‘เทคโนโลยี ความยั่งยืน’ เปลี่ยนตลาดแรงงาน ‘ยานยนต์’ ต้องการแรงงานทักษะสูง

‘เทคโนโลยี ความยั่งยืน’ เปลี่ยนตลาดแรงงาน ‘ยานยนต์’ ต้องการแรงงานทักษะสูง

อุตสาหกรรมผลิตยานยนต์ของประเทศไทย กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ทั้งเทคโนโลยี การเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า และยานยนต์ประเภทอื่นๆ ที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ ทำให้ตลาดแรงงานต้องการแรงงานทักษะสูง พร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลง

KEY

POINTS

  • ภาคอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ของไทย เป็นภาคการส่งออกที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ มูลค่าถึง 1.02 ล้านล้านบาท (ประมาณ 27.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)
  • อุตสาหกรรมยานยนต์ กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์ประเภทอื่นๆ ที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ 
  • ทำให้ปัจจุบัน แรงงานทักษะสูงกำลังเป็นที่ต้องการของตลาด ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องมีการเพิ่มทักษะแรงงานที่มีอยู่เดิมทั้งอัปสกิล และ รีสกิล รวมถึง การส่งเสริมภาคการศึกษาเพื่อให้ผลิตบุคลากรให้ตรงกับความต้องการ

ภาคอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ของไทย เป็นภาคการส่งออกที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ คิดเป็นร้อยละ 14 ของการส่งออกทั้งหมดในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 และมีมูลค่าถึง 1.02 ล้านล้านบาท (ประมาณ 27.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียนและเป็นอันดับ 11 ของโลกโดยมีกำลังการผลิตมากกว่า 2 ล้านคันต่อปี

 

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมผลิตยานยนต์ของประเทศไทย กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ อันเนื่องมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์ประเภทอื่นๆ ที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

 

จากการเปลี่ยนผ่านดังกล่าว ทำให้ปัจจุบัน แรงงานทักษะสูงกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดไม่ใช่แค่อุตสาหกรรมยานยนต์เท่านั้น แต่ยังรวมทั้งอุตสาหกรรมอื่นๆ อีกด้วย ความต้องการเหล่านี้ อาจไม่ใช่ในเชิงปริมาณอีกต่อไป เพราะด้วยเทคโนโลยีที่เข้ามาทำให้ความต้องการแรงงานคุณภาพมากขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องมีการเพิ่มทักษะแรงงานที่มีอยู่เดิมทั้งอัปสกิล และ รีสกิล รวมถึง การส่งเสริมภาคการศึกษาเพื่อให้ผลิตบุคลากรให้ตรงกับความต้องการตลาด

 

‘เทคโนโลยี ความยั่งยืน’ เปลี่ยนตลาดแรงงาน ‘ยานยนต์’ ต้องการแรงงานทักษะสูง

เชื่อมทักษะใหม่ อุตสาหกรรมยานยนต์

จากรายงาน ทิศทางการเปลี่ยนแปลงและการเปลี่ยนผ่าน: การพัฒนาทักษะและภูมิทัศน์การจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ของไทย โดย องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) เผยถึงความจำเป็นที่จะต้องเชื่อมทักษะปัจจุบันกับความต้องการใหม่ๆ ในขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยกำลังมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน

 

ภูมิทัศน์การจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์กำลังเปลี่ยนแปลงไป อันเนื่องจากความต้องการของลูกค้าที่มีต่อยานพาหนะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีใหม่ๆ ส่งผลต่อทักษะและงานที่เป็นที่ต้องการ มีความต้องการทักษะดิจิทัล และความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีสีเขียวเพิ่มมากขึ้น

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการผลิตแบตเตอรี่ และซอฟต์แวร์ระบบอัตโนมัติของยานพาหนะ และเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรองรับสภาพแวดล้อมในการผลิตที่เป็นดิจิทัลและอัตโนมัติมากขึ้น การพัฒนาทักษะอย่างต่อเนื่องคือสิ่งจำเป็น

 

อย่างไรก็ตาม โครงการการศึกษาและการฝึกอบรมที่มีอยู่นั้น ไม่เพียงพอต่อความต้องการใหม่ๆ ของภาคอุตสาหกรรม เพื่อลดช่องว่างนี้ มีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มทักษะทางเทคนิค ไม่เพียงเท่านั้น ยังต้องส่งเสริมวัฒนธรรมการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและความสามารถในการปรับตัวซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการรักษาความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกอีกด้วย

