ผู้บริหารต้องคิดเชิงกลยุทธ์ | บวร ปภัสราทร

ผู้บริหารต้องคิดเชิงกลยุทธ์ | บวร ปภัสราทร

สถิติบอกว่า ผู้บริหารที่ถูกปลดพ้นตำแหน่งเป็นอันดับแรก ๆในยามที่กิจการย่ำแย่มักเป็นคนที่คิดได้แต่เรื่องเล็ก ๆ คิดอะไรเกี่ยวกับงานประจำได้ดี แต่คิดเรื่องใหญ่ เรื่องอนาคตไกล ๆไม่เป็น

มองเห็นแค่ระดับจุลภาคคืองานที่อยู่ตรงหน้า พ้นโต๊ะทำงานไปนิดเดียวก็มองไม่เห็นว่าอะไรเป็นความท้าทาย หรือเป็นความได้เปรียบ หรือเป็นโอกาสใหม่ ๆ จึงบริหารได้ดีเฉพาะในวันที่รอบตัวไม่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น

ถ้าเมื่อวาน วันนี้ วันพรุ่งนี้ แทบจะไม่แตกต่างกัน การใส่ใจเรื่องเล็กเรื่องน้อยช่วยทำให้การงานเดินไปดั่งเดิมด้วยความราบรื่น เซียนเซ็นแฟ้มทำได้แค่ประคองให้การงานเดินหน้าไปแบบเดิม ๆในแต่ละวัน แปดปีสิบปีก็เหมือนเดิม  งานที่ทำในวันนี้ จึงเป็นเพียงเพื่อประโยชน์ของเมื่อวานนี้เท่านั้น

หน้าที่สำคัญของผู้บริหารคือชี้หนทางการเปลี่ยนแปลงไปสู่อนาคตที่ดีกว่า 

การคิดเชิงกลยุทธ์ หรือ Strategic Thinking เป็นการคิดในระดับมหภาค ที่ประกอบด้วยสามขั้นสำคัญ ได้แก่

ขั้นที่หนึ่งคิดได้ว่าอะไรสำคัญที่กำลังจะเกิดขึ้น ขั้นที่สองคิดได้ว่าควรจะทำอะไร ขั้นตอนที่สามคิดได้ว่าจะทำสิ่งที่ควรจะทำนั้นได้อย่างไร

ตำราฝรั่งเรียกว่า Goldren Circle : Why What How เพราะเชื่อว่าหากทำตามสามขั้นตอนนี้หลายครั้งหลายรอบแล้วจะมีแต่ดีขึ้น   บางตำราก็เรียกวงจรนี้ว่า Opportunity Strategy Action หมายถึงการนำกลยุทธ์ที่พัฒนาขึ้นเพื่อตอบสนองโอกาสสำคัญไปปฏิบัติ ซึ่งถ้าทำตามวงจรนี้แล้วจะเกิดผลดีบางอย่างขึ้นแน่ ๆ

คิดได้ว่าว่าอะไรสำคัญที่กำลังจะเกิดขึ้น มาจากการรวบรวมสาระรอบตัวทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี ตลอดจนบริบทอื่นๆที่เกี่ยวข้อง  มองภาพใหญ่เพื่อค้นหาว่าอะไรที่เปลี่ยนแปลงไป อะไรที่ยังเหมือนเดิม 

การเปลี่ยนแปลงนั้นมีความท้าทาย มีโอกาสสร้างความก้าวหน้าใหม่ ๆอยู่ตรงไหนบ้าง รวมทั้งให้รู้ว่าเหตุผลสำคัญที่ต้องมีการทำอะไรใหม่ ๆขึ้นมา  มีกลยุทธ์ใหม่ ๆขึ้นมาเพื่อสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นคืออะไร อธิบายได้ว่าทำไมเรื่องนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องกระทำอะไรสักอย่างลงไป 

