โอกาส!โลกการทำงานและความท้าทายของ "กลุ่ม LGBTQ+"
ต้อนรับเดือน Pride Month กับเรื่องราวของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ+ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา กลุ่ม LGBTQ+ ได้รับการยอมรับมากขึ้น ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอดีต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้ชีวิจประจำวัน หรือการทำงานลดน้อยลง
KEY
POINTS
- โอกาสและความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน กลุ่ม LGBTQ+ มักไม่ได้รับการฝึกอบรมตามตำแหน่งงานหรือไม่ได้รับการเลื่อนขั้น
- องค์กรไม่ก้าวก่ายและให้ความเคารพความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น รณรงค์ให้เกิดการปฏิบัติต่อพนักงานทุกคนอย่างเท่าเทียม
- ต้องปรับปรุงกฎ ระเบียบ นโยบายที่ยืดหยุ่น เหมาะสมต่อเพศสภาพที่หลากหลาย ประเมินผลที่ “ความสามารถ” ไม่ใช่ “การแสดงออกทางเพศ” และสนับสนุนให้ภาคภูมิใจ
ต้อนรับเดือน Pride Month กับเรื่องราวของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ+ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา กลุ่ม LGBTQ+ ได้รับการยอมรับมากขึ้น ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอดีต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้ชีวิตประจำวัน หรือการทำงานลดน้อยลง
ยิ่งในยุคปัจจุบัน กระแสความเท่าเทียมยังคงมาแรงอย่างต่อเนื่อง กลุ่ม LGBTQ+ ได้รับการยอมรับมากขึ้นจากเทรนด์โลกที่เปลี่ยนไป รวมไปถึงออฟฟิศและบริษัทหลายๆ ที่ต่างออกนโยบายใหม่ๆ มาเพื่อรองรับชาว LGBTQ+ มากขึ้น
ประเทศไทยให้การยอมรับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศกัน หรือกลุ่มคนเหล่านี้ถูกเรียกว่ากลุ่ม LGBTQ+ มากขึ้น ในช่วงหลายปี ที่ผ่านมาโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงปี 2565 ได้มีการรณรงค์อย่างมากในเรื่องของการให้การยอมรับในเรื่องของ “ความหลากหลายทางเพศ” โดยไม่เลือกปฎิบัติต่อกลุ่ม LGBTQ+ สร้างความเท่าเทียมกันในสังคมที่ทำงาน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
Pride Month คืออะไร ทำไมต้องมิถุนายน เหตุใด 'สีรุ้ง' จึงเป็นตัวแทน LGBTQ+
'วันนั้นของเดือน' ไม่ได้มีเฉพาะผู้หญิง คนข้ามเพศ สามารถมีอาการได้
ความท้าทายของกลุ่มLGBTQ+
งานวิจัย “ความท้าทายของกลุ่ม LGBTQ+ ที่ต้องเผชิญในที่ทำงาน” ของธภัทร บุญสถิตถาวร สารนิพนธ์หลักสูตรปริญญาการจัดการมหาบัณฑิต วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2566 ระบุถึงอุปสรรคต่างๆ ที่กลุ่ม LGBTQ+ ต้องเผชิญในที่ทำงาน รวมถึงปัญหาภายในองค์กรที่มีอคติต่อกลุ่ม LGBTQ+ และต้องการส่งเสริมกลุ่ม LGBTQ+ ให้มีพื้นที่ในสังคมการทำงานรวมถึงมี ความเท่าเทียมเหมือนเพศชายหญิงปกติทั่วไป
