Quiet Quitting เทรนด์ทำงานที่มาแรงทั่วโลก แต่บางคนยังเข้าใจคำนี้ผิดไป!
"Quiet Quitting" เทรนด์ทำงานที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก จริงๆ แล้วมันคืออะไรกันแน่? ผู้เชี่ยวชาญด้านภาวะผู้นำ ชี้ บางคนยังเข้าใจคำนี้ผิดไปจากความเป็นจริง
KEY
POINTS
- Quiet Quitting เทรนด์ทำงานมาแรงไปทั่วโลก แต่บางคนอาจยังไม่รู้จักความหมายของคำนี้จริงๆ เพราะมองเพียงว่ามันคือ การอู้งาน หรือการทำงานไม่เต็มที่
- เคธี คาปริโน โค้ชด้านภาวะผู้นำ อธิบายว่า Quiet Quitting หมายถึง การที่พนักงานหยุดทำงานที่พวกเขาคิดว่าเกินกว่าสิ่งที่พวกเขาถูกจ้างมาให้ทำและไม่ได้รับค่าตอบแทนเพิ่มในส่วนนั้น
- อย่างไรก็ตาม การละทิ้งงานบางอย่าง ที่คิดว่ามันเกินกว่าขอบเขตงานของตนที่ต้องรับผิดชอบ แล้วเลือกที่จะทำงานแบบ Quiet Quitting นั่นอาจไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ยั่งยืน
เชื่อว่าวัยทำงานยุคนี้คงเคยได้ยินคำว่า “Quiet Quitting” กันมาบ้าง เพราะกำลังเป็นเทรนด์ทำงานมาแรงไปทั่วโลก แต่คุณรู้จักความหมายของคำนี้จริงๆ หรือไม่? บางคนอาจเข้าใจว่ามันคือพฤติกรรมการทำงานแบบ.. ไม่เต็มที่กับงานเท่าที่ควร โดยเฉพาะหัวหน้างานที่อาจมองว่านี่คือ “การหย่อนยานในหน้าที่”
แต่ผู้เชี่ยวชาญและโค้ชด้าน Leadership ชี้ให้เห็นว่า ปรากฏการณ์ Quiet Quitting ที่เกิดขึ้นทั่วโลกในตอนนี้ ไม่ได้เกิดจากตัวบุคคลเอง แต่เป็นผลกระทบจากโครงสร้างทรัพยากรบุคคลขององค์กร ที่บิดเบี้ยวและเปลี่ยนแปลงไปหลังการระบาดใหญ่โควิด
เทรนด์ “Quiet Quitting” เกี่ยวอะไรกับวิกฤติโควิดระบาด?
ย้อนกลับไปช่วงโควิดระบาดหนัก หลายบริษัทได้รับผลกระทบทางการเงิน จนต้อง “ปลดพนักงานออก” เพื่อรักษาบริษัทให้อยู่รอด เกิดคลื่นมหาชนคนตกงานจำนวนมาก ต่อมาเมื่อวิกฤติโรคระบาดจบลง เศรษฐกิจโดยรวมเริ่มฟื้นตัว บริษัทและธุรกิจต่างๆ ทยอยกลับมาเปิดดำเนินการอีกครั้ง โดยใช้พนักงานที่เหลืออยู่น้อยลง เพราะบริษัทไม่ได้รับพนักงานใหม่เพิ่มเพื่อมาทดแทนตำแหน่งเดิมที่ปลดออกไป
