คิดต่าง - "ขัดใจ" เจ้านาย | บวร ปภัสราทร 

คิดต่าง - "ขัดใจ" เจ้านาย | บวร ปภัสราทร 

เรื่องหนึ่งที่คนทำงานหนักอกหนักใจคือ ความเห็นที่ไม่ตรงกับผู้บริหารหรือ เจ้านาย ซึ่งหลีกหนีไปไม่พ้นถ้ายังคงทำงานกันแบบมืออาชีพที่มุ่งเน้นความสำเร็จขององค์กรเป็นสำคัญ

สักวันหนึ่งก็จะมีเรื่องที่เห็นต่างไปจากผู้บริหาร เพราะต่างคนต่างมีมุมมองในแต่ละเรื่องที่ไม่เหมือนกันร้อยเปอร์เซนต์ จะเห็นเหมือนกันไปหมดทุกอย่างทุกเรื่องได้นั้นคงไม่ใช่มืออาชีพ แต่เป็นมือสอพลอ ทำงานด้วยการขี้ประจบเจ้านายเสียมากกว่า  

ถ้าเห็นต่างในวันที่ผู้บริหารยังคงมีบทบาทที่น่าเชื่อถือ ยังเป็นผู้นำที่ดี เพียงแต่เรื่องนี้เห็นไม่ตรงกัน   วันนั้นยังพอมีทางออกที่จะแสดงความไม่เห็นด้วย โดยไม่เป็นการลบหลู่ ยังมีโอกาสแสดงความเห็นต่างได้อย่างสร้างสรรค์

พร้อมทั้งยังมีโอกาสที่จะทำให้ความเห็นต่างนั้นนำไปสู่ประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งสำหรับทั้งองค์กร ตัวลูกพี่ และตัวลูกน้องพร้อมกันไปได้ด้วย มีความเป็นไปได้ที่การแสดงความเห็นต่างนั้นนำไปสู่ชัยชนะสำหรับทุกคนที่เกี่ยวข้อง

เบื้องต้นที่สุดคือ อย่ากลัวเจ้านายจนกระทั่งละเลยความเป็นมืออาชีพของตนเอง อย่ายอมละทิ้งหลักการและตรรกะเพียงเพื่อให้ถูกใจนายใหญ่   

ถ้ากระทำเช่นนั้นต่อเนื่องจนกระทั่งวันหนึ่งกลายเป็นทุกเรื่องถูกครับนาย ใช่ครับท่าน วันนั้นคงหาเกียรติภูมิแห่งการทำงานในฐานะมืออาชีพไม่ได้อีกต่อไปแล้ว

การงานจะก้าวไกลต่อไปได้นั้นเหลืออยู่ทางเดียว คือลูกขุนพลอยพยักไปทุกเรื่องต่อเนื่องไปตลอดชีวิตการงาน ถ้ามั่นใจในความเป็นมืออาชีพที่ทำงานตามหลักการ อย่างมีตรรกะแล้ว การแสดงความเห็นต่างไปจากเจ้านายไม่ใช่ภัยคุกคาม แต่เป็นการเสนอโอกาสในการพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ก็ได้

คิดต่าง - \"ขัดใจ\" เจ้านาย | บวร ปภัสราทร 

การแสดงความเห็นที่แตกต่างไปจากเจ้านายนั้นไม่ใช่ว่าจะกระทำได้ทุกที่ ทุกเวลา ไม่ว่าเจ้านายนั้นใจดี ใจเย็นมากแค่ไหนก็ตาม การเลือกเวลาและสถานที่ที่เหมาะสมเป็นจุดตั้งต้นที่สำคัญของการแสดงความเห็นต่างโดยทุกฝ่ายได้ประโยชน์

เจ้านายแต่ละคนมีเวลาและสถานที่ที่ยอมรับความเห็นต่างไม่เหมือนกัน วันใดที่คิดจะแสดงความเห็นแย้งที่น่าจะขัดใจเจ้านาย วันนั้นต้องมั่นใจว่ารู้จักเจ้านายดีพอที่จะเลือกได้ว่าจังหวะใด เป็นจังหวะที่เหมาะสมที่สุดในการแสดงความเห็นต่างได้

