"บำนาญแห่งชาติ" จากออสเตรียถึงไทย...ใครจะเป็นฮีโร่?!
กรณีสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) มีแนวคิดผลักดัน พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ.... เพื่อเป็น กองทุนการออมภาคบังคับสำหรับแรงงานในระบบ ที่อายุตั้งแต่ 15-60 ปี และไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
แรงงานในระบบที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงนั้น ครอบคลุมลูกจ้างเอกชน ลูกจ้างชั่วคราวส่วนราชการ พนักงานราชการ เจ้าหน้าที่องค์การมหาชน และพนักงานรัฐวิสาหกิจ
จะเห็นได้ว่า ระบบบำเหน็จบำนาญแห่งชาติตามความหมายของ สศค. ไม่ได้ผนวกระบบบำเหน็จบำนาญของข้าราชการเข้ามาอยู่ภายใต้กฎหมายนี้แต่อย่างใด แตกต่างจากระบบบำนาญแห่งชาติของหลายประเทศที่ได้ปฏิรูปให้ทุกกลุ่มอาชีพอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์เดียวกัน
ผู้เขียนจึงขอนำเสนอระบบบำนาญแห่งชาติของ ประเทศออสเตรีย เป็นกรณีเปรียบเทียบ
ออสเตรีย...ดินแดนที่ถูกเปรียบว่างดงามดั่งในเทพนิยาย เป็นประเทศบ้านเกิดของ Mozart เลื่องชื่อในด้านมรดกทางวัฒนธรรม พระราชวังของจักรพรรดิ และแม่น้ำดานูบ
ในปี 2565 และ 2566 การจัดอันดับโดย The Economist Intelligence Unit (EIU) ซึ่งพิจารณาดัชนีคุณภาพมาตรฐานการครองชีพครอบคลุม 173 เมืองทั่วโลก ประกาศให้กรุงเวียนนา เมืองหลวงของประเทศออสเตรีย เป็นเมืองที่น่าอยู่ที่สุดในโลก ตามมาด้วยกรุงโคเปนฮาเกน ประเทศเดนมาร์ก และนครเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ตามลำดับ
กรุงเวียนนา เป็นเมืองเดียวที่ได้คะแนนเต็มด้านระบบสาธารณสุข การศึกษา โครงสร้างพื้นฐาน และความปลอดภัยมั่นคง เมื่อพิจารณามาตรฐานการครองชีพในวัยชรา พบว่าปัจจุบันออสเตรียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีระบบสวัสดิการด้านบำนาญที่ดีที่สุด
ภายหลังความพยายามในการปฏิรูปโครงการบำนาญ พระราชบัญญัติว่าด้วยระบบบำนาญแบบหนึ่งเดียวของออสเตรีย (The Act on the Harmonisation of Austrian Pension Systems) ซึ่งครอบคลุมทุกกลุ่มอาชีพ ได้ประกาศและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2548
ระบบบำนาญของออสเตรียเป็นการผสานสองหลักการสำคัญ ได้แก่ หลักปลาใหญ่ช่วยปลาเล็ก หมายถึง ผู้มีรายได้สูงสมควรจ่ายเงินสมทบเข้าในระบบมากกว่า เพื่อเป็นแหล่งเงินสำหรับกลุ่มรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ และหลักผลประโยชน์ที่จะได้รับขึ้นอยู่กับจำนวนเงินที่สมทบ
กล่าวคือ ยิ่งมีระยะเวลาทำงานนานและมีรายได้สูง ก็จะได้รับเงินบำนาญหลังเกษียณมากขึ้น โดยระหว่างการทำงานในแต่ละเดือนนายจ้างมีหน้าที่สมทบร้อยละ 12.55 ของเงินเดือนลูกจ้าง และฝ่ายลูกจ้างก็สมทบในแต่ละเดือนอีกร้อยละ 10.25
สำหรับเงินบำนาญของข้าราชการ แม้ว่าในยุคแรกๆ จะถูกจัดสรรจากงบประมาณแผ่นดินเต็มจำนวน แต่ก็ได้มีการปฏิรูปเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับประชาชนผู้เสียภาษีกลุ่มอื่น นั่นคือ ระหว่างการรับราชการ ในแต่ละเดือนข้าราชการมีหน้าที่ต้องสมทบเงินที่ร้อยละ 10.25 ของเงินเดือนตามที่กฎหมายฉบับนี้กำหนดเช่นกัน
