เตือน 'แรงงานต่างชาติ' ทำผิด ม.112 มีสิทธิถูกเพิกถอนใบอนุญาตทำงาน
กรมการจัดหางาน เตือนแรงงานต่างชาติ ทำผิด ม.112 มีสิทธิถูกเพิกถอนใบอนุญาตทำงาน กรณีม็อบแรงงานต่างชาติเคลื่อนไหวเรียกร้อง “ปฏิรูปกษัตริย์ สร้างรัฐสวัสดิการ”
นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์วันแรงงาน เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ที่ผ่านมา กรณีม็อบแรงงานต่างชาติเคลื่อนไหวเรียกร้อง “ปฏิรูปกษัตริย์ สร้างรัฐสวัสดิการ” นั้น
กรมการจัดหางาน ขอเตือนไปยังแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยทุกเชื้อชาติ ว่า พฤติการณ์ในลักษณะดังกล่าวหากหน่วยงานด้านความมั่นคงพิจารณาแล้วเห็นว่า เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา หรือเป็นความผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้แรงงานต่างชาติผู้นั้นจะมีใบอนุญาตทำงาน และเข้ามาทำงานอย่างถูกต้อง แต่เมื่อมีความผิดตามกฎหมาย กรมการจัดหางานมีสิทธิพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างชาตินั้น
ตาม พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และแจ้งต่อสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เพื่อเพิกถอนสิทธิในการอยู่ในราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ต่อไปได้
นอกจากนี้หากตรวจสอบพบว่าเป็นแรงงานต่างชาติที่ลักลอบเข้ามาทำงานกับนายจ้าง โดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน นอกจากมีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองแล้ว กรมการจัดหางานจะร้องทุกข์กล่าวโทษแก่แรงงานต่างชาติ ในความผิดฐานทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน ซึ่งมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท และถูกส่งกลับประเทศต้นทาง รวมถึงห้ามขอใบอนุญาตทำงานเป็นเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับโทษ
และดำเนินคดีกับนายจ้างที่จ้างแรงงานต่างชาติดังกล่าว ในความผิดฐานให้คนต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน ซึ่งมีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี
“กรมการจัดหางานตระหนักและให้ความสำคัญกับการเคารพสิทธิมนุษยชน และการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างด้านเชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา หรือเพศ คำว่า คนต่างด้าว เป็นถ้อยคำตามกฎหมาย ตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม หมายถึง บุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งกรมการจัดหางานเอง ใช้ทั้งคำว่า คนต่างด้าว หรือ คนต่างชาติ และ แรงงานต่างชาติ หรือ แรงงานข้ามชาติ หรือแรงงานต่างด้าว ในการสื่อสารและนำเสนอข่าวมาโดยตลอด เพราะถือว่ามีความหมายและให้คุณค่าที่ไม่แตกต่างกัน” อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว
อ้างอิง - กรมการจัดหางาน