“สนามกอล์ฟซัมมิทฯ” เปิดหลักสูตรยกระดับอาชีพแคดดี้ แห่งแรกในไทย
เชียงใหม่-สนามกอล์ฟซัมมิทฯ จับมือมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตเชียงใหม่ ยกระดับอาชีพแคดดี้เป็นแห่งแรกของประเทศไทย รองรับนักกอล์ฟจากทั่วโลกแบบมืออาชีพ
สนามกอล์ฟซัมมิท กรีนวัลเล่ย์ เชียงใหม่ คันทรีคลับ จัดโครงการพัฒนาแคดดี้มืออาชีพ ซึ่งหลักสูตรการฝึกอบรมให้แก่แคดดี้กว่า 250 คน เกี่ยวกับความรู้ในเรื่องไลน์ เลย์เอ้าท์ ทิศทางลม ระยะ ภูมิประเทศ และความสามารถในการสื่อสารกับนักกอล์ฟชาวต่างชาติ
เพื่อยกระดับความรู้ ความสามารถในการเป็นผู้ช่วยในสนามที่เป็นมากกว่าการทำหน้าที่เดินถือถุงกอล์ฟให้กับนักกอล์ฟ แต่เป็นที่ปรึกษาในสนามกอล์ฟและเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเล่นกีฬากอล์ฟ
สำหรับโครงการพัฒนาแคดดี้ ถือว่าเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่ทางสนามกอล์ฟมาตรฐานสากลได้พัฒนาหลักสูตร ที่ได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรที่เกี่ยวข้องในวงการกีฬาและการท่องเที่ยว
โครงการนี้เป็นการร่วมมือของสนามกอล์ฟ ซัมมิท กรีนวัลเล่ย์ เชียงใหม่ คันทรีคลับ, มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตเชียงใหม่, สมาคมกีฬาจังหวัดเชียงใหม่, อำเภอแม่ริม และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานเชียงใหม่
นางสาวภูวนิดา เตชะธนสมบัติ ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรและธุรกิจ สนามกอล์ฟซัมมิท กรีนวัลเล่ย์ เชียงใหม่ คันทรีคลับ กล่าวว่า โครงการในครั้งนี้เป็นยกระดับแคดดี้ให้เป็นมืออาชีพ
เนื่องจากแคดดี้จะให้บริการลูกค้าที่เป็นนักกอล์ฟค่อนข้างนาน ขั้นต่ำ 4 -5 ชั่วโมง ต่อการออกรอบตีกอล์ฟ 1 รอบ ดังนั้น แคดดี้มืออาชีพต้องมีความรู้ ความชำนาญในเรื่องกอล์ฟและสนามกอล์ฟเป็นอย่างดี
ทั้งยังต้องสื่อสารทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษได้ จึงต้องมีการอบรมแคดดี้กว่า 250 คน ให้เป็นมืออาชีพมากขึ้น และให้สอดคล้องกับธุรกิจสนามกอล์ฟที่เริ่มกลับมาคึกคัก หลังจากสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย
ผศ.ดร.สุรพล วงษ์สถิต ประธานฝ่ายกีฬากอล์ฟ จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า อาชีพแคดดี้ไม่ใช่เพียงแค่แบกถุงกอล์ฟให้กับนักกอล์ฟเท่านั้น เพราะแคดดี้ต้องมีความรู้เกี่ยวจิตวิทยา
เนื่องจากต้องคอยสังเกตนักกอล์ฟแต่ละคนว่ามีลักษณะนิสัยอย่างไร จะต้องใช้คำพูดหรือแสดงออกอย่างไร เพื่อให้ถูกใจนักกอล์ฟและให้นักกอล์ฟเล่นได้อย่างสนุก
แคดดี้ถือว่าเป็นอีก 1 ปัจจัยที่สำคัญที่จะช่วยให้นักกอล์ฟทำผลงานออกมาได้ดี
เนื่องจากแต่ละสนามมีลักษณะและความยากง่ายที่แตกต่างกันออกไป การยกระดับความรู้ให้กับแคดดี้ จะเป็นการสร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้กับแคดดี้
