รวมให้แล้ว "ฝึกงาน" อย่างไร? ให้โดนใจที่ทำงาน ได้งานทำ
สภาวะตลาดงานในขณะนี้มีการแข่งขันที่สูงและมีความรุนแรง โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กจบใหม่ "ประสบการณ์ฝึกงาน" ที่ตรงสายกับตำแหน่งงานที่เราสมัคร จึงมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมาก และสามารถสร้างความได้เปรียบให้คุณเหนือคู่แข่งได้
KEY
POINTS
- บริษัทหรือองค์กรชั้นนำต่าง ๆ ทั้งใหญ่และเล็กต่างก็ต้องการตัวเด็กรุ่นใหม่ไฟแรงที่มีความสามารถ หรือมีแพชชั่นเปี่ยมเพื่อเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการทำงาน
- 5 วิธี 6 เคล็ดลับฝึกงานให้โดนใจหัวหน้างาน และรุ่นพี่ที่ทำงาน ที่คนรุ่นใหม่ต้องไม่พลาด
- รวบรวมเทคนิคในการเลือกสถานที่ฝึกงานให้ได้งานทำ ตรงกับใจ และการเขียนเรซูเม่ ประสบการณ์ฝึกงาน
"การฝึกงาน" หรือเรียกกันในภาษาอังกฤษว่า Internship (อินเทิร์นชิพ) คือการนำทักษะและวิชาที่ได้เรียนรู้มาในระดับชั้นมหาวิทยาลัยไปใช้จริงในสภาพแวดล้อมจริงในการทำงาน โดยการเข้าไปหาประสบการณ์ตรงจากบริษัทที่เปิดทำการอยู่จริง เรียนรู้งานจากรุ่นพี่ในบริษัทที่มีประสบการณ์ทำงานจริงมาแล้ว เพื่อให้เสริมสร้างทักษะและเรียนรู้ถึงชีวิตในการทำงานจริงๆนั่นเอง ทั้งหมดนี้เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมให้นักศึกษาพร้อมที่จะออกไปทำงานในชีวิตจริงด้วยตนเอง
การฝึกงานส่วนมากจะได้ทำกันในช่วงปิดเทอมหน้าร้อนในปีที่ 3-4 ของการเรียนในระดับปริญญาตรี ยกเว้นในบางคณะที่เรียนกันเฉพาะทางเช่นแพทย์ สถาปัตย์ หรือครู ของบางมหาวิทยาลัย ก็อาจจะมีการฝึกงานที่ยาวนานกว่า เริ่มฝึกงานเร็วกว่าหรือช้ากว่าคณะอื่นๆ เป็นต้น
ทว่าจะฝึกงานให้ได้ทำงานต่อ เป็นสิ่งที่เด็กฝึกงานส่วนใหญ่ต้องการ จากผลสำรวจของ JobsDB เรื่อง สิ่งที่ HR มองหาจากเด็กจบใหม่ เห็นได้ว่าผู้ประกอบการมองหาเด็กจบใหม่จาก “คนที่มีประสบการณ์ฝึกงาน” ถึง 75% ฉะนั้นน้องคนที่ได้เข้าไปฝึกงานแล้ว จะมีภาษีดีกว่าคนที่ไม่ได้ผ่านการฝึกงาน
ยิ่งถ้าน้อง ๆ รู้สึกชอบองค์กรนี้ ชอบงานนี้ อยากทำงานที่นี่ ถ้าเรียนจบแล้วจะต้องทำงานกับที่นี่ให้ได้ แล้วจะทำอย่างไร ให้พี่ ๆ ในองค์กรที่เราไปฝึกงานด้วย เห็นศักยภาพเด็กฝึกงานอย่างเรา จนเค้าคิดถึงเราทุกเมื่อที่เค้าต้องการคนทำงาน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
งานแบบไหนที่คนรุ่นใหม่ SAY YES อยากทำงานด้วยมากที่สุด
เทรนด์ใหม่ทั่วโลก!!ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ ข้อดี-ข้อจำกัดที่องค์กรต้องรู้
รวบรวมวิธีฝึกงาน ให้ได้งานทำต่อ
ปัจจุบันบริษัทหรือองค์กรชั้นนำต่าง ๆ ทั้งใหญ่และเล็กต่างก็ต้องการตัวเด็กรุ่นใหม่ไฟแรงที่มีความสามารถ หรือมีแพชชั่นเปี่ยมเพื่อเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโปรเจคต์ หรือทีมปฏิบัติงาน และพร้อมที่จะปั้นพวกเขาให้เป็นพนักงานที่มีศักยภาพสูงอย่างเต็มตัวเพื่อร่วมงานกันไปยาว ๆในอนาคต แต่จะทำอย่างไรให้เราเป็น เด็กฝึกงานที่สถานประกอบการต้องการ เริ่มด้วย
