คนแบบไหน..เหมาะกับงานสไตล์ One Asia Ventures
หัวใจหลักของการทำงานเทศกาลดนตรี หรืออีเวนท์ต่างๆ นอกจากเป็นการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ รองรับคนไทย นักท่องเที่ยว และต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการนำสินค้าและการแสดงแล้ว
KEY
POINTS
- การคัดคนมาทำงานในองค์กร ตอนนี้จึงถือเป็นเรื่องท้าทายของผู้บริหาร เพราะคงไม่สามารถเลือกได้จากผลการศึกษา ยิ่งงานสายอีเวนท์ จัดเทศกาลดนตรี งานสร้างสรรค์ ต้องพยายามคัดคนที่มีความแตกต่างกัน
- ผู้บริหาร สร้างบรรยากาศในองค์กรให้เหมาะกับการทำงาน เป็นสถานที่ที่ทุกคนอยากมาทำงาน และการเข้างานให้เลือกได้อย่างอิสระ ยกเว้นช่วงที่มีโปรเจคทุกคนต้องเดินไปตามแผนร่วมกัน
- ผู้นำจะมีความรู้เดิมๆ ตลอดไม่ได้ และต้องเป็นผู้นำที่รู้จักให้เกียรติคนอื่น ไม่แสดงอารมณ์มากเกินไป เก็บความรู้สึกได้ในระดับหนึ่ง ต้องคิดเชิงบวกมองว่าทุกการทำงานไม่มีใครอยากทำผิดพลาด
หัวใจหลักของการทำงานเทศกาลดนตรี หรืออีเวนท์ต่างๆ นอกจากเป็นการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ รองรับคนไทย นักท่องเที่ยว และต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการนำสินค้าและการแสดงแล้ว คนหรือทีมงานในการขับเคลื่อนงานมีความสำคัญมากที่สุดต้องมีความกล้าที่จะแตกต่าง กล้าแสดงออก รับฟังความคิดเห็นของคนอื่น
One Asia Ventures ภายใต้การบริหารของ “รชต ธันยาวุฒิ” กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท วัน เอเชีย เวนเจอรส์ จำกัด จึงต้องการคนทำงานที่มีไลฟ์สไตล์หลากหลาย รูปแบบการทำงานจะขึ้นอยู่กับว่าทำงานอยู่ในกลุ่มงานไหน การทำงานที่ต้องแข่งกับเวลา มีทั้งพนักงานประจำและพาร์ทไทม์นั้น สิ่งที่ ห้ามเด็ดขาด คือ การติหรือการดุด่าว่ากันในองค์กร เพราะจะทำให้เกิดความขัดแย้ง และการสื่อสารที่ผิดพลาด การนำนวัตกรรม โปรแกรมแชตต่างๆ มาใช้ในองค์กร และเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เสนอไอเดีย หัวใจหลักคือเน้นการทำงานเป็นทีม มีมายเซตด้านบริการและรู้จักการแก้ปัญหาให้แก่ลูกค้าให้ได้มากที่สุด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
อีเวนท์ มีมูลค่าทางตลาดกว่า 1.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
หลังจากประเทศไทยเดินหน้าประกาศขับเคลื่อนเรื่องของ Soft Power และ สถานบันเทิงครบวงจร หรือเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ (Entertainment Complex) ทำให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต่างสร้างสรรค์งานประชุม สัมมนา งานแสดงสินค้า รวมถึงอีเวนท์ คอนเสิร์ต เพื่อให้ประเทศกลายเป็นแม่เหล็กที่ดึงดูดคนทั่วโลกให้เข้ามาเที่ยว มาทำงาน และมาใช้ชีวิต
