อนาคตการศึกษา AI ความเป็นผู้นำและความเท่าเทียม
เซอร์แอนโทนี เซลดอน นักเขียน นักประวัติศาสตร์ นักการศึกษาจากสหราชอาณาจักร เปิดเผยถึงทิศทางอนาคตของการศึกษา ปัญญาประดิษฐ์ ความเป็นผู้นำ และ ความเท่าเทียมกัน
ในการเยือนกรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆ นี้ "เซอร์แอนโทนี เซลดอน" นักเขียน นักประวัติศาสตร์ นักการศึกษาจากสหราชอาณาจักร และ ผู้เขียนหนังสือชีวประวัตินายกรัฐมนตรีอังกฤษหลายต่อหลายเล่ม ได้กล่าวสุนทรพจน์และเข้าร่วมงาน Thailand Festival of Education พร้อมให้สัมภาษณ์กับมิสเตอร์คริสโตเฟอร์ นิโคลส์ ครูใหญ่ของโรงเรียนเวลลิงตันคอลเลจ กรุงเทพฯ และสื่อมวลชน ในหัวข้อการสนทนาเป็นเรื่องเกี่ยวกับอนาคตของการศึกษา บทบาทการเปลี่ยนแปลงของปัญญาประดิษฐ์ (AI) แก่นแท้ของความเป็นผู้นำที่ดี และความเท่าเทียมกัน
สำหรับเรื่อง พัฒนาการของวงการการศึกษา เซอร์แอนโทนีเริ่มต้นด้วยการสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงในวงการการศึกษาปัจจุบัน ว่าภูมิทัศน์ทางการศึกษามีนั้นมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
“การศึกษาเองก็กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก และวิธีที่เราสอน วิธีที่เราประเมินผลการสอบ เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ภารกิจของพวกเราในการเตรียมความพร้อมให้คนผู้เรียนรุ่นใหม่ก็กำลังเปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
โอกาสและความท้าทายต่อร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ (2567) (ตอน 1)
สถาบันการศึกษาอยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
จากประสบการณ์ในฐานะอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยและอดีตครูใหญ่คนที่ 13 ของโรงเรียนเวลลิงตันคอลเลจ ซึ่งเป็นโรงเรียนก่อตั้งในประเทศอังกฤษ เซอร์แอนโทนีเห็นว่าทั้งมหาวิทยาลัยและโรงเรียน ล้วนแล้วแต่กำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
“ผมเคยบริหารมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ซึ่งโรงเรียนก็เช่นกัน แต่ทว่าโรงเรียนส่วนใหญ่ยังคงติดอยู่ในศตวรรษที่ 20” เซอร์แอนโทนียืนยัน
พร้อมชี้ให้เห็นถึงความเป็นจริงที่เร่งด่วนว่า สถาบันการศึกษาหลายแห่งทั่วโลกยังสามารถเตรียมความพร้อมให้นักเรียนได้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกไหม?