 

 

เซียวเอี้ยน เฉียน ผู้อำนวยการคณะทำงานสนับสนุนเชิงวิชาการด้านงานที่มีคุณค่า ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิค และผู้อำนวยการสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศประจำประเทศไทย กัมพูชาและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว กล่าวว่า การพัฒนาแรงงานที่มีทักษะทางเทคนิคและความเชี่ยวชาญที่สูงขึ้นที่พร้อมสำหรับอุตสาหกรรม จะทำให้สามารถบรรลุเป้าหมายการขยายและเติบโตของอุตสาหกรรมได้ดียิ่งขึ้น และยังช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการจ้างงานที่มีรายได้และโอกาสในการดำรงชีวิตที่ดีขึ้น

 

นอกจากนี้ การเข้าถึงโอกาสในการยกระดับทักษะเดิมที่มีอยู่ให้ดีขึ้นและการสร้างทักษะใหม่เป็นสิ่งสำคัญในการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมสำหรับแรงงานที่ได้รับผลกระทบหรือจะได้รับผลกระทบจากระบบอัตโนมัติและดิจิทัล และจากการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นสีเขียวยิ่งขึ้น

 

พัฒนาทักษะ แรงงานข้ามชาติ

นอกจากนี้ รายงานพบความสำคัญในการบูรณาการการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ เข้ากับการจัดโครงการฝึกอบรมและการบริหารจัดการ เพื่อให้แน่ใจว่าพนักงานทุกคน ไม่ว่าจะมาจากที่ใด ต่างเข้าใจหลักปฏิบัติเหล่านี้ การศึกษายังเน้นถึงความจำเป็นที่ต้องให้แรงงานข้ามชาติซึ่งคิดเป็นร้อยละ 10 ของกำลังแรงงานในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ ได้มีส่วนร่วมในโครงการพัฒนาทักษะต่างๆ เพื่อความเท่าเทียมในการคุ้มครองสิทธิแรงงานและการเข้าถึงงานที่มีคุณค่า

 

อีกทั้ง โครงการฝึกอบรมจำเป็นต้องปรับรูปแบบการเรียนรู้ให้หลากหลาย รวมทั้งความเร็วที่เหมาะสมกับแรงงานสูงวัย เพื่อให้แน่ใจว่าพนักงานทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ยานยนต์ไทย ต้องการแรงงานทักษะสูง

สุพจน์ สุขพิศาล ประธานกล่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ (APIC) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และรองเลขาธิการสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย (TAPMA) เผยว่า ที่ผ่านมา พอพูดถึงเทรนนิ่ง คนจะคิดถึงฮาร์ดสกิล แต่ซอฟต์สกิลก็เป็นสิ่งสำคัญ ในการพัฒนาทักษะให้ไปสู่ระดับที่สูงขึ้น 50 ปีที่ผ่านมา เราทำในส่วนที่เป็น Mechanical skills เช่น การเชื่อม กลึง ขึ้นรูป พ่นสี ฯลฯ มากกว่า 2-3 เจเนอเรชั่น การถ่ายทอดของคนไทย คือ พี่สอนน้อง ทำให้สิ่งที่ขาดหายไป คือ การวางแผนในการสอน และทำให้ขาดตกไป ได้ไม่ครบ ไม่มีผิดถูก ซึ่งต่อไปอาจจะต้องขยับไปสู่ Electrical skills ทั้งสองศาสตร์ในมหาวิทยาลัยกลายเป็นคนละโลกระหว่างเครื่องกลกับไฟฟ้า

 

ดังนั้น สิ่งที่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย ทำงานร่วมกับ วิทยาลัยอาชีวศึกษา และ มหาวิทยาลัย ร่วมมือระหว่าง Mechanical และ Electrical เป็น “Mechatronics” เป็นภาควิชาสาขาที่รวมเอา 2 ทักษะไว้ด้วยกัน ในวิทยาลัยเทคนิคทั่วประเทศ ตั้งแต่ทำหลักสูตร Train the Trainer ครูอาจารย์ สนับสนุนเครื่องจักรต่างๆ เพื่อใช้ในการเทรน

 

