เปิด 10 ศัพท์แสงโลกการทำงาน แต่ละคำสื่อถึงเทรนด์หรือวิถีการทำงานแบบใด?
เปิด 10 ศัพท์แสงในโลกการทำงานที่สะท้อนถึงวิถีและความเชื่อในการทำงานที่แตกต่างกันไป รวมถึงเทรนด์การทำงานใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในยุคนี้
KEY
POINTS
- เปิด 10 ศัพท์แสงในโลกการทำงานที่สะท้อนถึงวิถีและความเชื่อในการทำงานที่แตกต่างกันไป รวมถึงเทรนด์การทำงานที่เกิดขึ้นช่วงหลังโควิด
- แนวคิด Work Life Balance มองว่าความสมดุลของชีวิตและการทำงานเป็นสิ่งจำเป็น ควรแยกเวลางานออกจากเวลาส่วนตัว แต่ทั้งนี้สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามจังหวะชีวิต
- นอกจากนี้ยังมีแนวคิดการทำงานแบบ Work-life Harmony, Work-life Integration, Workaholic, Anti-Work Movement, Quiet Quitting, Climate Quitting ที่แตกต่างกันไปตามความเชื่อของแต่ละคน
มนุษย์งานในทุกๆ ธุรกิจ ทุกๆ อุตสาหกรรมต่างยอมรับว่า โลกการทำงานในวันนี้แตกต่างไปจากอดีตอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เข้ามาดิสรัปต์ การระบาดใหญ่ของโควิดก่อนหน้านี้ หรือการตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เข้มข้นมากขึ้น ล้วนเป็นปัจจัยมากระทบให้ “ชีวิตการทำงาน” ของทุกคนเปลี่ยนไป
ทั้งนี้ วิถีหรือความเชื่อในการทำงานที่คนใดคนหนึ่งยึดถือ อาจไม่สามารถนำไปตัดสินรูปแบบการทำงานของอีกคนได้ เพราะแต่ละคนมีอาชีพ บทบาทหน้าที่ และระดับตำแหน่งงานที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับจังหวะชีวิตของแต่ละคนว่าอยู่จุดไหนของหน้าที่การงาน ดังนั้น หลักแนวคิดหรือความเชื่อในการทำงานแบบต่างๆ ควรเป็นสิ่งที่สามารถปรับให้เหมาะกับชีวิตในแต่ละช่วงเวลาได้
กรุงเทพธุรกิจ ชวนเช็กลิสต์ 10 คำศัพท์ในโลกการทำงานที่สะท้อนถึงแนวคิดในการทำงานรูปแบบต่างๆ ที่หลายคนคงเคยเห็นผ่านตาอยู่บ้าง แต่อาจจะยังไม่รู้ความหมายจริงๆ ของคำเหล่านั้น วันนี้มาลองทบทวนกันอีกครั้ง ดังนี้
1. Work-life Balance
เป็นแนวคิดการทำงานที่จัดสรรความสัมพันธ์ระหว่าง ภาระผูกพันส่วนบุคคล (personal life) กับหน้าที่การงาน (work) โดยมุ่งสร้างความสมดุลระหว่างเวลาชีวิตส่วนตัวและเวลาทำงาน เพื่อลดความขัดแย้งของบุคคลต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสิ่งแวดล้อมในที่ทำงาน
กลุ่มคนที่เชื่อใน Work Life Balance มองว่าความสมดุลของชีวิตและการทำงานเป็นสิ่งจำเป็น ควรแยกเวลางานออกจากเวลาส่วนตัว แต่ทั้งนี้การแบ่งเวลาดังกล่าวก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาตามจังหวะชีวิต ขึ้นอยู่กับความพอใจในการจัดสรรเวลางานกับเวลาส่วนตัว การกำหนดสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานของแต่ละคนมีเส้นแบ่งไม่เหมือนกัน ไม่จำเป็นว่าจะต้องให้เวลาแต่ละด้านเท่ากัน แต่มันคือความสามารถในการจัดสรรเวลาให้เกิดความพึงพอใจทั้งสองทาง
