ดูอย่างไรว่าน่าร่วมงานด้วย | บวร ปภัสราทร
บอกกันมาตั้งแต่โบราณว่า คบคนพาลพาไปหาผิด คบบัณฑิตพาไปหาผล ท่านบอกว่าให้เลือกคนที่จะร่วมงานให้ถูกคน ถ้าเลือกผิดจะพังมากกว่างานล้มเหลวเสียด้วยซ้ำ
แต่ไม่มีใครติดป้ายให้เราดูว่าเป็นบัณฑิตที่พึงร่วมงานด้วย หรือเป็นคนพาลที่เราควรห่างไกลไว้ก่อน ยิ่งในยามนี้มีคนที่ดูเหมือนจะดีเยอะแยะ แต่ปรากฏว่าหน้าฉากดีเลิศ หลังฉากไม่น่าคบเลย ถ้ารู้เร็วก็ยังไม่พาไปหาผิดอะไรมากนัก แต่ถ้ารู้ช้าอาจเจอความเสียหายเกินกว่าที่จะคาดเดาได้
คนแสร้งทำในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนของตนเองนั้น กระทำได้ไม่ต่อเนื่อง ส่วนใหญ่ทำบ้างไม่ทำบ้าง ได้หน้าก็ทำ ไม่ได้หน้าก็ละเลย แต่ถ้าเฝ้าดูจากบุคคลิกที่ปรากฏให้เห็นเป็นประจำ จะพบตัวตนที่แท้จริงของคนนั้น ซึ่งดูเพียงอย่างเดียวหรือสองอย่างอาจไม่ได้ผล ต้องดูเป็นชุดของการกระทำที่กระทำอย่างสม่ำเสมอ และสอดคล้องไปในทางเดียวกัน
คนแสร้งทำอาจทำบางอย่างในชุดการกระทำที่บ่งบอกว่าเป็นคนที่ควรร่วมงานด้วย แต่จะกระทำตรงข้ามในบางอย่างในชุดการกระทำนั้น เหมือนกับคนเป็นไบโพลาร์
คนที่ร่วมงานด้วยแล้วไม่เป็นพิษเป็นภัย คือคนที่มีความซื่อสัตย์ เป็นคนที่มีหิริโอตตัปปะ ทำงานด้วยแล้วไม่โกหก ไม่หักหลัง ไม่เอาความดีใส่ตัวเอง แต่เอาชั่วมาใส่เราแทน ซึ่งใครๆ ก็อยากได้คนร่วมงานที่เป็นแบบนี้ แต่ในยามนี้ดูหน้าไม่รู้ตัวตน
ดังนั้น ให้ลองสังเกตว่าคนนั้นมีพฤติกรรมตามชุดการกระทำต่อไปนี้ปรากฏให้เห็นอย่างสม่ำเสมอหรือไม่ ต้องเป็นการกระทำโดยไม่ขัดแย้งกัน หรือไม่ได้ทำเฉพาะเมื่อทำแล้วได้หน้า ถ้าไม่ได้หน้าก็ไม่ทำ
เริ่มจากดูว่าคนนั้นใส่ใจในคนอื่นอย่างคงเส้นคงวามากน้อยเพียงใด แสดงความกังวลเสมอว่าการกระทำใดๆ ของตนจะส่งผลกระทบในทางลบกับคนอื่นอย่างสม่ำเสมอหรือไม่ ก่อนจะทำอะไรจะคิดถึงผลกระทบทางลบต่อคนอื่นอยู่เสมอ
ซึ่งคนแสร้งทำจะเผลอปล่อยตัวตนที่แท้จริงให้เห็นอยู่เสมอ ต่อหน้าคนอื่นทำท่าทางเหมือนเห็นผลกระทบจากการกระทำของตนที่มีต่อคนอื่น แสดงความสุภาพจนเกินกว่าปกติ แต่พอถึงกิจวัตรประจำวัน จะเห็นการเอาเปรียบคนอื่นในแทบทุกเรื่อง
คนที่น่าร่วมงานด้วยต้องเป็นคนที่น่าเชื่อถือ หมายถึงมีการกระทำที่คงเส้นคงวา การกระทำวันนี้พรุ่งนี้ไม่แตกต่างกันมากนัก หากไม่มีสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน ตัดสินใจโดยใช้หลักการที่ชัดเจน
ไม่พบการตัดสินใจในเรื่องเดียวกันอย่างแกว่งไปมาตามอิทธิพลจากภายนอกต่างๆ หรือใช้หลักการที่เปลี่ยนแปลงไปมากับการตัดสินใจในเรื่องทำนองเดียวกัน แต่ตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องแตกต่างกัน คือเปลี่ยนหลักการไปตามตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น
งานเดียวกัน คนนี้ทำว่าถูก คนนั้นทำว่าผิด อย่าหลงว่าใครที่ดูเหมือนว่าเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจะมีการกระทำที่คงเส้นคงวา เป็นคนที่น่าเชื่อถือ โดยไม่ได้สังเกตให้ดีว่ามีการตะแบงหลักการอยู่เป็นประจำ
นักปราชญ์อาจเป็นคนที่ไม่น่าเชื่อถือได้ ความรู้ไม่ได้รับรองความน่าเชื่อถือของคนใดคนหนึ่ง
ถ้ามีแค่พฤติกรรมการใส่ใจคนอื่นและความน่าเชื่อถือ จะไปทำงานด้วยน่าจะไม่ต้องกังวลว่าจะถูกหักหลัง แต่ยังไม่แน่ว่าจะช่วยให้การงานนั้นมีโอกาสสำเร็จแน่ๆ
ถ้าต้องการมั่นใจในเรื่องความสำเร็จต้องดูว่า เป็นคนที่ทำงานอย่างมุ่งมั่นให้เกิดผลลัพธ์อย่างจริงจังแค่ไหน ซึ่งดูจากการทำงานอย่างมีการวางแผน ไม่ใช่สักแต่ว่าได้ทำ วางแผนก่อนทำแล้วยังคาดการณ์ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นไว้ล่วงหน้า ตระเตรียมการรับมือปัญหาก่อนที่ปัญหาจะเกิดขึ้น
ถ้าถามว่าทำงานแล้วผลลัพธ์ที่จะได้คืออะไร ก็สามารถอธิบายได้อย่างชัดเจน มีรูปธรรมของผลลัพธ์ที่ใช้ประเมินความสำเร็จได้ ถ้าจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแผนก็จะกระทำอย่างทันท่วงที ไม่รีรอจนเสียการงาน
คนที่ควรทำงานด้วยนั้น ควรเป็นคนที่ทำให้งานยากกลายเป็นงานง่าย สิ้นหวังกลายเป็นเต็มไปด้วยความหวัง เป็นคนที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนที่ร่วมงานมุ่งมั่นไปสู่ความสำเร็จได้ ถ้าร่วมงานกันแล้วมีแต่สร้างความท้อถอย พูดแต่เรื่องน่าสิ้นหวัง ทำงานไปก็ทรมานไปตลอด
ดูให้ดี ดูให้ครบก่อนเลือกร่วมงานกับใคร วันหน้าจะได้ไม่เสียใจที่เลือกผิด
คอลัมน์ ก้าวไกลวิสัยทัศน์
รศ.บวร ปภัสราทร
นักวิจัย Digital Transformation
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
email. [email protected]