“เรามีความเชื่อว่าการศึกษา แบ่งเป็น 3 ส่วน ที่เรียกว่า K (Knowledge) S (Skills) A (Attitude) การเทรนนิ่งอย่างเดียวจะได้แค่ Knowledge ดังนั้น ต้องมี Skills ด้วย เครื่องมือเครือ่งจักรต่างๆ ที่ใช้ในการฝึกสำคัญมาก และแน่นอนว่า การที่จะไปได้ดีต้องมี Attitude ที่เป็นบวกด้วย”

 

อุตสาหกรรม ต้องการแรงงานคุณภาพ

สุพจน์ กล่าวต่อไปว่า รวมถึงการไปพัฒนากลุ่มมหาวิทยาลัย โดยมีหลักสูตรร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน และขณะนี้ยังทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศรีราชา เพื่อพัฒนาให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลง

 

“อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยต่อจากนี้ไป ยอดผลิตจะไม่ได้กลับไปเหมือนเดิม ในแง่ปริมาณอาจจะไม่ต้องการมาก แต่ต้องการคุณภาพ เพราะกระบวนการผลิตต่อจากนี้จะเป็น Automation บุคลากรที่จะเติบโตได้ดีในองค์กรจะต้องมีทักษะ Operate ระบบ Automation , IoT ต่างๆ เหล่านี้ ดังนั้น ไม่ได้ต้องการในแง่ปริมาณ แต่ต้องการในแง่คุณภาพ ซึ่งต้องมานั่งคุยกันว่า เรามีความสามารถในการช่วยปรับ อัปสกิล รีสกิล คนเก่าที่มีให้ทันเทคโนโลยี หรือ จำเป็นต้องรับแรงงานรุ่นใหม่ที่มี New Skills มีความคล่องแคล่วในการใช้งานมากกว่า”

 

‘เทคโนโลยี ความยั่งยืน’ เปลี่ยนตลาดแรงงาน ‘ยานยนต์’ ต้องการแรงงานทักษะสูง

 

เอสเอ็มอี ปรับตัวอย่างไร

สุริยา จ่าชัยภูมิ บริษัท G.I.F. Engineering จำกัด ในฐานะบริษัทผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เผยว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ที่เปลี่ยนแปลงไปจากรถยนต์สันดาปเป็นอีวี ด้วยบริษัทฯ เป็นเอสเอ็มอี ดังนั้น มีผลต่อการพัฒนาบุคลากร เพราะกลุ่มธุรกิจยานยนต์แข่งขันกันเรื่องต้นทุน ต้องมีการพัฒนาทักษะให้สอดคล้องกับต้นทุนที่สามารถแข่งขันได้ เพราะในปัจจุบัน ไม่ใช่แค่การแข่งขันกับซัพพลายเออร์ในเมืองไทย พอมีการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี การอัปสกิล รีสกิล ทั้งในเรื่องของดิจิทัลทรานฟอร์เมชั่น หรือ การจัดการ ทำอย่างไรให้พนักงานต้องปรับปรุงให้เข้ากับยุคสมัยใหม่ที่เปลี่ยนไป

 

เราเอาระบบการผลิตมาใช้ร่วมกับระบบออโตเมชั่น และพนักงานที่มีหลายเจเนอเรชั่น ทั้ง 20 – 50 ปี วิธีการปรับสกิลให้สามารถเดินทางร่วมกับบริษัทได้ ต้องใช้วิธีที่แตกต่างกัน เช่น เด็กรุ่นใหม่ อาจจะมีความชอบออโตเมชั่นและไปได้เร็ว ขณะที่คนรุ่นเก่า ก็มีความต้องการที่อยากจะปรับเพื่อให้เดินไปกับคนรุ่นใหม่ให้ได้ ขณะที่ ในส่วนกิจกรรมต่างๆ ของภาครัฐ โดยส่งพนักงานเข้าไปอบรมหลากหลาย ทั้งผู้ชาย ผู้หญิง คนรุ่นเก่า รุ่นใหม่ พยายามให้ทุกคนมีความกระหายที่อยากปรับปรุงพัฒนา เพราะในนโยบายของผู้บริหาร มองว่า จะต้องปรับไปเรื่อยๆ เพื่อให้เรายังสามารถอยู่ได้ในธุรกิจที่มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น

 

“แม้ในเรื่อง Green Business เรื่องสิ่งแวดล้อมก็เป็นเรื่องที่เราต้องปรับ ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทำให้เราต้องเตรียมพร้อม ทั้งพนักงาน ผู้บริหาร ต้องรีสกิล อัปสกิลกันใหม่ เพื่อขับเคลื่อนองค์กรท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ของอุตสาหกรรม”