ขณะเดียวกัน แนวคิดนี้ยังคงถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันในสังคมการทำงานอยู่เสมอ มีรายงานด้วยว่าบุคคลระดับผู้นำหรือซีอีโอชื่อดังระดับโลกหลายคนไม่เชื่อในแนวคิดนี้สักเท่าไรนัก
(อ่านเพิ่ม: คุยกับ ‘ท๊อป บิทคับ’ ในวันที่(ยัง)ไม่เชื่อเรื่องเวิร์คไลฟ์บาลานซ์, “ทํางานให้หนัก เหมือนตกนรก” ส่อง 10 บทเรียน ความเป็นผู้นำของ ‘อีลอน มัสก์’)
2. Work-life Harmony
กลุ่มคนที่เชื่อในแนวคิดนี้มองว่าการทำงานและการใช้ชีวิตส่วนตัว ควรผสานกันเป็นหนึ่งเดียวในลักษณะวงกลม กล่าวคือ ชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว เป็นสิ่งที่สามารถดำเนินไปอย่างสอดประสานกัน มีผลต่อกันและกัน โดยไม่สามารถแยกขาดจากกันได้
เมื่อคนคนหนึ่งสามารถมีความสุขในการทำงานทุกวัน เขาก็จะกลับบ้านอย่างมีความสุข ได้ใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ และยิ่งเขามีความสุขมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานดีเยี่ยมขึ้นมากเท่านั้น พูดได้ว่า Work-life Harmony คือการใช้ชีวิตและทำงานที่ประสานกันเป็นวงกลม ไม่ใช่ความหมายของการสร้างสมดุลระหว่างกัน
(อ่านเพิ่ม: เจฟฟ์ เบซอส ชอบแนวคิด Work Life Hamony)
3. Work-life Integration
แนวคิดนี้มองว่าชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวไม่สามารถตัดขาดกันได้ (คล้ายๆ กับ Work Life Hamony) ทุกอย่างในชีวิตประจำวันนั้นหลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียวทั้งหมด อยู่ที่ว่าแต่ละคนจะจัดการให้ทุกสิ่งที่ทำมีประสิทธิภาพและดีต่อใจได้มากที่สุดอย่างไร โดยมีเทคโนโลยีใหม่ๆ มาเชื่อมโยงโลกส่วนตัวและโลกการทำงานเข้าด้วยกันแบบ New Normal ทำงานได้จากทุกที่ทุกเวลา
พูดง่ายๆ ว่าเป็นแนวคิดแบบเน้นทางสายกลางที่เน้นการจัดสรรเวลาทุกชั่วขณะของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเวลาพักผ่อนหรือเวลาทำงานก็สามารถปรับมันให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ส่วนบุคคลได้ โดย Work-life Integration จะไม่ได้โฟกัสว่า เวลาไหนคือเวลาทำงาน เวลาไหนคือเวลาส่วนตัว แต่จะสนใจว่า “เวลาไหนคือเวลาที่ดีที่สุดในการทำสิ่งนี้” โดยไม่เคร่งครัดกับชั่วโมงทำงานเกินไป แตกต่างจาก Work-life Balance ซึ่งจะเน้นโฟกัสเรื่องความสมดุลของชีวิตและการทำงาน เราจึงต้องแยกเวลาทั้งสองอย่างนี้ออกจากกันให้ได้ แล้วจัดให้สมดุลกันมากที่สุด
4. Workaholic
