เปิด 4 จังหวัด สิทธิ 30บาทรักษาทุกโรค ใช้บัตร 1 ใบเข้ารพ.ได้ทุกที่ทุกสังกัด

เปิด 4 จังหวัด สิทธิ 30บาทรักษาทุกโรค ใช้บัตร 1 ใบเข้ารพ.ได้ทุกที่ทุกสังกัด

เปิด 4 จังหวัด สิทธิ30บาทรักษาทุกโรค ใช้บัตรประชาชนใบเดียวเข้ารักษาในรพ.ได้ทุกที่ ทุกสังกัด  รวมคลินิก ร้านยา แล็ป รอประชุมซูเปอร์บอร์ดสุขภาพนายกฯนั่งหัวโต๊ะ  24 ต.ค.นี้ ก่อนประกาศวันเริ่มใช้ได้ 

  การยกระดับ 30บาทรักษาทุกโรค หรือ 30บาทพลัส นโยบายสาธารณสุขเรื่องหลักของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน โดยดิจิทัลสุขภาพเป็น 1 ใน 13 นโยบายของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ซึ่งการดำเนินงาน Quick Win 100 วันขับเคลื่อนนโยบาย คือ เรื่องบัตรประชาชนใบเดียว รักษาทุกที่ทั่วประเทศ 

 

4 จังหวัด บัตรใบเดียว รักษารพ.ได้ทุกที่

ล่าสุด เมื่อวันที่ 20 ต.ค.2566 ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์  นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดประชุมปฏิบัติการ Quick Win ยุคการเปลี่ยนผ่าน ก้าวสู่ระบบสุขภาพปฐมภูมิที่มีคุณภาพ 30บาทรักษาทุกโรคยุคใหม่ ตอนหนึ่งว่า   ช่วงหนึ่งถึงบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ ว่าจะประกาศ 4 จังหวัดนำร่องที่ประชาชนจะเข้ารับบริการด้วยบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ ได้ในสถานพยาบาลทุกเครือข่าย คือ แพร่ เพชรบุรี ร้อยเอ็ด และนราธิวาส

“ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่จะเข้ารับบริการได้จะเป็นเฉพาะคนที่มีภูมิลำเนาอยู่ใน 4 จังหวัดเท่านั้น แต่คนจังหวัดอื่นที่เดินทางไป 4 จังหวัดนี้ทั้งไปทำงาน ไปท่องเที่ยวแล้วมีความจำเป็นต้องเข้ารับบริการ ก็สามารถใช้รูปแบบนี้ได้ โดยครอบคลุม รพ.ทุกสังกัด ทั้งมหาวิทยาลัย ทหาร รวมถึงเอกชนอย่างร้านขายยา คลินิก แล็ป " นพ.ชลน่านกล่าว

ประกาศวันเริ่มใช้หลัง 24 ต.ค.

ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า 4 จังหวัดนี้จะรักษาได้ทุกที่ในสถานพยาบาลทุกเครือข่ายทั้งในและนอกสังกัดสธ.ใช่หรือไม่  นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เป็นเป้าหมายจึงได้เลือก 4 จังหวัดนี้ ที่มีความพร้อม  ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเชื่อมโยงข้อมูลในโครงข่าย โดยจะสามารถประกาศวันเริ่มใช้บริการได้หลังวันที่ 24 ต.ค.นี้
 

ซูเปอร์บอร์ดถกนัดแรก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 24 ต.ค.2566 จะมีการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ หรือซูเปอร์บอร์ดสุขภาพ ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน โดยจะมีการหารือถึงการขับเคลื่อนเรื่องบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ ซึ่งนับเป็นการประชุมนัดแรกของคณะกรรมการชุดนี้

