ทริคพิชิต “สัมภาษณ์งาน” ไม่ยาก! แค่ปรับมุมมองเชิงบวก

ทริคพิชิต “สัมภาษณ์งาน” ไม่ยาก! แค่ปรับมุมมองเชิงบวก

เปิดเทคนิคการตอบคำถามสัมภาษณ์งานใหม่ ด้วยแนวคิด “การปรับมุมมองเชิงบวก” (Positive Twist) ที่จะช่วยให้คุณเลี่ยงพูดถึงเรื่องแย่ ๆ จากที่ทำงานเก่า ที่อาจทำให้คุณพลาดงานใหม่

การเปลี่ยนที่ทำงานไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในโลกของการทำงาน เพราะทุกคนล้วนต้องการเติบโตในที่ทำงาน และค่าตอบแทนที่ดีกว่า หรือบางทีที่ทำงานเก่าอาจจะไม่ได้ดีอย่างที่หวังไว้ 

ด่านแรกของการย้ายที่ทำงานคือ การสัมภาษณ์งาน เหล่าผู้สัมภาษณ์งานอาจจะยิงคำถามที่เกี่ยวกับที่ทำงานเก่าใส่คุณ ซึ่งคงดูไม่ดีนักหากคุณพูดข้อเสียเกี่ยวกับที่ทำงานเก่า

การปรับมุมมองเชิงบวก (Positive Twist) เป็นแนวคิดในการปรับเปลี่ยนสิ่งที่คุณไม่ชอบเกี่ยวกับงานที่คุณกำลังทำอยู่ในปัจจุบัน ให้กลายเป็นความทะเยอทะยานสำหรับการทำงานใน (ว่าที่) ที่ทำงานแห่งต่อไป ซึ่งพูดถึงสิ่งที่คุณกำลังมองหาในตำแหน่งงานใหม่ ไม่ใช่สิ่งที่คุณหนีมาจากงานเก่า

ต่อไปนี้คือ 5 เรื่องที่พนักงานมักจะบ่นจากที่ทำงานเก่า พร้อมวิธีคิดที่จะทำให้คุณมีมุมมองที่ดีขึ้น เมื่อต้องพูดถึงสิ่งเหล่านี้ในการสัมภาษณ์งานใหม่

  • รายได้ที่ไม่เป็นธรรม

แน่นอนว่ารายได้เป็นแรงขับเคลื่อนหลักในการทำงาน โดยในเฉพาะในโลกทุนนิยมที่ใช้เงินในการดำรงชีวิต อีกทั้งยังเป็นสิ่งที่คุณสามารถเจรจาต่อรองกับสถานที่ทำงานใหม่ได้ด้วย แต่ในการสัมภาษณ์งานนั้นไม่ควรพูดว่าเงินเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้คุณต้องลาออกจากงานเก่า เพราะนายจ้างอาจจะมองว่าคุณเห็นแก่เงิน และอาจจะชวดงานใหม่ได้ แม้ว่าคุณอาจจะได้ค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรมก็ตาม 

นายจ้างมักมองหาคนที่มีความทะเยอทะยานและความมุ่งมั่นในการทำงาน ดังนั้นคุณควรพูดถึงหน้าที่การทำงานของคุณในที่ทำงานเก่า และระบุว่าจะนำมาปรับใช้กับที่ทำงานใหม่ได้อย่างไร สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวกำหนดบทบาทและความสำคัญของคุณในองค์กร ซึ่งใช้ชี้วัดรายได้ของคุณด้วย

นอกจากนี้ คุณสามารถพูดถึงผลงานที่ผ่านมาและความสำเร็จที่คุณสร้างให้แก่ที่ทำงานเก่าได้ ทั้งหมดนี้จะช่วยให้คุณนำเรื่องรายได้เข้ามาสู่บทสนทนาได้อย่างแนบเนียนแล้ว ยังช่วยสร้างมูลค่าให้ตัวคุณเอง สิ่งที่คุณจะมอบให้แก่บริษัท และยังเป็นการพูดถึงจำนวนเงินที่คุณคาดหวังแบบอ้อม ๆ อีกด้วย

  • ​​​​​​เจ้านายเก่าที่ไม่น่ารัก

ปรกติแล้ว ผู้สัมภาษณ์งานส่วนใหญ่จะไม่ถามถึงหัวหน้างานเก่าของคุณ แต่ถ้าบังเอิญว่าโดนถาม คุณไม่ควรจะพูดถึงเจ้านายเก่าในทางที่ไม่ดี แม้ว่าเขาเหล่านั้นจะทำให้คุณปวดเศียรเวียนเกล้าขนาดไหนก็ตาม พยายามพูดถึงเขาเหล่านั้นในแง่ดีให้ได้มากที่สุด 

หากเจ้านายเก่าของคุณเป็นพวกหัวร้อน ให้บอกว่าพวกเขาเป็นคนมีแพชชันในการทำงาน และหากเจ้านายเก่าของคุณโลเล ไม่กล้าตัดสินใจ คุณอาจจะบอกว่าเขาเป็นคนรับฟังความเห็นของคนในทีม โดยอาจอาจจะกล่าวเสริมว่าพวกเขาให้คำแนะนำและสอนงานคุณอย่างไร จากนั้นพูดถึงบรรยากาศและสภาพแวดล้อมการทำงานในอุดมคติของคุณ