1.ตั้งใจเรียนรู้งานด้วยความพยายาม
เรามาฝึกงานเพราะอยากมาหาความรู้ หาประสบการณ์ที่มากกว่าแค่ความรู้ในห้องเรียน เพราะฉะนั้นควรตักตวงความรู้จากตรงนี้กลับไปให้ได้มากที่สุด ถ้าหากน้องฝึกงานยังไม่ได้มีแผนก หรือตำแหน่งงานที่ได้รับมอบหมายที่เฉพาะเจาะจง ลองขอช่วยงานหลาย ๆ แผนกดูค่ะ เมื่อเป็นน้องใหม่ ยิ่งไปช่วยคนหลายแผนก ก็จะให้คนรู้จักเราและเห็นแววความตั้งใจของเรามากยิ่งขึ้น
2.อาสาและรับหน้าที่เพิ่มเติม
เมื่อรู้สึกว่าเรานั่งว่าง ๆ ไม่มีอะไรให้ทำ ถามหางานที่เราพอจะช่วยทำได้ แล้วอาสารับหน้าที่นั้น เพื่อให้เค้าเห็นถึงความ กระตือรือร้น ของเรา แต่ว่าไม่ใช่แค่อาสาชงกาแฟ ถ่ายเอกสารอะไรพวกนี้นะคะ มันไม่ได้ช่วยสร้างผลงาน หรือไม่ได้โชว์ศักยภาพของเราเลย ลองเข้าไปคุยกับพี่เลี้ยงถึงเป้าหมายของการมาฝึกงาน และออกตัวอาสาช่วยงาน แรก ๆ อาจจะเป็นงานเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ไม่ได้เร่งรีบหรือสำคัญมาก แต่เชื่อว่า ถ้าเราเริ่มช่วยได้ แบ่งเบาได้ เขาก็จะเริ่มจ่ายงานที่ชิ้นใหญ่ขึ้นให้เราได้พิสูจน์ฝีมือ ถึงตอนนั้นเราก็มีชัยไปกว่าครึ่งแล้วละ
กล้าแสดงความคิดเห็น สร้างผลงาน รักษาคอนเน็คชัน
3.เสนอ และแสดงความคิดเห็น
บอกเลยว่างานนี้ต้องเอาไฟวัยรุ่นออกมาใช้ให้เป็นประโยชน์ โดยการกล้าเสนอ กล้าแสดงความคิดเห็น แต่ต้องไม่อีโก้ ไม่โผงผางมั่นอกมั่นใจจนเกินไป เราเป็นน้องใหม่มั่นใจได้ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของความนอบน้อม และถ้าหากความคิดเห็นของเราไม่เป็นที่ถูกอกถูกใจก็อย่างเพิ่งตีโพยตีพาย หรือว่าเสียความมั่นใจ เราควรยอมรับฟังคำชี้แนะของพี่ ๆ ใน องค์กร และนำมาพัฒนา เชื่อว่าความคิดเห็นครั้งหน้าจะต้องดีกว่าเก่าแน่ ๆ บางทีความคิดเห็นอาจไม่ถูกใจ แต่อย่างน้อย เขาก็จะได้เห็นความตั้งใจของเรา
4.สร้างผลงาน
การฝึกงานนั้นมีระยะเวลา เมื่อถึงเวลาหนึ่งเราต้องไปก็จริง แต่สิ่งหนึ่งที่จะทิ้งไว้ให้พี่ ๆ ในองค์กรนั้น ๆ จดจำ คือ ผลงาน ฉะนั้น ใช้โอกาสเพียงไม่กี่เดือนนี้สร้างผลงาน ลองของานที่เป็นชิ้นเป็นอันทำ และทำอย่างเต็มที่แสดงให้เค้าเห็นว่าเรามีศักยภาพ เห็นว่าเราสามารถรับผิดชอบงานให้สำเร็จได้เหมือนกัน แม้จะเป็นเด็กฝึกงาน ทำให้เขาพูดให้ได้ว่า นี่ขนาดแค่ฝึกงาน ยังทำได้ดีขนาดนี้ แล้วถ้าได้ทำงานจริง ๆ จะขนาดไหน เชื่อสิว่าแบบนี้คือหลักปฏิบัติสำคัญของการฝึกงานให้ได้งานต่อ เพราะโอกาสได้กลับมาทำงานต่อ
5.รักษาคอนเน็คชัน
