ความแก่ไม่ใช่อุปสรรค“ชีวิต-ทำงาน” บาริสต้าวัยเก๋า “คณิตย์ พันธ์ทา”

ความแก่ไม่ใช่อุปสรรค“ชีวิต-ทำงาน”  บาริสต้าวัยเก๋า “คณิตย์ พันธ์ทา”

แม้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ และมีหลายหน่วยงานเปิดรับให้ผู้สูงอายุกลับเข้าไปทำงานในระบบ หรือมีการช่วยเหลือดูแลมากขึ้น แต่ความจริงๆ ยังจำกัดเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น

KEY

POINTS

  • ผู้สูงอายุ เขาทำงานมาตลอดช่วงชีวิต พอวันหนึ่งทุกคนมองว่าเขาเป็นวัยเกษียณ ก็มักจะผลักดันให้เขาออกจากงาน บอกให้ไปพักผ่อน แต่เมื่อยังมีแรง มีกำลัง มีไอเดียมากมาย การพักผ่อนอาจไม่ใช่สิ่งที่เข้าต้องการ
  • หากคุณมีศักยภาพ มีความสามารถ ก็ไม่จำเป็นต้องลดคุณค่าของตัวเอง เก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน แต่ขอให้โอกาสตัวเอง ออกมาหางานทำ ปัจจุบันมีหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนที่เปิดรับผู้สูงอายุเข้าทำงาน

แม้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ และมีหลายหน่วยงานเปิดรับให้ผู้สูงอายุกลับเข้าไปทำงานในระบบ หรือมีการช่วยเหลือดูแลมากขึ้น แต่ความจริงๆ ยังจำกัดเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ประชากรที่อยู่ในวัยพึ่งพิงที่ไม่สามารถใช้แรงงานตนเองเพื่อสร้างรายได้เลี้ยงตัวอย่างผู้สูงอายุ มีจำนวนมากกว่าประชากรในวัยแรงงานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ปัจจุบันอายุของคนไทยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 75 ปี แต่ในปี 2568 อายุของคนไทยโดยประมาณจะอยู่ที่ 85 ปี ยิ่งอายุยาวนานขึ้น ทำให้ยิ่งต้องเตรียมเงินเยอะขึ้น และด้วยค่าครองชีพที่แพงมากขึ้น ด้วยเงินเฟ้อในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 4%

ปัจจุบันข้าวจานละ 40 บาท อีก 20 ปีข้างหน้าเป็นไปได้ว่าอาจจะถึงจานละ 90 บาท ทุกอย่างแพงขึ้น 2 เท่า เงินเฟ้อทำให้ของแพงขึ้น ทำให้ค่าเงินในอนาคตลดลงด้วย รวมถึงค่ารักษาพยาบาลที่มีแต่แพงขึ้น ปีละ 5-8% ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้จะเบียดเบียนเงินเก็บสำหรับผู้สูงวัยมากที่สุด ฉะนั้น ผู้สูงอายุที่มีกำลัง มีทักษะยังคงมองหางานทำที่เหมาะสมกับตัวเอง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

“ครูตุ๋ม พนิดา” แก่ไม่เป็นภาระ เปลี่ยนทัศนคติ อย่ามองสูงวัยไร้ค่า

“ธุรกิจผู้สูงอายุ”โตปีละ 7.5 % IneterCare Asia 2024 งานสุขภาพรับ Blue Ocean

สู่วัยเกษียณ กังวลจะตกงาน

"คณิตย์  พันธ์ทา"บาริสต้าวัย  54 ปี ผู้จัดการร้านกาแฟพันธุ์ไทย สาขาศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ มานานกว่า 5 ปี ให้สัมภาษณ์พิเศษ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่าผู้สูงอายุ เป็นกลุ่มคนที่ยังมีศักยภาพในการทำงาน สามารถหารายได้ดูแลตัวเองและช่วยเหลือครอบครัวได้ อีกทั้งตอนนี้คนไทยอายุยืนมากขึ้น ทำไมต้องมาจำกัดด้วยคำว่าวัยเกษียณ หากไม่สามารถทำงานในตำแหน่งเดิมๆ ได้ ก็ควรมีการเปิดตำแหน่งใหม่ๆ ที่ทำให้ผู้สูงอายุได้ใช้ความคิด นำเสนอไอเดีย ทักษะ ประสบการณ์ที่มีมาประยุกต์ใช้ในการทำงาน