นั่นทำให้พนักงานในจำนวนน้อยลง ต้องแบกรับภาระงานต่างๆ ทั้งหมดในออฟฟิศ และหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องทำงานหนักกว่าเดิม เพราะบริษัทมีพนักงานไม่เพียงพอ นำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตอย่าง “ภาวะเบิร์นเอาท์” ของพนักงาน เมื่อเบิร์นเอาท์มากๆ เข้า ก็เชื่อมโยงถึงปรากฏการณ์ “Quiet Quitting” ในที่สุด ซึ่งจะเห็นว่าปัญหาที่สะสมมาจากช่วงโควิดระบาด ได้ส่งผลกระทบต่อๆ กันเป็นลูกโซ่มาจนถึงตอนนี้
เคธี คาปริโน โค้ชด้านภาวะผู้นำ (Leadership coach) และผู้เชี่ยวชาญด้านหน้าที่การงานของผู้หญิง อธิบายว่า หากใครกำลังเข้าใจว่า Quiet Quitting หมายถึงพนักงานที่ทำงานไม่เต็มที่ นั่นเป็นความเข้าใจผิด! จริงๆ แล้วคำนี้หมายถึง การที่พนักงานหยุดทำงานที่พวกเขาคิดว่าเกินกว่าสิ่งที่พวกเขาถูกจ้างมาให้ทำและไม่ได้รับค่าตอบแทนเพิ่มในส่วนนั้น
ผิดมากเหรอ? หากขอทำงานตามหน้าที่อย่างเต็มที่ โดยไม่รับภาระงานอื่นเพิ่ม
ด้าน เพจ เวสต์ อดีตพนักงานที่ทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านวิศวกรรม ผู้ซึ่งเห็นด้วยกับการทำงานแบบ Quiet Quitting เธอมองว่า พนักงานยังคงเก่งในงานของตน แต่พวกเขาไม่ได้อยากทำงานล่วงเวลาในเนื้องานส่วนอื่นๆ ที่งอกเพิ่มเข้ามา เธอบอกอีกว่า เธอทำงานครบตามกำหนด 9 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น ซึ่งแปลว่าเธอยังคงทำงานครบ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ยังคงปฏิบัติตามหน้าที่ของตนอย่างดี แต่บางครั้งเธอแค่กำจัดความรู้สึกเครียดออกไปเมื่อเจองานที่ล้นมือ
ขณะที่ในแง่มุมของผู้บริหารอย่าง เอส. คริส เอ็ดมอนด์ส ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ The Purposeful Culture Group (บริษัทที่ปรึกษาผู้นำระดับสูงเพื่อสร้างวัฒนธรรมการทำงานเชิงบวก) ก็มีความเห็นสอดคล้องกันว่า เกิดการเปลี่ยนแปลงจำนวนพนักงานอย่างมาก ในช่วงที่เกิดโรคระบาด ส่งผลให้พนักงานที่เหลือเกิดพฤติกรรม Quiet Quitting เพิ่มขึ้น
“บริษัทต่างๆ ผลักดันความรับผิดชอบเพิ่มเติมให้กับพนักงาน เนื่องจากบางองค์กรไม่ได้เตรียมพร้อมสำหรับการแพร่ระบาด จนต้องปลดคนออกจำนวนมาก รวมถึงเกิดการลาออกครั้งใหญ่ ซึ่งเกิดจากพนักงานหลายคนรู้สึกหงุดหงิดและเหนื่อยหน่าย กับการที่บริษัทยืนกรานตามกฎให้กลับไปทำงานในสำนักงานโดยไม่ยืดหยุ่น” เอ็ดมอนด์ส กล่าว
การทำงานแบบ Quiet Quitting อาจไม่ดีต่อใจแบบยั่งยืน?
อย่างไรก็ตาม การละทิ้งงานบางอย่างที่คุณคิดว่ามันเกินกว่าขอบเขตงานที่ต้องรับผิดชอบ แล้วเลือกที่จะทำงานแบบ Quiet Quitting นั่นอาจไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ยั่งยืน แต่ยังมีวิธีอื่นในการบรรลุผลด้านการทำงานอย่างที่ต้องการได้ ทั้งนี้ มีคำแนะนำจาก ซีอีโอเอ็ดมอนด์ส รวมถึง ออคตาเวีย โกเรเดมา โค้ชด้านอาชีพการงาน และ เคธี คาปริโน โค้ชด้านภาวะผู้นำ ได้พูดถึง “ทางออกของปัญหา” เรื่องนี้ ทั้งในมุมลูกจ้างและนายจ้าง ดังนี้
1. สำหรับลูกจ้าง/พนักงานบริษัท
ให้ลองประเมินลำดับความสำคัญและกำหนดขอบเขตในอาชีพการงานของคุณ โดยต้องรู้ว่าขอบเขตของคุณคืออะไร หากทำงานไปวันๆ โดยไม่ไม่เคารพสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับคุณ นั่นจะยิ่งทำให้หมดไฟในการทำงานเร็วขึ้น พนักงานควรถามตัวเองว่างานใดที่ทำให้พวกเขารู้สึกบรรลุผล (อิ่มเอมใจในการทำมันให้สำเร็จ) และงานไหนไม่สำคัญเท่านี้ ก็ค่อยตัดออกไป
จากนั้นพิจารณาว่างานใดสำคัญที่สุดสำหรับคุณ และสิ่งที่คุณต้องการทำให้สำเร็จในอาชีพการงานของคุณคืออะไร ลำดับถัดไปคือให้คุยกับหัวหน้าเพื่อทำความเข้าใจว่า คุณต้องการทำงานตำแหน่งใดเพื่อให้คุณประสบความสำเร็จและมีความสุขในบทบาทหน้าที่ของคุณมากขึ้น (หากคุณหยุดทำงานบางอย่าง เพราะคุณรู้สึกว่างานเหล่านั้นอยู่นอกขอบเขตหน้าที่ของคุณ นั่นอาจทำให้หัวหน้าคิดว่าคุณกำลังหย่อนยาน เพราะคิดว่างานเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งของงานของคุณ ดังนั้นควรคุยสื่อสารให้เข้าใจตรงกัน)
2. สำหรับนายจ้าง/ผู้นำ/หัวหน้างาน
ให้พูดคุยสื่อสารกับพนักงานของคุณให้มากขึ้น การเข้าใจพนักงานของคุณเป็นสิ่งสำคัญ และต้องแน่ใจว่าพวกเขารู้สึกว่าได้รับการสนับสนุนในบทบาทของตนเอง นี่ถือเป็นความรับผิดชอบของนายจ้างอย่างหนึ่ง อีกทั้งต้องให้ความยุติธรรมเรื่องค่าตอบแทนด้วย
ผู้นำควรมุ่งเน้นไปที่การสนทนาเป็นประจำ และสร้างความสัมพันธ์กับพนักงานของตน การพูดคุยอาจขยายออกไปนอกเหนือจากเรื่องงาน โดยรวมเอาความสนใจส่วนตัวของพนักงานเขาไปด้วย เพราะนั่นมักจะส่งผลกระทบต่อชีวิตการทำงานของพวกเขา อีกทั้งผู้จัดการควรพิจารณาจัดการประชุมแบบตัวต่อตัวกับพนักงานงานอย่างน้อยไตรมาสละครั้ง เพื่อแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในฐานะผู้นำ สร้างการมีส่วนร่วม และความใส่ใจกับพนักงาน
อย่างไรก็ตาม หากพนักงานรู้สึกว่างานที่ทำอยู่กำลังกลืนกินจิตวิญญาณ และรู้สึกหมดไฟในการทำงานลงเรื่อยๆ การเลือกทำงานแบบ Quiet Quitting ก็อาจช่วยบรรเทาได้ส่วนหนึ่ง แต่ไม่สามารถช่วยได้ตลอดไป ดังนั้นพนักงานควรหาทางแก้ไข (ไม่ว่าจะเป็นการพุดคุยกับหัวหน้าหรือปรึกษาจิตแพทย์เพิ่มเติม) เพื่อหาทางฟื้นฟูใจและสร้างไฟในการทำงานให้กลับมาอีกครั้ง