บังคับใช้! หลักประกันการทำงาน แก่นายจ้าง-ลูกจ้างรับงานไปทำที่บ้าน

บังคับใช้! หลักประกันการทำงาน แก่นายจ้าง-ลูกจ้างรับงานไปทำที่บ้าน

กสร. ออกประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเรียกหรือรับหลักประกันการทำงาน หรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2567 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 13 กรกฎาคม 2567เกิดความคุ้มครองเป็นธรรมต่อผู้จ้างงานและผู้รับงานไปทำที่บ้าน

นางโสภา เกียรตินิรชา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมีนโยบายให้พี่น้องผู้ใช้แรงงานได้รับการคุ้มครองแรงงานอย่างเป็นธรรมไม่ว่าจะเป็นแรงงานในระบบหรือนอกระบบต้องได้รับสิทธิประโยชน์ที่พึงจะได้รับอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากระทรวงแรงงาน โดย กสร.ได้ดำเนินการพัฒนากฎหมายเพื่อคุ้มครองแรงงานนอกระบบในทุกมิติ เพื่อนำไปสู่แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี

โดยล่าสุด ได้ออกประกาศกรมฯ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเรียกหรือรับหลักประกันการทำงาน หรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2567 ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคม 2567 โดยประเด็นสำคัญของประกาศฉบับดังกล่าว เพื่อเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์หลักประกันความเสียหายในการทำงานจากผู้รับงานไปทำที่บ้าน ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2553 เพื่อให้เกิดความคุ้มครองที่ชัดเจนและเป็นธรรมต่อผู้จ้างงานและผู้รับงานไปทำที่บ้าน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

เช็กให้ชัวร์! "รับงานไปทำที่บ้าน" อาชีพหารายได้เสริมยอดฮิต

ขยายเวลากู้เงินกองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้าน ดอกเบี้ย 0% ถึง 31 พ.ค.67

3 ประเภทหลักประกันการทำงาน

ว่าที่ร้อยตรี สมศักดิ์ พรหมดำ รองอธิบดี กสร. ในฐานะกำกับดูแลงานด้านการคุ้มครองแรงงานนอกระบบ กล่าวเพิ่มเติมว่า การเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานตามประกาศฯ ได้กำหนดว่า ประเภท ปริมาณ หรือมูลค่าของงานที่รับไปทำที่บ้านที่อาจเรียกหรือรับหลักประกันจากผู้รับงานไปทำที่บ้านได้ ได้แก่ งานผลิตเครื่องประดับจากวัตถุมีค่า คือ เพชร พลอย เงิน ทองคำ ทองคำชาวและไข่มุก หรืองานเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์โลหะ เช่น ทองแดง ทองเหลือง ไททาเนียม หรืองานอื่นนอกจากข้างต้น ที่มีมูลค่าของงานที่รับไป ทำที่บ้านในแต่ละงวดการจ้างเกินกว่า 500,000 บาท ขึ้นไป

หลักประกันมี 3 ประเภท ได้แก่

1. เงินสด คือ ให้ผู้จ้างงานนำเงินประกันฝากไว้กับธนาคาร หรือสถาบันการเงิน

2. ทรัพย์สิน คือ สมุดเงินฝากธนาคาร หรือหนังสือค้ำประกันของธนาคาร

3. บุคคล คือ วงเงินค้ำประกันรับผิดชอบต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของมูลค่าของงานในแต่ละงวด

ทั้งนี้ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ กองคุ้มครองแรงงานนอกระบบ โทร. 0 2660 2068 หรือสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด หรือโทรสายด่วน 1506 กด 3 หรือ 1546