นางผ่องพรรณ ศิริวัฒนาวงศา รอง ผอ.ททท สำนักงานเชียงใหม่ กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยได้เปิดประเทศ ทำให้มีนักกอล์ฟจากต่างประเทศทยอยเข้ามาเป็นจำนวนมากทั้งจาก ประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน เวียดนาม และเกาหลี
ดังนั้น ภาษาเป็นสิ่งที่จะช่วยให้แคดดี้สื่อสารกับนักกอล์ฟชาวต่างชาติต่างภาษาได้ และกอล์ฟไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของการกีฬาเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นกีฬาเพื่อสุขภาพได้ด้วย
ที่สำคัญก็คือ ตลาดกอล์ฟเป็นตลาดที่ช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี ทั้งร้านอาหารที่นักกอล์ฟจะไปกิน หรือตัวแคดดี้ที่มีรายได้ไปเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว
ทั้งนี้ สนามกอล์ฟเป็นหนึ่งในสินค้าทางการท่องเที่ยว ในจังหวัดเชียงใหม่ที่มีมากกว่า 10 สนาม ที่ได้รับมาตรฐาน และทาง ททท.ได้ส่งเสริมกอล์ฟ มีการแข่งขันกอล์ฟรายการสำคัญในจังหวัดเชียงใหม่ จึงสามารถดึงดูดนักกอล์ฟเข้ามาในจังหวัดเชียงใหม่ ได้เป็นอย่างดี
ตัวเลขตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2565 ซึ่งอยู่ในช่วงโลว์ซีซั่น มีนักกอล์ฟมาเล่นเกือบ 40,000 คนครั้ง
Mr. Kim Hong Seok ผู้บริหารของบริษัท ซีเจทัวร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัททัวร์นำนักกอลฟ์เกาหลีเชาเหมาลำมาเล่นกีฬากอล์ฟในจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า นักกีฬากอล์ฟชาวเกาหลีชื่นชอบจังหวัดเชียงใหม่ เพราะมีอากาศที่อบอุ่น และในฤดูหนาวจะแตกต่างจากประเทศเกาหลี
จึงสามารถตอบโจทย์ทุกความต้องการของนักท่องเที่ยวชาวเกาหลี ซึ่งที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าสนามกอล์ฟซัมมิทฯ เชียงใหม่ ถือเป็นอีกหนึ่งสนามที่นักกีฬากอล์ฟชาวเกาหลีชื่นชอบ เพราะมีสนามที่สวย ท้าทาย ร่วมถึงแคดดี้มีความเป็นมืออาชีพ
นางโสพิศ เพลงงาม แคดดี้สนามกอล์ฟซัมมิทฯ กล่าวว่า ทำอาชีพแคดดี้มานานกว่า 10 ปี การที่ตัดสินใจเข้ามาทำอาชีพแคดดี้ ในอดีตนักกอล์ฟส่วนใหญ่จะเป็นนักกอล์ฟที่มาเล่นเพื่อสุขภาพ แต่ในปัจจุบันมีกลุ่มนักกอล์ฟที่มาเล่นและพูดคุยธุรกิจไปด้วย
การอบรมในครั้งนี้จะทำให้แคดดี้สามารถนำเอาความรู้และคำแนะนำจากการอบรม มาปรับใช้ในการทำงาน เช่น ภาษาอังกฤษที่ต้องใช้ในการสื่อสารกับนักกอล์ฟชาวต่างชาติ โดยแต่ละวันจะรายได้ไม่ต่ำกว่า 350-1,000 บาท
นางสาวพรกมล วงค์ริยะ แคดดี้สนามกอล์ฟซัมมิทฯ เล่าว่า เริ่มทำอาชีพแคดดี้ตั้งแต่อายุ 17 ปี โดยทำงานเป็นแคดดี้ ควบคู่กับการเรียนไปด้วย เพราะอยากจะมีรายได้เสริม ขณะที่แคดดี้เป็นอาชีพที่อิสระ มีรายได้ดี และเป็นอาชีพที่ท้าทายเพราะต้องเปลี่ยนนักกอล์ฟไปเรื่อย ๆในแต่ละวัน
ดังนั้น ต้องมีการพัฒนาความรู้เกี่ยวกับกอล์ฟอยู่เสมอ โครงการอบรมในครั้งนี้จะช่วยให้เข้าใจกีฬากอล์ฟมากขึ้น รวมถึงวิธีการสื่อสารกับนักกอล์ฟทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ.