เปิดวิสัยทัศน์  ‘ผู้สมัครเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม’ ปฎิรูปอะไร?

เปิดวิสัยทัศน์  ‘ผู้สมัครเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม’ ปฎิรูปอะไร?

24 ธันวาคม 2566 เป็นกำหนดวันเลือกตั้ง 'คณะกรรมการประกันสังคม' ทั้งฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายผู้ประกันตน (ลูกจ้าง)ซึ่งจะเป็นการเลือกตั้งตัวแทนเข้าไปตัดสินใจด้านนโยบายการประกันสังคมครั้งแรกของประเทศไทย หลังมีกฎหมายมาตั้งแต่ปี 2558

Keypoint:

  • การเลือกตั้ง 'คณะกรรมการประกันสังคม' เป็นการเลือกตั้งที่มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากเป็นอันดับสองของประเทศรองจากการเลือกตั้งส.ส. โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้ง คือ สมาชิกในระบบประกันสังคมกว่า 24 ล้านคน ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง
  • ฝากบอร์ดประกันสังคม ตัวแทนผู้ประกันทุน ปรับกองทุนใหม่ เน้นเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขทั้งในและนอกระบบ เป็นมาตรฐานเดียวกัน และช่วยเหลือทุกคน
  • อยากเห็นกองทุนประกันสังคม เป็นองค์กรอิสระ ไม่อยากให้มีนักการเมืองหรือข้าราชการเข้าไปมีอำนาจมากกว่าสัดส่วนของผู้ประกันตน

แม้ใกล้จะถึงเวลาเลือกตั้ง แต่ก็ยังมีความท้าทายอยู่มาก เพราะผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่าตัวเองมีสิทธิ และยังไม่เข้าใจระบบและวิธีการออกเสียงเลือกตั้ง

 วันนี้ (12 ธันวาคม 2566) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้มีการจัดเวทีเรื่อง 'เลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม ปฎิรูปอะไร? อย่างไร?' โดยมีผู้สมัครรับเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม(บอร์ดประกันสังคม)ในส่วนของผู้ประกันตน ทั้งตัวแทนทีมต่างๆและผู้สมัครอิสระเข้าร่วม

ผศ.วีรบูรณ์ วิสาทรสกุล คณบดีวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ป๋วย อึ้งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเปิดเวทีว่าประเทศไทย มีพ.ร.บ.ประกันสังคมมาตั้งแต่ปี 2533 และปรับปรุงปี 2558 ซึ่ง 8 ปี ที่ผ่านมาอยู่ภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ต่อมา มีบอร์ดที่มีวาระ 2 ปี ซึ่ง 2 ปีข้างหน้าผู้ลงเลือกตั้งน่าจะมากกว่า 8 แสนคน ส่วนวันที่ 24 ธันวาคม ไม่ว่าทีมใดได้รับผ่านการเลือกตั้งเข้าไป อยากให้ผู้ได้รับการคัดเลือกทั้ง 7 คน ทำงานเพื่อเป็นผู้แทนของผู้ประกันตนอย่างแท้จริง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

เทียบกันชัดๆ สิทธิประกันสังคม vs สิทธิบัตรทอง 30 บาท ต่างกันอย่างไร ?

ถาม-ตอบ ก่อนเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม 2566 ที่ผู้ประกันตน นายจ้างต้องรู้

 

ฝากผู้ผ่านคัดเลือกเป็นตัวแทนผู้ประกันตนอย่างแท้จริง

รศ.ดร.นภาพร อติวานิชพงษ์ นักวิชาการวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ผู้ประกันตนควรจะออกมาเลือกตั้ง และมองว่ากองทุนประกันสังคมเกี่ยวข้องโดยตรง เพราะผู้ประกันตนเป็นผู้จ่ายเงินสมทบทุกเดือน คณะกรรมการที่เลือกไป จะเป็นเสมือนผู้ที่จะไปช่วยรักษาดูแลสิทธิประโยชน์ให้กับเราในกองทุนที่มีเงินกว่า 1 ล้านล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาผู้ที่เข้ามาเป็นบอร์ดประกันสังคมไม่ได้มาจากผู้ประกันตน ทำให้มีปัญหาจำนวนมาก  

