการตั้งศูนย์ที่พ่อแม่สามารถนำลูกไปฝากเลี้ยงในตอนกลางวันและรับกลับในตอนเย็นได้ เพราะหากจะไปฝากเนอร์สเซอรี่มีค่าใช้จ่ายหลักหมื่นบาทต่อเดือน หากรัฐสนุบสนันสถานที่รับเลี้ยงดูเด็ก ก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายต่อเดือนของพ่อแม่ลงได้มาก