นอกจากการตั้งใจฝึกงานอย่างเต็มที่แล้ว การรักษาคอนเน็คชันกับพี่ ๆ ที่ฝึกงานด้วยนั้นก็สำคัญเช่นกัน ลองสร้างความสัมพันธ์กับพี่คนอื่นในองค์กรด้วยนะคะ อย่าก้มหน้าก้มตาทำงานเพียงอย่างเดียว แต่ต้องหมั่นสร้างมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี เรียนรู้นิสัยใจคอ เข้าหาคนให้ถูกจังหวะและโอกาส ปฏิบัติตัวให้นอบน้อมน่าเอ็นดู แบบนี้คนในองค์กรไม่ใช่แค่จะจำผลงานของเรานะ เขาจะจำตัวตนของเราได้ด้วย และหลังจากฝึกงานเสร็จ ก็ไม่ใช่เลิกแล้วต่อกันไป ลองถามสารทุกข์สุขดิบ ชวนคุยเล่น หรืออาจจะขอคำปรึกษาเรื่องงานโปรเจคจบ แชร์ไอเดียอะไรก็ว่าไป หรือจะนัดพี่เค้าไปทานข้าวกัน สานสัมพันธ์ที่ดีกับพี่ ๆ เค้าไว้เป็นดีค่ะ แบบนี้คอนเน็คชั่นดี ๆ ไม่หายไปไหนแน่นอน
"สิ่งสุดท้ายที่อยากย้ำอีกครั้งก็คือ ประโยชน์สำคัญของการฝึกงาน นั่นคือ เป็นการเปิดประตูให้เรา “รู้จักคน” เป็นการเปิดโอกาสให้เรา “รู้จักงาน” และเป็นการเปิดโลกการเรียนรู้ให้เรา “รู้จักวัฒนธรรมองค์กร” นั้น ๆ ด้วยตัวเอง และนี่คือเคล็ดลับดี ๆ ของการฝึกงานให้ได้งานทำต่อที่เรานำมาฝากกัน"
หาที่ฝึกงานแบบไหน? ให้โดนใจ
วิธีการหาที่ฝึกงานในปัจจุบันก็มีอยู่หลายวิธี ส่วนวิธีไหนที่จะทำให้ได้ที่ฝึกงานที่โดนใจ JobsDB ได้ระบุว่า การ หางาน ถือเป็นเรื่องไม่ง่าย เพราะมันไม่ใช่แค่ การหางาน แต่เป็นการหางานที่ใช่ เหมาะสม รวมถึงโอกาสทาง อาชีพ การงานในอนาคตเลยทีเดียว แม้ว่าการหางานที่ใช่จะเป็นเรื่องยาก ต้องใช้เวลานาน คุณก็ควรทุ่มเทกับมันให้มาก เพราะมันจะเป็นเรื่องที่ยากกว่าหากคุณเผลอไป เลือกงาน ที่ผิด
1. การศึกษาข้อมูล
การศึกษาข้อมูลเป็นวิธีเบื้องต้นในการเลือกที่ฝึกงาน ลองหาข้อมูลว่าในสายงานที่น้อง ๆ สนใจมีบริษัทไหนบ้างที่มีชื่อเสียง เพราะยิ่งบริษัทเป็นที่รู้จักมากเท่าไหร่ เวลาที่มีชื่อบริษัทนั้นใน Resume ของน้อง ๆ ก็จะยิ่งมีประโยชน์เท่านั้น ชื่อเสียงในที่นี้อาจหมายถึง เป็นบริษัทชั้นนำ หรือเป็นบริษัทที่ได้ชื่อว่ามีระบบการทำงานดี เข้มข้น และการที่น้องได้เข้าไปฝึกงาน ยังอาจจะเพิ่มโอกาสได้งานในบริษัทเหล่านี้ด้วย เพราะคนในนั้นรู้แล้วว่าน้องมีความสามารถในการทำงาน และคุ้นเคยกับงานมาบ้างแล้ว เพราะบริษัทชั้นนำหลาย ๆ ที่สามารถสมัครเข้าฝึกงานได้ง่ายกว่าการสมัครเข้าทำงานจริง เลยทำให้การฝึกงานถือเป็นใบเบิกทางชั้นดีเลย
2. เตรียมเอกสารให้พร้อม
อย่าลืมว่าการสมัครฝึกงานก็เหมือนกับการสมัครงานแบบหนึ่ง เพราะฉะนั้นน้อง ๆ ควรจะต้องเตรียมเอกสารประกอบการสมัครฝึกงานด้วย เช่น เรซูเม่ ทรานสคริปต์ (ของปีล่าสุด) รูปถ่ายติดบัตรซัก 2-3 รูป และสำเนาบัตรนักศึกษา เอกสารบางอย่างบริษัทอาจจะไม่ได้เรียก แต่ถ้าเราเตรียมเอกสารให้พร้อม อันไหนไม่ต้องใช้ค่อยหยิบออก จะทำให้เราให้เรามีความพร้อมสมัครฝึกงานมากกว่าคนอื่น และช่วยเพิ่มโอกาสให้เราได้ฝึกงานที่บริษัทในฝันมากขึ้นด้วย
3. สอบถามที่คณะ