ทั้งนี้ กฎหมายประกันสังคมเกิดจากการต่อสู้ของภาคประชาชนทั้งแรงงาน องค์การพัฒนเอกชน นักศึกษา นักวิชาการ โดยเฉพาะ ศ.นิคม จันทรวิทุร อดีตสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งบอร์ดประกันสังคมมีหน้าที่บริหารสำนักงานประกันสังคมและกองทุนประกันสังคม ขณะนี้มีเงินมากกว่า 2 ล้านล้านบาท โดยที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันเกิดปัญหามาตลอด เช่น ปี 2549 มีการวิจารณ์เรื่องที่บอร์ดไม่ดูแลรักษาผลประโยชน์ของแรงงานเพราะมีผลประโยชน์ทับซ้อน

หรือสหภาพแรงงานนำเงินกองทุนไปรณรงค์ต่อต้านยาเสพติดซึ่งเป็นการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ จึงเกิดข้อเสนอปฎิรูปประกันสังคม เช่น เปลี่ยนสถานภาพของ สปส.ให้เป็นองค์กรมหาชนโดยจ้างคณะนักวิจัยจากธรรมศาสตร์ และมีข้อเสนอต่างๆ อาทิ  เปลี่ยนวิธีการเลือกตั้งผู้แทนนายจ้างและลูกจ้างในบอร์ด บูรณาการระบบประกันสังคมเข้ากับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอที่มีความชัดเจนมากขึ้น คือการปฎิรูประบบบำนาญ เช่น ปรับเพิ่มเพดานการจัดเก็บเงินสมทบในการคำนวณสิทธิโยชน์ การขยายอายุการเกิดสิทธิรับบำนาญจาก 55 ปีเป็น 60 ปี เพราะปัจจุบันคนที่รับบำนาญเกษียณไปแล้วถูกตัดสิทธิในการรักษาพยาบาล

 

กองทุนประกันสังคม ต้องเป็นองค์กรอิสระ 

ดร.โชคชัย สุทธาเวศ จากสถาบันปรีดี พนมยงค์ กล่าวว่าประกันสังคมเป็นกองทุนขนาดใหญ่ ต้องมีการบูรณาการทำงานร่วมกับกองทุนอื่นๆ เช่น กองทุนเงินทดแทน กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง กองทุนผู้ใช้แรงานเกี่ยวกับการกู้ยืม กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน กองทุนการออม กองทุนกู้ยืมด้านการศึกษาและกองทุนต่างๆ กองทุนทั้งหมดส่งเสริมคุณภาพชีวิตทุกหมู่เหล่า สิ่งที่อยากชวนคิด คือ ยังไม่มีเงินเพียงพอดูแลคุณภาพชีวิตทุกคนได้ เป็นไปได้หรือไม่ที่จะเอาเงิน 1-10% เป็นกองทุนแบบบูรณาการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ถ้าทำเช่นนี้รัฐบาลปัจจุบัน อาจไม่ต้องไปกู้เงินมาแจกประชาชน

ขณะที่ นางสุจิน รุ่งสว่าง ผู้แทนผู้ประกันตนตามมาตรา 40 กล่าวว่า ปัจจุบันประกันสังคมมีความแบ่งแยก ทั้งที่แนวคิดคือการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขทั้งในและนอกระบบ โดยผู้ประกันตนมาตรา 40 ยังแบ่งคนออกเป็น 3 ช่องทางคือคนจน คนปานกลางและคนรวย ตามเงินสมทบที่ส่ง ทั้งๆที่ควรเป็นมาตรฐานเดียวกันและมีเพียงช่องทางเดียว อย่างไรก็ตามประเทศไทยเป็นประเทศแรกให้ผู้ประกันตนมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งบอร์ด

