ส่องปรากฏการณ์ “คุณพ่อ” ในสหรัฐ แห่ออกจากงาน มาเลี้ยงลูกแทน

ส่องปรากฏการณ์ “คุณพ่อ” ในสหรัฐ แห่ออกจากงาน มาเลี้ยงลูกแทน

เปิดสถิติเมื่อ “คุณพ่อ” ในสหรัฐ ลาออกจากงานมาดูแลลูก ๆ เพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากตกงานและหลีกทางให้ “คุณแม่” ที่มีหน้าที่การงานและรายได้สูงกว่าทำงานแทน

ทำเอานักเศรษฐศาสตร์และนักวางแผนนโยบายงุนงงไปตาม ๆ กันเมื่อจำนวนผู้ชายวัยทำงานอายุระหว่าง 25-54 ปี ที่ถือเป็นกำลังสำคัญ (Prime-age) ในตลาดแรงงาน ค่อย ๆ ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยสำนักงานสถิติแรงงานสหรัฐ ระบุว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจากหลายปัจจัยด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือนที่ลดลงในหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในภาคการผลิตและธุรกิจที่ต้องใช้แรงงานชายเป็นหลัก อีกทั้งปัจจัยด้านวุฒิการศึกษาของผู้ชายที่ส่วนมากต่ำกว่าผู้หญิง จึงทำให้ไม่เป็นที่ต้องการในบางตำแหน่ง

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแรงงานสหรัฐ พบว่า ในเดือนที่ผ่านมา ผู้ชายอายุระหว่าง 25-54 ปี ที่มีงานทำ หรือกำลังหางานประมาณ 88.5% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดตั้งแต่เก็บสถิติมา โดยลดลงกว่า 9% เมื่อเทียบกับทศวรรษที่ 1950 ขณะเดียวกัน อัตราการมีส่วนร่วมของแรงงานหญิงในปัจจุบันเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว เมื่อเทียบกับในช่วงปลายทศวรรษ 1990 ที่มีอยู่ 77% ซึ่งปรากฏการณ์นี้ถูกกล่าวถึงในหนังสือหลายเล่ม ไม่ว่าจะเป็น The End of Men และ The Boy Crisis

แล้วผู้ชายที่เหลือหายไปไหน ? 

 

  • ผู้ชายผันตัวเป็นพ่อบ้าน

ผู้ชายส่วนหนึ่งออกจากงานมาเพื่อเลี้ยงลูกและดูแลครอบครัว ซึ่งหากมองในภาพรวมแล้วอาจจะไม่ใช่จำนวนที่มากแบบก้าวกระโดด แต่ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นในทุกปี และสูงกว่าในปีที่แล้ว

การสำรวจสำมะโนประชากร พบว่า 1 ใน 5 ของครอบครัวในสหรัฐที่เลี้ยงลูกเองนั้น ในปีนี้มีอยู่ 5% ที่ฝ่ายชายลาออกจากงานเพื่อมาเลี้ยงลูกที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี ส่วนภรรยาเป็นฝ่ายออกไปทำงานหรือกำลังหางานอยู่ เพิ่มขึ้นจาก 1% ในช่วงกลางยุค 90 หรือคิดเป็นประมาณ 239,000 คน

อย่างไรก็ตาม การสำรวจนี้อาจจะจำกัดวงประชากรที่แคบจนเกินไป เพราะไม่ได้นับรวมครอบครัวคู่รักเพศเดียวกัน ครอบครัวที่ไม่มีบุตร หรือมีบุตรที่อายุมากกว่า 15 ปีขึ้นไป

ขณะที่ Pew Research Center องค์กรสำรวจความเห็นชาวอเมริกันที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ขยายขอบเขตการสำรวจเพิ่มเติม โดยนับรวมของพ่อของเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีที่ไม่ได้ทำงาน โดยไม่คำนึงถึงเหตุผลที่ออกจากงาน หรือสถานภาพการสมรส และรวมถึงคู่รักเพศเดียวกัน เมื่อรวมทั้งหมดแล้วทำให้ในปี 2564 มีจำนวนผู้ชายที่ออกจากงานเพิ่มขึ้นเป็นราว 2.1 ล้านคน คิดเป็น 18% ของผู้ปกครองที่อยู่บ้านเพื่อเลี้ยงดูลูก เพิ่มขึ้นจาก 10% ในปี 2532

สำหรับเหตุผลที่ทำให้ผู้ชายเหล่านี้ตัดสินใจออกจากงานจากมากเป็นอันดับ 1 คือ ความพิการ (34%) ตามมาด้วย เลี้ยงลูก (23%) ขณะที่อันดับถัดมาคือ เพื่อศึกษาต่อหรือเกษียณ (20%) และตกงาน (13%) 

แอเรียล คูเปอร์เบิร์ก รองศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาและเพศศึกษาจากมหาวิทยาลัยนอร์ธ แคโรไลนา ได้ทำการวิเคราะห์สถิติของรัฐบาลกลาง พบว่า ในปีที่แล้ว มีพ่อที่มีลูกอายุต่ำกว่า 18 ปี ไม่ได้ทำงาน 15.2% เพิ่มขึ้นจาก 14% ในปี 2562 

