ว่างไปก็ไม่ดี! "วัยทำงาน" ที่มี "เวลาว่าง" เกิน 5 ชม./วัน ทำให้ความสุขลดลง
แม้วันลาพักร้อนจะสำคัญ แต่ถ้ามี "เวลาว่าง" ที่มากเกินไปก็มักจะเชื่อมโยงถึง "ความน่าเบื่อ" และอาการเนือยนิ่ง ยิ่งไปกว่านั้น หาก "วัยทำงาน" มีเวลาว่างมากเกิน 5 ชั่วโมงต่อวัน อาจทำให้ความสุขในชีวิตลดลงได้ด้วย
Key Points:
- ไม่ใช่แค่การเร่งงานให้เสร็จทันเวลา การตื่นเช้าเพื่อฝ่ารถติดไปเข้าออฟฟิศ หรือภาวะความกดดันจากงานประจำเท่านั้น ที่ส่งผลให้ “มนุษย์ออฟฟิศ” เกิด “ความเครียด” แต่รู้หรือไม่? “เวลาว่าง” ที่มากเกินไปก็ส่งผลเสียและความรู้สึกในแง่ลบให้จิตใจได้เช่นกัน
- นักวิจัยพบว่า การมีเวลาว่างมากกว่า 5 ชั่วโมงต่อวัน ส่งผลให้ความสุขลดลง โดยจะทำให้เกิดภาวะว่างจนเบื่อและพฤติกรรมเนือยนิ่ง
- เวลาว่างที่มากเกินพอดี ไม่ใช่สัญลักษณ์แห่งความสุขเสมอ เพราะบางคนอาจมีความสุขที่ได้ทำงานให้เสร็จตามเป้าหมาย หรือการทำตามแผนที่วางไว้ได้สำเร็จมากกว่า
ลองจินตนาการดูว่า ถ้า "มนุษย์ออฟฟิศ" อย่างเราๆ ได้มีโอกาส "ลาพักร้อน" ไปพักผ่อนหย่อนใจสักหนึ่งสัปดาห์ และเป็นการเครียดหลังจากทำงานหนักมาหลายเดือน สิ่งเหล่านี้ดูจะมีความสุขมากพอที่จะทำให้หัวใจเราพองโตและมีความสุขในวันหยุดครั้งนี้มากๆ
แต่เมื่อเวลาผ่านไปเพียง 2-3 วัน ทันใดนั้น ความรู้สึกแย่กลับกระโดดเข้ามาในหัว จนเกิดเป็น “ความน่าเบื่อ” เสียอย่างงั้น แล้วต้องมีเวลาว่างมากแค่ไหนถึงจะมีความสุขได้อย่างเต็มที่
- ว่างจนเบื่อ! อาจดูแปลกแต่เกิดขึ้นได้กับทุกคน
อาจฟังดูเป็นเรื่องน่าแปลกใจเมื่อความรู้สึกเบื่อเข้ามาแทนที่ความสุขและความสนุกสนาน แต่จริงๆ แล้ว ความรู้สึกแบบนี้ สามารถเกิดขึ้นได้กับ "วัยทำงาน" ทุกคน
หลายคนอาจพบว่า ในชีวิตการทำงานของคนเรานั้น มักจะหมกมุ่นอยู่กับการเร่งทำงานให้เสร็จทันเวลา, การตื่นเช้าเพื่อฝ่ารถติดไปออฟฟิศ หรือภาวะความกดดันจากงานประจำวัน ฯลฯ ภาวะเหล่านี้ย่อมส่งผลกระทบเชิงลบความรู้สึกของคนทำงาน และยังเป็นที่มาของ “ความเครียด” ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ชาวออฟฟิศจะโหยหา “วันหยุด” และ “วันลาพักร้อน”
แต่ขณะเดียวกัน หากหยุดนานๆ หลายวันเกินไป กลับทำให้บางคนเริ่มมีความเบื่อหน่าย เนือยนิ่ง เพราะมีเวลาที่ว่างมากจนเกินไป และอาจส่งผลเสียต่อความรู้สึกและอารมณ์ของเราได้ บางกรณีก็นำมาซึ่งความเครียดและหดหู่ไม่ต่างจากการเครียดเพราะการทำงาน
- ความน่าเบื่อ vs ความเครียด จัดการยังไงให้สมดุล?
