หลายบริษัทกำลัง 'Quiet Cutting' เลิกจ้างแบบเงียบๆ พนักงานไม่รู้ตัว
ไม่ใช่แค่ลูกจ้างที่ “Quiet Quitting” (ไม่ทุ่มเทให้งาน ทำตามหน้าที่ไปวันๆ) แต่หลายบริษัทก็กำลัง “Quiet Cutting” เลิกจ้างพนักงานทางอ้อม ทำเงียบๆ ไม่ให้รู้ตัว ด้วยการให้งานใหม่ที่ไม่เคยทำมาก่อนหรือให้งานที่ด้อยค่าลง
Key Points:
- ปรากฏการณ์ Quiet Cutting กำลังเกิดขึ้นในหลายบริษัทในสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็น Adidas, Adobe, IBM, Salesforce ฯลฯ
- สาเหตุที่บริษัทมอบหมายงานใหม่ให้พนักงานเก่านั้น เป็นส่วนหนึ่งของการ “ปรับโครงสร้างองค์กร” โดยอาจทำเพื่อเติมเต็มงานที่สำคัญต่อแผนงานขององค์กรในอนาคต ในขณะเดียวกันก็ช่วยลดต้นทุนได้
- แต่ในอีกแง่หนึ่ง การกระทำดังกล่าวอาจหมายถึง “เล่นเกมรอจังหวะ” เพื่อรอให้พนักงานที่โดนโยกย้าย อาจตัดสินใจลาออกด้วยตัวเอง โดยที่บริษัทไม่ต้องประกาศ Lay Off จึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
ปรากฏการณ์ “Quiet Cutting” กำลังเกิดขึ้นกับบริษัทยักษ์ใหญ่ในต่างประเทศหลายแห่ง (อาจมีบริษัทในไทยบางแห่งด้วย) ซึ่งหมายถึง การที่บริษัทมีการปรับโครงสร้างองค์ใหม่ อาจด้วยเหตุผลเรื่องการสร้างรายได้, งบการเงินขาดทุน, มีต้นทุนที่ไม่จำเป็น จึงจำเป็นต้องลดพนักงานบางแผนกลง หรือตัดตำแหน่งงานบางตำแหน่งออกไป
- ทำไมจึงเกิดปรากฏการณ์ "Quiet Cutting" มากขึ้นในปีนี้
The Wall Street Journal รายงานว่า ปรากฏการณ์ Quiet Cutting กำลังเกิดขึ้นในหลายบริษัทในสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็น Adidas, Adobe, IBM, Salesforce ฯลฯ สะท้อนว่าลูกจ้างกำลังเผชิญกับตลาดแรงงานที่ไม่แข็งแกร่งเท่าปีที่แล้ว
ขณะที่ AlphaSense แพลตฟอร์มการวิจัยทางการเงิน ได้เปิดเผยผลวิเคราะห์ผ่าน The Wall Street Journal ว่า สาเหตุที่บริษัทข้างต้นมอบหมายงานใหม่ให้พนักงานนั้น เป็นส่วนหนึ่งของการ “ปรับโครงสร้างองค์กร” หลังจากที่บริษัทมีการ Earnings Calls เพิ่มขึ้นกว่า 3 ครั้ง ระหว่างเดือนสิงหาคมปีที่แล้วจนถึงเดือนสิงหาคมปีนี้ ซึ่งสะท้อนว่าบริษัทอาจอยู่ในช่วงการเงินไม่มั่นคง
หมายเหตุ: Earnings Calls หมายถึง การเรียกประชุมผู้บริหารระดับสูงและนักลงทุน เพื่อแจ้งอัปเดตรายได้ของบริษัทต่อนักลงทุน/ผู้ถือหุ้น และการคาดการณ์กำไรต่อหุ้นสำหรับไตรมาสปัจจุบันหรือทั้งปี ซึ่งอาจบ่งบอกถึงภาพรวมของธุรกิจ
- “โยกย้ายพนักงาน” คนเดิมไปสู่ตำแหน่งใหม่ มุมหนึ่งทั้งองค์กรและพนักงานได้ประโยชน์ แต่อีกมุมคือการบีบให้ลาออกอย่างเงียบๆ
Andy Challenger รองประธานอาวุโสของ Challenger, Grey & Christmas บริษัทให้คำปรึกษาในการหางานใหม่ (Outplacement) อธิบายว่า การที่บริษัทมอบหมายงานใหม่ให้ลูกจ้างรายเดิมนั้น เป็นส่วนสำคัญของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ขององค์กรเพื่อให้อยู่รอดได้ต่อไป
“สำหรับบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีอายุยาวนานหลายปี และใช้เงินจำนวนมากในการจ้างผู้มีความสามารถระดับสูง การมอบหมายพนักงานเดิมให้รับบทบาทใหม่ อาจเป็นวิธีหนึ่งในการเติมเต็มงานที่สำคัญต่อแผนงานในอนาคต ในขณะเดียวกันก็ช่วยลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับกลยุทธ์เก่าได้ด้วย” Andy Challenger กล่าว
แต่ในอีกแง่หนึ่ง การกระทำดังกล่าวอาจหมายถึงผู้บริหารอาจกำลัง “เล่นเกมรอจังหวะ” (a waiting game : การจัดการกับสถานการณ์โดยจงใจไม่ทำอะไรเลย เพราะเชื่อว่าจะได้เปรียบจากการกระทำในภายหลัง) เพื่อรอให้พนักงานที่โดนโยกย้าย อาจตัดสินใจลาออกด้วยตัวเอง หากรู้สึกว่าติดอยู่กับงานที่ไม่ต้องการ ซึ่งทำให้บริษัทไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยจากการประกาศ Lay Off
- เปิดประสบการณ์ลูกจ้าง โดน Quiet Cutting แต่ฉันไม่ลาออก!
หนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก Quiet Cutting ก็คือ Matt Conrad พนักงานขายอาวุโสระดับเชี่ยวชาญ ของบริษัท IBM วัย 34 ปี โดยเขาได้รับการมอบหมายงานใหม่ 2 ครั้งในระยะเวลา 2 ปี ก่อนที่จะเข้ารับตำแหน่งปัจจุบัน (ครั้งที่3) เมื่อประมาณกลางปีที่แล้ว
เขาระบายความรู้สึกว่า “มันเหมือนบริษัทอยากสื่อสารประมาณว่า บริษัทซาบซึ้งกับทุกสิ่งที่คุณทำให้องค์กร แต่เพื่อที่เราจะได้ไม่เลิกจ้างคุณ ดังนั้นคุณจะต้องทำงานใหม่ที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุด หรือไม่ก็ไปหางานอื่นที่อื่นเถอะ”
ในการมอบหมายตำแหน่งงานใหม่ครั้งแรกของคอนราดในปี 2021 ผู้จัดการได้นัดหมายเขาเพื่อแจ้งให้ทราบว่าบทบาทผู้จัดการของเขาถูกยกเลิกแล้ว และเขาได้รับงานใหม่ในตำแหน่ง “พนักงานขายซอฟต์แวร์” ที่เขาไม่มีประสบการณ์มาก่อน ซึ่งเป็นการกระทำที่เขาบอกว่าส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของเขา แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็เลือกที่จะไม่ลาออก!
“การไม่ลาออกเมื่อถูกมอบหมายงานใหม่ มันเป็นเรื่องของหลักการ ผมจะไม่ยอมแพ้เพราะผมเคยอยู่ในตำแหน่งพนักงานระดับสูงมาก่อน และมันไม่ยุติธรรมเลย” Matt Conrad กล่าว
อีกกรณีหนึ่งเกิดขึ้นกับ Grant Gurewitz พนักงานฝ่ายการตลาดของบริษัทซอฟแวร์แห่งหนึ่ง วัย 32 ปี เขาเล่าว่า เขาเพิ่งจะถูกโยกย้ายมาทำตำแหน่งใหม่ในสาขาต่างเมืองเมื่อต้นปี 2023 ที่ผ่านมา โดยบริษัทปลดตำแหน่ง “Head of growth marketing” ตำแหน่งเดิมของเขาออกไป แล้วให้เขามาทำตำแหน่งใหม่คือ “A Global head of growth marketing” โดยต้องย้ายทั้งที่ทำงาน ที่พัก มีความรับผิดชอบมากขึ้น แต่ไม่มีการขึ้นเงินเดือน!
