อย่าเผลอใช้เกินตัว! เปิด 5 วิธีคิดผิดๆ เสี่ยงไม่มี 'เงินเก็บ' หลังเกษียณ

อย่าเผลอใช้เกินตัว! เปิด 5 วิธีคิดผิดๆ เสี่ยงไม่มี 'เงินเก็บ' หลังเกษียณ

เงินหาใหม่ได้..ตอนนี้ขอใช้จ่ายให้มีความสุขก่อน? ใครกำลังคิดแบบนี้อาจต้องคิดใหม่! เพราะถ้าไม่ระวัง อาจจะไม่มี "เงินเก็บ" ไว้ใช้หลัง "เกษียณ"

Key Points: 

  • ไม่ใช่แค่หาเงินเก่ง แต่ต้องฝึกวินัยการ “เก็บเงิน” และรู้จักบริหารจัดการเงินส่วนบุคคลให้เหมาะสม เพื่อเป้าหมายการมีอิสรภาพทางการเงินหลัง “เกษียณอายุ”
  • กลุ่มคนอาชีพอิสระก็สามารถ “ออมเงิน” เพื่อการเกษียณได้ โดยในประเทศไทยมี “กองทุนการออมแห่งชาติ” เพื่อให้กลุ่มอาชีพอิสระมีเงินก้อนไว้ใช้หลังเกษียณ ได้เหมือนกับกลุ่มข้าราชการ (กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ) และพนักงานบริษัท (มีกองทุนประกันสังคม)
  • ผู้คนยุคดิจิทัลมักหลงทางไปกับ “ภาวะเงินเฟ้อจากไลฟ์สไตล์ฟุ่มเฟือย” ซึ่งถูกกระตุ้นด้วยสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้ลืมคิดไปว่า ค่าเช่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าเสื้อผ้า/เครื่องประดับ ฯลฯ ที่มากเกินจำเป็น ก็ทำให้แผนการเก็บเงินสำหรับเกษียณผิดพลาดได้

ใครๆ ก็อยากมีอิสรภาพทางการเงินหลังเกษียณ แต่ใช่ว่าทุกคนจะก้าวไปถึงจุดนั้นได้อย่างราบรื่น เพราะแต่ละคนก็มีปัจจัยด้านรายได้ รายจ่าย ค่าครองชีพ และภาระหนี้สินที่แตกต่างกัน แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินไป หากคุณรู้จัก “ออมเงิน” ให้เหมาะสม และมีการบริหารจัดการเงินที่ดี

ที่สำคัญ.. ต้องไม่ติดกับดัก 5 ความผิดพลาดด้านการเงิน ที่สุ่มเสี่ยงทำให้ “ไม่มีเงินเก็บ” จนนำไปสู่การ “ขาดอิสรภาพทางการเงินหลังเกษียณ” โดยเราสรุปมาให้รู้กันดังนี้

 

ความผิดพลาดที่ 1 : ผัดวันประกันพรุ่ง ไม่รีบเก็บเงินตั้งแต่อายุยังน้อย

บางคนอาจยังมัวแต่รีๆ รอๆ อยู่นานเกินไปกว่าจะเริ่มออมเงิน สุดท้ายก็เก็บเงินไม่ทันใช้หลังเกษียณ รู้หรือไม่? ยิ่งออมเงินเร็วก็ยิ่งได้ดอกเบี้ยทบต้นสูงขึ้น ทั้งนี้ต้องออมเงินในสถาบันการเงินที่ให้อัตราผลตอบแทน 5% ต่อปีขึ้นไป ดังนั้น ไม่ควรมองข้ามเรื่องการออมเงินตั้งแต่อายุยังน้อย แนะนำว่าให้เริ่มออมไม่เกินช่วงวัย 25 ปี 

อย่าเผลอใช้เกินตัว! เปิด 5 วิธีคิดผิดๆ เสี่ยงไม่มี \'เงินเก็บ\' หลังเกษียณ

 

ความผิดพลาดที่ 2 : ไม่มีความรู้เรื่องกองทุนการออมเพื่อเกษียณ หรือมองว่าเป็นการออมระยะยาวเกินไปจึงไม่สนใจ

ในรัฐบาลของหลาย ๆ ประเทศ จะมีมาตรการสนับสนุนให้ประชาชนออมเงินเพื่อการเกษียณ โดยตั้งขึ้นมาเป็นกองทุนต่างๆ อย่างเช่นในสหรัฐอเมริกา ก็จะมีมาตรการ “แผนการลงทุนเพื่อการเกษียณ 401(k)” โดยผู้ลงทุนสามารถหักเงินเดือนเพื่อสะสมเข้ากองทุนนี้ได้ อีกทั้งยังสามารถเลือกแผนการลงทุนที่สนใจได้เอง โดยต้องหักเงินสะสมไปเรื่อยๆ จนถึงอายุ 59 ปี จึงจะสามารถถอนเงินออกมาได้