การคิดเชิงกลยุทธ์ช่วยให้เริ่มต้นมองเห็นความท้าทาย และโอกาสในการสร้างความก้าวหน้า ช่วยปลดปล่อยการงานออกจากกับดักของความต่อเนื่อง

ก้มหน้าก้มตาเซ็นแฟ้มตั้งแต่เช้ายันเที่ยงคืน จะไม่มีวันเห็นปัญหา ไม่เห็นโอกาสในการพัฒนา ตราบเท่าที่ยังไม่รู้จักมองภาพใหญ่ที่ไกลออกไปจากแฟ้มที่เซ็นต์ไปทุกวันนั้น

ผู้บริหารที่คิดเชิงกลยุทธ์ไม่เริ่มต้นด้วยการบอกว่าจะทำอะไร หรือ What แต่จะอธิบายว่าทำไมเรื่องที่คิดจะทำนั้นจึงมีความสำคัญ ผู้บริหารที่เก่งจริงคิด Why ก่อนคิด What เสมอ Why ทำให้ได้ What ที่ชวนให้คนอื่นยอมรับเหตุผลและยอมที่จะช่วยกันทำเรื่องนั้น

คิดได้ว่าควรจะทำอะไร คือเมื่อเห็นปัญหา เห็นความท้าทาย เห็นโอกาส แล้วก็ตัดสินใจเลือกได้ว่าเรื่องใดควรจะทำอะไร หรือ What หรือมีกลยุทธ์ใดขึ้นมา

ดังนั้นทุกเรื่องที่จะทำ ล้วนมีคำอธิบายที่ชัดเจนและน่าเชื่อถือว่าทำไมต้องทำ ทุกกลยุทธ์ที่กำหนดขึ้นมีคำอธิบายว่าทำไมกลยุทธ์นั้นจึงมีความสำคัญ และสำคัญกับเรื่องใดบ้าง

ความชัดเจนของเหตุที่ต้องมีการกระทำใด ๆ  หรือมีกลยุทธ์ใด ๆ ช่วยให้สามารถประเมินประสิทธิผลของการกระทำ หรือกลยุทธ์นั้นได้อย่างเป็นรูปธรรม มีประสิทธิผลหมายถึงทำแล้วปัญหาหายไป หรือความท้าทายลดลง หรือสร้างความสำเร็จใหม่ ๆจากโอกาสที่พบเจอขึ้นมาได้

คิดได้ว่าจะทำสิ่งที่ควรจะทำนั้นได้อย่างไร คือเลือกได้ว่าจะใช้วิธีใดในการกระทำเรื่องนั้น จะมีแผนปฏิบัติการอย่างไรให้บรรลุผลตามกลยุทธ์นั้นได้

โดยทั่วไปแล้วมักมีมากกว่าหนึ่งหนทางในการเดินทางไปสู่เส้นชัย จึงต้องเลือกให้ดีว่าหนทางไหนมีโอกาสสร้างความสำเร็จให้เกิดขึ้นได้มากกว่ากัน 

การจัดทำและนำแผนปฏิบัติการไปปฏิบัติให้บรรลุผลตามกลยุทธ์ที่กำหนดไว้ ต้องมองภาพใหญ่เช่นเดียวกัน มองตั้งแต่วิธีทำที่เหมาะสม ทรัพยากรที่ต้องใช้ บุคลากรที่ต้องมี รวมไปถึงเงินทองที่ต้องจัดหามาอีกด้วย

อยากให้ผู้คนเชื่อฝีมือ เรื่องหนึ่งที่ขาดไม่ได้ คือต้องคิดเชิงกลยุทธ์ให้คนอื่นเห็นได้  อย่าเป็นแค่ผู้บริหารที่ดีแต่คิดเล็กคิดน้อย

ผู้บริหารต้องคิดเชิงกลยุทธ์ | บวร ปภัสราทร

คอลัมน์ ก้าวไกลวิสัยทัศน์

รศ.บวร ปภัสราทร  

นักวิจัย Digital Transformation

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี