เส้นทางการค้ามนุษย์ข้ามชาติ การป้องกันและแก้ไข | ศิริวรรณ สืบนุการณ์
“การค้ามนุษย์” และการแสวงประโยชน์ขั้นรุนแรงรูปแบบต่างๆ รวมถึงการบังคับใช้แรงงานและการบังคับแต่งงาน ซึ่งขณะนี้เรียกรวมกันว่า ทาสยุคใหม่
การย้ายถิ่นภายในและข้ามประเทศ ถือว่าเป็นกลยุทธ์การเคลื่อนย้ายทางเศรษฐกิจและสังคม ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้คนหลายล้านคนทั่วโลก แต่การแสวงหาประโยชน์จากแรงงานข้ามชาติกลายเป็นปัญหาที่รับรู้กันมากขึ้นทั่วโลก
มีรายงานว่า "การค้ามนุษย์" ส่งผลกระทบต่อประชากรประมาณกว่า 40 ล้านคนทั่วโลก โดยราว 30 ล้านคนอยู่ในสถานการณ์ถูกบังคับใช้แรงงาน
การค้ามนุษย์โดยองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติมีความเชื่อมโยงกับปัญหาอื่นๆ เช่น การฟอกเงิน ยาเสพติด ซึ่งบ่อนทำลายความมั่นคงของประเทศของภูมิภาคและของโลก
งานวิจัยของ รศ.อัจฉรา ชลายนนาวิน คณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มธ. ศึกษาเส้นทางการค้ามนุษย์ข้ามชาติในพื้นที่เสี่ยงระหว่างประเทศ เพื่อส่งเสริมความรู้และความเข้าใจของผู้ที่เกี่ยวข้องในการดูแลผู้เสียหาย
รวมไปถึงการป้องกันกลุ่มเสี่ยงจากการค้ามนุษย์ข้ามชาติ เสนอการมีส่วนร่วมของหน่วยงานและองค์กรภาคีเครือข่าย และการสร้างกลไกการทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ข้ามชาติอย่างยั่งยืน
รศ.อัจฉรา ชลายนนาวิน
เส้นทางการค้ามนุษย์ข้ามชาติในพื้นที่เสี่ยงระหว่างประเทศเริ่มจาก “การคัดเลือกผู้เสียหาย” ทั้งผู้เสียหายอพยพโดยเจตนาและรู้ล่วงหน้าว่าจะมาค้าประเวณียังพื้นที่ปลายทาง
ผู้ล่อลวงมักคัดเลือกผู้เสียหายที่ประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน หรือมีความวิตกกังวลและถูกชักจูงได้ง่าย
บางรายถูกล่อลวงให้เข้าใจผิดถึงสภาวะการทำงาน อาทิ การทำงานบ้านหรือค้าแรงงาน หากแต่เมื่อเดินทางมายังพื้นที่ปลายทางกลับถูกชักจูงในค้าประเวณี เป็นต้น
ประเทศไทยเป็นพื้นที่ศูนย์กลางใน “กระบวนการขนส่ง” แรงงานบังคับค้าประเวณีจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีลักษณะองค์กรข้ามชาติเพื่อส่งต่อแรงงานบังคับค้าประเวณีไปยัง “พื้นที่ปลายทาง”
ส่วนประเทศต้นทางจาก ลาว กัมพูชา เมียนมา จีน เวียดนาม รัสเซีย อุซเบกิสถาน เป็นต้น กลุ่มผู้อพยพดังกล่าวเจตนาที่จะเดินทางเข้ามายังประเทศไทยโดยมีความต้องการที่จะหาโอกาสในชีวิตที่ดีกว่า
กลุ่มแรงงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งในการตกเป็นผู้เสียหาย ถูกล่อลวงจากภาวะจำยอม การบังคับค้า และการสร้างภาวะหนี้สิน
ผู้เสียหายมีช่องทางไม่มากนักที่จะร้องขอความช่วยเหลือ เนื่องจากอุปสรรคทางด้านหนี้สิน ภาษา และขาดโอกาสในการเข้าร้องขอความช่วยเหลือจากภาครัฐหรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง
แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในพื้นที่เสี่ยงระหว่างประเทศ จากผลการวิจัยพบว่า ประเด็นสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาการค้ามนุษย์ก็คือความไม่รู้
อาทิ ความไม่รู้ในเรื่องกฎหมายในพื้นที่ปลายทาง ไม่รู้จักองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือ ไม่เข้าใจภาษา และไม่รู้สิทธิหรือไม่สามารถบริหารอำนาจของตนเองได้ ทำให้ผู้เสียหายพบโอกาสในการร้องขอความช่วยเหลือเมื่อเวลาที่สายเกินเยียวยา
นอกจากนี้ยังพบว่า เจ้าหน้าที่รัฐเองต่างก็มีภาระงานล้นมือจนไม่อาจแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
ดังนั้น แนวทางการแก้ไขปัญหาที่สำคัญจึงมีดังนี้
การสร้างเครือข่าย ทั้งจิตอาสา องค์กรเอกชนและองค์กรภาครัฐ จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนกระบวนการพิทักษ์สิทธิให้แก่ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์