ในเมื่อเวลาที่ว่างมากเกินไปก็ไม่ดี เครียดกับงานประจำมากๆ ก็ไม่ได้ แล้วแบบนี้มนุษย์งานควรจัดการบาลานซ์สองสิ่งนี้อย่างไร และเวลาว่างที่เหมาะสมที่สุดคือเท่าไร ? เรื่องนี้มีข้อมูลจากงานวิจัยจากวารสาร Journal of Personality and Social Psychology โดยทีมนักวิจัยอย่าง Marissa Sharif ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการตลาดแห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ที่ทำการศึกษาร่วมกับ Cassie Mogilner และ Hal E. Hershfield (เมื่อปี 2021) ได้พยายามหาคำตอบให้กับเรื่องนี้ ดังนี้
1. มีเวลาว่างน้อยกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน ทำให้เกิดความเครียด
ระยะเวลาเพียงเท่านี้ ไม่เพียงพอที่จะทำให้คนเรามีความสุขได้ นั่นหมายความว่า หน้าที่และความรับผิดชอบของเรามีมากกว่านั้น ไหนจะยุ่งกับงานประจำที่ออฟฟิศ, ทำธุระส่วนตัว, ดูแลลูกๆ หรือดูแลพ่อแม่ผู้สูงอายุ ฯลฯ ภาระเหล่านี้ล้วนต้องการเวลาที่มากขึ้นทั้งสิ้น เมื่อจัดการสิ่งต่างๆ ได้ไม่ทันเวลา ก็ส่งผลให้เกิดความเครียดตามมาได้
2. มีเวลาว่างเกิน 5 ชั่วโมงต่อวัน ทำให้ความสุขลดลง
เวลาว่างที่มากเกินพอดี ไม่ใช่สัญลักษณ์แห่งความสุขเสมอไป เพราะบางคนอาจมีความสุขที่ได้ทำงานให้เสร็จตามเป้าหมาย หรือการทำตามแผนที่วางไว้ได้สำเร็จมากกว่า โดยความรู้สึกสำเร็จเหล่านี้จะหายไปทันที หากใช้เวลาว่างทั้งวันเพื่อการนอนอยู่บ้านเฉยๆ และตามมาด้วยความเบื่อ
ถึงแม้ว่าคนเราจะมีอิสระในวันหยุดที่ทำให้สามารถพักผ่อนได้ทั้งวันก็ตาม แต่การใช้เวลาว่างสำหรับการพักผ่อนเอื่อยเฉื่อยที่มากเกินไป ก็สามารถบั่นทอนความสุขได้ไม่แพ้ความเครียดเลย
3. ใช้เวลาว่างอย่างมีนัยสำคัญ จะทำให้มีความสุขมากกว่า
มีสองแง่มุมที่น่าสนใจเมื่อพูดถึงการใช้ "เวลาว่าง" ของคนเรา ข้อแรกคือ เมื่อเราใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ (ไม่ใช่นอนเฉยๆ นิ่งๆ) เช่น การเล่นกีฬาเป็นทีมอย่างน้อย 5 ชั่วโมงขึ้นไปต่อวัน สามารถเพิ่มปริมาณความสุขได้ ข้อที่สองคือ เวลาว่างที่เราใช้ไปกับการพบปะผู้คน อาจเกิดผลลัพธ์ในเชิงบวกได้เป็นอย่างดี
นั่นหมายความว่าการมีเวลาว่างเกิน 5-6 ชั่วโมงต่อวันนั้น ไม่ใช่ว่าไม่ดีเสมอไป แต่มันขึ้นอยู่กับว่าคุณใช้เวลาว่างนั้นไปทำกิจกรรมอะไร และจากข้อมูลของงานวิจัยดังกล่าว ยังแสดงให้เห็นว่า “เวลาว่างที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการมีความสุขได้ นั่นคือ ระยะเวลาตั้งแต่ 2-5 ชั่วโมงต่อวัน”
- บางคนอยากมีเวลาว่าง แต่ก็มักรู้สึกผิด (Busy Culture)
