'2 โรค'ไทยยังตกเป้าความยั่งยืน SDGs เรื่องป้องกันควบคุมโรค
2 โรคไทยยังตกเป้าความยั่งยืนเรื่องป้องกันควบคุมโรค เร่งขับเคลื่อนแก้ปัญหา ขจัดวัณโรคในปี 2573 ตั้งเป้าไทยติด 1 ใน 3 ของระดับนานาชาติ ด้านการป้องกันโรค
เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2566 ที่กรมควบคุมโรค(คร.) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข พร้อมด้วยนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.สาธารณสุข และนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ตรวจเยี่ยมกรมควบคุมโรค โดยมีนพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) และผู้บริหารกรมให้การต้อนรับ
2 โรคตกเป้าความยั่งยืน
นพ.ธงชัย กล่าวว่า เรื่องการป้องกันควบคุมโรคที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(Sustainable Development Goals:SDGs) ใน 4 ด้าน ประกอบด้วย 1.โรคติดต่อสำคัญ ซึ่งโรคเรื้อน ต้องมีผู้ป่วยรายใหม่ ไม่เกิน 98 ราย ผู้ป่วยโปลิโอ 0 ราย มาลาเรียป่วยน้อยกว่า 1ต่อ 1,000 ประชากรภายในปี 2573 โรคเอดส์เสียชีวิตลดลง 80 % โรคพิษสุนัขบ้า เสียชีวิต 0 ราย ซึ่งไทยสามารถดำเนินการเป็นไปตามเป้าของความยั่งยืน ยกเว้นวัณโรคที่ยังติดตัวแดงไม่เป็นไปตามเป้าตัวชี้วัดที่จะต้องมีผู้ป่วยต่ำกว่า 10 ต่อประชากรแสนคน
2.โรคไม่ติดต่อ โรคไม่ติดต่อตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังลดลง อยู่ที่ 274 ต่อแสนประชากร จมน้ำเสียชีวิตลดลง 80 % เป็นไปตามเกณฑ์ แต่บาดเจ็บจากการจราจร จะต้องลดอัตราตายลง 50 % จากปี 2554 ซึ่งยังเป็นส่วนที่ตกเป้าตัวชี้วัด
3.ปัจจัยเสี่ยง ความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยควบคุมความดันโลหิตได้ 90 % เบาหวาน ผู้ป่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ 90 % ยาสูบ ความชุกของผู้สูบบุหรี่อายุ 15 ปีลดลง 50 % แอลกอฮอล์ ปริมาณการบริโรคต่อประชากร 15 ปีขึ้นไป ลดลง 40 %
เป้า 1 ใน 3 ระดับนานาชาติด้านป้องกันโรค
และ4.โรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม แรงงานนอกระบบประกันสังคม แรงงานเข้าถึงบริการอาชีวอนามัยที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้น 55 % พิษโลหะหนัก อัตราป่วยโรคพิษโลหะหนักในประชากรอายุ 0-14 ปีไม่เกิน 0.1 ต่อประชากรแสนคน และเกษตรกรรม อัตราป่วยด้วยโรคพิษสารกำจัดศัตรูพืชไม่เกิน 4 % ต่อแสนประชากร
“ถ้าดูจากเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในเรื่องของการป้องกันควบคุมโรคแล้ว พบว่าจะมี 2 ตัวที่ประเทศไทยยังตกเกณฑ์ หรือไม่ถึงเป้าของความยั่งยืน คือโรควัณโรคและบาดเจ็บจากการจราจร ซึ่งหากสามารถบริหารจัดการเรื่องเหล่านี้ได้ เชื่อว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ไทยสามารถบรรลุได้ตามเป้าประสงค์ที่จะเป็น 1 ใน 3 ของระดับนานาชาติด้านการป้องกันโรค จากที่ล่าสุดอยู่ที่อันดับ 1ของเอเชีย และอันดับ 5 ของโลกโดยอันดับ 1 คือ อเมริกา ตามมาด้วยออสเตรเลีย ฟินแลนด์ แคนาดา และไทย”นพ.ธงชัยกล่าว