นอกจากที่น้อง ๆ จะมองหาที่ฝึกงาน บริษัทต่าง ๆ ก็มองหาเด็กฝึกงานเพื่อเข้าไปทำงานที่บริษัทของตัวเองเหมือนกัน ดังนั้นบริษัทหลาย ๆ แห่งจึงนิยมที่จะประชาสัมพันธ์รับนักศึกษาเข้าฝึกงานกับที่คณะ ตามมหาวิทยาลัย เพราะเป็นเหมือนการประชาสัมพันธ์ได้ตรงกลุ่มเป้าหมายที่สุดแล้ว
เช่น บริษัทที่ปรึกษาทางด้านบัญชี ก็มักจะประชาสัมพันธ์หานักศึกษาฝึกงานที่คณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี หรือบริษัทก่อสร้าง ก็มักจะไปหานักศึกษาฝึกงานที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นต้น น้อง ๆ อาจจะลองไปถามที่แผนกธุรการของคณะ หรือดูตามประกาศที่แปะไว้ที่บอร์ดคณะ หรือจะดูผ่านช่องทาง Social Media อย่าง Facebook หรือเว็บไซต์ของคณะเองก็ได้ น้อง ๆ อาจจะได้เจอที่ฝึกงานที่ถูกใจเข้าซักที่
4. คุยกับรุ่นพี่
นี่เป็นอีกหนึ่งวิธีคลาสสิคที่นิยมใช้กันมานักต่อนัก เพราะรุ่นพี่ของเราก็เคยผ่านประสบการณ์ในการหาที่ฝึกงานมาก่อน แถมยังผ่านประสบการณ์การฝึกงานมาแล้ว นี่เลยทำให้รุ่นพี่ของน้อง ๆ เป็นแหล่งข้อมูลชั้นยอดในการหาที่ฝึกงานให้โดนใจให้น้อง ๆ ได้
5. เว็บไซต์บริษัท
นอกจากที่ HR จะประชาสัมพันธ์การรับนักศึกษาฝึกงานผ่านคณะต่าง ๆ ตามมหาวิทยาลัยแล้ว HR ก็จะไม่ลืมที่จะประกาศรับนักศึกษาฝึกงานผ่านเว็บไซต์ของบริษัทตัวเองด้วย เพราะเป็นช่องทางแรกและช่องทางที่ง่ายที่สุดในการประชาสัมพันธ์ และยังสะดวกรวดเร็วอีกด้วย นักศึกษาที่สมัครเข้าฝึกงาน จากการเข้ามาดูประกาศรับฝึกงานผ่านเว็บไซต์บริษัท ยังแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่อยากจะสมัครงานบริษัทนี้จริง ๆ ดังนั้น หากน้อง ๆ มีบริษัทในใจที่อยากจะเข้าฝึกงาน ก็ลองเข้าไปดูในเว็บไซต์ของบริษัทนั้น ๆ เลยได้
6. กิจกรรม Job Fair
ในมหาวิทยาลัยมักจะมีกิจกรรม Job Fair จัดขึ้นเสมอ นอกจากที่บริษัทต่าง ๆ จะมาหานักศึกษาที่กำลังจะเรียนจบเพื่อเข้าไปทำงานจริงแล้ว หลาย ๆ แห่งยังรับนักศึกษาฝึกงานอีกด้วย ดังนั้นถ้าครั้งหน้ามีงาน Job Fair ที่มหาวิทยาลัยอีก ขอให้น้อง ๆ เตรียมเอกสารสมัครฝึกงานให้พร้อม แล้วอย่าลืมเดินเข้าไปสอบถามที่บูธของบริษัทที่น้อง ๆ เล็งไว้ได้เลย ว่ามีเปิดรับนักศึกษาฝึกงานมั้ย ถ้ามีต้องไปสมัครผ่านช่องทางไหน หรือสามารถยื่นสมัครได้ในงานเลย ถ้าใช่ก็จัดการยื่นเอกสารที่เราเตรียมมาแล้วได้เลย บางทีน้อง ๆ อาจจะมีที่ฝึกงานในวันนั้นเลยก็ได้นะ
7. เว็บไซต์หางาน
หลาย ๆ คนอาจจะคิดว่าเว็บไซต์หางานมักจะมีประกาศหาพนักงานที่จะเข้าไปทำงานจริง ๆ เท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว มีบริษัทมากมายที่นิยมหานักศึกษาฝึกงาน หรือโปรโมตโปรแกรมฝึกงานผ่านเว็บไซต์หางานอยู่เสมอ อย่าง JobsDB ก็มีประกาศรับนักศึกษาฝึกงานอยู่มากมายหลายตำแหน่ง ลองเข้าเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน JobsDB แล้วค้นหาจากประเภทการจ้างงาน โดยเลือกประเภทเป็น "นักศึกษาฝึกงาน" ดู น้อง ๆ จะพบกับตำแหน่งฝึกงานจากบริษัทชั้นนำมากมาย
