เปิดไทม์ไลน์ 'บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่' 77 จังหวัด เริ่มไม่พร้อมกัน

เปิดไทม์ไลน์ 'บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่' 77 จังหวัด เริ่มไม่พร้อมกัน

ไทม์ไลน์ผู้มีสิทธิบัตรทอง ใช้บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ 77 จังหวัด เฟสแรก 4 จังหวัดเริ่ม 1 ม.ค.67 เฟศ 2 ขยายอีก 8 จังหวัดเริ่มมี.ค. 67 คาดครอบคลุมทั่วประเทศภายใน 1 ปี

Keypoints:

  •     คณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบงบประมาณปีงบประมาณ 2567 กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง ราว 2.17 แสนล้านบาท หมอชลน่าน ยืนยันไม่กระทบการขับเคลื่อนนโยบาย
  •       ไทม์ไลน์สิทธิบัตรทอง ใช้บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่  ใน77 จังหวัด แต่ละพื้นที่จะเริ่มใช้ในเวลาแตกต่างกัน  บางพื้นที่ใช้ได้ทุกสังกัด บางพื้นที่ใช้ได้เฉพาะเครือข่ายสธ.
  •        นพ.ชลน่านยืนยันขับเคลื่อนบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ ไม่สร้างความเหลื่อมล้ำ แต่เน้นความพร้อมของระบบ สิทธิประโยชน์ทุกคนเท่ากัน

          จากกรณีที่ก่อนหน้านี้สำนักงบประมาณได้มีการปรับลดงบประมาณปีงบประมาณ 2567 ของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง จากที่มีการเสนอไปส่งผลให้นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.)ขอถอนเรื่องออกมาจากการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.)ก่อน เพื่อหารือร่วมกันอีกครั้งนั้น

ครม.ไฟเขียวงบฯบัตรทองปี 67  
         เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน  2566  ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.ชลน่าน ให้สัมภาษณ์ว่า  เมื่อวันที่ 7 พ.ย.2566 ครม.มีมติอนุมัติงบประมาณกองทุนฯ วงเงินกว่า 2.17 แสนล้านบาท แบ่งเป็นงบฯเหมาจ่ายรายหัว และงบฯนอกเหมาจ่าย โดยงบเหมาจ่ายรายหัวอยู่ที่ประมาณ 165,000 ล้านบาท คิดเป็นราว  3,472 บาทต่อคนต่อปี   

       ทั้งนี้ พรบ.งบประมาณปี 2567 คาดว่าจะทูลเกล้าฯได้ในช่วงเดือนเมษายน หากมีผลบังคับใช้ก็น่าจะประมาณเดือนพฤษภาคม หลังจากนั้นไปถึงกันยายนก็เป็นการใช้ตามพรบ.งบประมาณปี 2567 แต่ช่วงก่อนหน้านั้น โดยบทบัญญัติของกฎหมาย กรณียังไม่มีพรบ.รายจ่ายประจำปีออกมาใช้บังคับ รัฐธรรมนูญเขียนชัดว่าให้ใช้พรบ.งบประมาณเดิมไปก่อน คือ จ่ายตามกฎหมายเดิม และสัดส่วนการจ่าย ทางสำนักงบฯปีนี้กำหนดให้จ่ายได้ถึง 2 ใน 3 ของเม็ดเงินจากกฎหมายเดิม  เช่น กฎหมายเดิมมี 100 บาท จ่ายได้ถึง 60 บาท

      ผู้สื่อข่าวถามว่าการพิจารณางบฯปี 2567 ค่อนข้างล่าช้าจะส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนนโยบายยกระดับ30บาทหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า รัฐบาลนี้เข้ามาค่อนข้างช้า  นโยบายที่ประกาศจึงคำนึงถึงเม็ดเงินด้วย ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของงบประมาณที่รองรับ ซึ่งนโยบายที่ประกาศไปทั้ง 13 ประเด็นอยู่บนพื้นฐานที่มีงบประมาณทำได้  ถือว่าไม่กระทบกับนโยบาย   โดยเฉพาะแผนงานโครงการเดิมในงบเดิมทำได้ เช่น มิติส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค

ไทม์ไลน์บัตรประชาชนใบเดียวแต่ละจังหวัด

         นพ.ชลน่าน กล่าวว่า แผนการดำเนินการโครงการบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ แบ่งการดำเนินงาน เป็น 3 ระยะ(เฟส) โดยเฟสแรกเริ่มใน 4 จังหวัดนำร่อง แพร่ ร้อยเอ็ด เพชรบุรี และนราธิวาส  ตั้งแต่  1 มกราคม 2567 สามารถใช้บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่ในสถานพยาบาลทุกแห่ง ทุกสังกัดภายในจังหวัด ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีจะเปิดโครงการวันที่ 8 มกราคม 2567

            เฟส 2  จะขยายไปยัง 8 จังหวัด คือ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ สิงห์บุรี พังงา หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ นครราชสีมา และสระแก้ว คาดเริ่มเดือนมีนาคม 2567 ซึ่งผู้ที่มีสิทธิบัตรทองจะสามารถเข้ารับบริการได้ในสถานพยาบาลทุกแห่งทุกสังกัดภายในจังหวัด

       และเฟส 3 จะเป็นการเปิดการใช้บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ใน 4 เขตสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข คือ เขตสุขภาพที่ 1 เขตสุขภาพที่ 4 เขตสุขภาพที่ 9 และเขตสุขภาพที่ 12 คาดเริ่มเดือนเมษายน 2567  เป็นการรักษาเฉพาะในสถานพยาบาลสังกัดสธ.
       เมื่อถามว่ากรุงเทพมหานครจะมีการใช้บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่เมื่อไหร่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่ากรุงเทพฯ เป็นจังหวัดที่มีความซับซ้อนสูงมาก มีรพ.หลายระดับ จึงต้องอาศัยเวลาในการเชื่อมโยงฐานข้อมูล ขณะนี้กำลังพัฒนา ซึ่งมั่นใจว่าภายใน 1 ปีระบบเสถียรและใช้ได้ภายใน 1 ปี
      ไม่สร้างความเหลื่อมล้ำ

         ผู้สื่อข่าวถามว่าไม่ได้เป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำของผู้ใช้บัตรทองในแต่ละจังหวัดใช่หรือไม่ เพราะบางจังหวัดรักษาได้ทุกเครือข่าย นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ก็อาจมอง แต่ความพร้อมเชิงระบบอธิบายต่อประชาชนได้ หากไม่พร้อมและไปจัดบริการ แทนจะได้ประโยชน์จะเสียหายและไม่เชื่อมั่น
         ดังนั้น ฐานข้อมูลที่ต้องเชื่อมให้เกิดความพร้อม และมีความเสถียรจึงจำเป็น เหตุที่มีความรู้สึกเหลื่อมล้ำอาจรู้สึกไม่สะดวก แต่สิทธิที่ได้รับไม่ด้อยกว่าที่เป็นอยู่ คำว่าเหลื่อมล้ำในการดูแลสุขภาพ จึงไม่ได้เหลื่อมล้ำ  สิทธิการเข้าถึงโดยสะดวกอาจแตกต่าง