จากผลการวิจัยพบว่าอุปสรรคที่กลุ่ม LGBTQ+ ต้องเผชิญในที่ทำงานมีอยู่ทั้งหมด 4 อุปสรรค ได้แก่
1.เกิดขึ้นตั้งแต่ยังไม่เริ่มการทำงาน นั่นคือการเข้าถึงการจ้างงาน โดยเริ่มแรก กลุ่ม LGBTQ+ มักจะถูกเลือกปฎิบัติ โดยเฉพาะในกลุ่มคน ข้ามเพศมักจะถูกมองเป็นตัวประหลาดและถูกมองว่าไม่ควรมาทำงานในกระแสหลัก
2. การได้รับการยอมรับจากคนใน สังคมที่ทำงาน กลุ่ม LGBTQ+ มักจะถูกนินทาเสียดสีล้อเลียน ด้วยคำพูดเชิงดูถูก ทำให้รู้สึกแย่และถูกกดดัน นอกจากน้ีการได้รับการ ยอมรับในที่ทำงานยังถูกแบ่งออกเป็นสี่ประเภทอีกด้วย
3.โอกาสและความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน กลุ่ม LGBTQ+ มัก ไม่ได้รับการฝึกอบรมตามตำแหน่งงานหรือไม่ได้รับการเลื่อนขั้นด้วยเหตุผลที่ว่าหากไปรับตำแหน่งที่สูงกว่าด้วยภาพลักษณ์แห่งการเป็น LGBTQ+ จะไม่เหมาะสมกับตำแหน่งที่จะขึ้นไปเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานข้าราชการจะยิ่งมีอคติกับกลุ่ม LGBTQ+ มากที่สุด
4.สวัสดิการจากการจ้างงาน กลุ่ม LGBTQ+ ให้ความสำคัญกับตัวเงินเป็นหลักมากกว่าที่จะให้ ความสำคัญกับสวัสดิการเพราะตนเองมองว่าไม่ได้รับประโยชน์จากสวัสดิการเท่ากับกลุ่มชายหญิงปกติทั่วไปมากนัก
ผลการวิจัยดังกล่าวสามารถนำไปปรับใช้ในองค์กรทั้งทางภาครัฐและภาคเอกชนได้ เพื่อให้สังคมในที่ทำงานมีความเท่าเทียม กันมากขึ้น และสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศในที่ทำงาน
LGBTQ+ ต้องเจออะไร?ในโลกแห่งการทำงาน
1. การสมัครงานที่มีการจำกัดเพศ
เริ่มต้นด้วยเรื่องราวสุดคลาสสิกที่มนูษย์ทำงานทุกคนต้องเจอ คือรายละเอียดการเปิดรับสมัครงาน ที่มักมีการระบุเพศว่าตำแหน่งดังกล่าวต้องการรับพนักงานเพศไหน ซึ่งที่เราพบกับเจอมานาน ก็จะระบุแบบชัดเจนไปเลย ว่ารับเพศชายหรือเพศหญิง ซึ่งกลุ่ม LGBTQ+ ก็จะต้องเลือกสมัครงานตามเพศสภาพของตัวเองให้ตรงกับที่ Job Description ระบุไว้
การส่งใบสมัครงานไปยังบริษัทต่างๆ หรือการพูดคุยนัดหมายผ่านทางโทรศัพท์ ฝ่ายบุคคลไม่อาจรับรู้ได้ว่าผู้สมัครเป็นกลุ่ม LGBTQ+ แต่เมื่อวันสัมภาษณ์มาถึงและได้พบเจอตัวจริงเป็นครั้งแรกของทั้ง 2 ฝ่าย เมื่อบริษัทนั้นรับรู้ว่าผู้สมัครเป็นชาว LGBTQ+ บางคนก็กลับถูกปฏิเสธการเข้าทำงาน หรือถูกปัดใบสมัครให้ตกรอบโดยทันที โดยไม่คำนึงถึงความสามารถหรือประสบการณ์ที่ผู้สมัครมี
ปัจจุบันมีหลายบริษัทที่เริ่มระบุรายละเอียดใน Job Description อย่างละเอียดไว้เลยว่า เปิดรับผู้สมัครทุกเพศ หรือบางที่ก็ระบุแบบชัดเจนไปอีกขั้นเลยว่า ยินดีต้อนรับผู้สมัครชาว LGBTQ+ ซึ่งนี่ก็ถือเป็นนิมิตรหมายอันดี ที่เราเริ่มได้การเปลี่ยนแปลงดีๆ เกิดขึ้น
2. การไม่กล้าเปิดเผยตัวตนที่แท้จริง