8. อีเมลขอเข้าฝึกงาน
หลาย ๆ บริษัทอาจจะไม่ได้มีประกาศรับนักศึกษาฝึกงานที่ไหนเลย ก็ไม่ได้หมายความว่าเค้าไม่ต้องการนักศึกษาฝึกงาน น้อง ๆ อาจจะลองส่งอีเมลเข้าไปขอสมัครฝึกงานที่บริษัทโดยตรงก็ได้ พร้อมส่งเอกสารฝึกงานเบื้องต้น หรือ Portfolio (สำหรับสายอาร์ต หรือสายงานที่ต้องการพอร์ต)ของน้อง ๆ เพื่อแสดงผลงานที่เคยทำมา ก็จะเป็นการกระตุ้นต่อมรับนักศึกษาฝึกงานของบริษัทนั้นได้
9. สมัครฝึกงานทุกช่องทาง
การสมัครฝึกงานผ่านทุกช่องทางที่ได้กล่าวมาแล้วย่อมเป็นการเพิ่มโอกาสในการได้ฝึกงานในบริษัทในฝันของน้อง ๆ เพราะไม่มีช่องทางไหนที่การันตรีได้ว่า ถ้าน้อง ๆ สมัครงานผ่านช่องทางนี้จะได้งานแน่ ๆ ดังนั้น เตรียมตัวให้พร้อม เลือกบริษัทที่เราอยากเข้าฝึกงานไว้ 3-4 ที่ แล้วก็ลุยสมัครผ่านทุกช่องทางที่เปิดได้เลย
มาสร้างโปรไฟล์ที่ดีให้กับตัวเองผ่านการฝึกงานกันดีกว่า เพราะนอกจากจะได้โปรไฟล์ไปลงในเรซูเม่แล้ว น้อง ๆ ยังจะได้เรียนรู้การทำงานจริง และได้รู้จักตัวเองว่าพร้อมที่จะทำงานนั้น ๆ เมื่อเรียนจบไปแล้วหรือไม่
เคล็ดลับ มัดใจหัวหน้า และพี่ ๆ ระหว่างการฝึกงาน
นักศึกษาหลายคนอาจจะหวั่นใจ กลัวการ ฝึกงาน หรือคิดว่าการฝึกงานเป็นเรื่องยาก ไม่ว่างานที่ได้รับระหว่างการฝึกงานจะเป็นงานเล็ก ๆ อย่างการจัดเรียงเอกสาร ชงกาแฟ หรืองานใหญ่ ๆ อย่างการมีโอกาสได้เข้าร่วมประชุมกับผู้บริหาร ขอให้มั่นใจว่าคุณสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองจากการฝึกงานเหล่านี้ได้ เพื่อให้คุณประสบความสำเร็จจากการฝึกงาน
1. ทำการฝึกงานให้เหมือนเป็นการทำงานจริง ๆ
หากอยากจะมัดใจหัวหน้าหรือพี่ ๆ และเพื่อนร่วมงาน ความจริงใจในการทำงานย่อมสำคัญไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณอยากให้คนมองว่าคุณเป็นคนจริงจังกับการทำงาน คุณต้องใช้โอกาสในการฝึกงานนี้อย่างจริงจังและจริงใจ อย่าลืมว่างานที่คุณทำ (แม้จะเป็นการฝึกงาน) จะส่งผลกระทบต่อองค์กร คุณควรแสดงให้นายจ้างเห็นถึงความกระตือรือร้นและแรงจูงใจในการทำงานเพื่อพวกเขา การมาทำงานตรงเวลา (หรือเช้ากว่านั้น) มาถึงที่ประชุมก่อนการประชุมจะเริ่ม และทำงานที่ได้รับมอบหมายให้เสร็จตามกำหนด รวมไปถึงแต่งกายมาทำงานให้สุภาพเหมาะสมถูกกาลเทศะอีกด้วย
ถ้าคุณแต่งตัวตามสบายเหมือนเวลาไปเที่ยว นั่นแสดงให้เห็นว่าคุณไม่ให้เกียรติที่ฝึกงานของคุณ สะท้อนว่าคุณไม่จริงจังกับงานนี้ นอกจากนี้คุณควร “เข้าเมืองตาหลิ่ว ให้หลิ่วตาตาม” สังเกตว่าพนักงานคนอื่น ๆ มีพฤติกรรมต่อกันอย่างไร และพยายามปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมองค์กรให้ได้ รายละเอียดต่าง ๆ เหล่านี้อาจดูเหมือนเล็กน้อย แต่ถ้าคุณทำได้ จะช่วยให้คุณดูโดดเด่นจากเด็กฝึกงานคนอื่น ๆ ได้
2. ทำงานทุกอย่างให้เต็มร้อยหรือมากกว่าร้อย