4 เขต 27 จังหวัด รักษาได้ทุกที่ในสธ.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ สธ.เคยประกาศให้ 4 เขตสุขภาพ ครอบคลุม 27 จังหวัด สามารถใช้บัตรประชาชนใบเดียวเข้ารับบริการได้ทุกที่ในหน่วยบริการสังกัดสธ. คาดว่าจะเริ่มให้บริการรูปแบบนี้ได้ภายใน 100 วัน ตั้งใจให้เป็นของขวัญปีใหม่ประชาชน  ประกอบด้วย 

เขตสุขภาพที่ 1 ครอบคลุม 8 จังหวัด เชียงใหม่ เชียงราย แพร่ น่าน พะเยา ลำปาง ลำพูน และแม่ฮ่องสอน

เขตสุขภาพที่ 4 ครอบคลุม 8 จังหวัด สระบุรี นนทบุรี ลพบุรี อ่างทอง นครนายก สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี

เขตสุขภาพที่ 9 ครอบคลุม 4 จังหวัด นครราชสีมา  ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์

เขตสุขภาพที่ 12 ครอบคลุม 7 จังหวัด พัทลุง ตรัง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

“จังหวัดที่อยู่ใน 4 เขตสุขภาพดังกล่าว ผู้มีสิทธิ 30บาทรักษาทุกโรค ยังสามารถใช้บัตรประชาชนใบเดียวเข้ารับบริการได้ทุกที่เหมือนเดิม แต่เป็นเฉพาะในหน่วยบริการสังกัดสธ. ยังไม่สามารถใช้บริการในหน่วยสังกัดอื่นได้ ส่วน4 จังหวัดเป็นจังหวัดนำร่องที่คนทุกคนไปใช้บริการจังหวัดนั้น ใช้บัตรประชาชนใบเดียวสามารถเข้าได้ทุกหน่วยบริการ ทุกสังกัด” นพ.ชลน่านกล่าว  

เปิด 4 จังหวัด สิทธิ 30บาทรักษาทุกโรค ใช้บัตร 1 ใบเข้ารพ.ได้ทุกที่ทุกสังกัด
 

ผู้ที่มีสิทธิใช้ 30บาทรักษาทุกโรคทุกที่

บุคคลที่จะมีสิทธิเข้ารับบริการรักษาพยาบาล 30บาทรักษาทุกโรค ทุกที่  ตามนโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นกลุ่มประชาชนที่มีสิทธิประกันสุขภาพภาครัฐอยู่ในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค หรือบัตรทอง หรือบัตรทอง 30บาท  ปัจจุบันมีอยู่ราว 40 กว่าล้านคน เท่ากับว่าคนกลุ่มนี้จะสามารถไปรับบริการ รพ.นอกเหนือจาก รพ.ตามสิทธิได้ โดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัว

 

งบฯปี67รองรับ 2 แสนล้านบาท

สำหรับงบประมาณ ปี 2567  เมื่อวันที่ 2 ต.ค.2566 คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.)  ได้มีมติเห็นชอบข้อเสนองบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และร่างข้อเสนองบประมาณบริหารงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2567 ซึ่งได้มีการปรับเพิ่มงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  รวมเงินเดือนบุคลากร จากเดิม 212,449.82 ล้านบาท เป็น 221,528.95 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 17,388.92 ล้านบาท
งบประมาณที่เพิ่มขึ้น 17,388.92 บาทนี้ แบ่งเป็น

  • บริการเดิมที่ต่อเนื่องจากปี 2566 จำนวน 8,297.23 ล้านบาท
  • บริการเดิมที่เป็นนโยบายของรัฐบาล 6,164.29 ล้านบาท
  • บริการใหม่/สิทธิประโยชน์ใหม่ที่เป็นนโยบายของรัฐบาล 108.99 ล้านบาท
  • บริการ/สิทธิประโยชน์ใหม่ประจำปี 2567 จำนวน 12.57 ล้านบาท
  • และการปรับใช้ระบบการจ่ายชดเชยค่าบริการแบบ DRG เวอร์ชั่น 6 อีก 2,805.84 ล้านบาท