ส่วนในประเทศไทย ใครที่เป็นผู้ประกันตน ตามมาตรา 33, 39 รัฐก็มีข้อบังคับให้หักเงินสะสมเข้ากองทุนประกันสังคมอยู่แล้ว (ส่วนข้าราชการก็มีกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ) และสำหรับกลุ่มแรงงานนอกระบบหรือผู้ประกอบอาชีพอิสระรัฐบาลไทยก็มีระบบการออมภาคสมัครใจรองรับเช่นกัน โดยสามารถส่งเงินออมผ่าน “กองทุนการออมแห่งชาติ” หรือกองทุนประกันสังคมตามมาตรา 40

โดยเงินดังกล่าวก็จะเป็นการสะสมไว้เพื่อใช้หลังเกษียณ ทั้งนี้ ข้อผิดพลาดที่พบบ่อยของวัยทำงานหนุ่มสาวที่ทำอาชีพอิสระบางคน คือ อาจไม่มีความรู้เรื่องนี้ หรือไม่ใส่ใจที่จะสมัครเข้าร่วมกองทุนการออมฯ จึงทำให้พลาดโอกาสในการมีเงินเก็บก้อนใหญ่ไว้ใช้หลังเกษียณ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

อย่าเผลอใช้เกินตัว! เปิด 5 วิธีคิดผิดๆ เสี่ยงไม่มี \'เงินเก็บ\' หลังเกษียณ

 

ความผิดพลาดที่ 3 : ตกเป็นเหยื่อภาวะเงินเฟ้อจากไลฟ์ไตล์ฟุ่มเฟือย

“ภาวะเงินเฟ้อจากไลฟ์สไตล์ฟุ่มเฟือย (Lifestyle Inflation)” มักจะเกิดขึ้นเมื่อผู้คนเริ่มมองว่า การใช้ชีวิตที่หรูหราในอดีตที่ผ่านมาเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องมีต่อไปในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งมักถูกกระตุ้นด้วยสื่อสังคมออนไลน์ ยิ่งหนุ่มสาววัยทำงานเล่นโซเชียลมีเดียมากเท่าไร ก็จะยิ่งมีความปรารถนาที่จะใช้ชีวิตตามคนอื่นๆ บนโลกออนไลน์ (ที่มักโพสต์ไลฟสไตล์การใช้ชีวิตหรูหราฟุ่มเฟือย) มากเท่านั้น

พวกเขามักจะชะล่าใจเกินไปว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ส่งผลกระทบกับเงินออมหลังเกษียณ ซึ่งนั่นเป็นความคิดที่ผิดพลาด! และบางคนอาจไม่เคยรู้ว่า การจ่ายค่าเช่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าเสื้อผ้า/เครื่องประดับ ฯลฯ ที่มากเกินจำเป็น ก็มีส่วนทำให้แผนการเงินอื่นๆ หยุดชะงักได้ ในความเป็นจริงแล้ว คุณควรจ่ายค่าเช่าที่พักในอัตราไม่เกิน 25% ของเงินเดือน และควรจ่ายค่าอาหารไม่เกิน 15% ของเงินเดือน เพื่อให้สะสมเงินออมได้มากขึ้น

อย่าเผลอใช้เกินตัว! เปิด 5 วิธีคิดผิดๆ เสี่ยงไม่มี \'เงินเก็บ\' หลังเกษียณ

 

ความผิดพลาดที่ 4 : มีเงินออมฉุกเฉินไม่เพียงพอ

รู้หรือไม่? กองทุนฉุกเฉินสามารถช่วยชีวิตคุณได้หากคุณตกงาน หรือป่วยจนทำงานไม่ได้ หรือมีภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดคิดอื่นๆ อย่างไรก็ตาม บางครั้งคนหนุ่มสาวอาจมีความมั่นใจมากเกินไปและไม่สนใจความเสี่ยงเรื่องนี้ ทั้งนี้ เงินออมฉุกเฉินจะเก็บในจำนวนเท่าใดก็ได้ หากเริ่มเก็บแล้วก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่โดยทั่วไปแล้ว คนโสดจำเป็นต้องกันเงินฉุกเฉินไว้ให้เพียงพอต่อการใช้จ่ายในระยะเวลา 6 เดือนสำหรับค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน

 

ความผิดพลาดที่ 5 : เก็บสินทรัพย์ที่ผันผวนมากเกินไป เช่น Crypto, NFT ที่มีความผันผวนสูง

หากคุณยังมองข้ามการลงทุนที่มีความผันผวนสูงเหล่านี้ ก็อาจทำให้เสี่ยงต่อสุขภาพทางการเงินได้ เพราะการลงทุนกับสิ่งเหล่านี้มีความเสี่ยงสูงและอันตรายมาก พวกมันสามารถริบเงินลงทุนทั้งหมดของคุณไปได้ในชั่วพริบตา ดังนั้น ควรหันมาลงทุนให้เหมาะสม เลือกลงทุนความเสี่ยงต่ำหรือปานกลาง (ระดับความเสี่ยงในการลงทุนให้คำนวณตามอายุและรายได้ของผู้ลงทุน) จะดีกว่าการไล่ตามผลตอบแทนสูงแบบสุดโต่ง 

-------------------------------------

อ้างอิง : CNN BusinessThaigov