ทำงานที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จโดยไม่บ่น เมื่อทำเสร็จแล้ว ของานเพิ่มโดยที่นายจ้างไม่ต้องร้องขอ และทำทุกงานอย่างเต็มที่ให้ได้คุณภาพที่ดี ฟังขั้นตอน การทำงาน อย่างตั้งใจและอย่ากลัวที่จะถามหากมีข้อสงสัย ทำงานด้วยความปราณีตอย่างละเอียดรอบคอบ แสดงให้หัวหน้าเห็นว่าคุณใส่ใจในทุกรายละเอียดโดยการทำตามขั้นตอนอย่างครบถ้วนและคำนึงถึงคุณภาพของผลงาน ทำงานในช่วงการฝึกงานให้ได้เต็มร้อยหรือมากกว่าร้อยแต่ไม่น้อยกว่านั้น ไม่ว่างานที่ได้รับจะเป็นงานที่ดูธรรมดาหรืองานที่แปลกแหวกแนว
ดังนั้นคุณควรทำงานนั้น ๆ ด้วยพลังแห่งความมุ่งมั่นที่จะทำให้สำเร็จ ถึงแม้คุณจะเป็นแค่เด็กฝึกงาน แต่งานของคุณแม้จะเล็กน้อยเพียงใดก็อาจส่งผลกระทบต่อองค์กรโดยรวมได้ ฉะนั้นจงทำมันออกมาให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้
3. รับฟังความคิดเห็นที่มีต่อการฝึกงานของคุณ
ใส่ใจและรับฟังในความคิดเห็นของหัวหน้าที่มีต่อการฝึกงานของคุณ หากหัวหน้าไม่ให้ฟีดแบ็คกับคุณ ลองเข้าไปถามหัวหน้าโดยตรง การถามหัวหน้าว่าคิดอย่างไรต่อการฝึกงานของคุณ มีอะไรที่ยังต้องปรับปรุงนั้นไม่ใช่เรื่องเสียหาย เพราะวัตถุประสงค์ในการฝึกงานคือการเรียนรู้และ พัฒนาตนเองในการทำงาน ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
การถามถึงฟีดแบ็คจากหัวหน้าไม่เพียงแต่จะช่วยให้คุณนำไปใช้ปรับปรุงในงานเท่านั้น ยังสะท้อนให้เห็นว่าคุณมีความใส่ใจและกระตือรือร้นที่จะพัฒนาตนเองในการทำงานให้ดียิ่งขึ้นไปอีก มันยังสามารถช่วยให้คุณตระหนักถึงจุดแข็งและจุดอ่อนของคุณ และพยายามปรับปรุงและแก้ไขข้อบกพร่องต่าง ๆ เหล่านั้นก่อนที่ระยะเวลาการฝึกงานของคุณจะหมดลง
4. ไม่เล่นโซเชียลมีเดียทั้งหลาย เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม ไลน์ระหว่างฝึกงาน
อย่าใช้โซเชียลมีเดียหรือแชทไลน์กับเพื่อนในระหว่างการทำงาน ไม่ควรเล่นมือถือระหว่างทำงานนอกเสียจากว่างานของคุณต้องเกี่ยวข้องกับโซเชียลมีเดียเหล่านี้ ตั้งใจทำงานอย่างจริงจัง คุณไปฝึกงานเพื่อไปเรียนรู้และสร้างเสริมประสบการณ์ ฉะนั้นใช้ทุกเวลานาทีให้มีค่าและทุ่มเทเวลากับการทำสิ่งใหม่ ๆ และพัฒนาทักษะของคุณ
ถ้าคุณทำงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว และคุณไม่มีอะไรต้องทำอีก คุณควรไปของานเพิ่ม หรือศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับองค์กร หรือสายงานที่ทำอยู่ การเข้าไปนั่งไถมือถือ เช็คฟีดในเฟซบุ๊ค อินสตาแกรม หรือทวิตเตอร์ระหว่างรอการมอบหมายงานเพื่อฆ่าเวลาเป็นหนทางที่ดีที่สุดที่คุณควรทำหากคุณไม่อยากได้งานนี้ เพราะคงไม่มีผู้ประกอบการคนใดอยากจ้างให้คุณมานั่งเล่นมือถือที่ที่ทำงานแน่ ๆ
อย่าลืมนะคะว่าแอคเคานท์โซเชียลมีเดียของคุณมันไม่หายไปไหน คุณจะเช็กอัปเดตเมื่อไหร่ก็ได้ แต่โอกาสที่จะได้เรียนรู้และเติบโตในการฝึกงานเป็นโอกาสทองที่ผ่านแล้วผ่านเลย ขณะที่คุณแอบโพสท์สเตตัสเพื่ออัพเดทบนโลกโซเชียลระหว่างที่คุณทำงานอยู่ โอกาสในการได้งานในโลกแห่งความเป็นจริงของคุณก็อาจจะหลุดลอยไป