“แรงงานนอกระบบอย่างป้า เราไม่มีนายจ้าง ควรมีการปรับกฎหมายหรือไม่ เพราะคนที่มีรายได้น้อยบางส่วน ไม่สามารถส่งเงินสมทบต่อได้ อยากให้มีกฎหมายร่มใหญ่คุ้มครองแรงงานนอกระบบ แต่พอออกมาจริงๆคุ้มครองแค่เพียงไรเดอร์ อยากเห็นกองทุนประกันสังคมเป็นองค์กรอิสระ ไม่อยากให้มีนักการเมืองหรือข้าราชการเข้าไปมีอำนาจมากกว่าสัดสวนของผู้ประกันตน ถ้าเรายังเป็นเช่นนี้แรงงานนอกระบบจะไม่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมเลือกตั้งได้เพราะเราอยู่พื้นที่ห่างไกล แต่หน่วยเลือกตั้งอยู่ในเมือง การจะเดินทางไปเลือกตั้งต้องใช้ค่ารถซึ่งเราไม่มี อยากให้ปรับให้สอดคล้อง”นางสุจิน กล่าว

ประกันสังคมต้องครอบคลุมคนทำงานถ้วนหน้า

น.ส.วิภา มัจฉาชาติ ผู้แทนผู้ประกันตนตามมาตรา 39 กล่าวว่า อยากให้แก้ระเบียบที่ไม่สอดคล้องกับผู้ประกันตนโดยผู้ประกันตนมาตรา 40 ไม่ค่อยมีโอกาสได้สมัครรับเลือกตั้ง เพราะมีเงื่อนไขว่าต้องส่งเงินสมทบติดต่อกัน 36 เดือน แต่เราเป็นแรงงานอิสระที่ต้องเข้า-ออกจากงานบ่อย บางครั้งต้องส่งค่อมเดือนทำให้ถูกตัดสิทธิ ที่สำคัญคือการที่ให้ผู้ประกันตนไปลงทะเบียนซึ่งมีคนจำนวนมากที่ไม่รู้ ทำให้มีผู้ประกันตนน้อยมากที่มาลงทะเบียน

น.ส.สุธิลา ลืนคำ ผู้แทนผู้ประกันตนตามมาตรา 33 กล่าวว่าประกันสังคมต้องครอบคลุมคนทำงานถ้วนหน้า โดยมาตรา 33 มีสิทธิประโยชน์ 7 กรณี แต่หลายเรื่องกลับไม่เป็นจริง เช่น ค่าทำฟันเพราะน้อยมาก หรือกรณีมาตรา 39 ซึ่งตกงานกลับต้องส่งเงินสมทบในส่วนของนายจ้างซึ่งเป็นเรื่องตลกมากแทนที่รัฐจะยื่นมือเข้าช่วย

"ยังไม่มีรัฐบาลไหนสามารถแก้ปัญหาหนี้กองทุนประกันสังคมได้ ลูกจ้าง นายจ้างส่งเงิน 5% แต่รัฐจ่ายเพียง 2.75 %กลับค้างจ่าย แถมรมว.แรงงานที่เข้ามาส่วนใหญ่มีความต้องการเต็มไปหมด  แทนที่รัฐจะช่วยจ่ายให้เท่ากับลูกจ้าง นายจ้าง กลับไม่จ่าย”น.ส.สุธิลา กล่าว

เปิดวิสัยทัศน์ ผู้รับสมัครบอร์ดประกันสังคม

นายชินโชติ แสงสังข์ กลุ่มสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวถึงนโยบายกลุ่มว่าจะมีการกำหนดนโยบายประกันสังคม ซึ่งคงทำแบบนักการเมืองไม่ได้  โดยจะขับเคลื่อนเรื่องของเงินบํานาญชราภาพ เราถูกกำหนดไว้ 20% 15,000 บาท ก็คือ 3,000 บาท เพราะฉะนั้นจึงเสนอว่า อย่างน้อยสุดเงินบํานาญชราภาพ 30% ทำให้สามารถยังมีชีวิตที่พออยู่ได้

รวมถึง เงินเดือน 15,000 บาท เมื่อ 30 ปีที่แล้ว เหมาะสมมาก ในวันนี้ขอเพิ่มเป็น 18,000 บาท และฐานบำนาญในบุคคลที่ใช้มาตรา 39 ต้องใช้ฐานเงินเดือนสุดท้ายก่อนหลุดมาตรา 33 ไปเป็น มาตรา 39 มาเป็นฐานในการคำนวณเงินบํานาญชราภาพ