เป็นที่น่าสนใจว่า ภายใต้กฎหมายใหม่ เพื่อให้การเงินของระบบบำนาญแห่งชาติมีความมั่นคงและยั่งยืน กลุ่มข้าราชการเกษียณที่ได้รับเงินบำนาญ แต่ในระหว่างการรับราชการไม่เคยมีการสมทบเงินเข้าในระบบ หรือสมทบเป็นระยะเวลาสั้นๆ ก่อนเกษียณ มีหน้าที่ในแต่ละเดือนที่ต้องสมทบเงินในอัตราร้อยละ 1.13 ถึง 3.3 ตามเกณฑ์ที่กำหนดด้วย
นอกจากนี้ ตามกฎหมายเดิม จำนวนเงินบำนาญแต่ละเดือนที่ข้าราชการจะได้รับหลังเกษียณอายุราชการ จะถูกคำนวณเป็นสัดส่วนของเงินเดือนช่วงสุดท้ายของการทำงาน ซึ่งเป็นอัตราเงินเดือนในระดับที่สูงมาก
การคำนวณโดยใช้เกณฑ์ดังกล่าวก่อให้เกิดภาระทางการคลัง ภายใต้กฎหมายใหม่จึงเปลี่ยนหลักเกณฑ์เป็นการคำนวณจากเงินเดือนเฉลี่ยตลอดระยะเวลาการรับราชการ
โดยบุคคลจะได้รับเงินบำนาญสูงสุดคิดเป็นร้อยละ 80 ของรายได้เฉลี่ยตลอดช่วงระยะเวลาการทำงาน ก็ต่อเมื่อมีระยะเวลาการทำงาน 45 ปี และเกษียณเมื่ออายุ 65 ปี
สำหรับบุคคลที่เป็นข้าราชการก่อนมีกฎหมายดังกล่าว สิทธิทางบำนาญจะถูกคำนวณแบ่งเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ระยะเวลาที่ทำงานภายใต้กฎหมายเดิม และระยะเวลาการทำงานนับแต่มีการประกาศใช้กฎหมายใหม่
แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ภายใต้กฎหมายใหม่หลายประเด็น ทำให้ประชาชนแต่ละกลุ่มต้องเสียประโยชน์ที่เคยได้รับตามกฎหมายเดิม แต่เป็นที่น่าสนใจว่า การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบบบำนาญแห่งชาติของประเทศออสเตรีย ไม่เกิดปัญหาความขัดแย้งรุนแรง
เนื่องจากข้าราชการและประชาชนเข้าใจดีว่า ภายใต้บริบทสังคมผู้สูงอายุ การปรับปรุงระบบเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อความยั่งยืนทางการคลัง การที่ชาวออสเตรีย โดยเฉพาะข้าราชการ คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ ทำให้เกิดระบบสวัสดิการที่มีความมั่นคงจวบจนทุกวันนี้
สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่อัตราการเกิดลดลงอย่างมาก ย่อมส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการคลัง เพราะเมื่อจำนวนคนวัยทำงานลดลง ย่อมมีผลต่อรายได้ภาครัฐ ที่จะนำมาจัดสรรเป็นงบประมาณค่าใช้จ่ายในการบริหารประเทศด้านต่างๆ
โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากส่วนบำเหน็จบำนาญข้าราชการที่ปัจจุบันได้รับการจัดสรรจากงบประมาณแผ่นดินเกือบ 330,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มสูงกว่า 600,000 ล้านบาท ภายในระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี
20 ปีที่แล้ว ฮีโร่ “ผู้เสียสละประโยชน์ส่วนตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม” ได้ทำให้ “ระบบบำนาญแห่งชาติที่แท้จริง” หยั่งลงในแผ่นดินออสเตรีย...แล้วเมื่อใดจะเป็นเวลาของประเทศไทย...ใครหนอคือฮีโร่?!