ดราม่า สาวขอลางานแม่เสียชีวิต หัวหน้าบอกให้มาเขียนใบลาออก รู้แล้วที่ไหน
สรุปประเด็นดราม่า บทสนทนาในแอปฯไลน์แจ้งลางานเนื่องจากคุณแม่ของเธอนั้นป่วยหนัก และเสียชีวิตในเวลาต่อมา ทว่าหัวหน้างานกลับไม่ให้ลา ล่าสุด กระทรวงแรงงาน ได้มีการสั่งให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง
กลายเป็นประเด็นดราม่าในโลกออนไลน์ จากกรณีที่มีหญิงสาวที่ได้โพสต์เฟซบุ๊กบทสนทนาในแอปฯไลน์แจ้ง"ลางาน"เนื่องจาก คุณแม่ของเธอนั้นป่วยหนัก และเสียชีวิตในเวลาต่อมา ทว่า"หัวหน้างาน"กลับไม่ให้ลา และให้มาทำงานก่อน จนกระทั่งแม่ของหญิงสาวท่านนี้เสียชีวิต แต่หัวหน้างานนั้นกลับบอกว่า เมื่อเสร็จธุระแล้วให้มายื่นใบลาออก เรื่องนี้กลายเป็นดราม่าล่าสุดนั้น กระทรวงแรงงาน ได้มีการสั่งให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว
บทสนทนาระหว่างหญิงสาวท่านนี้ชื่อคุณพลอย ได้ไลน์หาหัวหน้าชื่อกบ โดยขอลางานเนื่องจากแม่ป่วยหนัก ซึ่งหัวหน้างานตอบกลับว่า "ไม่ได้ค่ะ"
จากนั้น พลอย ได้ส่งรูปคุณแม่ที่นอนป่วยอยู่ และพยายามอธิบายว่าคุณแม่ป่วยหนัก และได้แจ้งต่อมาว่า แม่ ได้เสียชีวิตแล้ว แต่ กบ ซึ่งเป็นหัวหน้าได้ตอบกลับมาว่า ถึงยังไงก็ต้องกลับมาทำงานก่อน
พอแจ้งว่าแม่เสียชีวิต กบ ยังได้บอก พลอยว่า เสร็จธุระแล้วก็ให้มาเขียนใบลาออก เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นสุดร้อนแรงในโลกโซเชียล มีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นกันอย่างดุเดือด และอยากจะทราบข้อมูลของหัวหน้าคนนี้ทันที และอยากรู้ว่าเป็นบริษัทอะไร อยู่ที่ไหน
โดย พลอย ผู้โพสต์ได้โพสต์ภาพบทสนทนาดังกล่าวพร้อมเขียนแคปชั่นในเชิงตัดพ้อว่า "แล้วฉันผิดอะไร เรื่องแบบนี้ พี่ควรเห็นใจ หรือเข้าใจหรือเปล่า เกินไปไหม" ท่ามกลางชาวเน็ตที่เข้ามาให้กำลังใจเธออย่างล้นหลาม และเป็นกำลังใจให้เธอเข้มแข็ง หลังเพิ่งสูญเสียแม่ และต้องมาเจอกับหัวหน้างานแบบนี้
อย่างไรก็ตาม ดราม่าดังกล่าว ผู้โพสต์คุณพลอย ยืนยันว่า ไม่สะดวกให้สัมภาษณ์ใดๆ และขอความเป็นส่วนตัวกับครอบครัวเธอด้วย
ล่าสุดเรื่องนี้ กระทรวงแรงงาน ได้มีคำสั่งให้ทาง กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เผยว่า ได้สั่งการให้ กสร. ตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ พร้อมให้ความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย
เบื้องต้น พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 34 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ได้กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นได้ปีละไม่น้อยกว่า 3 วันทำงาน และให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในวันลากิจเพื่อกิจธุระอันจำเป็น เท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ปีหนึ่งต้องไม่เกิน 3 วันทำงาน เนื่องจากการลากิจธุระอันจำเป็น เป็นสิทธิพื้นฐานที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดสิทธิให้ลูกจ้างทุกประเภทมีสิทธิลากิจได้
แม้จะเป็นลูกจ้างทดลองงาน ลูกจ้างรายวัน และลูกจ้างประเภทอื่น ย่อมได้รับความคุ้มครองตามมาตรฐานขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดไว้อย่างเท่าเทียมกัน อย่างไรก็ตาม ผมได้กำชับให้พนักงานตรวจแรงงานเร่งสอบข้อเท็จจริงจากนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ที่เกี่ยวข้อง และดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป โดยกระทรวงแรงงานจะให้ความเป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่ายอย่างแน่นอน
ขณะที่ นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้สั่งการให้พนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครราชสีมา (สสค.นครราชสีมา) ซึ่งเป็นท้องที่ที่เกิดเหตุ เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงจากผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และดำเนินการตามอำนาจหน้าที่อย่างเคร่งครัดเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่าย
หากลูกจ้างไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการทำงาน สามารถปรึกษา ร้องทุกข์ ร้องเรียน ได้ที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด หรือสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานคร 10 พื้นที่ หรือโทรสายด่วน 1506 กด 3 หรือ 1546