นายชินโชติกล่าวว่า ระบบประกันสังคมคือ ‘ระบบที่เฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข’ ในตอนที่แข็งแรง ไม่ป่วย ซึ่งมนุษย์ในประเทศไทยมี 3 แบบ คือ ราชการ ประกันสังคม และประชาชน เราต้องกลับไปใช้ระบบบัตรทอง เมื่อเราอายุ 55 ปี เราไม่มีสิทธิเลือกโรงพยาบาลเลย ไม่มีสิทธิรักษาในระบบประกันสังคมเมื่อรับเงินบำนาญ ซึ่งเป็นกฎหมายเนรคุณ คนยิ่งแก่ ยิ่งต้องได้รับการดูแล เมื่ออายุมากขึ้นก็ต้องป่วย แต่กลับถูกลิดรอนสิทธิลง

นายธนัสถา คำมาวงษ์ ทีมสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า เรามีพี่น้องที่อยู่ในธุรกิจยานยนต์ประมาณ 800,000 คน อยู่ในสมาชิกสหภาพ 90,000 คน ซึ่งเราลงสมัครเพื่อรับใช้พี่น้องของเรา และเป็นตัวแทนของพวกเขา เราได้พิจารณาว่า บอร์ดประกันสังคมมีหน้าที่อะไร 

สำหรับนโยบายที่เสนอ มีดังนี้ 

1.เพิ่มเงินสงเคราะห์บุตร จาก 800 บาท เป็น 3,000 บาท จำนวน 12 ปี โดยเดิมทีเงินสงเคราะห์บุตรอยู่ที่ 600 บาท ถูกเปลี่ยนมาที่ 800 บาท จากท่านสุชาติ ชมกลิ่น โดยครั้งนี้ต้องเป็นที่ 3,000 บาท

2.เพิ่มเงินบํานาญชราภาพเป็น ไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท นั้นจาก นายจ้าง 5% ลูกจ้าง 5% รัฐบาล 2.75% เราจะผลักดันให้รัฐบาลจ่าย 5% เราจะได้แน่นอน

3.โรงพยาบาลประกันสังคม ทำให้เป็นสถาบันทางการแพทย์ เราสามารถทำได้ เนื่องจากทหาร ตำรวจ พระสงฆ์ก็ยังมีโรงพยาบาลตนเอง และเมื่อลูกหลานเรียนดีเรียนเก่ง ประกันสังคมให้เงินสบทบทุนไปเลย เพื่อกลับมาพัฒนาทีมการแพทย์

4.เงินกู้ที่อยู่อาศัยดอกเบื้ยต่ำ ถ้าเรานำเงินประกันสังคมไปฝากไว้ที่ธนาคารออมสิน และเรามาซื้อบ้านในดอกเบื้ยที่ไม่เกิน 1% จะทำให้เราผ่อนบ้านหมดเร็ว เป็นสิ่งที่ต้องประสานต่อจากท่านสุชาติ ชมกลิ่น ให้พวกเราได้รับผลประโยชน์มากที่สุด

5.ถ้าเกษียณอายุ 55 ปี เราต้องเลือกได้ ไม่ใช่บังคับให้เราเลือกบำนาญ หรือบำเหน็จ เราจะขับเคลื่อนและผลักดัน

6.ธนาคารแรงงาน เพื่อให้พี่น้องเอาเงินประกันสังคมมาลุงทุนต่างๆ และเก็บออม” นายธนัสถากล่าว

ขณะที่ นายศิริศักดิ์ บัวชุม ทีมเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) กล่าวว่า ทีมเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของพี่น้องแรงงานที่อยู่ในสหภาพแรงงานทั้งในระบบ และนอกระบบ เราขับเคลี่อนในเรื่องของประกันสังคมมาโดยตลอด ซึ่งเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน มีแนวคิดตั้งแต่ขับเคลื่อนการปฎิรูปประกันสังคม ให้เป็นประกันสังคมที่ถ้วนหน้า ที่อิสระ โปร่งใส ลดความเหลื่อมล้ำ ยืดหยุ่น และเป็นธรรม 