5. คบเพื่อนใหม่และหมั่นติดต่อกับเพื่อนที่ทำงานอยู่เสมอ
เพราะการฝึกงานก็เหมือนกับการทดลองทำงานจริง ๆ ฉะนั้นคุณควรจะใช้เวลาในการทำความรู้จักกับเพื่อนร่วมงานและหัวหน้าของคุณ เริ่มต้นสร้างไมตรีด้วยการแนะนำตัวเองและยิ้มแย้มสร้างความเป็นมิตรกับทุกคน ตั้งแต่ยามไปจนถึงเจ้าของกิจการ พยายามผูกมิตรและทำความรู้จักว่าแต่ละคนทำหน้าที่อะไร และสานต่อไมตรีนี้แม้ว่า การฝึกงาน จะจบลงไปแล้วไม่ว่าจะทางออนไลน์หรือออฟไลน์ หมั่นติดต่อกับเพื่อนร่วมงานที่พบขณะฝึกงานอยู่เสมอ เพราะหากคุณได้รับการว่าจ้างให้ทำงานต่อเมื่อเรียนจบแล้ว คุณจะมีคอนเนคชั่นและพร้อมเริ่มทำงานตั้งแต่วันแรกได้ทันที
ในกรณีหากคุณไม่ได้รับพิจารณาให้ทำงานที่องค์กรที่ฝึกงาน เพื่อนที่คุณได้จากตอนฝึกงานอาจช่วยให้คุณได้งานที่อื่น ช่วยอัพเดทข่าวคราวต่าง ๆ ในสายงาน หรือเป็นคอนเนคชั่นที่ดีให้กับคุณสำหรับงานอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต
6. พูดคำขอบคุณให้ติดปาก
ก่อนการฝึกงานจะจบลง อย่าลืมขอบคุณทุกคนที่คุณเคยร่วมงานด้วย และคนที่คอยให้ความช่วยเหลือคุณตลอดระยะเวลาการฝึกงาน คนมักจะประทับใจกับความซาบซึ้งในบุญคุณของคนอื่น ๆ ดังนั้นอย่าอายที่จะแสดงความขอบคุณจากใจจริงออกไป ทำให้พวกเขารู้ว่าคุณซาบซึ้งเพียงใดกับโอกาสที่คุณได้เรียนรู้และประสบการณ์อันมีค่าที่ได้ทำงานร่วมกับพวกเขา ทั้งยังเป็นการนอบน้อมต่อผู้ใหญ่ ถือเป็นมารยาทดี ๆ ที่จะช่วยให้คุณมัดใจหัวหน้า และรุ่นพี่ที่ร่วมงาน เพราะความมีมารยาทและความรู้สึกที่ดี ๆ เหล่านี้จะเป็นเสน่ห์ที่ติดตัวคุณไปและทำให้คุณเป็นที่รักของคนที่ได้พบเห็นในอนาคต
การฝึกงานเป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนที่ชีวิตวัยเรียนจะจบลง และก้าวเข้าไปสู่โลกของการทำงาน การฝึกงานเป็นงานหนัก และการทำแค่งานที่คุณได้รับมอบหมายเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอที่จะเป็นที่จดจำ คุณต้องเพิ่มความกระตือรือร้น และให้ใจและทำงานออกมาให้เกินร้อย และใช้เวลาทุกนาทีให้คุ้มค่าที่สุด อย่าลืมนำเคล็ดลับ 6 ข้อนี้ไปใช้ในการฝึกงานให้การฝึกงานที่นอกจากจะเป็นเคล็ดลับดี ๆ ในการมัดใจหัวหน้า และเพื่อนร่วมงานหรือรุ่นพี่แล้ว แต่ยังเพื่อการทำงานที่ราบรื่น ประสบความสำเร็จนะคะ ไม่แน่ผลงานในตอนฝึกงานอาจจะเข้าตากรรมการ จนทำให้คุณได้ทำงานต่อที่นี้ก็ได้
หางานทำ ต้องใส่ประสบการณ์ฝึกงานในเรซูเม่
ประสบการณ์ฝึกงานทำให้คุณมีอะไรที่จะเขียนลงในเรซูเม่ และทำให้ HR (ฝ่ายบุคคล) ในบริษัทที่คุณส่ง เรซูเม่สมัครงาน ไป ได้อ่านและทำความรู้จักเบื้องต้นกับคุณได้รวดเร็ว และคุณจะได้เปรียบชัดเจนเหนือคู่แข่งของคุณที่ไม่ใส่ประสบการณ์ฝึกงานลงในเรซูเม่