คำถามเหล่านี้มักจะใช้ชี้วัดว่าคุณจะสามารถรับมือกับคนประเภทต่าง ๆ ในออฟฟิศอย่างไร รวมถึงเป็นคำถามลวง เพื่อเช็กว่าคุณเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย หรือแอบนินทาลับหลังคนอื่นหรือไม่ เฉพาะฉะนั้น ถ้าคำถามนี้ทำให้คุณไม่สบอารมณ์ คุณควรตั้งสติ ตอบให้กระชับและสุภาพ พร้อมรับมือกับคำถามต่อไป

 

  • ไม่เห็นด้วยกับแผนธุรกิจบริษัท / มองว่าบริษัทไม่น่าไปรอด

คุณอาจจะรู้อยู่แล้วว่าผลประกอบการบริษัทเก่าไม่ดีนัก และคุณคงไม่อยากลงลึกในข้อมูลเหล่านี้มากนัก เพราะเท่ากับเป็นการขายความลับของบริษัทให้แก่คนนอกรู้ ดังนั้น คุณสามารถเลี่ยงไปพูดถึงการเติบโตของอุตสาหกรรมและชี้ให้เห็นถึงสภาพทางเศรษฐกิจโดยรวม ที่ทำให้คุณมองหาโอกาสอื่น ๆ แทน

ขณะเดียวกัน ถ้าคุณไม่ปลื้มกับทิศทางของบริษัทเก่า ควรพูดแบบกลาง ๆ ไว้ว่า คุณเลือกจะหาโอกาสอื่น ๆ เพราะตระหนักว่าทุกธุรกิจสามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว หรืออยากหาประสบการณ์และความท้าทายใหม่ ๆ 

 

  • ได้รับการปฏิบัติที่ไม่ดี

คุณอาจถูกตำหนิมาทั้ง ๆ ที่คุณไม่ได้ทำผิด ไม่ได้รับโอกาสจากที่ทำงานเดิม ทั้ง ๆ ที่ทำงานอย่างเต็มที่มาตลอด โดนแย่งผลงาน ได้รับมอบหมายงานที่มากเกินไป หรือได้รับงานที่ไม่ตรงกับสายงานของคุณ แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนบั่นทอนกำลังใจ ทำให้คุณหงุดหงิด และเสียใจ แต่ไม่มีประโยชน์ที่คุณจะเล่าเหตุการณ์เหล่านี้ให้กับผู้สัมภาษณ์งานของที่ทำงานใหม่ เพราะเรื่องมันผ่านมาแล้ว และพวกเขาก็คงไม่สามารถช่วยคุณได้ แถมจะทำให้บรรยากาศเสียอีกด้วย

หากกังวลว่าเหตุการณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้นกับคุณอีกครั้ง จนกลายเป็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอย คุณควรหาข้อมูลและประเมินสถานการณ์เบื้องต้น เมื่อคุณได้รับข้อเสนอและรู้ว่าใครเป็นหัวหน้าใหม่ของคุณ พิจารณาถึงขอบเขตงานที่ได้รับมอบหมายและคุณจะได้รับทรัพยากรในการทำงานอะไรบ้าง และอย่าพูดถึงปัญหาจากที่ทำงานเก่าในที่ทำงานใหม่

 

  • เปลี่ยนสายงาน

หากคุณอยากลองเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่นที่ไม่ใช่สายงานปัจจุบัน คุณก็ไม่ควรจะไปสัมภาษณ์งานเหล่านั้นที่ตัวเองไม่ต้องการ เพราะเป็นเรื่องปรกติที่นายจ้างมักจะต้องหาคนที่มีประสบการณ์ในการทำงานก่อน 

คุณควรปฏิเสธอย่างนิ่มนวล พร้อมระบุว่าตอนนี้คุณกำลังมองหางานรูปแบบใด แทนที่จะพูดติเตียนว่าสายงานเก่าของคุณนั้นไม่เหมาะสมกับคุณอย่างไร

นอกจากตัวอย่างข้างต้นแล้ว ผู้สัมภาษณ์งานมักจะต้อนคุณให้จนมุมด้วยคำถามยาก ๆ เช่น อะไรคือข้อผิดพลาดที่สุดในชีวิตคุณ? เจ้านายแบบใดที่คุณชอบน้อยที่สุด? คุณมีวิธีการจัดการกับลูกค้าเจ้าปัญหาอย่างไร? คำถามเหล่านี้ล้วนจะทำให้คุณเครียดและกดดัน ซึ่งการปรับมุมมองเชิงบวก จะช่วยให้คุณไม่รู้สึกแย่กับคำถามเหล่านั้น และตอบคำถามด้วยการพูดคุยที่สร้างแรงบันดาลใจและเน้นไปที่อุดมคติแทน

 

ที่มา: Forbes