สำหรับนโยบาย มีดังนี้

1.เสนอให้มีการจัดตั้งธนาคารแรงงาน

2.การสนับสนุนการจัดตั้งโรงพยาบาลประกันสังคม ร่วมไปถึงสถาบันทางการแพทย์เฉพาะทาง เรื่องนี้เรามีการศึกษาแล้วทั้งจากกระทรวง ทั้งกรรมธิการ และระดับวิชาการ ความเป็นไปได้แน่นอน

3.ปรับรูปแบบการลงทุนในรูปแบบประกันสังคมเป็นเรื่องของความเสี่ยง และความมั่นคง ของกองทุน ในไม่กี่ปีข้างหน้า กองทุนเราจะหมดไปหรือไม่ เมื่อทีมเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน เข้าไปเป็นคณะกรรมการจะร่วมพิจารณาในระเบียบข้อบังคับนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน สัดส่วนในเรื่องของการลงทุน ทั้งความเสี่ยงให้พอเหมาะเพื่อความยั่งยืนของกองทุนให้มาหล่อเลี้ยงผู้ประกันตน

4.พัฒนาปรับปรุงการเข้ารับรักษาสิทธิพยาบาล ให้รวดเร็ว สะดวก และปลอดภัย

5.เพิ่มขยาย สิทธิและประโยชน์ของผู้ประกันตนทุกมาตราให้เหมาะสมกับสภาวะทางเศรษฐกิจ เราจะเข้าปเพิ่มขยายสิทธิประโยชน์ เช่น มาตรา 40 เรามีแนวนโยบายอย่างเดียว เราจะเข้าไปช่วยเหลือครอบคุ้ม 7 กรณี มาตรา 39 รับบำนาญชราภาพแล้วให้คงสิทธิไว้ 3 สิทธิ เจ็บป่วย ทุพพลภาพ และเสียชีวิต

6.เรื่องของการแก้ไขระเบียบชราภาพ ต้องใช้ฐานเงินเดือนสุดท้ายมาคำนวณ และเหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจ

“ประเด็นสำคัญสุดของพี่น้องแรงงานในระบบและนอกระบบ เรามีความเป็นเอกภาพ และสัมพันธภาพอันเดียวกัน ไม่มีสี ไม่มีพรรค ไม่มีพวก เราทำงานร่วมกันทั้งเครือข่ายภาครัฐ เครือข่ายแรงงาน เรามีการถอดบทเรียนที่ประสบความสำเร็จ

เรื่องการกำหนดนโยบาย เราจะลงถนนอย่างเดียวว่านโยบายได้หรือไม่ การถอดทบเรียนเห็นว่า เมื่อมีเวทีพูดคุย เจราจาต่อรอง ค่อยๆ เป็นกระบวนการไป เราทำสำเร็จในเรื่องของทันตกรรมในโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ ดังนั้นฝากเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน เสียงเดียวอาจจะไม่ดัง เสียงของพลังผู้ประกันตนจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงกองทุนประกันสังคม” นายศิริศักดิ์กล่าว

ด้าน ดร.ปิยรัชต์ สมาทา ผู้แทนทีมประกันสังคมเพื่อแรงงานไทย กล่าวว่า กองทุนประกันสังคมมีเม็ดเงินมหาศาล ทำอย่างไรถึงมีธนาคารหรือต่อรองกับธนาคารได้ ทำให้ดอกเบี้ยลดลงกว่าตลาดเพื่อให้ผู้ประกันตนเข้าถึงสินเชื่อต่างๆ ขณะเดียวกันคุณภาพการดูแลของโรงพยาบาลสำหรับผู้ประกันตนควรมีประสิทธิภาพเพราะเรามีอำนาจต่อรอง ส่วนเรื่องบำนาญชราภาพควรสอดรับกับสถานการณ์ ควรมีการปรับเปลี่ยนทุกระยะเพื่อสอดคล้องกับค่าครองชีพ