“การศึกษาที่มุ่งเน้นไปที่การสอบมากเกินไปเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วหรือ” เซอร์แอนโทนีรณรงค์ให้ใช้วิธีการแบบองค์รวมมากขึ้น ซึ่งต้องให้ความสำคัญกับความฉลาดทางอารมณ์และการพัฒนาหัวใจ มือ และสมอง โดยยืนยันว่า “เราต้องการวิสัยทัศน์ที่มีมิติรอบด้าน เข้าใจว่า การจัดการศึกษานั้นเพื่ออะไร”
ท่านเห็นว่า การศึกษาเป็นมากกว่าแค่ความสำเร็จเชิงวิชาการ การศึกษาที่ดีควรเป็นเรื่องเกี่ยวกับการพัฒนาแบบองค์รวม ที่จะทำให้ผู้เรียนมีความสุข รู้ว่าตัวเองเป็นใคร และเข้าใจว่าสามารถทำอะไรเพื่อโลกของเรา
AI ไม่เข้ามาแทนที่ครู ต้องบูรณาการ AI เข้ากับห้องเรียน
สำหรับเรื่อง AI และการศึกษา เซอร์แอนโทนีมองว่า ถ้าเราไม่ใช่มนุษย์ เราก็ไม่เป็นอะไรเลย แต่ก็ไม่ใช่จะกลัวว่า AI จะเข้ามาแทนที่ครูที่เป็นมนุษย์ การบูรณาการ AI เข้ากับห้องเรียน ว่าเป็นเรื่องสำคัญ
“เราไม่สามารถปฏิเสธ AI ได้ มันคือการพัฒนาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ มันเป็นเทคโนโลยีแรกที่มนุษย์ไม่ได้สร้างมันขึ้นมาทั้งหมด เพราะมันคิดและสร้างต่อเองได้ ในช่วงเวลาที่เราคุยกันอยู่นี้ AI ก็พัฒนาตลอด และ ฉลาดขึ้นมาก เราหยุดมันไม่ได้ เราต้องทำงานกับมัน เราต้องคิดไปข้างหน้ามากกว่านี้”
เซอร์แอนโทนี เห็นความสำคัญของ กระบวนทัศน์ทางการศึกษาที่ต้องมองไปสู่อนาคตแทนที่จะยึดติดกับอดีต ครูยังคงมีความสำคัญ แต่บทบาทของครูจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง
“เราต้องสร้างตัวแทนผู้สอนในหมู่ผู้เรียนของเรามากขึ้น เราต้องทำให้ผู้เรียนทุกคนเป็นหุ้นส่วนในการเรียนรู้ของตนเอง เราต้องช่วยให้ผู้เรียนพัฒนาเป็นมนุษย์ที่มีความรู้สึกต่อสิ่งที่พวกเขารักในชีวิต มีความรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร เข้าใจสิ่งที่พวกเขาสนใจ และแทนที่การศึกษาจะเป็นสิ่งที่กระทำกับพวกเขา แต่การศึกษาควรเป็นสิ่งที่ทำร่วมกับผู้เรียน และเพื่อผู้เรียน” เซอร์แอนโทนีกล่าว
โรงเรียนต้องเป็นสถานที่ที่มีความเป็นมนุษย์มากขึ้น
ดังนั้น ครูในโลกใหม่นี้จึงเป็นไกด์และที่ปรึกษามากกว่า ปัจจุบัน ผู้เรียนที่โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยสามารถค้นหาทุกสิ่งที่จำเป็นต้องรู้เกี่ยวกับคณิตศาสตร์ เคมี และชีววิทยา อะไรก็ได้จากอินเทอร์เน็ต และพวกเขาสามารถมี AI เป็นครู สามารถสอน และ ประเมินงานได้แล้ว
โรงเรียนจึงต้องเป็นสถานที่ที่มีความเป็นมนุษย์มากขึ้น สถานที่ที่เต็มไปด้วยความไว้วางใจ ความเห็นอกเห็นใจ มีพลัง และ มีความน่าสนใจ การศึกษาทั่วโลกแบบเดิมๆ ที่เน้นความเงียบ ให้นักเรียนแค่รับข้อมูลแบบเฉยๆ แบบนั้นอยู่ไม่ได้แล้ว มันไม่รอด และ มันจะนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิต เพราะคนหนุ่มสาวเติบโตขึ้นโดยไม่รู้ว่าตัวเองเป็นใคร ต้องการทำอะไรในชีวิต ไม่รู้แม้กระทั่งว่า ตัวเองรักอะไร ชอบอะไร
“เมื่อเปรียบเทียบกับ AI ครูเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง แม้หากเราจะเป็นคนที่ฉลาดที่สุดในโลก แต่ถ้าเราไม่ใช่มนุษย์ เราก็ไม่เป็นอะไรเลย”
สำหรับเรื่อง ความเป็นผู้นำและความเท่าเทียมกัน “เท่าเทียมกันแต่แตกต่าง” คือ วลีสำคัญจากเซอร์แอนโทนี ผู้เขียนชีวประวัติมากมายของนายกรัฐมนตรีอังกฤษหลายต่อหลายท่าน รวมถึงท่านล่าสุด
อะไรที่ทำให้คนเราเป็นผู้นำที่ดี?
