ต่างเจนเส้นทาง EnviroBoard รีไซเคิลในชีวิตประจำวัน
ถึงแม้ครอบครัวจะทำธุรกิจรีไซเคิลกระดาษมาตั้งแต่ปี 2544 แต่การแยกตัวออกมาทำธุรกิจของตัวเองก็ไม่ใช่เรื่องง่าย สำหรับ “ธนัชพร พิทักษากร" กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท รีแมท โซลูชั่น จำกัด ผู้ประกอบการ SME
KEY
POINTS
- ธุรกิจรีไซเคิลเป็นการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วยการแปรรูป การนำกลับมาใช้ใหม่ ให้เกิดประโยชน์และใช้ได้นานมากขึ้นให้ผู้บริโภคเลือกใช้และสามารถทดแทนผลิตภัณฑ์ หรือสินค้าที่ทำลายโลกได้ด้วย
- ผู้นำที่ดีต้องเป็นน้ำไม่เต็มแก้ว ต้องเปิดกว้างยอมรับความคิดเห็นที่หลากหลาย และต้องไม่ยึดติดกับอีโก้ของตัวเอง
- ความเสี่ยงด้านแรงงานในการคัดแยกขยะหายากเนื่องจากต้องมีความอดทน เพราะต้องสัมผัสกับสิ่งสกปรกทั้งวัน นอกจากความเสี่ยงดังกล่าวแล้ว ยังต้องมีการบริหารจัดการภายในที่ดี
ถึงแม้ครอบครัวจะทำธุรกิจรีไซเคิลกระดาษมาตั้งแต่ปี 2544 แต่การแยกตัวออกมาทำธุรกิจของตัวเองก็ไม่ใช่เรื่องง่าย สำหรับ “ธนัชพร พิทักษากร" กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท รีแมท โซลูชั่น จำกัด ผู้ประกอบการ SME ที่นำกล่องเครื่องดื่มใช้แล้วมารีไซเคิลเป็นแผ่นไม้อัด หรือเรียกว่า “EnviroBoard” เน้นการสร้างสรรค์นำมาใช้ใหม่อย่างยั่งยืน เปลี่ยนชีวิตประจำวันที่คนมองเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์รีไซเคิล มีความเชื่อผสมผสานศิลปะ สร้างแรงบันดาลใจ ส่งเสริมให้คนยอมรับการเปลี่ยนแปลงในองค์กรร่วมด้วย
แม้ว่าจะเป็นธุรกิจ SME ขนาดเล็กเมื่อเทียบกับบริษัทอื่นๆ ในอุตสาหกรรมรีไซเคิล แต่“EnviroBoard” ก็ยืนหยัดผ่านมาได้ 1 ปี และยังต้องปรับตัว เรียนรู้อีกมากมายทั้งในโลกของธุรกิจ การทำการตลาด การบริหารงาน และการบริหารคน ต้องสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้ชัดเจน ให้คนและพนักงานเข้าถึง มีความเชื่อในทางเดียวกัน เป็นธุรกิจรีไซเคิล ธุรกิจรักษ์โลก
หลังจากจบปริญญาตรีสาขาธุรกิจระหว่างประเทศ จากวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล “ธนัชพร” ในวัย 23 ปี ได้เข้ารับช่วงต่อธุรกิจรีไซเคิลกระดาษ บริษัท เอส. พี. เปเปอร์ แอนด์ ทิ้ว จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทของครอบครัวที่มีคุณพ่อเป็นผู้บริหารได้เสียชีวิตลง ก็ได้สานต่อให้บริการเกี่ยวกับการแปรรูปกระดาษต่าง ๆ และแกนกระดาษ รวมถึงการรีไซเคิลเป็นแผ่นไม้อัด EnviroBoard
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ต่อยอดธุรกิจครอบครัว
จนกระทั่งเมื่อปีที่ผ่านมา การแข่งขันในอุตสาหกรรมรีไซเคิลรุนแรงมากขึ้น และเทรนด์ของการรักษ์โลก การใช้ผลิตภัณฑ์สินค้าที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของผู้บริโภค ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนและแยกตัวออกมาจากบริษัท เอส. พี. เปเปอร์ แอนด์ ทิ้ว จำกัด โดยมาจัดตั้งบริษัทของตัวเอง “บริษัท รีแมท โซลูชั่น จำกัด” จึงเกิดขึ้น เพื่อดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการรีไซเคิลเป็นแผ่นไม้อัด EnviroBoard โดยเฉพาะ