ขจัดวัณโรคภายในปี 2573
ด้านนพ.ชลน่าน กล่าวว่า ตัวชี้วัดของ SDGs ที่ประเทศไทยยังไม่ผ่านเกณฑ์คือ การควบคุมวัณโรค และอุบัติเหตุจากการจราจร ซึ่งเป็นภารกิจหน้าที่ของกรมควบคุมโรค ที่จะวางแนวดำเนินการเรื่องนี้ มีเป้าหมายปี 2573 จะขจัดวัณโรค ซึ่งมั่นใจว่าถ้ามีการดูแลจัดการอย่างเข้มข้น ลดจำนวนวัณโรคตามเป้าหมายได้ กรมควบคุมโรคมีรถเคลื่อนที่พระราชทาน สามารถนำมาใช้ในการค้นหาผู้ป่วยวัณโรคได้
และมาตรการควบคุมวัณโรคในเรือนจำ มีโครงการราชทัณฑ์ปันสุขในการตรวจคัดกรองก่อนที่จะส่งเข้าขัง ถ้าพบเจอก็แยกและรักษาป้องกันการแพร่เชื้อ การค้นหาในชุมชน วางโครงข่ายเฝ้าระวังค้นหาทุกชุมชนถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ ส่วนแรงงานต่างด้าวที่พบมากถือเป็นกลุ่มเปราะบางตามนโยบายหลักของก็ต้องให้ความสำคัญดูแล ตั้งแต่การค้นหา วินิจฉัย รักษา และติดตาม
ส่วนการป้องกัน ดูแล รักษา ฟื้นฟูสภาพจากอุบัติเหตุทางถนนก็มีอยู่ ในมุมของสธ.ที่จะลดได้ต้องอาศัยความร่วมมือหลายภาคส่วน โดยเฉพาะอุบัติเหตุทางถนน กรมควบคุมโรคเป็นส่วนหนึ่ง เพราะอุบัติเหตุทางถนนไม่ได้เกิดแค่พฤติกรรมบุคคล มีเรื่องสภาพถนน วิศวกรรม พฤติกรรมของมนุษย์ เครื่องจักรเครื่องยนต์ หลายปัจจัยเกี่ยวข้อง จึงต้องดูทั้งก่อนเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุ
ที่จะเน้นหนักคือ ก่อนเกิดเหตุ โดยให้ความรู้ความเข้าใจ มาตรการเตรียมความพร้อมรองรับในภาวะเกิดเหตุ และขณะเกิดเหตุเข้าไปช่วยเหลือให้ทันท่วงทีอย่างไร จะมีกำหนดเวลาอยู่ในการถึงจุดเกิดเหตุ เป็นเกณฑ์วัดที่เราต้องทำ การส่งต่อผู้ป่วยไปดูแลรักษา
“ระยะเวลาดำเนินการให้ได้ตามเป้าของ SDGs ก็มีการกำหนดเวลาอยู่ อย่างวัณโณคคือปี 2573 ส่วนอุบัติเหตุวางเป้ายาก ก็พยายามประสานทุกหน่วยงานที่จะลดให้ได้มากที่สุด" นพ.ชลน่านกล่าว
ขยายเวลาผับบาร์ต้องสมดุลสุขภาพ-เศรษฐกิจ
ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีอุบัติเหตุทางถนนยังเป็นปัญหา ส่วนหนึ่งมาจากดื่มแล้วขับ แต่จะมีนโยบายขยายเวลาเปิดผับบาร์ถึงตี 4 จะสวนทางหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า การขยายเวลาเปิดผับถึงตี 4 จะกระทบอุบัติเหตุทางถนนหรือไม่ อาจมีความสัมพันธ์ทางตรง เพราะเหตุส่วนหนึ่งที่เจอคือเมาหรือดื่มแล้วขับ หน้าที่เราคือทำอย่างไรจะมีมาตรการป้องกันไม่ให้คนที่ดื่ม เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการขับยวดยานพาหนะ การตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง มาตรการควบคุมตรงนี้อาจจะต้องเข้มข้น สำคัญที่สุดคือทำอย่างไรให้รับทราบและเกิดความตระหนักในการระมัดระวังในตัวบุคคล มีความเข้าใจป้องกันตนเองได้ ถ้ารู้ว่าตนเองดื่มก็ต้องไม่ฝ่าฝืนไปขับรถ
ถามต่อว่าจุดยืนของ สธ.เรื่องขยายผับบาร์ นพ.ชลน่านกล่าวว่า เป็นมิติสุขภาพและเศรษฐกิจ ต้องสร้างความสมดุล เราส่งเสริมให้ระบบเศรษฐกิจขับเคลื่อนแต่ต้องไม่มีผลกระทบสุขภาพ ต้องชั่งน้ำหนักตรงนี้ มาตรการไหนที่จะป้องกันดูแลไม่ให้มีผลกระทบสุขภาพต้องใส่อย่างเข้มข้น