มีสิ่งหนึ่งที่พบในผู้นำที่ดีในทุกที่ในโลก และในทุกช่วงเวลาของประวัติศาสตร์ คือ ผู้นำที่ดีต้องรู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ พวกเขาต้องมีแผนที่ชัดเจน พวกเขาต้องสามารถใช้คนดีๆ ที่สามารถดำเนินการตามแผนนั้นได้ แล้วพวกเขาก็ต้องสามารถแก้ไขและปรับปรุงให้ทันสมัยตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป”
“ผู้นำที่ไม่ดีไม่รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ พวกเขาใช้คนผิด และมักจะยึดติดกับสิ่งที่วางแผนไว้ ไม่ยอมปรับแผนตาม” มากไปกว่านั้น น่าสงสัยว่า ทำไมในประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ ผู้ชายจึงเป็นผู้นำประเทศไปสู่สงคราม ไม่ใช่ผู้หญิง?”
สำหรับเซอร์แอนโทนี “ผู้นำที่แท้จริงคือผู้สร้างสะพาน คือคนที่เหมือนคานธีในอินเดีย และเหมือนเนลสัน แมนเดลา ส่วนคนที่ทำตรงกันข้ามก็คือผู้ที่ไม่ใช่ผู้นำ”
เซอร์แอนโทนี กล่าวต่อว่าศตวรรษที่ 21 เป็นศตวรรษแรกอย่างแท้จริงที่ผู้หญิงได้รับอำนาจ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์มนุษย์ที่ผู้หญิงมีบทบาทเท่าเทียมกับผู้ชาย แน่นอน ไม่ใช่ว่าผู้หญิงจะเป็นผู้นำที่ดีกว่า แต่เราต้องมองว่า ทุกคนแตกต่างกัน และ เชื่อว่าการผสมผสานระหว่างทั้งผู้ชายและผู้หญิงในทุกที่ ไม่ว่าจะทีมผู้นำ ในโรงเรียน ในมหาวิทยาลัย ในธุรกิจ ในรัฐบาลนั้น คือสิ่งที่มีพลังลงตัวที่สุด”
สำหรับเซอร์แอนโทนี ความเป็นผู้นำที่โรงเรียนสอนนั้น ไม่ใช่แค่การเตรียมผู้เรียนเพื่อให้แค่บรรลุความสำเร็จทางวิชาการ แต่ยังต้องเพื่อสร้างชีวิตที่มีความหมาย เป็นผู้ที่รู้รอบ และการจัดระบบการศึกษาที่ส่งเสริมความเท่าเทียมกัน เพื่อให้แน่ใจว่านักเรียนทุกคนสามารถเติบโตและมีส่วนร่วมในสังคมได้
“ผมชอบสิ่งที่ผมเห็นที่นี่ในประเทศไทยและในโรงเรียนนานาชาติเวลลิงตันคอลเลจ กรุงเทพ ก็เป็นสถานที่ที่ผู้หญิงมีความเท่าเทียมกับผู้ชายอย่างแท้จริง เท่าเทียมกันแต่แตกต่างกัน”
อย่างไรก็ตาม เซอร์แอนโทนี ได้มีงานเขียนเกี่ยวกับอนาคตของการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่จุดตัดของการศึกษากับปัญญาประดิษฐ์ AIในหนังสือของท่านที่ชื่อ “The Fourth Education Revolution” ซึ่งยืนยันว่า AI อาจเปลี่ยนแปลงการศึกษาโดยสามารถสร้างประสบการณ์การเรียนรู้แบบเฉพาะบุคคล ทำให้การบริหารด้านการศึกษาเป็นแบบอัตโนมัติมากขึ้น และ ยิ่งส่งเสริมบทบาทของ ครู นักการศึกษา