“ธนัชพร” เล่าว่าหลังคุณพ่อเสียชีวิต ตอนนั้นครอบครัวก็ให้ตัดสินใจว่าจะดำเนินธุรกิจของคุณพ่อต่อ หรือจะไปทำอาชีพอื่น ด้วยความที่คลุกคลีอยู่ในอุตสาหกรรมรีไซเคิลกระดาษมาเป็นเวลานาน ได้เห็นการทำงานการแปรรูป สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ขยะ และพยายามจะหานวัตกรรม เทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วยเพิ่มมูลค่าขยะ เห็นความตั้งใจและพยายามของคุณพ่อมาโดยตลอด และมองเห็นโอกาสทางการตลาด ซึ่งขณะนั้นเริ่มมีผู้คนให้ความสนใจเกี่ยวกับการรีไซเคิล ผลิตภัณฑ์สินค้ารักษ์โลกมากขึ้น จึงตัดสินใจสานต่อธุรกิจของครอบครัว
“หลังจากสานต่อของธุรกิจครอบครัว พบว่าการบริหารจัดการจะเน้นความเป็นครอบครัว อาจจะไม่ได้มีระบบชัดเจน แต่ก็ทำให้ได้เรียนรู้การบริหารงานในหลายๆ ส่วน และการทำงานกับคนละ Gen ซึ่งแต่ละ Gen จะมีความแตกต่างกันมาก เมื่อเราเปิดบริษัทของตัวเอง แม้ว่าจะมีพนักงานเพียง 10 กว่าคน เพราะกระบวนการผลิตส่วนใหญ่จะมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ฝั่งฝ่ายผลิต EnviroBoard จะมีพนักงานประมาณ 5 คน และอยู่ในฝ่ายอื่นๆ รวมถึงฝ่ายบริหาร โดยจะมีพนักงานทั้ง Gen X ,Gen Y และ Gen Z”
เลือกคนสอดคล้องกับวิสัยทัศน์
“ธนัชพร”เล่าต่อว่าคนที่เลือกมาทำงานในบริษัท ต้องมีแนวคิดสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ขององค์กรนั่นคือ สนใจหรือให้ความสำคัญกับเรื่องของความยั่งยืน สิ่งแวดล้อม รวมถึงต้องมีทักษะตรงกับสายงานที่ทำ เพราะการทำธุรกิจในปัจจุบันพึ่งพาเทคโนโลยีค่อนข้างมาก ซึ่งการทำธุรกิจรีไซเคิล มีการแข่งขันสูง มีผู้เล่นในตลาดจำนวนมาก ไม่ได้แข่งกันในเรื่องกำไร ขาดทุน แต่เป็นการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วยการแปรรูป การนำกลับมาใช้ใหม่ ให้เกิดประโยชน์และใช้ได้นานมากขึ้น เพื่อให้ผู้บริโภคเลือกใช้และสามารถทดแทนผลิตภัณฑ์ หรือสินค้าที่ทำลายโลกได้ด้วย
“การขับเคลื่อนและพัฒนาองค์กร พนักงานมีความสำคัญมากที่สุด ซึ่งบริษัท รีแมท โซลูชั่น จำกัด กำลังค่อยๆ เติบโต ยังต้องเรียนรู้ และเปิดตลาดอีกมาก ต่อให้มีพนักงานเพียงไม่กี่คน แต่ทุกคนก็มีความพร้อม มีศักยภาพ มีความมุ่งมั่นที่จะร่วมเดินในเส้นทางธุรกิจรีไซเคิล EnviroBoard ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เพราะเรื่องของผลิตภัณฑ์ สินค้ารีไซเคิล ไม่ใช่เรื่องของเทรนด์ แต่เป็นการใช้ชีวิตประจำวัน ที่ทุกคนต้องร่วมเป็นส่วนหนึ่งในเรื่องนี้ ดังนั้น พนักงานขององค์กร จะให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อทำให้ EnviroBoard ทดแทนไม้อัด เป็นสินค้าคุณภาพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และดีต่อสุขภาพของผู้บริโภค”
ด้วยจำนวนพนักงานไม่กี่คน และเป็นช่วงการก้าวแรกๆ ของบริษัท ทุกคนจึงทำงานในรูปแบบออนไซต์ เข้าองค์กรมากกว่าจะ Work From Home แต่สวัสดิการและการดูแลจะได้รับเฉกเช่นเดียวกับองค์กรอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น วันลาพักร้อน วันหยุด การรักษาพยาบาล สิทธิประกันสังคม และบ้านพักให้แก่พนักงาน ซึ่งหากพนักงานคนไหนไม่มีบ้านพัก หรือต้องการบ้านพักก็จะมีของบริษัทไว้รับรอง
ความแตกต่างสร้างองค์กร