ทั้งนี้ หากคุณเลือกที่จะไม่ใส่ประสบการณ์ฝึกงานลงในเรซูเม่ของคุณ ก็เท่ากับว่าคุณปล่อยโอกาสที่คุณจะได้รับนี้ออกไปเปล่าๆ ให้ถามใจตัวเองอีกครั้งว่าต้องการจะคว้าโอกาสนี้เอาไว้ หรือจะปล่อยมันออกไปจริงๆ
- ใส่ประสบการณ์ฝึกงานตรงไหนในเรซูเม่ดี
คุณจะต้องใส่ประสบการณ์ฝึกงานลงในส่วนของ ประสบการณ์ทำงาน และอาจจะใส่วงเล็บเอาไว้ด้วยว่าเป็นการฝึกงาน (Internship) เพื่อให้ HR สามารถรู้ได้ในทันทีที่อ่าน และประสบการณ์ฝึกงานนี้จะต้องอยู่สูงกว่าส่วนของ ประวัติการศึกษา ของคุณ
นี่จะเป็นข้อดีอีกข้อของประสบการณ์ฝึกงาน เพราะมันจะทำให้เรซูเม่ของคุณไม่ถูกเว้นว่างเอาไว้ในส่วนของประสบการณ์ทำงาน และการใส่ข้อมูลประสบการณ์ทำงานลงไปโดยที่ไม่ต้องรอให้ HR มาถามก่อนแล้วค่อยตอบ ถือเป็นการให้ข้อมูลที่ครบถ้วนของคุณไปในทีเดียว ซึ่งจะทำให้ตัวของคุณดูทำงานเรียบร้อย จบในทีเดียว
- ใส่ประสบการณ์ฝึกงานอย่างไรดี
ให้คุณทำเหมือนกับว่าประสบการณ์ฝึกงานของคุณ เป็นเสมือนหนึ่ง ประสบการณ์ทำงานของคุณ ให้ความสำคัญกับมันให้เต็มที่ด้วยการกรอกข้อมูลสำคัญๆต่อไปนี้ให้ครบถ้วน
ชื่อบริษัท ที่อยู่: คุณจะต้องใส่ชื่อบริษัทที่คุณไปฝึกงานให้เต็ม อย่างเช่นถ้าคุณได้ฝึกงานที่ AIS ก็ให้ใส่ว่า "Advanced Info Services Public Company Limited" อย่าใส่ชื่อสั้นๆอย่าง เอไอเอส เด็ดขาด เพราะถือว่าเป็นการให้เกียรติบริษัทที่คุณฝึกงานมาแล้วด้วย
วันที่ ที่ฝึกงาน: ใส่ให้ละเอียดว่าคุณฝึกงานตั้งแต่เดือนอะไร ปีอะไร ถึงเมื่อไหร่
ตำแหน่งที่คุณฝึกงาน: ถ้าเป็นไปได้ให้ใส่ชื่อตำแหน่ง เช่น เด็กฝึกงานในแผนกการตลาด อย่าใส่สั้นๆ ว่าเด็กฝึกงาน เฉยๆ ถ้าไม่แน่ใจว่าตัวเองตำแหน่งอะไร ก็ให้ลองสอบถามหัวหน้า หรือ HR ของบริษัทที่คุณได้ไปฝึกงานดู
หน้าที่ตอนฝึกงาน: คุณได้ทำอะไรบ้างตอนฝึกงาน ให้ใส่เป็นบุลเล็ต ประมาณ 2-4 บุลเล็ตเล่าว่าคุณได้ทำอะไรบ้างตอนฝึกงาน ถ้าแผนกของคุณทำอะไรสำเร็จได้บางอย่างในตอนนั้น ก็ให้ใส่มันลงไปด้วย
การใส่ข้อมูลเหล่านี้ ให้เน้นใช้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกันกับตำแหน่งที่คุณกำลังจะสมัครด้วย เช่น ถ้าคุณกำลังสมัครตำแหน่งทางด้านโซเชียลมีเดีย ก็ให้ใส่ลงไปว่าคุณได้ทำอะไรเกี่ยวกับโซเชียลมีเดียในตอนฝึกงานด้วย
ส่วนผู้ที่ยังไม่แน่ใจว่าตัวเองจะสมัครงานอะไร และเลือกที่จะสมัครมันครอบจักรวาล คุณก็สามารถใส่ข้อมูลครอบจักรวาลได้ด้วยเช่นกัน
- จะต้องใส่ประสบการณ์ฝึกงานในเรซูเม่ไปจนถึงเมื่อไหร่
แนะนำว่าให้คุณใส่ประสบการณ์ฝึกงานลงในเรซูเม่จนถึงเมื่อเวลาที่คุณมีประสบการณ์ทำงานไปแล้วประมาณ 3-4 ปี หรือผ่านมาแล้ว 2-3 บริษัท เมื่อถึงเวลานั้น ประสบการณ์ทำงานจริงๆ จะกลับมามีบทบาทสำคัญในเรซูเม่ของคุณ และการฝึกงานสั้นๆ นี้จะไม่มีความสำคัญในเรซูเม่ของคุณอีกต่อไป
อ้างอิง:jobsdb , resume.in.th