บริษัทยื่นข้อเสนอนี้ให้เขาพร้อมกับให้เวลา 24 ชั่วโมงในการเลือกระหว่าง “ตกลงรับงานใหม่ 2 งาน” หรือ “ลาออก” สุดท้ายเขาก็เลือกรับงานแทนที่จะลาออก ด้วยเหตุผลที่ว่ามันเป็นโอกาสให้เขาได้เติบโตขึ้นในสายงานเดิม และช่วยต่อยอดทักษะที่เขามีอยู่เดิม
- ส่องสัญญาณ "Quiet Cutting" ที่แตกต่างจากการโยกย้ายตำแหน่งทั่วไป
อย่างไรก็ตาม การที่ลูกจ้างจมอยู่กับการปรับโครงสร้างองค์กร อาจสร้างความวิตกกังวลให้กับพนักงานไม่น้อย แน่นอนว่าไม่ใช่พนักงานทุกคนจะยอมรับตำแหน่งใหม่โดยดี ย่อมมีพนักงานบางส่วนที่เมื่อพวกเขารับรู้ว่าตนเองถูกผลักเข้าสู่สถานการณ์ลำบาก หรือรู้ตัวว่ามีความเสี่ยงจะถูก Lay Off แน่ๆ สถานการณ์นั้นก็จะกระตุ้นให้พวกเขาลาออก โดยไม่รู้ตัวเลยว่ากำลังถูกบริษัทเล่นเกมรอจังหวะอยู่เบื้องหลังหรือไม่?
น่าจะดีกว่าถ้าลูกจ้างสามารถสังเกตถึง “สัญญาณเตือน” ของ Quiet Cutting ในรูปแบบที่ผิดปกติ และนำมาซึ่งการบีบให้ลาออกทางอ้อม โดยมีคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญอย่าง Roberta Matuson โค้ชดูแลผู้บริหารและที่ปรึกษาธุรกิจ (เคยร่วมงานกับ General Motors และ Microsoft) และ Naomi Sutherland ที่ปรึกษาผู้นำระดับโลกด้านการพัฒนาความสามารถ ดังนี้
1. มีการมอบหมายตำแหน่งงานใหม่ ที่เป็นงานระดับต่ำกว่าระดับค่าจ้างหรือต่ำกว่าทักษะที่คุณมีอยู่ในปัจจุบัน
2. ลูกจ้างได้รับข้อเสนอบทบาทหน้าที่ใหม่ ซึ่งเจ้านายรู้ดีว่าการโยกย้ายคุณไปตำแหน่งนั้น ไม่ใช่ทางเลือกที่ดีสำหรับคุณ
3. ลูกจ้างถูกให้โยกย้ายไปทำตำแหน่งใหม่ โดยให้ไปอยู่ในแผนกที่มีข่าวลือว่ากำลังจะถูกเลิกจ้างในอนาคตอันใกล้
ทั้งนี้ พนักงานที่เกิดความสงสัยหรือวิตกกังวลเกี่ยวกับการถูกมอบหมายงานใหม่ ควรถามผู้จัดการของตนเองอย่างตรงไปตรงมาว่าเหตุใดจึงเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น และการมอบหมายงานใหม่จะส่งผลต่อเส้นทางอาชีพของคุณอย่างไร เพื่อเช็กคำตอบและดูท่าทีของผู้จัดการว่ามีสิ่งอื่นเคลือบแฝงหรือไม่ อาจทำให้คุณตัดสินใจว่าจะอยู่หรือไปได้ง่ายขึ้น
------------------------------------
อ้างอิง: The Wall Street Journal