นอกจากความรู้สึกเบื่อหน่ายที่เกิดขึ้นแล้ว หลายครั้งอาจมีความรู้สึกผิดเกิดขึ้นร่วมด้วย ยกตัวอย่างเช่น เวลาที่เราเคลียร์งานจนเสร็จหมดแล้ว และต้องการพักสมองสักพักหนึ่ง แต่กลับมี "ความรู้สึกผิด" หรือ "ความกลัว" เกิดขึ้นอย่างไม่ทันตั้งตัว เช่น ระแวงกับสายตาของเพื่อนร่วมงานที่อาจคิดว่าเราอู้งาน เลยต้องพยายามทำตัวให้ยุ่งเข้าไว้ เป็นต้น
ความรู้สึกแบบนี้เราเรียกว่า “Busy Culture” คือการทำงานหนักอย่างมุมานะอยู่ตลอดเวลา ซึ่งหากปล่อยให้เกิดขึ้นเป็นประจำ จะส่งผลเสียต่อทั้งร่างกาย จิตใจ และอารมณ์
- การบริหารเวลา ช่วยปรับสมดุลเวลางานและเวลาว่าง ได้อย่างเหมาะสม
สิ่งที่จะช่วยเราได้มากที่สุด อาจเป็นเรื่องของการบริหารจัดการเวลาว่างอย่างเหมาะสม ซึ่งมีคำแนะนำที่น่าสนใจ ดังนี้
1. ลำดับความสำคัญให้ถูกจุด : การจดบันทึกสิ่งที่ต้องทำในแต่ละวัน สามารถช่วยให้เราทำงานได้เสร็จตามเป้าหมาย อาจเป็นการเขียนลงในสมุดบันทึก หรือพิมพ์ไว้ในโทรศัพท์ อะไรก็ตามที่อยู่ใกล้ตัวเรามากที่สุด
2. กำหนดขอบเขตของเวลา : การกำหนดเวลาอย่างชัดเจน สำหรับการทำงานเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าไม่ทำแบบนี้ งานของเราอาจล่าช้าออกไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายแล้วก็ทำไม่สำเร็จ
3. รับงานตามความเหมาะสม : ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการทำงานที่ยากเกินความสามารถ หรือไม่มีเวลามากพอในการทำงานนั้นๆ สิ่งเหล่านี้มีผลกระทบต่อ "เวลาว่าง" ในแต่ละวันของเราโดยตรง
4. รู้ลิมิตของตัวเอง : ถึงแม้ว่าการกำหนดตารางเวลาจะมีประโยชน์มากก็จริงอยู่ แต่สิ่งที่สำคัญคือเราต้องคำนึงถึงความเป็นจริงด้วย สามารรถยืดหยุ่นตารางได้ตามเหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดความตึงเครียดที่มากเกินไป
5. ต้องแบ่งเวลามาดูแลสุขภาพ : การแบ่งเวลาเพื่อการผ่อนคลายความเครียด เช่น การทำงานอดิเรก ออกกำลังกาย ออกไปรับประทานอาหารร้านโปรด หรือการนอนฟังเพลง ในช่วงระยะเวลาที่พอเหมาะ 2-5 ชั่วโมงต่อวัน จะช่วยให้เรามีสุขภาพที่ดีจากภายในสู่ภายนอกได้
สุดท้ายแล้วข้อแนะนำต่างๆ ข้างต้นจะได้ผลมากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลด้วย เพราะไม่มีแบบแผนที่ตายตัว สามารถนำไปปรับใช้อย่างเหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน โดยต้องอยู่บนพื้นฐานของความพอดี และหากมีความเครียด ความเบื่อ ความกลัว ที่มากเกินไปจนกระทบต่อชีวิตประจำวัน ควรรีบปรึกษาแพทย์หรือนักจิตวิทยา เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป
-------------------------------------------
อ้างอิง : PsychologyToday1, PsychologyToday2, Pobpad, Apa.org