มีชาว LGBTQ+ หลายคน ที่ไม่ได้แสดงออกทางภายนอกมากนัก ว่าพวกเขาเป็นกลุ่มความหลากหลายทางเพศ หลายคนก็มีเหตุผลที่ต่างกันออกไป ซึ่งบางคนที่ไม่กล้าแสดงออกและปิดบังตัวตนที่แท้จริง ก็อาจเป็นเพราะพวกเขารู้สึกไม่สบายใจ ที่อาจถูกตัดสินจากคนรอบข้าง ซึ่งบางครั้งการปิดบังตัวตน อาจมีส่วนทำให้เกิดผลกระทบต่องานหรือทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลงได้เช่นกัน เผลอๆ อาจส่งผลต่อสภาพร่างกาย ทำให้เกิดความเครียดสะสม เป็นต้นเหตุของโรคอื่นๆ ตามมาก็ได้
3. รู้สึกไม่เข้าพวก
การทำงานในออฟฟิศมักมีหลายปัจจัยที่ช่วยทำให้เราสบายใจและอยากตื่นมาทำงานทุกเช้า เหตุผลหลักๆ ที่หลายคนคำนึง คงหนีไม่พ้นหัวหน้างานและเพื่อนร่วมงาน ยิ่งเฉพาะชาว LGBTQ+ ที่มักจะถูกสังคมตัดสินอยู่แล้ว ต่างก็ยิ่งอยากได้รับความเข้าใจจากคนรอบข้างมากขึ้น หากโชคดีได้เจอหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงานที่เข้าใจและยอมรับในสิ่งที่เขาเป็น สิ่งนี้ก็จะช่วยปลดล็อคให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น และทำให้พวกเขามีความสุขในการทำงานมากขึ้น
หากโชคร้ายเจอหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงานที่ไลฟ์สไตล์ไม่ตรงกัน หรือเจอคนที่ไม่ยอมรับและไม่เข้าใจกลุ่มชาว LGBTQ+ อาจทำให้พวกเขารู้สึกโดดเดี่ยว ไม่เข้าพวก และไม่มีคนที่เข้าใจพวกเขาได้ ซึ่งในชีวิตของมนุษย์ออฟฟิศก็มักจะมีการจับกลุ่มคล้ายๆ กับสมัยเรียนเช่นเดียวกัน ซึ่งถ้าบางคนโชคดีเจอกลุ่มเพื่อนที่เข้าใจ ก็จะสามารถทำงานร่วมกันหรือใช้ชีวิตในออฟฟิศด้วยกันได้อย่างราบรื่น
ดังที่กล่าวไปแล้ว หากโชคร้ายเจอคนที่แอนตี้พวกเขา ควมรู้สึกโดดเดี่ยวต้องมีการเกิดขึ้นแน่นอน ซึ่งก็อาจะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงาน ไปจนถึงแรงจูงใจในการมาทำงาน และเกิดการเปลี่ยนที่ทำงานในที่สุด แล้วยิ่งถ้าพวกเขาเหล่านั้นมีทักษะหรือความสามารถที่เต็มเปี่ยม แต่กลับต้องลาออกจากงาน เพียงเพราะปัญหาเหล่านี้ บริษัทนั้นๆ ก็อาจจะต้องเสียบุคลากรชั้นแนวหน้าไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นี่จึงเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ควรรีบแก้ไขโดยเร็วที่สุด
4. ปัญหาต่อการเลื่อนตำแหน่งและความก้าวหน้าทางอาชีพ
ทุกคนก็อยากเติบโตก้าวหน้าในสายอาชีพของตัวเอง ซึ่งหลายครั้งการตัดสินให้ถูกเลื่อนตำแหน่ง ก็ไม่ได้ถูกพิจารณาจากความสามารถและผลงานอย่างเดียว แต่มักมีเรื่องของอคติต่อบุคคลเข้ามาปนอยู่ด้วยเสมอไม่มากก็น้อย
เรื่องเหล่านี้เป็นปัญหามาช้านาน และเกิดได้กับทุกกลุ่มคน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเหยียดเชื้อชาติหรือสีผิวในองค์กรระดับ International หรือการกำจัดเรื่องของเพศในบางบริษัท ที่มักนิยมให้ผู้ชายได้รับตำแหน่งใหญ่ๆ มากกว่าผู้หญิง
แน่นอนว่าชาว LGBTQ+ ก็ต้องเผชิญกับปัญหาเหล่านี้ไม่แพ้กลุ่มคนทั่วไป แม้ว่าพวกเขาจะมีความสามารถมากแค่ไหน แต่ถ้ามีหัวหน้าหรือผู้ประเมินที่ไม่เข้าใจ ก็อาจถูกสกัดไม่เติบโตในหน้าที่การงานได้ เพียงเพราะคนบางกลุ่มไม่เชื่อมั่นว่า กลุ่ม LGBTQ+ จะสามารถก้าวขึ้นมารับหน้าที่ในตำแหน่งสำคัญของบริษัทได้