เป็นแนวคิด และ/หรือ พฤติกรรมของการ “เสพติดการทำงาน” ซึ่งมักเชื่อว่าการทำงานหนักเข้าไว้จะทำให้ตนเองประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานได้เร็วกว่า ผู้ที่เชื่อในแนวคิดนี้มักจะมีพฤติกรรมการทำงานต่อเนื่องโดยไม่สามารถหยุดพักได้ มักคิดถึงเรื่องงานตลอดเวลาแม้ไม่ใช่เวลางาน
บางครั้งพบว่ามักจะทำงานมากเกินไป ทำงานล่วงเวลาเสมอและพยายามทำงานให้เสร็จสิ้น โดยไม่คำนึงถึงเวลาหยุดพักผ่อน หรือมีความต้องการทำงานอย่างต่อเนื่องเกินความจำเป็น ทั้งนี้ Workaholic มักเกิดขึ้นกับผู้ที่มีบุคลิกเป็นคนสมบูรณ์แบบ เจ้าระเบียบ ชอบแข่งขัน มีความทะเยอทะยาน เอาจริงเอาจัง มีความสุขจากการทำงาน หากไม่ได้ทำงานจะรู้สึกเครียด และหากมีเวลาว่างก็มักจะอยากทำงานเพิ่ม แม้ประสิทธิภาพหรือผลลัพธ์ของงานจะเท่าเดิมหรืออาจแย่ลงก็ตาม
5. Anti-Work Movement
แนวคิดต่อต้านการทำงาน โดยเป็นคำเรียกกลุ่มคนที่ต้องการใช้ชีวิตให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยไม่ต้องทำงาน(หนัก) หรือมองว่าเราไม่ต้องโปรดักทีฟตลอดเวลาก็ได้ ต้องการโลกที่ดีขึ้นโดยไม่ให้งานมานิยามชีวิตคนเรา รวมถึงคนที่ต้องการจะออกจากงานด้วย
ทั้งนี้ ความหมายของ anti-work ก็มีแยกย่อยออกไปหลากหลายระดับ อาจหมายถึงการต่อต้านงานในรูปแบบเดิมๆ ที่เป็นอยู่ หรืออาจหมายถึงการขจัดงานทุกรูปแบบออกไปเลย หรืออาจหมายถึงงานไม่ควรตั้งอยู่บนฐานของทุนนิยม แต่ควรเป็นงานให้ประโยชน์ในการเติมเต็มตัวตนของผู้คนหรือสังคมก็ได้ เป็นต้น
6. Quiet Quitting
แนวคิดนี้สื่อถึงการทำงานไปตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเต็มที่ แต่ก็ไม่ได้ทุ่มเททำงานหนักหามรุ่งหามค่ำ ซึ่งจุดประสงค์หลักของ Quiet Quitting ก็คือ การเยียวยาตนเองไม่ให้ตกอยู่ในสภาวะหมดไฟในการทำงาน หรืออีกนัยหนึ่งคือ การที่พนักงานไม่ทำงานที่เกินกว่าสิ่งที่พวกเขาถูกจ้างมาให้ทำ และไม่ได้รับค่าตอบแทนเพิ่มในส่วนนั้น
นอกจากนี้ ยังมีการทำงานรูปแบบ “Resenteeism” ที่เชื่อมโยงต่อเนื่องมาจาก Quiet Quitting แต่เป็นภาวะที่ร้ายแรงกว่า ใช้อธิบายภาวะที่ไม่พึงพอใจต่องานที่ทำอยู่ แต่ไม่สามารถหางานที่ดีกว่าได้ หรือเกิดจากความกลัวว่าจะไม่มั่นคงในงานที่ทำอยู่ในปัจจุบัน จนแสดงความไม่พึงพอใจออกมาอย่างชัดเจน โดยไม่ปกปิดอารมณ์เหล่านี้อีกต่อไป
(อ่านเพิ่ม: Quiet Quitting เทรนด์ทำงานที่มาแรงทั่วโลก, ไม่แฮปปี้ แต่ไม่ลาออก "ทำงานส่ง ๆ" เทรนด์ใหม่วัยทำงาน)
7. Act Your Wage
การทำงานให้ตามค่าจ้างที่ได้รับ ไม่ทำงานอะไรเกินตัว หรือไม่ทำงานที่เกินขอบเขตหน้าที่ของตนเอง คล้ายๆ กับ Quiet Quitting หรือในประเทศจีนก็มีเทรนด์นี้เกิดขึ้นเช่นกันแต่ใช้คำว่า “bai lan” (ปล่อยให้ชีวิตเน่าไป)
