วัยทำงานยุคใหม่ เลือกทำงานบริษัทที่ให้เงินเดือนสูง ไม่ดังก็ไม่เป็นไร
ระหว่าง "บริษัทชื่อดัง" กับ "บริษัทไม่ดังแต่เงินเดือนสูงกว่า" ผลสำรวจชี้ แรงงานยุคใหม่เลือกอย่างหลังมากขึ้น เพราะพวกเขาต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยสูง
ไม่กี่วันก่อน The Wall Street Journal รายงานถึงผลสำรวจของ Gallup และ Pew Research Center ที่ระบุไว้ว่า เป็นเรื่องปกติที่แรงงานในสหรัฐจะเลือกทำงานกับบริษัทที่ให้ค่าตอบแทนดีในระดับหนึ่ง โดยส่วนใหญ่พยายามเข้าทำงานกับบริษัทชื่อดังให้ได้แม้จะได้เงินเดือนน้อยลงกว่าที่เรียกไป แต่มาถึงยุคนี้ (โดยเฉพาะช่วงหลังวิกฤติโควิด-19) กลับพบว่า บริษัทที่ไม่มีชื่อเสียงโด่งดังแต่จ่ายเงินเดือนสูง กลับได้รับความนิยมจากวัยทำงานมากกว่าแต่ก่อน
ปัจจุบันนี้มนุษย์งานหลากหลายอาชีพไม่ได้นิยามความสำเร็จของตนเอง จากการได้ทำงานกับบริษัทชื่อดังอีกต่อไป พวกเขาไม่รังเกียจที่จะทำงานในบริษัทที่ไม่มีชื่อ หากนายจ้างเหล่านั้นยินดีที่จะจ่ายเงินเดือนให้มากกว่าบริษัทชื่อดัง เพื่อที่พวกเขาจะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น อดีตวิศวกรคนหนึ่งของ Google เล่าว่า เขาได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นเมื่อเขาตัดสินใจลาออกจาก Google แล้วย้ายไปทำงานกับบริษัทสตาร์ตอัปแห่งหนึ่งที่ได้รับการสนับสนุนจากกิจการร่วมค้า แม้ไม่ค่อยมีชื่อเสียงมากนัก โดยการทำงานที่นี่เขาได้รับรายได้เพิ่มขึ้นทุกชั่วโมง
- ค่าครองชีพสูง-เป็นหนี้คือ ปัจจัยหนุนให้คนเลือกงานเงินเดือนสูงไว้ก่อน
สาเหตุที่ทำให้เกิดฉากทัศน์รูปแบบนี้ก็เนื่องมาจาก แรงงานในยุคนี้ต้องเผชิญกับปัญหาอัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ค่าที่อยู่อาศัยที่แพงขึ้น รวมไปถึงการติดหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ทำให้ชาวออฟฟิศจำนวนมากหันไปทำงานในบริษัทที่ให้เงินเดือนมากกว่า แม้ว่าจะไม่ค่อยมีชื่อเสียงก็ตาม ซึ่งเมื่อปรากฏการณ์นี้ขยายวงกว้างมากขึ้น ก็ทำให้หลายๆ องค์กร กำลังเข้าสู่วิกฤติขาดแคลนบุคลากรฝีมือดี
Elisa Villanueva Beard ประธานเจ้าหน้าที่บริหารแห่ง Teach for America (องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ดำเนินงานด้านการศึกษา) บอกว่า องค์กรมีเป้าหมายที่จะเพิ่มจำนวนครูให้ได้ระหว่าง 3,000 - 4,000 คน แต่เป้าหมายนั้นอาจไม่สำเร็จ เนื่องจากบุคลากรในสายวิชาชีพนี้ หันไปทำงานกับบริษัทเทคโนโลยีและบริษัทด้านที่ปรึกษา ซึ่งพวกเขาสามารถสร้างรายได้มากกว่านี้สองเท่า
- วัยทำงานที่อยากทำงานในบริษัทชื่อดัง ลดจำนวนลง 30%
Davis Nguyen โค้ชผู้ให้บริการหางานสำหรับอาชีพ “ที่ปรึกษาด้านการจัดการ” ให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่า ในอดีตผู้สมัครจำนวนมากยอมได้เงินเดือนที่ต่ำกว่า หากเขาเสนอตำแหน่งงานของ 1 ใน 3 บริษัทที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกให้แก่ผู้สมัครเหล่านั้น ได้แก่ McKinsey & Co., Boston Consulting Group และ Bain & Co.
