ว่างงานทั่วโลกพุ่ง!! ILO คาดปี 2567 ความเหลื่อมล้ำสูง การผลิตซบเซา
ILO คาดปี 2567 อัตราการว่างงานทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น และจำนวนผู้ว่างงานที่สนใจหางานได้ลดลงต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดโรคระบาดใหญ่ ขณะที่ความเหลื่อมล้ำทางสังคมสูงขึ้น ร่วมกับกำลังการผลิตที่ซบเซาเป็นสาเหตุให้เกิดความกังวล
Keypoint:
- อัตราการว่างงานปี 2566 ในประเทศที่มีรายได้สูง อยู่ที่ร้อยละ 4.5 ขณะที่อัตราการว่างงานในประเทศที่มีรายได้ต่ำ อยู่ที่ร้อยละ 5.7 ไอแอลโอ (ILO) คาดปี 2567 จะมีแรงงานเพิ่มขึ้นอีก 2 ล้านคนที่จะต้องการงาน ซึ่งจะส่งผลให้อัตราการว่างงานทั่วโลกเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.1
- แม้มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการลงทุนที่เพิ่มขึ้น การเติบโตผลผลิตยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง เหตุผลประการหนึ่งคือ การลงทุนจำนวนมากมุ่งไปสู่ภาคส่วนที่มีผลิตภาพน้อยกว่า
- ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ยังกว้างขึ้น แถมยังมีสัญญาณที่ไม่ค่อยสู้ดีเกี่ยวกับอุปสงค์โดยรวมและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน
รายงานการจ้างงานและแนวโน้มสังคมโลก ปี 2567 ของ ไอแอลโอ (ILO)(World Employment and Social Outlook Trends: 2024 - WESO Trends) พบว่าทั้งอัตราการว่างงานและจำนวนผู้ว่างงานที่สนใจหางาน ได้ลดลงต่ำกว่าช่วงก่อนการเกิดโรคระบาดใหญ่ อัตราการว่างงานทั่วโลกในปี 2566 อยู่ที่ร้อยละ 5.1 ดีขึ้นเล็กน้อยจากปี 2565ที่อยู่ที่ร้อยละ 5.3 จำนวนผู้ว่างงานที่สนใจหางานทั่วโลกและอัตราการมีส่วนร่วมของกำลังแรงงานก็ดีขึ้นในปี 2566 เช่นกัน
ทั้งนี้ รายงานพบว่าภายใต้ตัวเลขเหล่านี้ ความเปราะบางกำลังเริ่มปรากฏให้เห็น โดยคาดการณ์ว่าทั้งแนวโน้มตลาดแรงงานและการว่างงานทั่วโลกจะแย่ลง คาดว่าในปี 2567 จะมีแรงงานเพิ่มขึ้นอีก 2 ล้านคนที่จะต้องการงาน ซึ่งจะส่งผลให้อัตราการว่างงานทั่วโลกเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.1 ในปี 2566 เป็นร้อยละ 5.2 รายได้สุทธิในประเทศกลุ่มจี 20 ส่วนใหญ่จะลดลง และคาดว่ามาตรฐานการครองชีพที่แย่ลงอันเป็นผลมาจากเงินเฟ้อนั้น โดยทั่วไป 'ไม่น่าจะแก้ไขได้เร็ว'
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ขาลง ‘ไอที’ อินเดีย!? เด็กจบใหม่สาย IT เสี่ยง ‘ตกงานหลายแสน’
อินไซต์คนไทย ‘รายรับไม่พอรายจ่าย’ กังวลค่าครองชีพ กลัวตกงาน เศรษฐกิจไม่ดี
คาดปี 2567 คิดเป็นร้อยละ 58 ของกำลังแรงงานทั่วโลก
นอกจากนี้ ความแตกต่างที่สำคัญยังคงมีอยู่ระหว่างประเทศที่มีรายได้สูงและต่ำกว่า จำนวนผู้ว่างงานที่สนใจหางานในปี 2566 ในประเทศที่มีรายได้สูง อยู่ที่ร้อยละ 8.2 ขณะที่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้น้อย อยู่ที่ร้อยละ 20.5 ในทำนองเดียวกัน อัตราการว่างงานปี 2566 ในประเทศที่มีรายได้สูง อยู่ที่ร้อยละ 4.5 ขณะที่อัตราการว่างงานในประเทศที่มีรายได้ต่ำ อยู่ที่ร้อยละ 5.7
ยิ่งกว่านั้น แรงงานที่ยากจนมีแนวโน้มที่จะยังคงมีอยู่ แม้จะลดลงอย่างรวดเร็วหลังปี 2563 จำนวนของแรงงานที่อยู่ในกลุ่มยากจนสุดขีด กล่าวคือ มีรายได้น้อยกว่า 2.15 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อวัน ตามคำจำกัดความของทฤษฎีความเสมอภาคของอํานาจซื้อ (purchasing power parity - PPP) ได้เพิ่มขึ้นประมาณ 1 ล้านคน ในปี 2565 จำนวนของแรงงานที่อยู่ในกลุ่มยากจนปานกลาง กล่าวคือ มีรายได้น้อยกว่า 3.65 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อวัน ตามคำจำกัดความของทฤษฎีความเสมอภาคของอํานาจซื้อ (PPP) เพิ่มขึ้น 8.4 ล้านคนในปี 2565
"ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ยังกว้างขึ้นอีกด้วย นอกจากการลดลงของรายได้สุทธิแล้วรายงานฉบับนี้เตือนว่า ยังมีสัญญาณที่ไม่ค่อยสู้ดีเกี่ยวกับอุปสงค์โดยรวมและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน อัตราการทำงานนอกระบบคาดว่าจะคงที่ในปี 2567 โดยคิดเป็นประมาณร้อยละ 58ของกำลังแรงงานทั่วโลก ”
ความไม่สมดุลของตลาดแรงงาน
อัตราการมีส่วนร่วมของกำลังแรงงานในแต่ละกลุ่มมีความแตกต่างกัน การมีส่วนร่วมของกำลังแรงงานหญิงมีการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วแต่ช่องว่างทางเพศยังคงมีอยู่ชัดเจน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเทศเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา อัตราการว่างงานของเยาวชนยังคง เป็นปัญหาท้าทาย อัตราของเยาวชนที่ไม่อยู่ในการจ้างงาน การศึกษาหรือการฝึกอบรม (Not in Employment, Education or Training - NEETs) ยังคงมีอยู่ในระดับที่สูง โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนผู้หญิงซึ่งส่งผลต่อโอกาสการจ้างงานในระยะยาว
รายงานยังพบว่า ผู้ที่กลับเข้าสู่ตลาดแรงงานหลังการระบาดใหญมักไม่ทำงานเป็นจำนวนชั่วโมงเท่าเดิม ในขณะที่จำนวนวันลาป่วยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
การเติบโตของผลิตภาพชะลอตัว
หลังการเติบโตหลังการระบาดใหญ่ช่วงสั้นๆ ผลิตภาพแรงงานได้กลับมาอยู่ในระดับต่ำอย่างที่เคยเห็นในทศวรษที่ผ่านมา ที่สำคัญ รายงานยังพบว่า แม้จะมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการลงทุนที่เพิ่มขึ้น การเติบโตของผลผลิตยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง เหตุผลประการหนึ่งก็คือ การลงทุนจำนวนมากมุ่งไปสู่ภาคส่วนที่มีผลิตภาพน้อยกว่า เช่น ภาคบริการและก่อสร้าง อุปสรรคอื่นๆ ได้แก่ การขาดแคลนทักษะและการผูกขาดทางดิจิทัลขนาดใหญ่ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการปรับตัวในการนำเทคโนโลยีมาใช้ได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนาและภาคส่วนที่ขับเคลื่อนโดยผู้ประกอบการที่มีผลิตภาพต่ำ
แนวโน้มที่ไม่แน่นอน
“รายงานฉบับนี้วิเคราะห์เบื้องหลังตัวเลขตลาดแรงงาน และสิ่งที่เผยออกมาก่อให้เกิดความกังวลเป็นอย่างมาก เริ่มดูเหมือนว่าความไม่สมดุลเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการฟื้นตัวจากการระบาดใหญ่ แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง” กิลเบิร์ต เอฟ ฮวงโบ ผู้อำนวยการใหญ่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ กล่าว
ความท้าทายด้านกำลังแรงงานที่พบนั้น เป็นภัยคุกคามต่อทั้งการดำรงชีวิตและต่อธุรกิจ และจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องจัดการกับสิ่งเหล่านั้นอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว มาตรฐานการครองชีพที่แย่ลงและผลิตภาพที่ลดลง ร่วมกับภาวะเงินเฟ้อ ได้สร้างเงื่อนไขที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มมากขึ้นและบั่นทอนความพยายามต่างๆ ในการบรรลุความยุติธรรมทางสังคม และหากปราศจากความยุติธรรมทางสังคมที่ดีขึ้น เราก็จะไม่มีสามารถฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืน