3 เจเนอเรชั่น Gen X, Gen Y และ Gen Z สไตล์การทำงานไม่เหมือนกัน องค์กรต้องเข้าใจ!
เปิดพฤติกรรม สไตล์การทำงานของคน 3 เจเนอเรชั่นในที่ทำงาน ทั้ง Gen X, Gen Y และ Gen Z ซึ่งแต่ละวัยก็มีสไตล์การทำงาน และเป้าหมายชีวิตแตกต่างกัน องค์กรต้องทำความเข้าใจ และตอบโจทย์แต่ละกลุ่มให้ได้ ถ้าอยากเก็บคนเก่งไว้ในองค์กร
นับตั้งแต่โควิด-19 เข้ามา ก็ได้ดิสรัปวิถีชีวิตของเราทุกคนไปอย่างสิ้นเชิง และสร้างความเปลี่ยนแปลงในหลายๆ รูปแบบ โดยเฉพาะ "ตลาดงาน" ที่ทั้งองค์กร และนายจ้าง มีอะไรให้อัพเดทกันอีกมาก เพราะพฤติกรรมของ "พนักงาน" ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
ทั้งพนักงานที่รักและติดใจการ Work From Home จนทำใจกลับเข้ามานั่งทำงานในออฟฟิศไม่ได้แล้วก็มีไม่น้อยที่ลาออกไป และขอเป็นฟรีแลนซ์ ตามเทรนด์ Gig Economy กันไป ส่วนบางออฟฟิศปรับรูปแบบการเข้างานแบบไฮบริด ก็อาจจะช่วยรั้งพนักงานไว้ได้บ้าง แต่ก็จำเป็นต้องปรับรูปแบบปลีกย่อยให้ชีวิตการทำงานแบบ new normal ลงตัวมากขึ้น
แต่สิ่งที่อยู่ในความคิดของพนักงาน ไม่ได้มีแค่เรื่องเวลาเข้างาน หรือ รูปแบบการทำงานเท่านั้น แต่กลับเป็น "ความลงตัว" ระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัวอีกด้วย ที่หลายๆ คนเริ่มมองหาสูตรที่ใช่ ซึ่งแน่นอนว่า แต่ละคนก็มีโจทย์ไม่เหมือนกัน
ปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นทั้งในไทย และทั่วโลกก็คือ องค์กรส่วนใหญ่เจอปัญหา อัตราการเปลี่ยนงาน (Turnover rate) พุ่งสูงขึ้น จึงถึงเวลาที่ผู้ประกอบการ หรือองค์กรต่าง ๆ ต้องปรับตัวเปลี่ยนแปลงวิธีการดำเนินธุรกิจและการทำงานอย่างจริงจัง เพื่อให้ตอบรับต่อความต้องการของพนักงาน การรักษาพนักงานที่มีศักยภาพให้คงอยู่ การเตรียมความพร้อมให้พนักงาน หรือระบบที่จะรองรับการทำงานแบบดิจิทัลมากขึ้น
แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ในฐานะผู้ให้บริการด้านการหางาน-หาคนอย่างครบวงจร เปิดเผยข้อมูลความแตกต่างของ แรงงาน 3 เจเนอร์ชั่น คือ Gen X, Gen Y, และ Gen Z เพื่อให้องค์กรสามารถรักษาสมดุลในการทำงานอย่างยั่งยืน
ลิลลี่ งามตระกูลพานิช ผู้จัดการประจำประเทศไทย แมนพาวเวอร์กรุ๊ป เปิดเผยว่า การทำงานแบบ Hybrid working เป็นบทบาทความท้าทายใหม่ขององค์กรที่จะต้องปรับตัวเพื่อสร้างสมดุล และความสุขในการทำงานให้กับพนักงานที่มีความต่างกันในแต่ละช่วงวัยที่ต้องทำงานร่วมกัน
โดย ความแตกต่างของ มนุษย์งาน "3 เจเนอเรชั่น" มีดังนี้
- Gen X เกิดระหว่าง พ.ศ.2508 – 2523
เจเนอเรชั่นเอกซ์ หรือ "Gen X" เป็น พี่ใหญ่ ผู้ผ่านเหตุการณ์สำคัญ ๆ ในชีวิตการทำงานมาอย่างหนักหน่วง เจอมาแล้วทั้งวิกฤติต้มยำกุ้ง และ วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ต่อด้วยโควิด-19 และทันเห็นการทำงานแบบทุ่มเททั้งชีวิตของพ่อแม่ที่เป็นรุ่น "บูมเมอร์" จึงให้ความสำคัญกับการทำงานแบบ Work-Life Balance แต่ก็ยังเน้นเรื่องความรับผิดชอบตามหน้าที่อย่างเต็มที่ รวมทั้งเริ่มเปิดกว้างทางความคิด หรือไอเดียใหม่ๆ และเน้นเป้าหมายของทีมเป็นหลัก
สไตล์การทำงานของ Gen X
- ให้ความสำคัญกับ Work-Life Balance
- รับผิดชอบตามหน้าที่อย่างเต็มที่
- เปิดกว้างทางความคิด หรือไอเดียใหม่ๆ
- เน้นเป้าหมายของทีมเป็นหลัก
- Gen Y เกิดระหว่าง พ.ศ. 2523 – 2537
เจเนอเรชั่นวาย หรือ "Gen Y" ผู้เป็น น้องคนกลาง ที่ตอนนี้เริ่มเติบโตขึ้นเป็นระดับ Middle Management ในหลายองค์กรแล้ว โดยสไตล์ของ Gen Y คือ ชอบความชัดเจน เปิดรับความคิดเห็นที่ตรงไปตรงมามากขึ้น กล้าแสดงความคิดเห็นและกล้าร้องขอในสิ่งที่คิดว่าตนเองสมควรได้รับ
สไตล์การทำงานของ Gen Y
- ชอบความชัดเจน
- เปิดรับความคิดเห็นที่ตรงไปตรงมามากขึ้น
- กล้าแสดงความคิดเห็น และกล้าร้องขอ
- ถ้าเป็นหัวหน้า จะนำทีมโดยสร้างความท้าทายพุ่งชนเป้าหมาย
สำหรับวิธีที่องค์กรจะรักษาคน Gen Y ไว้ไม่ให้ลาออกไป คือ การให้พวกเขาเผชิญเรื่องใหม่ๆ เสมอ เพราะเป็นกลุ่มที่หากเบื่อ ก็มีโอกาสเปลี่ยนงานได้ตลอด
- Gen Z เกิดตั้งแต่พ.ศ. 2540 ขึ้นไป
น้องเล็ก ผู้อยู่ในกลุ่ม เจเนอเรชั่นแซด หรือ "Gen Z" คือ คนที่เกิดในยุคที่โลกหมุนเร็วมาก จึงมักเป็นคนที่วิเคราะห์และตัดสินใจรวดเร็ว ไม่กลัวปัญหา และพร้อมรับมือด้วยความสนุก
โดยไม่ว่าจะทำอะไร ชาว Gen Z มักจะสนุกกับการเห็นผลลัพธ์ที่รวดเร็ว กล้าเสนอมุมมองใหม่ ๆ นอกกรอบ ที่สำคัญ คือ กล้าตั้งคำถามกับรูปแบบและขั้นตอนการทำงานแบบเดิม ๆ เพื่อหาทางใหม่ที่ "เร็วขึ้น"
แถมยังคุ้นชินกับการทำงานแบบ "ไม่ยึดติดกับเวลา" ซึ่งเป็นความท้าทายอย่างมากขององค์กรในการรักษาคน Gen Z ไว้ให้ได้ เพราะถือเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้ม Turnover สูงขึ้น
ธรรมชาติหนึ่งของคน Gen Z คือ ไม่อยู่ในโลกของการทำงานเข้าเช้ากลับเย็นอีกต่อไป ความท้าทายและความสนุกในงานต่างหากคือสิ่งที่ยึด Gen Z ไว้ได้ ดังนั้นองค์กรควรจะรักษาสมดุลระหว่างความท้าทายของงานกับผลตอบแทนที่ดึงดูด เพราะคนเจนนี้พร้อมก้าวออกไปสู่ที่ทำงานที่สามารถ ๆ ตอบโจทย์มากกว่า
สไตล์การทำงานของ Gen Z
- สนุกกับการเห็นผลลัพธ์ที่รวดเร็ว
- กล้าเสนอมุมมองใหม่ ๆ นอกกรอบ
- กล้าตั้งคำถามกับการทำงานแบบเดิม ๆ เพื่อหาทางใหม่ที่เร็วขึ้น
- ไม่ยึดติดกับเวลาแบบเมื่อก่อน
- ไม่อยู่ในโลกของการทำงาน “เข้าเช้า-กลับเย็น” อีกต่อไป
- หัวใจสำคัญ คือ องค์กรต้องยืดหยุ่นมากขึ้น
จากสถานการณ์โควิด-19 ตลอดเกือบ 3 ปีที่ผ่านมาได้บังคับให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น Work from home 100% สลับเข้าทำงานในบางวัน หรือการเข้าออฟฟิศ 100% นั้น สำหรับ ลิลลี่ งามตระกูลพานิช ผู้จัดการประจำประเทศไทย แมนพาวเวอร์กรุ๊ป สะท้อนถึงสิ่งหนึ่งที่แทบไม่ต่างกันในภาพรวม นั่นก็คือ ผู้คนมองหา "การรักษาสมดุลชีวิตส่วนตัวและการทำงาน" กันมากขึ้น