ผ่านร้อนผ่านหนาวมา 54 ปีมีประสบการณ์เรื่องงานบริการมายาวนาน สามารถนำมาพัฒนางานบริการ ดูแลลูกค้า และถ่ายทอดสอนงานให้แก่เด็กรุ่นใหม่ได้ “คณิตย์” มองว่าตัวเองยังมีศักยภาพ มีประสบการณ์ในการทำงานเกี่ยวกับการบริการตามร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดมามากกว่า 20 ปี และทักษะที่เขามีจะสามารถทำงาน หารายได้แบ่งเบาภาระของครอบครัวได้  จึงมาสมัครเป็นผู้จัดการร้านกาแฟพันธุ์ไทยในโครงการ “บาริสต้าวัยเก๋า”เพราะเขาไม่อยากตกงาน ไม่อยากเป็นคนที่ไม่มีอะไรทำ

“พอใกล้ๆ ถึงวัยเกษียณ เรามีกำลัง มีความคิด มีประสบการณ์ชีวิต และมีทักษะในการทำงาน แต่เราก็กังวลว่าจะถูกไล่ออกหรือไม่ เพราะด้วยพละกำลัง หรือความช้าเร็วของร่างกายที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา อาจจะทำให้บางองค์กรไม่อยากให้เราทำงาน อยากให้เราพักผ่อน ซึ่งจริงๆ มุมมองความคิดขององค์กรที่อยากให้ผู้สูงอายุ ได้พักผ่อนเป็นสิ่งที่ดี แต่ควรจะมองศักยภาพของผู้สูงอายุ และความต้องการของผู้สูงอายุร่วมด้วย ว่าเขาอยากพักผ่อน หรืออยากทำงาน”

ความแก่ไม่ใช่อุปสรรค“ชีวิต-ทำงาน”  บาริสต้าวัยเก๋า “คณิตย์ พันธ์ทา”

ปรับตัว ทำงานหลากหลายเจน  

“การทำงาน” ทำให้คนมีคุณค่า ยิ่งผู้สูงอายุ เขาทำงานมาตลอดช่วงชีวิต พอวันหนึ่งทุกคนมองว่าเขาเป็นวัยเกษียณ ก็มักจะผลักดันให้เขาออกจากงาน บอกให้ไปพักผ่อน แต่เมื่อยังมีแรง มีกำลัง มีไอเดียมากมาย การพักผ่อนอาจไม่ใช่สิ่งที่เข้าต้องการ หลายคนพอเข้าสู่วัยเกษียณ เริ่มกังวลเมื่อต้องออกจากองค์กร บริษัท ว่าจะไปทำอะไร ไปใช้ชีวิตแบบไหน

บาริสต้าวัยเก๋า บอกว่าเชื่อว่าไม่มีผู้สูงอายุคนไหนอยากเป็นภาระของลูกหลาน หรือสังคม เพียงแต่เขาไม่เจอโอกาสที่เหมาะสมกับพวกเขา โชคดีที่กล้ามาสมัครงานร้านกาแฟพันธุ์ไทย ที่เปิดโอกาสให้คนทุกวัยอย่างเท่าเทียม และไม่ได้ด้อยค่าว่าไม่มีความสามารถ ที่สำคัญยังมีประสบการณ์งานบริการ ซึ่งตรงกับความต้องการกำลังคนของร้านกาแฟพันธุ์ไทย ที่ให้ความสำคัญในการบริการลูกค้าให้ได้รับการดูแลที่ดีที่สุด แม้จะเข้ามาสั่งกาแฟเพียงแป็บเดียว และร้านกาแฟพันธุ์ไทยมีการอบรมพนักงาน สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับองค์กร การทำงานร่วมกันระหว่างหลากหลายเจน หากเราปรับตัวได้ ก็จะสามารถทำงานอย่างราบรื่น ไม่มีปัญหาระหว่างเจน

“คนรุ่นใหม่” เริ่มด้วยการสื่อสาร

ด้วยประสบการณ์การทำงานจากร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดที่ทำให้มีโอกาสได้ทำงานกับเด็กรุ่นใหม่ทั้ง เจน Y และ เจน Z ซึ่งพวกเขาอาจจะมีความเป็นตัวของตัวเองสูง แต่หากรู้หลัก การทำงานร่วมกับพวกเขาไม่ใช่เรื่องยาก 