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี ตัวแทนทีมประกันสังคมก้าวหน้า กล่าวว่าประกันสังคมหมดเงินไปกับการดูงาน การทำปฏิทิน รวมทั้งการลงทุนที่ขาดทุนในบางตัว เงินเหล่านี้แทนที่จะใช้เพิ่มในการลาคลอด รักษาโรค วันนี้สิทธิในการรักษาพยาบาลเริ่มต่ำเตี้ยกว่า สปสช. สาเหตุเพราะประกันสังคมไม่ยึดโยงอยู่กับผลประโยชน์ผู้ประกันตน

“ประกันสังคมคือตัวอย่างสวัสดิการของคนธรรมดาที่ไม่มีอภิสิทธิ เราอยากให้ประกันสังคมเป็นหลังพิงของคนธรรมดา เราต้องการปักธงให้เป็นก้าวแรกของรัฐสวัสดิการ ประกันสังคมต้องตรวจสอบได้ ประกันสังคมต้องเป็นประชาธิปไตย”รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ กล่าว

นายกฤษฎา ด้วงหิรัญ ผู้แทนทีมแรงงานเพื่อสังคม กล่าวว่า มีนโยบาย 3 ขอคือขอคืนเงินชราภาพเพื่อเอามาใช้ก่อนเพื่อประกอบอาชีพ ขอกู้คือเอาเงินชราภาพไปค้ำประกัน และขอเลือกว่าจะรับบำเหน็จหรือบำนาญโดยทุกคนควรมีสิทธิเลือก อย่าเอากรอบกฎหมายมาครอบงำเพื่อให้ทุกคนขาดสิทธิเสรีภาพในการดูแลเงินของตัวเอง

ศ.วรเวศม์ สุวรรณระดา ผู้สมัครอิสระกล่าวว่า ถ้ามีโอกาสได้เป็นบอร์ดประกันสังคม อยากให้ความสำคัญความมั่นคงกองทุน อยากเห็นกองทุนเป็นที่พึ่งพาได้อุ่นใจไม่ใช่มีแต่คนพูดว่าอีก 10-20 ปีกองทุนประกันสังคมจะเจ๊ง เรามีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อย ปัจจุบันมีตัวเลขผู้ที่ได้รับสิทธิประโยชน์ชราภาพราว 7 แสนคน แต่เมื่อดูโครงสร้างอายุมีผู้ประกันตนอายุ 50 ปีขึ้นไป รวมกับ 40 ปีขึ้นไปเป็น 8 ล้านคน หากครึ่งหนึ่งรับบำนาญชราภาพ เงินที่ต้องจ่ายจาก 2.4 หมื่นล้านเป็นแสนล้านในคาบเวลา 15-20 ปี

ดังนั้น จำเป็นต้องวางแผนและคิดอย่างรอบคอบ แนวทางที่จะสร้างความมั่นคงคือ ต้องผลักดันศักยภาพการลงทุนให้ดีกว่าเดิม ส่วนเรื่องการคุ้มครองสิทธิอยากให้ทบทวนสิทธิชราภาพควรยึดหลักให้ติดตัวเขา เราอยากเห็นการลดความเหลื่อมล้ำเรื่องรักษาพยาบาล ทำไมเราต้องจ่ายเงินสมทบทั้งๆที่สิทธิอื่นใช้เงินงบประมาณ การลดความเหลื่อมล้ำได้จากการให้รัฐบาลจ่ายค่ารักษาพยาบาล เราอยากเห็นทำอย่างไรให้ทุกคนเห็นว่าบอร์ดพูดอะไรไว้ในที่ประชุม ควรเปิดเผยวาระการประชุมเพื่อให้เห็นว่าใครคิดและพูดอะไร

นายกิรติ โกสีย์เจริญ ผู้สมัครอิสระ กล่าวว่าต้องเปลี่ยนโครงสร้างโดยเฉพาะเรื่องระเบียบงบการเงิน ทุกบาทต้องโปร่งใส ควรเข้าไปตรวจสอบงบการเงินซึ่ง สปส.มีค่าใช้จ่ายกว่า 5.5 พันล้านบาท ได้มีการตรวจสอบหรือยังว่าสมเหตุสมผลหรือไม่ นอกจากนี้หนี้สูญต่างๆที่มีมากกว่า 300 ล้านได้มีการตรวจสอบว่าสมเหตุสมผลหรือไม่