"ชีวิตคุณภาพจริงๆ ของคนทำงาน คือ มีวันที่ได้เจอเพื่อนร่วมงาน ประชุม ปรึกษากัน เพื่อให้ทีมได้มีโอกาสวางเป้าหมายการทำงานร่วมกัน ในขณะที่เราก็ยังมีวันที่เคลียร์งานบางอย่างที่เราอาจจะไม่มีเวลาสะสาง หรือได้ใช้สมาธิในการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ ๆ กระทั่งทบทวนตัวเองเพื่อการพัฒนาแบบที่ไม่ต้องมีคนมารบกวน และลดเวลาการเดินทาง แต่เพิ่มเวลาที่ได้อยู่กับครอบครัว คนทำงานไม่จำเป็นต้องทำงานที่ออฟฟิศทุกวันก็สามารถปฏิบัติงานได้ดีตามปกติ หรือ บางเคสดีกว่าปกติเสียอีก ความยืดหยุ่นที่เพิ่มขึ้น ทำให้คนจัดตารางชีวิตได้ดีขึ้น ไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง ประหยัดค่าเดินทาง ไม่ต้องรอตอกบัตรเข้าออก สุขภาพจิตทุกคนก็จะดี มีผลดีต่องาน"
คนทำงานไม่จำเป็นต้องทำงานที่ออฟฟิศทุกวันก็สามารถปฏิบัติงานได้ดีตามปกติ หรือ บางเคสดีกว่าปกติเสียอีก ความยืดหยุ่นที่เพิ่มขึ้น ทำให้คนจัดตารางชีวิตได้ดีขึ้น ไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง ประหยัดค่าเดินทาง ไม่ต้องรอตอกบัตรเข้าออก สุขภาพจิตทุกคนก็จะดี มีผลดีต่องาน
ดังนั้น แนวคิด การทำงานแบบไฮบริด จึงกลายเป็นรูปแบบการทำงานที่หลายองค์กร รวมทั้งแมนพาวเวอร์ก็นำมาใช้ และได้รับการตอบรับเชิงบวกจากพนักงาน ซึ่งสอดคล้องกับวัฒนธรรมของเราที่เน้นเรื่องผลงานมาตลอด ในแต่ละเดือนก็ปรับเปลี่ยนจำนวนคนเข้าออฟฟิศตามความเหมาะสม ขึ้นกับสถานการณ์การแพร่ระบาดในแต่ละช่วงด้วย
"เมื่อเร็ว ๆ นี้ แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย ได้มีการนำร่องนโยบายทำงานจากที่ไหนก็ได้ หรือ Work From Anywhere 4 วันต่อเดือน โดยเราน่าจะเป็นบริษัทแรก ๆ ในไทยที่มีนโยบายแบบนี้ เพราะเชื่อเสมอว่า สวัสดิการของพนักงานและความยืดหยุ่นขององค์กรเป็นสิ่งสำคัญ หากดูแลทุกคนดี ทุกคนก็จะมีความสุขกับการทำงาน และนำมาซึ่งประสิทธิภาพการทำงานที่ดี"
นโยบายการทำงานแบบ Work From Anywhere ของแมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย นั้น มีเป้าหมายเพื่อให้พนักงานรักษาสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและชีวิตทำงาน หรือ Work Life Balance แต่ขณะเดียวกันก็ยังคงต้องสานสัมพันธ์ระหว่างพนักงานในออฟฟิศด้วย
ฉะนั้น หัวใจสำคัญ คือ "ความยืดหยุ่น" แต่ยังคงมาตรฐานของ "ประสิทธิภาพงาน " ด้วยเงื่อนไขที่แจ้งให้พนักงานทุกคนปฏิบัติตาม เพื่อให้แน่ใจว่าความยืดหยุ่นนี้ไม่ได้หมายถึง การหย่อนยานวินัย
"ส่วนหนึ่งคือเราก็กำหนดมาตรการที่ชัดเจน เช่น วันที่เข้าออฟฟิศ ต้องเข้ามาระหว่างช่วง 7-9 โมงเช้า และต้องอยู่ถึงอย่างน้อย 4 โมงเย็น นี่คือ นิยามของการทำงานแบบไฮบริด เพราะเราเชื่อมั่นว่า ‘บุคลากรขององค์กร คือ ทรัพยากรที่มีค่าสุด’ การสร้างคุณภาพชีวิต และพัฒนาทักษะจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ" ผู้บริหารแมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย กล่าว