ปี 2023 ตลาดงานคอนเสิร์ต อีเวนท์ และนิทรรศการ เติบโตอย่างต่อเนื่อง สภาอุตสาหกรรมงานกิจกรรม หรือ The Events Industry Council : EIC ร่วมกับ Oxford Economics ได้เผยแพร่ผลการวิจัยในปี ค.ศ. 2023 จากการศึกษาสถานการณ์ทางธุรกิจของ Event ต่อความสำคัญทางเศรษฐกิจโลกในปี ค.ศ. 2022 ผ่านการสำรวจผู้เชี่ยวชาญด้านการประชุม ผู้แสดงสินค้าและสถานที่ ในกว่า 50 ประเทศทั่วโลก พบว่าอุตสาหกรรมอีเวนท์ มีมูลค่าทางตลาดมหาศาลกว่า 1.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
“คน” ขับเคลื่อนงานเทศกาลดนตรี
“รชต" เล่าว่า จุดเริ่มต้นที่ทำให้สนใจจัดตั้งบริษัทเพื่อให้บริการเกี่ยวกับการจัดอีเวนท์ และเทศกาลดนตรีนั้น มาจากการได้เห็นเห็นตลาดงานอีเวนต์ และการจัดเทศกาลดนตรีในสหรัฐอเมริกาตอนไปเรียนต่อปริญญาโท ซึ่งพบว่ามีการจัดเทศกาลดนตรีบ่อยมากและเวลาจัดงานจะมีความทันสมัย ล้ำกว่าที่เคยเห็นงานเทศกาลดนตรีในไทย เมื่อกลับมาไทยจึงได้เปิดบริษัทและให้บริการรับจัดงานอีเวนต์ และเทศกาลดนตรี
ในประเทศไทยตามเทศกาล ประเพณีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปีใหม่ หรือสงกรานต์ ต่างมีการจัดอีเวนต์และกิจกรรมย่อยๆ เอาใจแฟนด้อมของแต่ละด้อมกระจายไปตามกลุ่มที่ตนเองชอบ การจัดงานของ One Asia Venturesในแต่ละครั้ง ต้องใช้พนักงาน 500-2,000 คน
“หัวใจหลักของการทำงานเทศกาลดนตรี หรืออีเวนท์ต่างๆ นอกจากเป็นการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ รองรับคนไทย นักท่องเที่ยว และต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการนำสินค้าและการแสดงแล้ว คนหรือทีมงานในการขับเคลื่อนงานมีความสำคัญมากที่สุด ซึ่งงานอีเวนท์ เทศกาลดนตรีแต่ละคน จะมีพนักงานประจำในส่วนของบริษัท ประมาณ 20-30 คน เป็นผู้รับผิดชอบหลัก และมี Outsource หรือพนักงานพารท์ไทม์อีก 500-1,000 คน อย่าง งานสยามสงกรานต์ใช้พนักงานพาร์ทไทม์ 2,000 คน” รชต กล่าว
คัดคนที่แตกต่างทำงานร่วมกัน
งานเทศกาลดนตรี อีเวนท์ใหญ่ๆ จะมีคนเข้าร่วมงานไม่ต่ำกว่า 20,000 ซึ่งการจัดงานต้องมีการกำหนดเป้าหมายชัดเจน มีธีมชัดเจน รวมถึงงบประมาณ สถานที่ ศิลปิน ซัพพลายเออร์ และการจัดหาอุปกรณ์ แสง สี เสียง สิ่งอำนวยความสะดวกให้ครบครัน ซึ่งการจะทำให้งานเทศกาลดนตรีและอีเวนท์ตอบโจทย์ด้อมแต่ละด้อม และองค์กรที่มาจ้างงาน
การจัดงานแต่ละครั้งทีมงานของ One Asia Ventures ที่มีประมาณ 20-30 คน ซึ่งจะเป็นกลุ่มคน GenY 45 % ,GenX 45 % และจะเป็น HR และบัญชี 10 % ที่ต้องทำงานร่วมกัน ดังนั้น การทำงานเป็นทีม การเคารพซึ่งกันและกัน และยอมรับความคิดเห็น แม้จะ Gen แตกต่างกัน เป็นหลักสำคัญในการทำงาน เพราะการทำงานใหญ่ ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งหายไป หรือยึดเพียงความคิดของคนใดคนหนึ่งไม่ได้ ทุกคนต้องร่วมมือกัน อีกทั้งผู้นำต้องสร้าง Empower หรือการเสริมสร้างพลัง ให้อำนาจในการตัดสินใจ