5. การถูกเลือกปฏิบัติจากลูกค้า
แน่นอนว่าทุกธุรกิจมักมีเรื่องของลูกค้าเข้ามาเกี่ยวข้อง นี่จึงเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ชาว LGBTQ+ ต้องรับมือ แค่เจอหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงานที่ไม่เข้าใจก็แย่พออยู่แล้ว หากต้องเจอลูกค้าที่เป็นแบบนี้อีกล่ะก็ ยิ่งเครียดเป็น 2 เท่าแน่ๆ
หากว่าด้วยเรื่องของมนุษย์ออฟฟิศ ชาว LGBTQ+ หลายคนที่ต้องมีการดีลงานกับลูกค้าภายนอก หรือได้รับมอบหมายให้ทำโปรเจคต์ใหม่สักหนึ่งงานที่มีลูกค้ามาเกี่ยวข้อง มักต้องเจอการเลือกปฏิบัติจากลูกค้า โดยลูกค้าบางคนเมื่อทราบว่าคนดูแลโปรเจคต์เป็นชาว LGBTQ+ ก็ตรงดิ่งไปแจ้งกับบริษัทว่าขอเปลี่ยนคนดูแลโปรเจคต์แทนซะอย่างนั้น
6. คำพูดและเสียงนินทาจากคนรอบข้าง
กลับมาต่อกันที่เรื่องในบริษัท การเป็นชาว LGBTQ+ มักต้องเจอคำนินทาจากคนรอบข้าง ไม่เฉพาะแม้แต่เรื่องงาน แต่เรื่องส่วนตัวก็เม้าท์หนักไม่แพ้กัน หรือบางคนอาจเจอการถูกเรียกสรรพนามที่ไม่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางเพศของตนเอง และบางครั้งก็อาจถูกเรียกเพศแบบผิดๆ ไปจนถึงการดูถูกหรือเหยียดหยาม
หรือแม้กระทั่งการถูกแซวเล่นจากคนที่ไม่สนิท ซึ่งบางครั้งคนเหล่านั้นอาจไม่ได้คิดมากอะไร แต่กลับไม่รู้ว่าการกระทำเหล่านี้เป็นการทำร้ายจิตใจชาว LGBTQ+ เข้าอย่างจัง
7. สวัสดิการที่ทำให้พวกเขารู้สึกเข้าถึงยาก
อีกหนึ่งปัจจัยที่หลายคนเลือกจะทำงานกับบริษัทใดบริษัทหนึ่ง เรื่องของสวัสดิการก็เป็นสิ่งที่สำคัญ แต่บางครั้งสวัสดิการที่เกิดขึ้นกลับรองรับแค่ผู้ชายหรือผู้หญิงเท่านั้น แต่ไม่ได้ครอบคลุมไปถึงชาว LGBTQ+ ซึ่งหากบริษัทต่างๆ พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงและให้ความสำคัญกับเรื่องของความหลากหลายมากขึ้น
สิ่งที่ควรปรับใช้ในองค์กรต้อนรับชาว LGBTQ+
จากการวิจัยของต่างประเทศระบุว่า ในยุคนี้ปัญหาเกี่ยวกับชาว LGBTQ+ ควรเป็นอีกหนึ่งที่ต้องได้รับการแก้ไข และควรเป็นหน้าที่ของผู้บริหารที่ต้องลงมาดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้พนักงานทุกคน ทุกเพศได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรอย่างเท่าเทียม เราจึงได้ลิสต์แนวคิดต่างๆ ต่อชาว LGBTQ+ ที่สามารถนำไปปรับใช้ในองค์กรได้มาฝากกัน
- ไม่ก้าวก่ายและให้ความเคารพความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น
- รณรงค์ให้เกิดการปฏิบัติต่อพนักงานทุกคนอย่างเท่าเทียม
- ไม่ควรคุยเล่นให้เรื่องที่ไม่ควรคุย จนก่อให้เกิดการบุลลี่
- กล่าวถึงพนักงาน LGBTQ+ ให้เป็นเหมือนพนักงานคนอื่นๆ
- จัดอบรมและทำความเข้าใจกับพนักงานคนอื่นๆ เพื่อส่งเสริมพนักงาน LGBTQ+