โดยต้องมีการบูรณาการงานร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ต้องมีตารางการประชุมเพื่อบูรณาการแผนงานในการแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างสม่ำเสมอและเป็นระบบที่ชัดเจน มีการระบุอำนาจหน้าที่ในการรับผิดชอบ
การเพิ่มแนวทางการให้ความช่วยเหลือแบบไม่เป็นทางการ ด้านการรักษาพยาบาล จิตแพทย์ และการให้คำปรึกษาทางกฎหมายเครือข่ายออนไลน์มีความสำคัญอย่างยิ่งกับผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์
ซึ่งได้รับผลกระทบทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจอย่างรุนแรง ไม่มีแหล่งที่พึ่งทางใจจนทำให้ต้องกลับไปยึดแนวทางการประกอบอาชีพด้วยการค้าประเวณีในรูปแบบเดิมเพื่อหาเลี้ยงชีพ
เครือข่ายที่เกี่ยวข้องในการพิทักษ์และคุ้มครองสิทธิผู้ตกเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ควรจะมีระบบการติดตามและคุ้มครองสิทธิผู้ตกเป็นผู้เสียหายผ่านแอปพลิเคชัน
เนื่องจากผลการวิจัยพบว่าผู้ตกเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์มักไม่ติดต่อขอรับความช่วยเหลือด้วยตนเอง ทำให้การให้ความช่วยเหลือเป็นไปอย่างไม่ต่อเนื่อง
ดังนั้น เครือข่ายจึงควรมีระบบติดตามผ่านองค์กรเครือข่ายในกรณีที่ผู้เสียหายไม่ประสงค์จะติดต่อกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือตอบคำถามเจ้าหน้าที่ตำรวจ อาจเป็นแนวทางในการคัดกรองความช่วยเหลือผู้เสียหายในเบื้องต้น
โดยที่ผู้เสียหายไม่จำเป็นที่จะต้องแสดงตัวตนของตนเองจนกว่าจะเกิดความไว้ใจมากขึ้น
การจัดทำหลักสูตรอบรมกลุ่มเสี่ยงผู้ตกเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ เพื่อให้ความช่วยเหลือ พิทักษ์และคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายในเชิงรุก ให้กลุ่มเสี่ยงพร้อมรับมือในการแก้ไขปัญหา
โดยการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกประเทศเพื่อเดินทางมาช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ตามที่ร้องขอ อาทิ หลักสูตรอบรมทางด้านกฎหมายในพื้นที่ปลายทาง พฤติกรรมของผู้ต้องสงสัย การดำเนินการในกรณีภาวะฉุกเฉิน เป็นต้น
การปรับรูปแบบนโยบายประเทศเพื่อแก้ปัญหาในเชิงรุก รัฐควรให้ความสำคัญกับนโยบายของประเทศในการช่วยป้องกัน หรือนโยบายเชิงรุก มากกว่าการอุดช่องว่างหรือการแก้ไขปัญหา โดยบูรณาการงานร่วมกันทุกภาคส่วนทั้งในกระทรวงยุติธรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
โดยมุ่งเน้นการป้องกันและการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดดังนี้
1.การปรับรูปแบบนโยบายในแนวทางการป้องกันการค้ามนุษย์ และป้องกันการตกเป็นผู้เสียหายซ้ำ
2.การใช้แนวทางด้านการทำวิจัย ข้อมูล สื่อ โซเชียลมีเดีย เพื่อรับมือกับกระบวนการค้ามนุษย์ในเชิงรุก
3.การสร้างเครือข่ายและการสร้างแนวร่วม ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อรับมือกับปัญหาการค้ามนุษย์ นอกจากนี้ยังต้องใช้นโยบายการกำจัดอุปสรรคต่อความเท่าเทียมของมนุษย์ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมทางสังคมอย่างแท้จริง
4.การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด รวมไปถึงการใช้กระบวนการทางเศรษฐกิจ สังคม และศาสนาเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างยั่งยืน
5.การสนับสนุนทางด้านการศึกษาที่ช่วยให้เกิดความตระหนักในปัญหาการค้ามนุษย์ อาทิ นโยบายไม่ส่งเสริมธุรกิจที่นำไปสู่การค้าประเวณี และการค้ามนุษย์ทุกประเภท
6.การสนับสนุนชุมชนพื้นที่ต้นทางให้สนับสนุน ให้โอกาส หรือให้ความเข้าใจ ผู้ตกเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ให้สามารถปรับปรุงคุณภาพชีวิตของตนเองให้ดีขึ้นหลังจากตกเป็นผู้เสียหายการค้าประเวณี สนับสนุนชุมชนให้ยอมรับ และเข้าใจ
พร้อมทั้งฟื้นฟูผู้เสียหายค้าประเวณีให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและสามารถกลับเข้าสู่สังคมได้ตามปกติ.