เริ่มแล้ว 4 จ. บัตรประชาชนใบเดียว รักษาทุกที่ แต่เข้ารพ.เอกชนไม่ได้ทุกแห่ง
7 ม.ค.2567 เริ่มแล้ว 4 จังหวัด ยกระดับ 30บาท ใช้บัตรประชาชนใบเดียว รักษาทุกที่ เพิ่มความสะดวกให้ผู้รับบริการ แต่ไม่ใช่จะเดินเข้าไปได้ในรพ.เอกชนทุกแห่ง เลขาฯสปสช.แนะสิ่งต้องทำกรณีไม่มีบัตร ย้ำบริการต้องไปก่อน ไม่ให้มีปัญหาคนไทยเข้ารับบริการไม่ได้
Keypoints:
- หมุดหมายสำคัญของนโยบายยกระดับ 30 บาท ในเรื่องบัตรประชาชนใบเดียว รักษาทุกที่ เป็นการเน้นเพิ่มการเข้าถึงและความสะดวกในการเข้ารับบริการมากขึ้น โดยนำร่องระยะแรก 4 จังหวัด ได้แก่ แพร่ ร้อยเอ็ด เพชรบุรีและนราธิวาส ตั้งแต่วันที่ 7 ม.ค.2567
- แม้จะมีบริการที่เพิ่มขึ้นในการใช้บัตรประชาชนใบเดียว รักษาทุกที่ ทั้งของรัฐและเอกชน แต่ก็ใช่ว่าจะสามารถเข้าไปรับบริการในรพ.เอกชนได้ทุกแห่ง เงื่อนไขสำคัญจะต้องเป็นหน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียน
- ขั้นตอนการเข้ารับบริการบัตรประชาชนใบเดียว รักษาทุกที่ สามารถยืนยันตัวตนหลังรับบริการแล้วเสร็จได้ ส่วนกรณีที่ไร้บัตรประชาชน จะสามารถรับบริการได้มีสิ่งที่ต้องดำเนินการ
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.2566 คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.)เห็นชอบกรอบงบประมาณสำหรับการขยายประเภทบริการนวัตกรรมจาก 4 ประเภทเป็น 8 ประเภทในพื้นที่ 4 จังหวัดนำร่อง จำนวน 366.57 ล้านบาท
เพิ่มการเข้าถึงบริการ
การขับเคลื่อนนโยบาย 30 บาทอัปเกรดบัตรประชาชนใบเดียว รักษาทุกที่ มีหลักการสำคัญคือ เน้นการเพิ่มเข้าถึงบริการ โดยพัฒนาระบบการบริหารการจ่าย การติดตามประเมินผลให้มีประสิทธิภาพ โดยมีรายละเอียด คือ 1. คงรายการและรูปแบบการจ่ายแบบเดิม สำหรับรายการปฐมภูมิไปที่ไหนก็ได้ (OP anywhere) และหน่วยนวัตกรรม โดยมีการปรับระบบการเบิกจ่ายในพื้นที่นำร่อง 4 จังหวัด ใช้ระบบแสดงตนยืนยันสิทธิเมื่อสิ้นสุดการรับบริการเช่นเดียวกับสวัสดิการข้าราชการ เพื่อความมั่นใจการเข้ารับบริการของประชาชนและให้เบิกจ่ายรวดเร็ว
2. เน้นการจัดระบบเพื่อควบคุมการบริหารการเบิกจ่ายให้มีประสิทธิภาพ ในหน่วยบริการและรายการบริการที่มีอยู่ เช่น คลินิกเอกชน, คลินิกการพยาบาลฯ, ค่าบริการไตวายเรื้องรัง, ค่าอุปกรณ์ (Instrument), ปฐมภูมิไปที่ไหนก็ได้, เจ็บป่วยฉุกเฉินข้ามจังหวัด (OPAE) โดยพิจารณาการออกแบบการจ่ายให้มีประสิทธิภาพ และเอื้อต่อการตรวจสอบ
3. เพิ่มการทำงานแบบมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน ทำงานร่วมสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) หน่วยบริการ และ สปสช.เขต โดยให้ สสจ. และ สสอ. มีบทบาทเป็นหน่วยกำกับดูแล เพื่อจัดกลไกการกำกับการเข้าถึงบริการ คุณภาพและมาตรฐานบริการ การประเมินผลและตรวจสอบการเบิกจ่ายค่าชดเชยบริการของหน่วยบริการในพื้นที่
สำหรับการขยายประเภทบริการนวัตกรรมเป็น 8 ประเภท ในพื้นที่ 4 จังหวัดนำร่อง ประกอบด้วย ร้านยาที่ให้บริการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย, คลินิกการพยาบาล ให้บริการทำแผล ตรวจรักษาโรคเบื้องต้น การพยาบาลพื้นฐานและการบริหารยาตามแผนการรักษาของหน่วยบริการประจำ การพยาบาลที่บ้าน, คลินิกเทคนิคการแพทย์ บริการเจาะเลือดที่บ้าน ,คลินิกกายภาพบำบัด บริการฟื้นฟูผู้ป่วยระยะกลาง ,