- จัดตั้งชมรมหรือเครือข่าย เพื่อสนับสนุนพนักงาน LGBTQ+
- จ้างพนักงานที่มีความหลากหลายมากขึ้น เช่น กลุ่ม LGBTQ+, พนักงานที่มีความทุพพลภาพ หรือพนักงานผิวสี เป็นต้น
- มีสวัสดิการที่ครอบคลุมถึงพนักงาน LGBTQ
สัญญาณการเปลี่ยนแปลงที่ดีต่อชาว LGBTQ+
ช่วงนี้หลายๆ ฝ่ายจะยังอยู่ในขั้นตอนการรณรงค์เรื่องความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศ แต่ในประเทศไทยตอนนี้ก็มีอยู่หลายบริษัทที่เริ่มคำนึงถึงชาว LGBTQ+ มากขึ้นแล้ว เช่น
- การประกาศรับสมัครงานที่ไม่ระบุเพศ หรือระบุว่าต้อนรับพนักงานชาว LGBTQ+
- สวัสดิการที่รองรับชาว LGBTQ+ มากขึ้น
- การลาแต่งงานได้เหมือนคู่ชาย-หญิง
- มอบเงินสนับสนุนคู่แต่งงานเพศเดียวกัน
- การลาเพื่อดูแลคู่สมรสหรือบุตร
- บริษัทอสังหาฯ ที่ให้พนักงานชาว LGBTQ+ กู้ร่วมซื้อบ้านกับคนรักได้
- การลาเพื่อผ่าตัดแปลงเพศ
อย่างไรก็ตาม เรื่องราวการใช้ชีวิตของชาว LGBTQ+ ในที่ทำงานมนุษย์ควรได้รับการปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นเพศไหน สัญชาติอะไร เชื้อชาติใด สีผิวแบบไหน ทุกคนล้วนมีค่าในตัวเองทั้งนั้น อีกทั้งทุกคนล้วนมีทักษะและศักยภาพในตัวเอง ที่จะสามารถทำงานและช่วยพัฒนาองค์กรต่างๆ ให้เจริญเติบโตได้ไม่แพ้คนทั่วไป
แม้ตอนนี้เรื่องของชาว LGBTQ+ ในไทยจะเปิดกว้างมากขึ้น แต่ก็ยังรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากมายที่ต้องพัฒนาและปรับปรุง จากการปรับตัวของหลายหน่วยงานในตอนนี้ก็ถือเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับชาว LGBTQ+ ว่าในอนาคตพวกเขาจะได้รับการยอมรับจากสังคมแบบ 100% โดยไม่มีข้อกังขา
เทคนิคจิตวิทยา สร้างการยอมรับ LGBTQ+ในที่ทำงาน
"Pride Month" ไม่ใช่แค่เพียงความแตกต่างทางเพศเท่านั้น รวมถึงความแตกต่างทางความคิด การเมือง ความคิดเห็น เราแตกต่างกันได้แต่อย่าทะเลาะ อย่าเกลียดชัง เข้าใจซึ่งกันและกัน ร่วมมือ แล้วเราจะเดินร่วมกันได้
สำหรับเทคนิคจิตวิทยา สร้างการยอมรับ LGBTQ+ในที่ทำงาน มีดังนี้
1.ไม่ควรบังคับให้บุคลากรอยู่ภายใต้ “ความเป็นหญิง” หรือ “ความเป็นชาย”
- โดยการไม่กำหนดเครื่องแต่งกายตามเพศกำเนิด เช่น
- ผู้หญิงต้องใส่กระโปรงเท่านั้น ผู้ชายต้องใส่กางเกง ใส่เชิ้ตสุภาพเท่านั้น
- จำกัดทรงผม หรือห้ามตกแต่งร่างกายด้วยเครื่องประดับตามเพศสภาพ
- ในการแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ ในการทำงาน หรือการสร้างสรรค์ผลงาน ควรทำได้อย่างเปิดกว้าง ไม่ควรจำกัดด้วยความเป็นหญิง หรือชาย
2. ต้องสร้าง “ความเท่าเทียมทางเพศ”
โดยการสนับสนุนบุคลากรในทุก ๆ ด้านอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านการทำงาน ด้านการพัฒนาตนเอง ด้านคุณภาพชีวิตส่วนตัว โดยไม่เลือกปฏิบัติ หรือสร้างข้อจำกัดว่าสามารถทำได้เฉพาะเพศใดเพศหนึ่งเท่านั้น เพราะในยุคสมัยนี้ที่ทุกคน “เท่าเทียมกัน” สามารถทำในสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้อย่างเท่าเทียมกัน