Davis ประเมินว่า สัดส่วนของวัยทำงานที่อยากทำงานในบริษัท Big3 ดังกล่าว (ยอมได้เงินเดือนน้อยแลกกับงานในบริษัทชื่อดัง) ลดลงเหลือประมาณ 30% ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
ตอนนี้ผู้สมัครงานส่วนใหญ่อยากจะร่วมงานกับบริษัทด้านการให้คำปรึกษาที่ไม่ค่อยมีชื่อเสียงโด่งดัง หรือทำงานในสาขาวิชาชีพอื่นที่ให้เงินเดือนมากกว่าถึง 25,000-35,000 ดอลลาร์ นั่นทำให้บริษัทชื่อดังเหล่านั้นสูญเสียบุคลากรที่มีความสามารถที่ยอดเยี่ยม เพราะพวกเขาไม่สามารถเสนอเงินเดือนที่มากกว่านี้ให้แก่ลูกจ้างได้
- เงินเดือนสูง-มีความยืดหยุ่นในงาน ทำให้บริษัทเล็กชิงตัวคนเก่งมาจากบริษัทชื่อดังได้
ในทำนองเดียวกัน Avani Desai อดีตผู้อำนวยการแห่ง KPMG บริษัทผู้สอบบัญชีระดับ Big4 ของโลก เลือกที่จะลาออกจากที่นั่นในปี 2012 ที่ผ่านมาบทบาทของเธอในบริษัท KPMG ถือเป็นเครื่องหมายแห่งความสำเร็จ และเธอเชื่อว่าเธอมาถึงจุดสูงสุดในสายงานวิชาชีพนี้แล้ว แต่วันหนึ่งเธอกลับมองเห็นเพดานที่สูงขึ้น กับการทำงานในบริษัท Schellman ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองแทมปา รัฐฟลอริดา ซึ่งเป็นบริษัทสายงานวิชาชีพบัญชีขนาดเล็กกว่ามาก ซึ่งขณะนั้นบริษัทดำเนินงานมาได้เพียง 10 ปี
โดยสาเหตุที่เธอยอมทิ้งงานตำแหน่งสูงใน KPMG แล้วเลือกไปทำงานกับบริษัทที่ไม่ค่อยมีชื่อเสียงนั้น นอกจากเธอจะได้เงินเดือนสูงขึ้นแล้ว เธอยังสามารถทำงานได้ยืดหยุ่นมากขึ้นคือ สามารถทำงานที่บ้านได้ แถมยังได้งานในตำแหน่งระดับสูงอย่าง รองประธานบริหารและสามารถก้าวขึ้นเป็น CEO ได้ในเวลาต่อมา แต่นั่นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้เธอได้งานนี้ เป็นเพราะเธอมีประสบการณ์การทำงานกับบริษัทชื่อดังมาก่อน
อย่างไรก็ตาม วัยทำงานคงต้องชั่งน้ำหนักให้ดีก่อนตัดสินใจว่า จะเลือกงานในบริษัทที่ไม่ดังแต่ได้เงินดีหรือบริษัทชื่อดังแต่เงินเดือนน้อยกว่าเพื่อเป็นการลงทุนต่อยอดความก้าวหน้าในอนาคต ซึ่งทั้งสองทางนั้นไม่มีผิดไม่มีถูก อยู่ที่ว่าแบบไหนจะเหมาะสมกับสถานการณ์ในชีวิตของแต่ละคนเท่านั้นเอง
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์