คูเปอร์เบิร์กชี้ให้เห็นว่า เมื่อผู้ชายส่วนใหญ่ที่ไม่ได้ทำงาน มักจะใช้เหตุผล “การเลี้ยงดูลูกเต็มเวลา” หรือ “พ่อบ้านเต็มตัว” เป็นข้ออ้าง แทนที่จะยอมรับว่าพวกเขาตกงานหรือพิการ เพราะการตีตราทางสังคมและบทบาทที่สังคมกำหนดให้ผู้ชายต้องเป็นคนทำงานหาเงินเพื่อเลี้ยงดูครอบครัว

ริชาร์ด รีฟส์ นักเขียนชาวอังกฤษเจ้าของหนังสือ Of Boys and Men: Why the Modern Male Is Struggling, Why It Matters, and What to Do about It (2565) ระบุว่า “ในปัจจุบัน ความเป็นแม่ (motherhood) ได้ถูกตีความใหม่ ทำให้พ่อก็สามารถทำหน้าที่แม่ได้ ขณะเดียวกัน แม่ก็สามารถออกไปทำงานหาเงินได้ด้วยเช่นกัน แต่ขณะเดียวกัน เรากลับไม่ได้ตีความ ความเป็นพ่อ (fatherhood) กันใหม่ ทั้งในแง่สังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ ผู้ชายยังคงติดอยู่ในค่านิยมเดิม ๆ”

  • จากช้างเท้าหน้า สู่ ช้างเท้าหลัง

อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การแบ่งบทบาทหน้าที่ในครอบครัวส่วนใหญ่แตกต่างกันออกไปจากเดิม จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแรงงานสหรัฐในปี 2564 พบว่า ผู้ชายอายุ 18 ปีขึ้นไปใช้เวลาเฉลี่ย 1.91 ชั่วโมงต่อวันในการดูแลและช่วยเหลือสมาชิกคนอื่นในครอบครัว แม้ว่าจะยังน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 2.39 ชั่วโมง ของผู้หญิงก็ตาม แต่เพิ่มขึ้นจากจำนวนเฉลี่ยรายชั่วโมงของผู้ชายในปี 2546 ที่อยู่ 1.67 ชั่วโมง ทั้งนี้ยังเร็วเกินไปที่จะตัดสินว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงของบทบาททางเพศในระยะยาวหรือไม่

นอกจากนี้ ตามรายงานของ Pew Research Center ยังพบว่า รายได้ของผู้หญิงที่แต่งงานหรืออยู่ร่วมกันคิดเป็นครึ่งหนึ่งของครอบครัวตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 25% ในปี 2543 

“การเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของจำนวนผู้หญิงที่สมัครเรียนในการศึกษาระดับสูงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้พวกเธอมีการงานที่มั่นคงมากยิ่งขึ้น และไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย” เจนนิเฟอร์ กลาส ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาของมหาวิทยาลัยเท็กซัส ตั้งข้อสังเกตว่า ส่วนใหญ่ผู้หญิงจะทำงานเกี่ยวกับแรงงานที่ต้องใช้ทักษะ โดยเฉพาะในสายการแพทย์และการศึกษา ตรงข้ามกับแรงงานผู้ชายอยู่ในสายงานที่บริษัทจำเป็นต้องลดขนาดองค์กร หรือถูกควบรวมกิจการ

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ศูนย์ดูแลเด็กในสหรัฐต้องปิดตัวลงเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกัน ค่าใช้จ่ายในการดูแลเด็กสูงขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากพี่เลี้ยงเด็กแบบรายวันก็ขึ้นค่าแรงด้วยเช่นกัน จากการสำรวจเมื่อเร็ว ๆ นี้พบว่า 58% ของครอบครัวที่ตอบแบบสอบถามมีค่าใช้จ่ายในการดูแลลูกในปี 2565 สูงกว่า 10,000 ดอลลาร์ เทียบกับ 45% ของครอบครัวที่ตอบแบบนั้นในปี 2562

ขณะเดียวกัน ใค่าใช้จ่ายนการดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นไม่ต่างจากค่าใช้จ่ายในการดูแลเด็ก ในระยะเวลา 10 ปี ตั้งแต่ปี 2552-2562 ค่าดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น 41% นี่จึงเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้คนในครอบครัวที่มีเงินเดือนน้อยกว่า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย ตัดสินใจออกจากงานเพื่อมาดูแลคนในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นลูกหรือผู้สูงอายุที่บ้าน 

จากข้อมูลของ AARP องค์กรไม่แสวงหากำไรของสหรัฐที่ทำร่วมกับพันธมิตรแห่งชาติเพื่อการดูแล หรือ NAC ระบุว่า ในปี 2563 มีผู้ชายเกือบ 39% เป็นผู้ดูแลครอบครัว เพิ่มขึ้นจากในปี 2540 ที่มีเพียง 27%

“เห็นได้ว่า ในปัจจุบัน ผู้ชายยอมรับว่าทำหน้าที่พ่อบ้านดูแลคนในครอบครัวจำนวนมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เป็นการตอกย้ำว่าค่านิยมที่ให้ผู้ชายเป็นคนออกไปหาเงินนอกบ้านกำลังเปลี่ยนไป” ฟอว์น โคธราน ผู้อำนวยการวิจัยของ NAC กล่าว

อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันที่ยังไม่แน่นอน อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูง ส่งผลให้ค่าครองชีพสูงตามไปด้วย ทำให้ในบางครอบครัว ต้องสลับกันออกไปทำงานเป็นกะ เพื่อจะได้มีคนดูแลผู้สูงอายุตลอดเวลา และในขณะเดียวกันจะได้มีรายได้ที่เพิ่มมากขึ้นสำหรับการดำรงชีพอีกด้วย

ที่มา: Bloomberg