คลินิกเวชกรรม ให้บริการตรวจรักษาโรคเฉียบพลัน (Acute) หรือโรคเรื้อรัง (Chronic) ใน 42 กลุ่มโรค ,คลินิกทันตกรรม ให้บริการขูด อุด ถอน เคลือบหลุ่มร่องฟัน และเคลือบฟลูออไรด์ ,รถทันตกรรมเคลื่อนที่ ให้บริการขูด อุด ถอน เคลือบหลุมร่องฟัน และเคลือบฟลูออไรด์ แก่กลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้ต้องขังและเด็กในสถานพินิจ และคลินิกแพทย์แผนไทย ให้บริการ นวด ประคบ อบสมุนไพร เพื่อการรักษา
สิทธิบัตรประชาชนใบเดียว
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า นับจากนี้ ประชาชนเพียงแค่ยื่นบัตรประชาชน ในกรณีเด็กเล็กแค่ใช้สูติบัตรพร้อมบัตรประชาชนผู้ปกครอง ยื่นต่อหน่วยบริการทุกแห่งที่ขึ้นทะเบียนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ก็จะได้รับการดูแลและรักษาตามขั้นตอนของแต่ละหน่วยบริการ และเมื่อรับบริการเสร็จ ระบบจะบันทึกประวัติการรับบริการของท่านโดยอัตโนมัติ
หากผู้ป่วยต้องรับยา หากเป็นโรงพยาบาลที่มีโครงการรับยาที่ร้านยาใกล้บ้านหรือส่งยาทางไปรษณีย์ ก็สามารถเลือกรับยาที่ร้านยาใกล้บ้านได้โดยติดต่อที่ห้องจ่ายยา ส่วนที่เป็นผู้ป่วยเดิมและมีนัดรับบริการกับทางหน่วยบริการอยู่แล้ว ก็ให้เข้ารับบริการตามนัดหมายเช่นเดิม
ส่วนกรณีที่เกิดภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติถึงแก่ชีวิต (UCEP) สามารถใช้สิทธิ UCEP เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติมีสิทธิทุกที่ (Universal Coverage for Emergency Patients) เพื่อคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตถึงแก่ชีวิตให้สามารถเข้ารับการรักษาใน รพ.ทุกแห่งไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือเอกชนที่ใกล้ที่สุดได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจนพ้นวิกฤตหรือสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างปลอดภัย โดยยื่นบัตรประชาชน ในกรณีเด็กให้ใช้สูติบัตร และแจ้งใช้สิทธิ UCEP
ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การรับบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่เป็นสิทธิสำหรับคนไทยทุกคน เช่น บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรค คุมกำเนิด (ถุงยางอนามัย ยาคุม) ฝากครรภ์ คัดกรองมะเร็งปากมดลูก คัดกรองเบาหวาน ตรวจวัดความดันโลหิต ให้คำปรึกษาแนะนำด้านสุขภาพ ฯลฯ เบื้องต้นให้ตรวจสอบสิทธิประโยชน์ได้ที่แอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” จองคิวนัดหมายวันเวลารับบริการล่วงหน้าได้ หรือโทรติดต่อได้ที่หน่วยบริการ หรือติดต่อด้วยตนเองได้ที่หน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทุกแห่ง ใช้เพียงบัตรประชาชนใบเดียว
ทั้งนี้สามารถตรวจสอบรายชื่อหน่วยบริการเอกชน 4 จังหวัดบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ ได้ที่เว็บไซต์ สปสช. หรือที่ลิงก์ https://www.nhso.go.th/page/Innovative-services-4-provinces
สิ่งต้องทำกรณีไร้บัตรปชช.
นพ.จเด็จ กล่าวย้ำด้วยว่า ในการใช้บริการบัตรประชาชนใบเดียว จะต้องมีบัตรประชาชน ซึ่งพบว่าหลายพื้นที่ ประชาชนไม่มีบัตรประชาชน จึงขอความกรุณาผู้ว่าราชการจังหวัดส่งหน่วยเคลื่อนที่ออกไปทำบัตรประชาชน นอกจากนี้ ใช้ระบบID ส่วนกรณีที่ไม่มีบัตรจริงๆจะต้องมีคนพาไปและไปถ่ายรูป พยามยามเตรียมความสะดวกไว้ให้ แต่หน้างานจริงอาจจะมีความขรุขระ เช่น เด็กเล็กต่ำกว่า 7 ขวบที่ยังไม่มีบัตรประชาชน ก็ให้ผู้ปกครองเตรียมบัตรประชาชนของตนเองไป จะไม่มีปัญหาว่าเป็นคนไทยแล้วเข้ารับบริการไม่ได้
“หากไม่เหลือบ่ากว่าแรงอะไรที่มากนิดน้อยหน่อย ในวันที่เริ่มดำเนินการ ไม่ต้องกังวล แม้ลืมบัตรประชาชน ก็มีวิธีการ ขอให้มั่นใจว่าบริการจะต้องไปก่อน”นพ.จเด็จกล่าว
ยืนยันตัวตนหลังรับบริการ
สปสช. ได้ทำการปรับวิธีการใช้สิทธิในการเข้ารับบริการที่หน่วยบริการที่ช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับประชาชน ลดการรอคิวรับบริการ เช่น การจองคิว การเช็คสิทธิ การขอใบรับรองแพทย์ดิจิทัล หรือการนัดหมายออนไลน์ ผ่าน LINE OA และ Application ได้ทุกที่ ทุกเวลา
ตั้งแต่วันที่ 7 ม.ค. 2567 ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ 4 จังหวัดนำร่อง เมื่อเข้ารับบริการโดยใช้สิทธิบัตรทอง สามารถเข้ารับบริการจุดนัดหมายรับบริการได้เลย ไม่ต้องตรวจสอบสิทธิและยืนยันตัวตนก่อนเข้ารับบริการ เช่น ผู้ป่วยที่มีนัดมาเจาะเลือด ก็ให้ไปที่ห้องแล็บ (LAB) ได้เลย และหลังเสร็จสิ้นการรับบริการ ณ จุดสุดท้ายจึงทำการยืนยันการรับบริการ
วิธีในการยืนยันตัวตนหลังการรับบริการ มี 6 วิธีด้วยกัน ใช้วิธีใดวิธีหนึ่งก็ได้ขึ้นอยู่กับความสะดวกและการจัดบริการของหน่วยบริการและประชาชน ที่ดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่มี 1 วิธี โดยทำการยืนยันการรับบริการผ่านเครื่องรูดบัตรเคลื่อนที่ (EDC: Electronic Data Capture) เครื่องเดียวกับที่กรมบัญชีกลางใช้กับระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ขณะที่อีก 5 วิธี ประชาชนดำเนินการได้เองวิธีใดวิธีหนึ่ง ดังนี้
1.เครื่องให้บริการอัตโนมัติ (KIOSK)
2.เครื่องอ่านบัตรประชาชน (Smart Card)
3.แอปพลิเคชันไลน์ (Line Application) ได้แก่ ไลน์ OA สปสช. ไลน์ไอดี @nhso เลือกเมนูขอรหัสเข้ารับบริการ
4.แอปพลิเคชันที่สามารถเชื่อมต่อกับระบบของ สปสช. ที่มีมาตรฐานความปลอดภัยขั้นสูงสุด ปัจจุบันที่ใช้งานแล้วคือ แอปฯ หมอพร้อม และแอปฯ เป๋าตัง
5.การพิสูจน์ตัวตน (Authentication) และการส่งข้อมูลเบิกจ่ายภายในวันที่รับบริการ
อนึ่ง ประชาชนเข้ารับริการบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ ใน 4 จังหวัดนำร่อง หากมีข้อสงสัยหรือมีปัญหาในการเข้ารับบริการสามารถติดต่อสอบถามมายังสายด่วน สปสช. จ.แพร่ โทร. 1330 กด 61, จ.ร้อยเอ็ด โทร. 1330 กด 67, จ.เพชรบุรี โทร. 1330 กด 65 และ จ.นราธิวาส โทร. 1330 กด 612