“องค์กรขณะนี้จะมีเด็กรุ่นใหม่เข้ามาทำงานในส่วนพาร์ทไทม์ ทำให้ผมต้องทำงานกับคนหลากหลายวัย ซึ่งในแต่ละวัยจะมีลักษณะพิเศษแตกต่างกันออกไป คนรุ่น GenY GenX จะมีประสบการณ์ มีทักษะ มีความเชี่ยวชาญ แต่คนรุ่นใหม่ GenZ พวกเขาจะเก่งเทคโนโลยี ชอบความท้าทาย และต้องการคุณค่าจากงานที่ทำ ดังนั้น การคัดคนมาทำงานในองค์กร ตอนนี้จึงถือเป็นเรื่องท้าทายของผู้บริหาร เพราะคงไม่สามารถเลือกได้จากผลการศึกษา ยิ่งงานสายอีเวนท์ จัดเทศกาลดนตรี งานสร้างสรรค์ ต้องดูตั้งแต่ในมหาวิทยาลัย ซึ่งองค์กรมีพาสเนอร์หลายมหาวิทยาลัย ดูเรซูเม่ของเด็ก และพยายามคัดคนที่มีความแตกต่างกัน” รชต กล่าว
ผู้บริหารไม่ปิดประตูห้องทำงาน
ด้วยงานสายสร้างสรรค์ อย่าง การจัดเทศกาลดนตรี อีเวนท์ คนที่เหมาะกับงานสายนี้ จะต้องมีความกล้าที่จะแตกต่าง กล้าแสดงออก รับฟังความคิดเห็นของคนอื่น ใน One Asia Ventures จึงต้องการคนทำงานที่มีไลฟ์สไตล์หลากหลาย รูปแบบการทำงานจะขึ้นอยู่กับว่าทำงานอยู่ในกลุ่มงานไหน
“รชต” เล่าอีกว่าห้องทำงานของเขาไม่เคยปิดประตู และอ่านทุกแชต ทุกอีเมล์ของพนักงานทุกคน เพราะหลักการทำงานทุกคนจะต้องเข้าถึงได้ และผู้บริหารต้องไม่เพียงสั่งการ ซึ่งมุมมองการเป็นผู้นำจะเกิดจากการอ่านหนังสือ และฟังพอสแคสตอนเช้า เพื่อค้นหาแนวทางใหม่ๆ อันนำมาปรับใช้ในองค์กร
“ผู้บริหารจะมีความรู้เดิมๆ ตลอดไม่ได้ และต้องเป็นผู้นำที่รู้จักให้เกียรติคนอื่น ไม่แสดงอารมณ์มากเกินไป เก็บความรู้สึกได้ในระดับหนึ่ง ต้องคิดเชิงบวกมองว่าทุกการทำงานไม่มีใครอยากทำผิดพลาด เมื่อผิดพลาดเราต้องเข้าใจ และสร้างบรรยากาศในองค์กรให้เหมาะกับการทำงาน เป็นสถานที่ที่ทุกคนอยากมาทำงาน และการเข้างานให้เลือกได้อย่างอิสระ ยกเว้นช่วงที่มีโปรเจคทุกคนต้องเดินไปตามแผนร่วมกัน”
ผู้นำสไตล์งานเทศกาลดนตรี
"รชต" กล่าวว่าการทำงานในองค์กรที่ต้องแข่งกับเวลา มีทั้งพนักงานประจำและพาร์ทไทม์นั้น สิ่งที่ผู้บริหาร ห้ามเด็ดขาด คือ การติหรือการดุด่าว่ากันในองค์กร เพราะนั้นจะทำให้เกิดความขัดแย้ง และการสื่อสารที่ผิดพลาด ผิดความหมายที่ผู้บริหารอาจจะอยากนำเสนอ One Asia Ventures มีการนำนวัตกรรม โปรแกรมแชตต่างๆ มาใช้ในองค์กร เพื่อทำให้ทุกภาคส่วนได้สื่อสารกัน หากไม่เข้าใจพยายามพูดคุยเพื่อสร้างความเข้าใจ ไม่มีการชี้ผิดหรือถูก และเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เสนอไอเดีย เน้นการทำงานเป็นทีม มีมายเซตด้านบริการและรู้จักการแก้ปัญหาให้แก่ลูกค้าให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะทำอย่างได้ ผู้บริหารต้องทำร่วมไปกับพนักงาน
ทั้งนี้ ทุกองค์กรล้วนมีปัญหาช่องว่างระหว่างวัย เพราะเด็กจบใหม่ เขาอาจจะยังไม่รู้อะไรชัดเจน เขาเพียงคิดว่าเขาทำได้ ดังนั้น องค์กรต้องให้โอกาสเขาเข้ามาทำงานพิสูจน์ และสร้างความเข้าใจให้แก่เขา คอยให้คำแนะนำ และที่สำคัญต้องเป็นองค์กรที่ป้อนมายเซตให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมองค์กร เพราะเด็กรุ่นใหม่เขามี Passion มีความคิดสร้างสรรค์ มีไอเดียใหม่ๆ ต้องประสานการทำงานเข้าด้วยกันระหว่างคนรุ่นใหม่กับซีเนียร์ในองค์กร ภายใต้การสื่อสารอย่างเข้าใจกัน สื่อสารอย่างเชิงบวก และเน้นการสื่อสารเห็นหน้ากันเป็นหลัก”รชต กล่าว