การทำธุรกิจ ก่อตั้งบริษัทของตัวเองนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ก็ไม่ยาก หากเรามุ่งมั่น ตั้งใจจริงๆ อย่าง "ธนัชพร” ถึงจะโชคดีที่ต่อยอดจากธุรกิจครอบครัว แต่รูปแบบการทำงานแตกต่างกันออกไป จะมีระบบมีรูปแบบที่ชัดเจน มีผู้บริหาร มีหัวหน้างาน มีพนักงาน ซึ่งแต่ละคนจะมีความหลากหลาย เพราะนั่นคือ เสน่ห์ของการก่อตั้งบริษัทของตัวเอง คนแต่ละGen แตกต่างกัน องค์กรต้องไม่มีเฉพาะคนรุ่นใหม่ แต่ต้องอาศัยประสบการณ์ของคนรุ่นเก่าร่วมด้วย
“ผู้นำที่ดีต้องเป็นน้ำไม่เต็มแก้ว ต้องเปิดกว้างยอมรับความคิดเห็นที่หลากหลาย พร้อมช่วยทุกคนในแก้ไขปัญหา มีการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา และต้องไม่ยึดติดกับอีโก้ของตัวเอง อย่ามองว่าตัวเองเจ๋งตลอดเวลา แต่ต้องเรียนรู้คน เรียนรู้เทคโนโลยี และหลักการทำงานใหม่ๆ เพราะคนแต่ละวัยต่างกัน และต้องรู้จักตั้งคำถาม ศึกษาการทำงานจากหลายๆ ที่ และนำมาสร้างองค์กรของตนเองให้เป็นแบบฉบับอย่างที่เราและพนักงานต้องการ”
“บริษัท รีแมท โซลูชั่น จำกัด” เป็นธุรกิจ SME ขนาดเล็กเมื่อเทียบกับบริษัทอื่นๆ ในอุตสาหกรรมรีไซเคิล และยังต้องปรับตัว เรียนรู้อีกมากมายทั้งในโลกของธุรกิจ การทำการตลาด การบริหารงาน และการบริหารคน ต้องสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้ชัดเจน ให้คนและพนักงานเข้าถึง และมีความเชื่อในทางเดียวกัน เพราะคงไม่หยุดสร้างองค์กรให้เติบโต และไม่หยุดพัฒนา เพิ่มพนักงานในส่วนต่างๆ เพื่อให้เป็นธุรกิจรีไซเคิล ธุรกิจรักษ์โลกอย่างเป้าหมายที่ตั้งไว้
รู้จักงานธุรกิจรีไซเคิล ต้องการคนอดทน
ธุรกิจรับซื้อขยะรีไซเคิล เป็นการรับซื้อขยะรีไซเคิล สิ่งของใช้แล้ว ของชำรุด ขยะ แล้วนำไปคัดแยกประเภท จากนั้นก็จัดการส่งต่อไปยังโรงงานที่รับซื้อเพื่อนำเข้าสู่ขั้นตอนกระบวนการรีไซเคิล การลงทุนธุรกิจรับซื้อขยะรีไซเคิลใช้ต้นทุนในการลงทุนไม่สูง เนื่องจากทำเลในการทำธุรกิจไม่แพง มีเนื้อที่เป็นคลังเก็บขยะรีไซเคิลที่รับซื้อเข้ามาก่อนนำส่งต่อ เมื่อมีลูกค้าเพิ่มมากขึ้นจึงขยายธุรกิจ
ผู้ประกอบการธุรกิจรับซื้อขยะรีไซเคิลมีหลากหลายประเภท โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ
1) กลุ่มผู้คัดแยกวัสดุรีไซเคิล ประกอบด้วย ผู้คุ้ยเขี่ยขยะ พนักงานเก็บขยะ
2) กลุ่มพ่อค้าคนกลาง เป็นกลุ่มที่รับซื้อขยะรีไซเคิลจากกลุ่มที่ 1 ประกอบด้วย ซาเล้ง รถเร่รับ ซื้อขยะรีไซเคิล ร้านรับซื้อขยะรีไซเคิลรายย่อย เป็นต้น
3) กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม เป็นกลุ่มที่ใช้วัสดุที่คัดแยกแล้วนำไปรีไซเคิลผลิตสินค้า หรือนำไปโรงงานอื่นๆ ที่สามารถใช้ประโยชน์จากของเสีย สำหรับความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจรับซื้อขยะรีไซเคิล มีความเสี่ยงด้านราคาจากความผันผวนราคา ขึ้นอยู่กับความต้องการของวัสดุรีไซเคิลแต่ละชนิด
เช่น ปัจจุบันมีความต้องการใช้ขวดพลาสติก กลับมาใช้ใหม่ ราคารับซื้อขยะรีไซเคิลขวด พลาสติกมีราคาสูงกว่าวัสดุอื่นๆ เป็นต้น ความเสี่ยงด้านแรงงานในการคัดแยกขยะหายากเนื่องจากต้องมีความอดทน เพราะต้องสัมผัสกับสิ่งสกปรกทั้งวัน นอกจากความเสี่ยงดังกล่าวแล้ว ยังต้องมีการบริหารจัดการภายในที่ดี เช่น ขั้นตอนในการคัดแยกประเภทขยะหากมีการจัดเก็บที่ดีแล้วทำให้วัสดุนั้นขายต่อได้ราคาที่ดี รวมทั้งการบริหารจัดการสร้างความพึงพอใจกับลูกค้า