แนวคิดนี้สื่อถึง การยอมแพ้หรือเลิกดิ้นรนให้ตัวเองประสบความสำเร็จในที่ทำงาน ทำงานเท่าที่ได้รับมอบหมายก็พอ โดยไม่ได้ต้องการเป็นจุดสนใจ ไม่อยากก้าวหน้าใดๆ ในบริษัท และมองว่าสมดุลในการใช้ชีวิตมีความสำคัญมากกว่า อีกทั้งยังสื่อถึงระบบดูแลพนักงานในบริษัทส่วนใหญ่ไม่มีประสิทธิภาพอีกด้วย
(อ่านเพิ่ม: “Anti Work - Quiet Quitting” เทรนด์การทำงาน ปี 2565)
8. Climate Quitting
เทรนด์ “Climate Quitting” ลาออกจากงาน เพราะทัศนคติและค่านิยมด้านการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศของพนักงานและบริษัทไม่ตรงกัน โดยเฉพาะบริษัทในอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น บริษัทน้ำมัน หรือ แก๊สธรรมชาติ
แนวคิดนี้มาจากคนรุ่นใหม่อายุน้อยที่พวกเขาให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก จึงมองว่าหากบริษัทที่ตนทำงานอยู่ไม่ให้ความสำคัญเรื่อง “สิ่งแวดล้อม” และ “ความยั่งยืน” ก็ยอมลาออกจากบริษัทดีกว่า ขณะที่บริษัทน้ำมันและก๊าซก็ยอมรับว่า เป็นเรื่องยากที่พวกเขาจะหาพนักงานศักยภาพสูงมาร่วมงานด้วยได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบริษัทสูญเสียความน่าเชื่อถือและความศรัทธาจากวิกฤติสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงมากขึ้น
(อ่านเพิ่ม: ‘Climate Quitting’ คนรุ่นใหม่ลาออกจากงาน เพราะองค์กรไม่สนใจแก้ ‘ภาวะโลกร้อน’)
9. Bare Minimum Mondays
แนวคิดนี้สื่อถึงการทำงานไปตามหน้าที่ ไม่ทำงานหนักจนกดดันตนเองมากเกินไป ทำงานสบายๆ ตามความหมายของ “Bare Minimum” ที่แปลว่า ทำให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เลือกทำเฉพาะงานที่จำเป็น เน้นงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ไม่มีการประชุม และเน้นการดูแลตนเองให้มากขึ้น แต่จะทำแบบนี้เฉพาะในวันจันทร์เท่านั้น เพื่อลดความเสี่ยงภาวะ Monday Blues ที่มักมีอาการเศร้าหมอง เบื่อหน่าย และเหนื่อยล้าจิตใจเมื่อวันจันทร์มาถึง
(อ่านเพิ่ม: เลิกเกลียดวันจันทร์! เริ่มสัปดาห์แบบ "Bare Minimum Mondays")
10. Flow Fridays หรือ Flex Fridays
แนวคิดนี้เชื่อว่าคนเราควรจะได้ทำงานแบบผ่อนคลาย สบายๆ ในทุกวันศุกร์ เป็นการจัดสรรเวลาพนักงานมากขึ้นเพื่อที่จะได้ทำงานค้างต่างๆ ให้เสร็จสิ้นในวันสุดท้ายของสัปดาห์ ด้วยการงดประชุมที่ไม่จำเป็น จึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน
โดยพนักงานสามารถจัดลำดับความสำคัญงานที่ต้องทำทั้งสัปดาห์ไว้ตั้งแต่ก่อนเริ่มงานแต่ละสัปดาห์ แล้วดูว่างานไหนที่เร่งด่วน-ไม่เร่งด่วนบ้าง? จากนั้นวางงานสำคัญๆ หรืองานด่วนให้ทำช่วงต้นสัปดาห์ และวางงานที่ไม่เร่งด่วน หรืองานที่เครียดน้อยไว้ทำในวันศุกร์
(อ่านเพิ่ม: แนวคิด Flow Fridays เพื่อแก้ความเฉื่อยชาในวันศุกร์)