คณิตย์ เล่าต่อไปว่าการเป็นผู้จัดการร้านกาแฟ ไม่ใช่ทำหน้าที่ดูภาพรวมร้านเท่านั้น แต่ต้องทำอย่างไรให้เกิดการทำงานร่วมกันเป็นทีม และในร้านมีเด็กหลากหลายเจอเนอเรชั่น โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ อย่าง เจน Y พวกเขาให้ความสำคัญกับงานที่ตัวเองชอบมากกว่าสิ่งอื่นใด นิยมความสำเร็จ ชอบให้หัวหน้ารับฟังความคิดเห็น ส่วนน้องๆ เจน Z พวกเขาเติบโตมากับเทคโนโลยี พวกเขาต้องการความอิสระ สื่อสารแบบตรงไปตรงมา และต้องการคนที่รับฟังความคิดของพวกเขา ดังนั้น การจะเป็นผู้จัดการร้าน สิ่งสำคัญต้องรู้จักการสื่อสาร

 ต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ เพราะการทำงานร่วมกับคนรุ่นใหม่ เราต้องเข้าใจพวกเขา และพวกเขาค่อนข้างติดโซเซียลมีเดีย ต้องเปลี่ยนวิธีการสื่อสารที่เหมาะสม การสั่งงานต้องค่อยๆ พูด ค่อยๆ สอน และรับฟังในสิ่งที่พวกเขาต้องการ ซึ่งร้านกาแฟพันธุ์ไทยคัดเลือกเด็กรุ่นใหม่ ที่มีลักษณะเป็นมิตร จริงใจในการทำงาน และเข้าใจการทำงานในลักษณะเดียวกับองค์กร ปัญหาช่องว่างระหว่างวัยจึงเกิดขึ้นน้อยมาก การทำงานในร้านกาแฟ เหมือนอยู่กับคนในครอบครัว มีอะไรสื่อสารพูดคุยกันได้ ถึงจะอายุมากที่สุดแต่ต้องช่วยน้องทำงาน ก้ปัญหาแก่น้องๆไม่เป็นคนแก่ที่พูดเก่งพูดมาก 

ความแก่ไม่ใช่อุปสรรค“ชีวิต-ทำงาน”  บาริสต้าวัยเก๋า “คณิตย์ พันธ์ทา”

เปิดโอกาสให้ตัวเอง อย่าด้อยค่า

สังคมไทยมีผู้สูงอายุหลายกลุ่ม แต่เชื่อว่าผู้สูงอายุที่สามารถทำงานได้มีจำนวนมาก เพียงแต่พวกเขายังมองไม่เห็นโอกาส ดังนั้นอยากเชิญชวนผู้สูงอายุทุกคน ให้ออกมาหางานทำ ควรเปิดโอกาสให้ตัวเอง เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ งานใหม่ๆ ลองสมัครงานก่อน ได้หรือไม่ได้ ไม่เป็นไร แต่อย่างน้อยเราก็กล้าออกมาหางานทำ ตอนนี้ร้านกาแฟพันธุ์ไทยเปิดรับสมัครบาริสต้าวัยเก๋า อายุ 50 ปี ขึ้นไปมาทำงาน พร้อมอบรมทักษะการบริการ การดูแลลูกค้า พัฒนาทักษะให้ อย่าพึ่งกังวลว่าจะทำไม่ได้ ขอให้ลองก่อน

ทั้งนี้อยากให้หน่วยงานภาครัฐ หรือภาคเอกชน ส่งเสริมอาชีพให้แก่ผู้สูงอายุมากขึ้น เพราะการทำงานจะทำให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพที่แข็งแรงขึ้น ไม่มีปัญหาซึมเศร้า หรือสุขภาพจิตแย่ ได้พบเจอผู้คน พวกเขาก็จะไม่เหงา ขอให้ช่วยเปิดโอกาสให้แก่ผู้สูงอายุ 50 ปี ขึ้นไป ที่มีทั้งประสบการณ์ ทักษะให้เข้าทำงาน ซึ่งแรงงานผู้สูงวัยสามารถชดเชยแรงงานที่ขาดหายไป ขณะเดียวกัน ผู้สูงอายุเอง ต้องดูแลตัวเอง ไม่ด้อยค่าตัวเอง ต้องหางานทำ เพื่อพัฒนาร่างกาย จิตใจ เพราะความแก่ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการทำงาน หรือการใช้ชีวิต

ความแก่ไม่ใช่อุปสรรค“ชีวิต-ทำงาน”  บาริสต้าวัยเก๋า “คณิตย์ พันธ์ทา”