แต่ที่น่าจะเหมือนกันหมดคือ ควรแสดงความเห็นต่างกับผู้บริหารในพื้นที่ส่วนตัว หรือแสดงความเห็นต่างในที่ที่ไม่มีคนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องร่วมอยู่ด้วย

ทุกคนมีหน้าตาที่ต้องดูแล ถ้าการแสดงความเห็นต่างนั้นถูกตีความโดยลูกพี่ว่าเป็นการฉีกหน้าในที่สาธารณะ ผลที่ตามมามีแค่ชัยชนะของลูกพี่บนความพ่ายแพ้ของลูกน้องเท่านั้น

อย่าแสดงความเห็นต่างด้วยอารมณ์ แม้ว่าความคิดของผู้บริหารจะเป็นเรื่องที่ไม่ถูกใจก็ตาม สงบอารมณ์แล้วตั้งใจทำความเข้าใจเรื่องที่เห็นต่างนั้นให้กระจ่างชัดว่าปรเด็นที่เห็นต่างนั้นสำคัญอย่างไรกับการงานขององค์กร    จากนั้นให้แสดงความเห็นต่างด้วยความสงบ

โฟกัสไปที่ประเด็นที่เห็นต่าง พร้อมทั้งแสดงหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ใช้สนับสนุนความเห็นต่างนั้นอย่างชัดเจน โต้แย้งโดยมีหลักการและหลักฐาน อย่าโต้แย้งไปตามมโนและอัตตาที่มีอยู่

พยายามเสนอทางเลือกในเรื่องที่เห็นต่าง ไม่ใช่มุ่งเน้นแต่นำเสนอปัญหาหากเดินหน้าตามความคิดของผู้บริหาร พร้อมทั้งตั้งใจฟังความเห็นแย้งกลับจากผู้บริหารอย่างตั้งอกตั้งใจ เพื่อจับประเด็นสำคัญที่เห็นตรงกันที่จะนำไปสู่ข้อสรุปร่วมกันในเรื่องที่เห็นต่างกันนั้น

เตือนตนเองไว้ตลอดเวลาที่แสดงความเห็นต่างนั้นว่า กำลังโต้แย้งเรื่องที่จะกระทำแตกต่างไป  เรื่องที่คิดต่าง ไม่ใช่โต้แย้งกับตัวผู้บริหาร  ดูแลท่าทีและภาษาที่แสดงความเห็นต่างไม่ให้กลายเป็นการดูหมิ่นดูแคลนผู้บริหาร

คิดต่าง - \"ขัดใจ\" เจ้านาย | บวร ปภัสราทร 

แสดงความเห็นต่างด้วยท่าทีที่ให้ความนับถือ ไม่ใช่การท้าทาย เพื่อไม่ให้การแสดงความเห็นต่างนำไปสู่การทำลายความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างลูกพี่กับลูกน้อง

ผลการแสดงความเห็นต่างที่พึงแสวงหาไม่ใช่การเปลี่ยนใจเจ้านายให้มาเห็นตรงกับที่เราเห็น ไม่ใช่การมีชัยชนะเจ้านาย แต่เป็นการได้ประสบการณ์ที่ได้จากการแสดงความเห็นต่างกับนายใหญ่ ผลที่คาดหวังน่าจะเป็นการที่ผู้บริหารได้เห็นความผูกพันที่เรามีต่อองค์กร

โต้แย้งแล้วผู้บริหารจะเห็นด้วยเห็นต่างนั้นไม่สำคัญเท่ากับการที่ได้รับการยอมรับฟังจากเจ้านาย  การยอมรับหลักการและหลักฐานที่ใช้สนับสนุนการโต้แย้งนั้น เพราะสิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่โอกาสที่ลูกพี่ลูกน้องจะร่วมกันเดินหน้าสร้างการพัฒนาใหม่ ๆให้กับองค์กรต่อไปในอนาคต

คอลัมน์ ก้าวไกลวิสัยทัศน์

รศ.บวร ปภัสราทร 

นักวิจัย Digital Transformation

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

email. [email protected]