3.ต้องปรับปรุงกฎ ระเบียบ นโยบายที่ยืดหยุ่น เหมาะสมต่อเพศสภาพที่หลากหลาย
แม้ว่าองค์กรจะยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงให้รองรับต่อความหลากหลายทางเพศสภาพได้อย่างทันที แต่สามารถเริ่มต้นโดยการปรับเปลี่ยนกฎ ระเบียบ นโยบายที่ยืดหยุ่น เหมาะสมเพื่อให้รองรับความหลากหลายทางเพศของบุคลากร ส่งเสริมกำลังใจในการทำงาน ลดความเครียด ลดความกดดัน และส่งเสริมสุขภาพจิตให้แก่บุคลากร
4. ประเมินผลที่ “ความสามารถ” ไม่ใช่ “การแสดงออกทางเพศ”
ในการตั้งเกณฑ์การประเมินผล โดยพิจารณาที่ “ความสามารถ” เช่น ผลการปฏิบัติงานความพึงพอใจของผู้รับบริการ รางวัลที่ได้รับ มากกว่าการแสดงออกว่าเขาแต่งตัวแบบไหน แต่งหน้ามาทำงานหรือไม่ มีรอยสัก เจาะ หรือนอกเวลางานเขาไปเที่ยวที่ไหน
เพราะนอกเวลางานคือเวลาส่วนตัวที่เขามีสิทธิ มีอิสระที่จะใช้ชีวิตอย่างที่ต้องการ ดังนั้น เมื่อองค์การ/หน่วยงานต้องการประเมินผลการทำงานของบุคคล ก็มุ่งไปที่เวลางาน และผลสัมฤทธิ์ในการทำงานอย่างชัดเจน
5. สนับสนุนให้บุคลากรภาคภูมิใจในตนเอง
การเปิดโอกาส หรือจัดกิจกรรมที่สร้างความภาคภูมิใจในตนเองให้แก่บุคลากร เช่น การประกวดผลงานสร้างสรรค์ การส่งเสริมให้บุคลากรนำเสนอผลงานตามแบบฉบับของตนเอง การโหวตขวัญใจองค์กร เป็นต้น เพื่อให้บุคลากรกล้าที่จะเปิดเผยตัวตน มีความสนุกในการทำงาน และมีความภาคภูมิใจที่จะเป็นตัวของตนเอง และกล้าเปิดเผยตนเองอย่างสง่างาม
6. ส่งเสริมกิจกรรมที่สร้างความเข้าใจในความแตกต่าง
เป็นการส่งเสริมให้เกิดการยอมรับระหว่างบุคคลแล้ว ยังเป็นการละลายพฤติกรรม สร้างความสนิทสนมตามเทคนิคจิตวิทยา โดยไม่ต้องบังคับหรือยัดเยียด เช่น การแข่งกีฬาสีในองค์กร การสัมมนาต่างจังหวัด การออกทริปร่วมกันของบุคลากร การลงพื้นที่ทำ CSR ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้นอกจากจะส่งผลดีต่อบุคลากรให้รู้จักกัน สนิทสนมกันมากขึ้นแล้ว ยังส่งผลดีต่อองค์กรในการสร้างทีมงานที่แข็งแกร่ง
7. เชื่อมั่นในศักยภาพของบุคลากร และเปิดโอกาสให้บุคลากรได้แสดงความสามารถ
ควรมีการเปิดเวที หรือเปิดโอกาสให้บุคลากรได้แสดงความสามารถของตนเอง โดยไม่จำกัดด้วยเพศ หรือข้อจำกัดใด ๆ เช่น มอบหมายงานให้เหมาะสมกับความสามารถของบุคลากร ลดข้อจำกัดในการทำงาน สนับสนุนการทำงานของบุคลากรอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง เพื่อให้บุคลากรเกิดการรับรู้ว่าองค์การ/หน่วยงานมีการยอมรับบุคลากรทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน และสามารถแสดงศักยภาพได้อย่างเต็มความสามารถ
อ้างอิง: jobsdb ,istrong ,สารนิพนธ์ “ความท้าทายของกลุ่ม LGBTQ+ ที่ต้องเผชิญในที่ทำงาน” ของธภัทร บุญสถิตย์ถาวร